ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

จะทราบได้อย่างไรว่าตนเองเหมาะกับอาชีพใด


ถาม - จะทราบได้อย่างไรครับว่าเราเหมาะที่จะประกอบอาชีพอะไร

จริงๆ แล้ว คุณลองดูชีวิตคนนะ มันเกิดขึ้นมาพร้อมกับความไม่รู้
ไม่รู้ไปหมดเลย ไม่รู้แม้กระทั่งตัวเองคือใคร เป็นใคร ชอบอะไร อยากทำอะไร
อย่างผม จุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา
ไม่ใช่เพราะว่าเคารพนับถือพุทธศาสนานะ
ไม่ใช่เพราะว่าใครมาบอกว่าพุทธศาสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วเชื่อนะ
แต่เป็นเพราะว่ามันหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ตอนอายุ ๑๖-๑๗ ว่าตัวเองจะทำอะไรดี
ด้วยความอยากจะได้คำตอบ ก็อ่านหนังสือไปทั่ว
แต่มันไม่มีหนังสือเล่มไหนให้คำตอบได้ดีมากไปกว่าพุทธศาสนา
ผมก็เลยนับถือพุทธศาสนา มีความผูกพันกับพุทธศาสนา
นี่แสดงให้เห็นนะว่าถ้าผมใช้ชีวิตเหมือนเด็กวัยรุ่นคนอื่นๆ
สงสัยชีวิตก็ปล่อยให้มันถูกกลบ ถูกลบ ถูกลืมไปตามวันเวลา
ผมก็คงไม่เจอพุทธศาสนา

เหมือนกัน เด็กหลายๆ คนโตขึ้นมาเป็นอัจฉริยะ
สอบได้ที่หนึ่งของประเทศหรืออะไรก็แล้วแต่
คุณสืบเข้าไปเถอะ พวกนี้มักจะมีงานอดิเรกหรือความสนใจอะไรบางอย่างตั้งแต่เด็กๆ
โชคดีที่เจอเรื่องที่ทำให้ตนเองสนใจได้ แล้วก็ยอมอุทิศเวลาให้กับมันได้
ยิ่งคุณทำงานอดิเรกมากขึ้นเท่าไหร่
ยิ่งคุณทำไอ้แบบที่มันไม่ต้องบังคับให้ทำ ไม่มีใครบังคับให้ทำ
คุณจะยิ่งมีโอกาสค้นพบตัวเองมากขึ้นเท่านั้น
แต่คนส่วนใหญ่เป็นยังไงครับ ยิ่งเด็กสมัยนี้ โตขึ้นมากับอินเตอร์เน็ต
แล้วก็อินเตอร์เน็ตนี่ดาบสองคมจริงๆ
คือคมที่มันร้ายก็คือว่าจะทำให้คนไม่รู้จักตัวเอง
รู้แต่ว่าคนอื่นๆ เขาคุยกันยังไง พูดกันยังไง ชอบกันยังไง
เราก็ควรจะพูดอย่างนั้น ชอบอย่างนั้น คุยตามเขาไปแบบนั้น มันเหมือนกันหมดทั่วโลก
มันแย่งเวลาที่จะไปให้ความสนใจกับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่เรามีความสามารถ มีความถนัดเป็นพิเศษ

เรื่องของเรื่องนะ ถ้าหากว่าเราใช้ชีวิตในแบบที่จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจ
สงสัยอะไร อยากรู้อะไร พยายามขุดคำตอบออกมาให้ได้ด้วยตัวเอง
หรือว่ามีความสนใจในการละเล่นไหนก็ตาม ในการเอาสนุกด้านใดด้านหนึ่งก็ตาม
เอาให้มันจริง พอเอาให้จริงหลายงานเข้า ในที่สุดคุณจะรู้สึกว่านี่จริงที่สุดมันอยู่ตรงนี้
แล้วไอ้สิ่งที่คุณให้เวลากับมันที่สุด สนใจกับมันมากที่สุดนั่นแหละ เหมาะกับตัวคุณที่สุด
พูดโดยสรุปคำตอบก็คือว่าอย่ารอให้การเอ็นทรานซ์หรือว่าการทำงานตามสาขาอาชีพ
มันมาบีบให้คุณรู้สึกว่าคุณจะต้องเป็นอย่างนี้ คุณจะต้องเป็นตัวนี้ สวมหัวโขนแบบนี้
เวลาที่ยังมีเวลาอยู่นะ ตอนที่ยังมีเวลาอยู่นี่
พยายามที่จะหาอะไรทำแบบที่ใจของคุณรู้สึกตรงกับมัน
รู้สึกสอดคล้องกับมัน แล้วก็รู้สึกว่าอยากทุ่มเวลาให้กับมัน
อันนี้จะสอดคล้องกับหลักที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในอิทธิบาท ๔
มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
ก็คือถ้าหากคุณมีความสนใจเรื่องไหน อย่าปล่อย กัดไม่ปล่อยเลย
ตรงนั้นแหละที่เขาเรียกกันว่าพรสวรรค์ ชาวโลกเขาเรียกกันพรสวรรค์
แต่มันจะฟ้องว่าคุณเคยทำบุญประเภทไหนมา

อย่างบางคน ในอดีตชาตินะเคยทำขนมให้พระเป็นประจำ
ด้วยการออกหัวคิดเอง ปรุงแต่งให้มันมีรสชาติอร่อย
ปรุงแต่งให้มันมีความแปลกใหม่ คิดชื่อขนมขึ้นมาเองอะไรแบบนี้ ทำอยู่ทั้งชีวิต
บุญที่สั่งสมมามันจะทำให้ตั้งแต่เด็กๆ มีความสนใจชอบทำขนม
แล้วพอโตขึ้น ทำขนมออกขาย
มันกลายเป็นอะไรที่เป็นที่ติดใจ รสชาติถูกปากคนมาก
แล้วรัศมีบุญเก่ามันก็จะไปดึงดูดมหาชนให้จำได้ แล้วก็อยากจะช่วยกันบอกต่อ
นี่อันนี้ตัวอย่าง ยกตัวอย่าง ถ้าคุณจะมองเป็นในเรื่องของบุญของกรรม
มันจะมีอะไรบางอย่างที่คุณเคยทำ ทำให้คนอื่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้สมณะชีพราหมณ์ ทำให้บุคคลที่เป็นผู้ทรงศีล
ถ้าหากว่าทำอะไรแบบนั้นบ่อยๆ แล้ว
มันจะไปกระตุ้นในชาติถัดมาให้เกิดความสนใจ ให้เกิดความสนใจมากๆ
ตรงนั้นคนส่วนใหญ่เรียกกันว่าพรสวรรค์
แต่พรสวรรค์มันมีให้แค่จุดเริ่มต้นคือความสนใจและความคุ้นเคย
ไอ้ส่วนของความวิริยะมันเป็นบุญใหม่ที่ต้องไปสั่งสมเอาเองนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP