จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ดูตัวเองก่อน ช่วยตัวเองก่อน


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


055_destination


หากเราจะมองไปรอบ ๆ ตัวในแต่ละวันแล้ว
จะเห็นได้ว่ากระแสโลก กระแสสังคม และสิ่งทั้งหลายรอบ ๆ ตัวเราในสมัยนี้
ส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มจะพาเราไปอบายภูมิทั้งนั้นเลยนะครับ
ในส่วนที่ว่าจะพาให้เราเกิดกุศล และพาเราไปสุคติภูมินั้นก็หายากมากทีเดียว
สำหรับส่วนที่จะนำพาไปสู่การพ้นทุกข์สิ้นเชิงหรือไปนิพพานนั้น ก็ยิ่งหายากขึ้นไปอีก

สำหรับบางท่านนั้น ตื่นแต่เช้ามา ข้างบ้านก็เปิดวิทยุข่าวการเมืองแล้ว (ผมก็โดนนะครับ)
หรือไม่ก็เปิดเพลงรัก ๆ ใคร่ ๆ ประโลมกิเลสให้ได้ยิน
พอเราหยิบหนังสือพิมพ์มาอ่าน ก็มีแต่ข่าวอะไรบ้างล่ะเนี่ย ... (ลองพิจารณาเองนะครับ)
ออกมานอกบ้านก็เจอการจราจรที่ติดขัดและต้องแย่งกันเดินทาง
ไปถึงที่ทำงานก็อาจจะได้เจอเจ้านายที่บ้าอำนาจหรือไม่ฟังเหตุผล เจอเพื่อนร่วมงานนิสัยไม่ดี
เจอลูกค้าที่ต้องการสินค้าหรืองานที่ดีที่สุด มีคุณภาพที่สุด แต่ในราคาประหยัดที่สุดด้วย
(แถมยังต้องการสินค้าหรืองานดังกล่าวแบบเร่งด่วนอย่างไร้เหตุผล)
กลับมาบ้านตอนเย็นเจอคนในครอบครัว ก็อาจจะมีเรื่องให้ทะเลาะกัน หรือไม่พอใจกัน
หรือมีเรื่องที่ทำให้ต้องเป็นห่วงเป็นใยกันมากมาย หรือมีเรื่องที่ทำให้เราต้องเครียดไปด้วย

ในแต่ละวัน เราก็จะพบสิ่งโฆษณามากมาย
ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปเพื่อส่งเสริมให้เพิ่มพูนกิเลส และตัณหามากขึ้น
เพื่อเพิ่มพูนความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เช่นว่า หากเรามีหรือใช้สิ่งที่โฆษณาแล้ว ก็จะทำให้เราสุขภาพดี แข็งแรง สวยงาม ทันสมัย
ร่ำรวย มีแฟน มีความสุข มีโชคลาภ ทำงานสะดวก เจริญในหน้าที่การงาน ค้าขายดี ฯลฯ
โดยที่การชักชวนเหล่านั้นมิได้เป็นไปเพื่อการลดละกิเลส และตัณหาของตัวเราเลย

แม้กระทั่งในเวลาที่เราไปทำบุญที่วัด หรือทำบุญที่ไหน ๆ ก็ตาม
เวลาอวยพรกัน ก็ยังอวยพรให้ว่าขอให้ร่ำรวยจากโชคลาภ หรือขอให้ถูกหวยก็ยังมี
ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้รับพรเพิ่มพูนกิเลสโดยแท้ว่า ตนเองจะ
ต้อง รวย มีโชคลาภ และถูกหวย
อย่างเช่นเมื่อสองหรือสามสัปดาห์ก่อน ผมได้พาคุณแม่ไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่ง
ในระหว่างที่ผมเดินผ่านบริเวณรับบริจาคเพื่อร่วมทำบุญการก่อสร้างศาสนสถานงานหนึ่ง
เจ้าหน้าที่ในวัดที่ถือไมโครโฟนได้ประกาศออกไมโครโฟนว่า
ช่วยกันทำบุญสำหรับงานบุญนี้หน่อยครับ ใครร่วมทำบุญงานนี้จะถูกหวยสิบล้าน
สักพักหนึ่ง ก็บอกชักชวนอีกว่า
ใครร่วมทำบุญงานนี้แล้ว ขอให้ถูกหวยสิบงวดติดต่อกัน
ในการโฆษณาชักชวนเช่นนี้ ไม่ได้แนะนำเลยว่า ให้ทำบุญไปเพื่อละวางความยึดมั่นถือมั่น
แต่กลับแนะนำชักชวนให้ทำบุญไปเพื่อความความโลภและความอยากได้โชคลาภ
และโดยที่โชคลาภนั้นมาจากการเล่นพนัน หรืออบายมุขเสียอีกด้วย
(คนไหนทำบุญด้วยความโลภหวังจะถูกหวยดังที่เขาบอก ก็จะไปซื้อหวยอีก ก็ยิ่งเกิดผลเสีย)
นี่ขนาดอยู่ในวัดเองแท้ ๆ และแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในวัดกำลังชวนเราร่วมทำบุญอยู่นะครับ
แต่ก็ยังมีการชักจูงให้เราไปสู่ทางอบายมุข ให้เราผิดศีล ให้เราเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนความโลภเสียอีก
แล้วสิ่งอื่น ๆ ทั้งหลายในสังคมปัจจุบันนี้จะหาที่ว่าพาเราไปทางกุศลแท้ ๆ ได้ง่าย ๆ กระนั้นหรือ

ลองสังเกตนะครับว่า เวลาที่เราไปทำทานในแต่ละแห่งนั้น
เวลาอวยพรกันนั้นจะอวยพรอะไรกันบ้าง ซึ่งก็มีหลายแห่งที่เน้นอวยพรกันว่า
ขอให้ร่ำรวย
เวลาที่เราได้รับการอวยพรว่าขอให้ร่ำรวยแล้ว บางทีเราก็อาจจะอดคิดไม่ได้นะครับว่า
หากไม่ได้มีฐานะร่ำรวยแล้ว ชีวิตเราจะต้องไม่มีความสุขหรือ จะถือว่าชีวิตเราล้มเหลวหรือ
จะถือว่าชีวิตเราไม่มีคุณค่าหรือ แล้วจริง ๆ แล้วความสุขในชีวิต คุณค่าในชีวิตเราอยู่ตรงไหน
อยู่ที่ฐานะการเงินว่าเราร่ำรวยไหม หรืออยู่ที่สิ่งของวัตถุที่เรามีและหามาได้กระนั้นหรือ
เป้าหมายสูงที่สุดในชีวิต หรือสำคัญที่สุดในชีวิตที่เราต้องการก็คือ แค่เพียงร่ำรวยเท่านั้นเองหรือ
โดยสิ่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่ากระแสโลกพยายามลากเราไปอยู่ใต้อำนาจของวัตถุนิยม

ทั้งนี้ ผมก็เคยได้ยินครูบาอาจารย์บางท่านได้ตั้งข้อสังเกตนะครับว่า
สำหรับบางคนนั้น เวลาจะแช่งคนอื่น ได้แช่งว่า
ขอให้ไม่ต้องไปผุดไปเกิด
ซึ่งหากเขาไม่ต้องไปเกิดจริง ๆ แล้ว ก็แสดงว่าเขาละกิเลสตัณหา ละอวิชชาได้แล้ว
คือไปถึงนิพพานนั่นเอง ก็ย่อมจะไม่ต้องไปเกิด ก็เท่ากับว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเลยนะครับ
แต่ว่าคนแช่งหลาย ๆ คน และคนที่ถูกแช่งหลาย ๆ คนในประโยคนี้
กลับรู้สึกว่าการไม่ต้องไปเกิดนั้น เป็นสิ่งเลวร้าย เป็นสิ่งไม่ดี และเป็นสิ่งน่ากลัว
ซึ่งเป็นความเข้าใจที่สวนทางกับธรรมะ แต่กลับเป็นสิ่งที่ตามกระแสโลก และกระแสกิเลสตัณหา

อาจจะมีบางครั้งหรือหลายครั้งนะครับที่เรามองไปรอบ ๆ ตัวแล้ว
ก็เห็นว่าคนอื่น ๆ บางคนไม่ได้รู้จักธรรมะเลย ไม่มีทาน ไม่มีศีล และไม่รู้จักการภาวนาเลย
แล้วเราก็ต้องการที่จะไปช่วยเหลือเขา แก้ไขเขา ปรับปรุงเขา หรือผลักดันให้เขามาทางธรรมะ
แต่เมื่อเขาได้รับการแนะนำหรือช่วยเหลือของเราแล้ว เขาไม่ได้แก้ไข หรือปรับปรุง
หรือเดินมาในทางเส้นทางธรรมะดังที่เราคาดหวังไว้ ซึ่งทำให้เราอาจจะรู้สึกไม่พอใจ โมโห น้อยใจ
เสียใจ เสียดาย หรือผิดหวัง หรือกระทั่งไปตำหนิเขา หรือด่าว่าเขาก็ยังมี

ในกรณีดังกล่าวนั้น การเมตตาต่อคนอื่นโดยอยากจะให้คนอื่นได้ธรรมะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดีนะครับ
แต่ผมก็ขอแนะนำว่า ก่อนที่เราจะมองว่าคนอื่นขาดธรรมะ หรือสมควรได้ธรรมะนั้น
แล้วเราจะไปยุ่งวุ่นวาย ยัดเยียดธรรมะ หรือยัดเยียดทาน ศีล และภาวนาให้คนอื่น ๆ นั้น
เราสมควรจะสำรวจดูตัวเราเองก่อนว่า ตัวเราขาดธรรมะหรือไม่ และสมควรได้ธรรมะหรือไม่
โดยเราก็ควรจะช่วยเหลือตนเองให้ได้ธรรมะ และได้มีธรรมะเสียก่อน จะเป็นประโยชน์มากกว่า
ไม่ใช่ว่าไปมัวแต่ห่วงหรือตำหนิคนอื่นว่าไม่มีธรรมะ ขาดธรรมะ แต่ตัวเรานั้นมิได้ดูตนเองเลย

ยกตัวอย่างนะครับ หากเราเห็นว่าใครคนไหนไม่ทำทานแล้ว ก่อนอื่น เราก็ควรหันมา
พิจารณาสำรวจตนเองก่อนว่า แล้วเราล่ะ ได้ทำทานตามสมควรแก่ธรรมหรือเปล่า
หากเราเห็นว่าใครคนไหนไม่มีศีลแล้ว เราก็ควรหันมาพิจารณาสำรวจตนเองก่อนว่า
แล้วเราล่ะ มีศีลไหม ถือศีลแข็งแรงเพียงพอแล้วหรือยัง
หากเราเห็นว่าใครคนไหนไม่ภาวนาแล้ว เราก็ควรหันมามองตนเองก่อนว่า
แล้วเราล่ะ ภาวนาตามสมควรแก่ธรรมไหม ขยันขันแข็งไหม หรือว่าเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ

หากเริ่มต้นเรื่องแล้ว เรามัวแต่ไปมองคนอื่น ๆ (จะคนใกล้ตัวหรือคนไกลตัวก็ตาม) ว่าขาดธรรมะ
ว่าเขาไม่ทำทาน ไม่รักษาศีล ไม่ภาวนา แล้วเราก็พยายามจะเอาสื่อธรรมะ
(เช่น หนังสือธรรมะ หรือซีดีธรรมะก็ดี) ไปยัดเหยียดให้เขาอ่าน หรือให้เขาฟัง
โดยหวังว่าเขาจะได้มีธรรมะ และทำให้เขาหันมาทำทาน รักษาศีล และภาวนาแล้ว
แต่ว่าตัวเราเองนั้นยังไม่มีธรรมะ ยังไม่มีทาน ไม่มีศีล และไม่ภาวนาเลย
ก็ถือว่าสิ่งที่ทำนั้นมีคุณประโยชน์น้อยครับ โดยสมควรจะเริ่มที่ตัวเราเองก่อน
การเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน พิจารณาสำรวจตัวเองและช่วยเหลือตนเองให้มีธรรมะก่อน
ย่อมจะเป็นประโยชน์มากกว่า โดยมีเหตุผลสนับสนุนหลายประการครับ ซึ่งรวมถึง

๑. ตัวเราควรจะต้องมีธรรมะก่อน เราจึงจะทราบได้ว่าธรรมะจะช่วยแก้ไขปัญหาให้เขาได้จริง
หากเราเองไม่รู้จักธรรมะ และไม่มีธรรมะเลย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งไม่ดีหรือปัญหานั้น ๆ
ที่คนอื่นกำลังประสบอยู่ในขณะนี้จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการมีธรรมะ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าน้องคนหนึ่งที่เรารู้จักกำลังป่วยมาก
เราก็ไปบอกน้องเขาว่า ให้ทานสมุนไพรชนิดหนึ่งแล้วจะรักษาอาการป่วยนั้นได้
แต่ว่าเราเองไม่ใช่แพทย์ ไม่มีความรู้ในสมุนไพรและโรคนั้น และไม่เคยทานสมุนไพรนั้นด้วย
แล้วเราเองจะไปแนะนำให้น้องเขาทานสมุนไพรชนิดนั้นได้อย่างไร
และเราจะทราบได้อย่างไรว่าน้องเขาทานแล้วจะหาย (หรือจะทำให้ตายหรือเปล่านะ)
การที่เราไปแนะนำให้คนอื่นให้ใช้ธรรมะรักษาอาการหรือแก้ไขปัญหาของเขา
โดยที่ตัวเราเองไม่ได้มีธรรมะ ไม่มีความรู้ทางธรรมะ และไม่เคยใช้ธรรมะรักษาอาการของเรา
หรือแก้ไขปัญหาของเราเองเลย ก็ทำนองเดียวกันครับว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะช่วยเขาได้

๒. ในการศึกษาและปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการปรับปรุงตนเอง
ยกตัวอย่างว่า หากเราจะพิจารณาหลักปฏิบัติ ๓ ข้อในโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งได้แก่
ข้อหนึ่ง การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง (ห้ามใครทำบาปล่ะ ก็คือตัวเราเองไม่ทำบาปทั้งปวง)
ข้อสอง การทำกุศลให้ถึงพร้อม (ใครต้องทำกุศลล่ะ ก็คือตัวเราเองทำกุศลให้ถึงพร้อม)
ข้อสาม การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ (ใครต้องภาวนาล่ะ ก็คือตัวเราเองที่ต้องภาวนา)
จะเห็นได้ว่าหลักปฏิบัติทั้ง ๓ ข้อนี้ ก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนเอง

หากจะพิจารณาธรรมะในเรื่องอื่น ๆ อีกก็ตาม เช่น เรื่องสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรค ๘ (รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ)
ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และการปฏิบัติตนเองนะครับ

๓. โดยปกติแล้ว ลำดับการเรียนรู้และถ่ายทอดธรรมะก็ควรจะเริ่มที่ตนเองก่อน
หากเราจะเริ่มพิจารณามาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาลแล้ว
พระพุทธเจ้าท่านก็ต้องตรัสรู้ก่อนเป็นพระอรหันต์องค์แรก
จากนั้นท่านจึงสามารถนำพระธรรมคำสอนมาสั่งสอนเหล่าสงฆ์สาวกได้
แม้จะไล่เรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบันก็ตาม
ครูบาอาจารย์ที่สอนธรรมะ ไม่ว่าจะสอนในด้านปริยัติ หรือปฏิบัติก็ตาม
ท่านก็จะศึกษาปริยัติหรือได้ปฏิบัติมาก่อนที่ท่านจะมาสอนปริยัติหรือปฏิบัตินั้น (แล้วแต่กรณี)
ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นการเริ่มต้นที่ตนเองก่อน
แต่แม้ว่าจะเริ่มต้นที่ตนเองก็ตาม แต่ผลท้ายสุดก็คือ ประโยชน์เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นมากมาย

๔. การแก้ไขที่ตัวเราย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองมากกว่าการไปแก้ไขที่คนอื่น
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราและเพื่อนคนหนึ่งเรียนอยู่ชั้นเรียนเดียวกัน
และเราทั้งคู่ต่างจะต้องเข้าสอบปลายภาคเรียนในสิ้นเดือนนี้
แต่เราไม่ได้สนใจที่จะเตรียมตัวสอบของเราเองเลย
กลับมัวแต่ไปยุ่งและห่วงดูแลเพื่อนเรา เพื่อให้เพื่อนจะต้องเตรียมสอบได้ดี ๆ
ซึ่งหากจะลองคาดการณ์ผลสอบแล้ว เพื่อนเราจะสอบผ่านหรือเปล่านั้นก็ยังไม่ทราบได้
แต่ตัวเราเองจะต้องสอบตกแน่ ๆ (ทำให้เดือดร้อนพ่อแม่เรา ครอบครัวเรา และตัวเราเอง)
เช่นนี้ก็ย่อมจะไม่ใช่สิ่งสมควรทำ โดยอาจจะเรียกได้ว่า
ไม่รู้จักหน้าที่ตนเอง
แต่หากว่าเราเองเตรียมสอบของเราไว้พร้อมระดับหนึ่งแล้ว
จากนั้น ก็แบ่งเวลาไปช่วยเหลือเพื่อนของเราเตรียมสอบด้วย
เช่นนั้นก็ย่อมจะเป็นประโยชน์มากกว่าไปเริ่มต้นที่มัวแต่ไปห่วงช่วยเหลือเพื่อน

๕. การแก้ไขที่ตัวเราย่อมจะมีโอกาสทำสำเร็จกว่าการแก้ไขที่คนอื่น
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราอาศัยอยู่ในห้องพักในอพาร์ทเมนท์ หรือคอนโดมิเนียมก็ตาม
และปรากฏว่าห้องเราและห้องข้างเคียงนั้นมีเศษอาหารเหลือเกลื่อนอยู่มากมาย
ทำให้มีมดและแมลงสาบในห้อง ในทางแก้ปัญหานั้น เราลองพิจารณาว่า
การที่เราทำความสะอาดห้องเราเอง เพื่อขจัดเศษอาหารทั้งหมดในห้องของเราเทียบกับ
การที่เราไปคุยแนะนำให้เพื่อนข้างห้องทำความสะอาด เพื่อขจัดเศษอาหารในห้องของเขานั้น
กรณีไหนจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า ซึ่งเราก็ย่อมจะเห็นได้นะครับว่า
เราแนะนำเพื่อนข้างห้องไปแล้ว เขาจะไปทำหรือไม่ทำนั้น เราย่อมไม่ทราบ และควบคุมเขาไม่ได้
แต่เราเองนั้นสามารถจะทำความสะอาดห้องของเราเองได้
ดังนั้น โอกาสในการแก้ไขปัญหาในส่วนของเราเองนั้นย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

ทีนี้พิจารณาต่อมา สมมุติว่าเราเป็นนักเรียนเข้าห้องสอบข้อเขียน และมีข้อสอบสองข้อที่ต้องทำ
โดยข้อแรก เรามีโอกาสตอบถูกมากกว่า ส่วนข้อสองมีโอกาสตอบถูกน้อยกว่า
เราจะเริ่มทำข้อสอบโดยเขียนคำตอบของข้อสอบข้อใดก่อนล่ะครับ
โดยปกติแล้ว เราก็จะต้องเขียนตอบข้อสอบที่เรามีโอกาสตอบถูกมากกว่าก่อน
หลังจากนั้นจึงมาเขียนตอบข้อสอบที่มีโอกาสตอบถูกน้อยกว่าใช่ไหมครับ
เพราะอะไรจึงทำเช่นนั้น
? ก็เพื่อเป็นการตุนคะแนนที่ได้แน่ ๆ ไว้ก่อน
และเพื่อป้องกันกรณีที่เกิดเวลาหมด และเขียนข้อสอบไม่ทัน เราก็จะได้คะแนนในข้อที่ทำได้นั้น

๖. หากเราแก้ไขที่ตนเองก่อน ความน่าเชื่อถือในการแนะนำหรือช่วยเหลือก็จะมีมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคุณแม่เราเป็นคนชอบโมโห เอะอะก็ไม่พอใจ เอะอะก็ด่ากราด
เราจึงคิดว่าคุณแม่เรานี้ขาดธรรมะ และธรรมะน่าจะช่วยท่านให้ลดละเลิกเรื่องชอบโมโหได้
เราจึงเอาซีดีธรรมะให้คุณแม่ไปฟัง หรือเอาหนังสือธรรมะให้ท่านไปอ่าน (ซึ่งก็ถือว่าดีนะครับ)
แต่หากตัวเราเองยังไม่เคยฟังซีดีธรรมะแผ่นนั้น และไม่เคยอ่านหนังสือธรรมะเล่มนั้น
แล้วเราจะไปแนะนำและยืนยันกับคุณแม่ได้อย่างไรว่าซีดีและหนังสือนั้น ๆ ดีและมีประโยชน์จริง
ในขณะเดียวกัน หากตัวเราเองก็ยังชอบโมโหอยู่เลย
แล้วคุณแม่จะเชื่อหรือว่า ซีดีและหนังสือนั้น จะดีจริง และช่วยได้จริง ๆ
เพราะขนาดตัวเราเองก็ยังไม่ฟังซีดีนั้น ไม่อ่านหนังสือนั้น และก็ยังชอบโมโหอยู่
ลองเปรียบเทียบกับว่า เราได้ฟังซีดีธรรมะนั้นแล้ว อ่านหนังสือธรรมะนั้นแล้ว
และจากเดิมที่เราชอบโมโหนั้น เราก็กลายเป็นคนสำรวม ไม่ได้ไปโมโหใคร และเป็นคนมีความสุข
ซึ่งหากคุณแม่ได้เห็นชัดเจนเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมจะเกิดความชักจูงใจหรือความน่าเชื่อถือมากกว่า

๗. หากเราได้รู้คุณค่าในสิ่งที่เราจะให้แก่ผู้อื่น ความปีติในกุศลกรรมนั้นย่อมมีมากกว่า
ในเมื่อตัวเราเองยังไม่มีทาน ไม่มีศีล และไม่ภาวนาเลย
เราก็ย่อมจะไม่รู้คุณประโยชน์อันสูงยิ่งของทาน ศีล และภาวนานั้น
เราย่อมจะไม่รู้ว่าธรรมะที่ได้แนะนำให้แก่คนอื่น ๆ นั้น จะมีคุณประโยชน์แค่ไหน เพียงใด
แต่หากเราได้รู้คุณประโยชน์ว่า ธรรมะที่ได้แนะนำเหล่านั้นมีคุณประโยชน์สูงค่ายิ่งเพียงไรแล้ว
ความปีติในกุศลกรรมของเรานั้นก็ย่อมจะมีมากกว่า

ยกตัวอย่างนะครับ สมมุติว่าเราให้ก้อนหินก้อนหนึ่งแก่เพื่อนเราที่มีฐานะยากจน
โดยเราไม่รู้ว่าหินนั้นคือหินอะไร และมีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน
เพื่อนเราจะนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง เราก็ไม่ทราบ
เขาอาจจะนำไปใช้เพียงเป็นหินทับกระดาษ หรือนำไปทิ้งก็ได้
เช่นนั้น ความปีติใจในกุศลกรรมของเราก็จะมีอยู่ในระดับหนึ่ง
แต่หากเราทราบว่าหินก้อนนั้นคือ เพชรอันมีราคาแพง
เราทราบว่าเพชรที่ให้ไปนั้นจะสามารถอำนวยประโยชน์อะไรให้เพื่อนเราได้บ้าง เช่น
เขาสามารถนำไปขาย และนำเงินที่ได้นั้นไปรักษาผ่าตัดพ่อที่ป่วยหนักให้หายได้
นำเงินมาเลี้ยงดูแม่ที่แก่ชราได้ นำเงินมาส่งเสียให้ลูกเขาได้เรียนหนังสือ
นำมาใช้จ่ายเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวเขาได้
เช่นนี้แล้ว ความรู้สึกปีติใจในกุศลกรรมของเราดังกล่าวก็ย่อมจะมีมากกว่านะครับ

ในทำนองเดียวกันนะครับ หากเรารู้คุณค่าของธรรมะนั้น ๆ แล้ว
เรารู้คุณค่าของทาน ศีล และภาวนาแล้ว เรารู้คุณค่าของสื่อธรรมะนั้น ๆ แล้ว
การที่เราได้ให้สิ่งของที่เรารู้ว่ามีคุณค่าสูงยิ่งแก่คนอื่น ๆ นี้ ก็ย่อมจะมีปีติในกุศลกรรมมากกว่า

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็เป็นเหตุผลสนับสนุนว่า เราควรจะเราสำรวจดูตัวเราเองก่อนว่า
ตัวเราขาดธรรมะหรือไม่ และสมควรได้ธรรมะหรือไม่
แต่ทั้งนี้ ก็มิได้หมายความว่า ห้ามเราไปช่วยแนะนำธรรมะให้คนอื่นนะครับ
การที่ไปช่วยแนะนำธรรมะให้คนอื่นนั้นก็ควรจะเป็นสิ่งดีนะ
(โดยบางทีก็อาจจะไม่ดีก็ได้ครับ ต้องดูเหตุปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบด้วย)
เพียงแต่แนะนำว่า สมควรหันมามองตนเองก่อน และช่วยตัวเองให้มีธรรมะก่อน
จะเป็นประโยชน์มากกว่าครับ และเมื่อเราได้พิจารณาตัวเองและช่วยตัวเองให้มีธรรมะแล้ว
การจะช่วยเหลือให้คนอื่นได้มีธรรมะนั้น จะทำเพียงไรแค่ไหน
ก็สามารถพิจารณาทำไปตามที่เหมาะสม แล้วแต่กรณี

แม้ว่าเราจะได้เริ่มต้นช่วยเหลือให้ธรรมะที่ตนเองก่อนก็ตาม
แต่หากเรามีธรรมะแล้ว ท้ายสุด ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นแก่ผู้อื่นได้เช่นกัน
เวลาที่เราอยู่ใกล้กับคนที่มีทาน ศีล และภาวนาก็ย่อมจะมีความสุขและร่มเย็นนะครับ
หากเราไปอยู่ใกล้กับคนที่มีแต่โมหะ โทสะ โลภะ เราก็มีแต่เรื่องต้องกลุ้มใจใช่ไหม
ฉะนั้นแล้ว เรามีธรรมะในตัวเรา มีทาน ศีล และภาวนา ก็ย่อมเป็นประโยชน์แก่คนอื่น ๆ เช่นกัน
ในทางกลับกัน หากเราไปเริ่มต้นให้ธรรมะที่ผู้อื่นก่อน โดยไม่ได้เริ่มต้นให้ธรรมะแก่ตนเองแล้ว
ย่อมจะเกิดประโยชน์น้อยกว่า และในบางกรณีแล้ว อาจจะยิ่งทำให้ทะเลาะกันและไม่พอใจกันก็ได้



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP