ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

อภยราชกุมารสูตร ว่าด้วยอภัยราชกุมาร


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต
ใกล้กรุงราชคฤห์. ครั้งนั้น พระราชกุมารพระนามว่าอภัย เสด็จเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่
ทรงอภิวาทนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
.

[๙๒] นิครนถ์นาฏบุตรได้ทูลอภัยราชกุมารว่า ไปเถิด พระราชกุมาร
เชิญพระองค์เสด็จไปยกวาทะแก่พระสมณโคดมเถิด
เมื่อพระองค์ทรงยกวาทะแก่พระสมณโคดมอย่างนี้ กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า
อภัยราชกุมารทรงยกวาทะแก่สมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้
.
อภัยราชกุมารตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดม

ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ อย่างไร ?

นิครนถ์นาฏบุตรทูลว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ
แล้วจงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นบ้างหรือไม่
? ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ราชกุมาร ตถาคตกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ดังนี้ไซร้
พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น
การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า
เพราะแม้ปุถุชนก็กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น
ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ราชกุมาร ตถาคตไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้
พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น
เหตุใด พระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า เทวทัตจักเกิดในอบาย จักเกิดในนรก
ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง เป็นผู้อันใคร ๆ เยียวยาไม่ได้ ดังนี้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตโกรธเสียใจ
พระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว
จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ
บุรุษนั้นจะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด พระราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น
ถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย
.

อภัยราชกุมารรับคำนิครนถ์นาฏบุตรว่า ได้ ท่านอาจารย์ แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ
ทรงอภิวาทนิครนถ์นาฏบุตร ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ครั้นแล้ว ทรงแหงนดูพระอาทิตย์ ทรงพระดำริว่า วันนี้มิใช่กาลจะยกวาทะแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า
วันพรุ่งนี้เถิด เราจักยกวาทะแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าในนิเวศน์ของเรา
ดังนี้ แล้วจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระองค์เป็นที่ ๔ จงทรงรับภัตตาหารของหม่อมฉันเพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ. ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงทราบว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป. ครั้งนั้น พอล่วงราตรีนั้นไป
เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอภัยราชกุมาร ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้
ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงอังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีต
ให้อิ่มหนำเพียงพอด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จ
ทรงละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว อภัยราชกุมารทรงถืออาสนะต่ำอันหนึ่ง ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
.




วาจาที่ไม่เป็นที่รัก


[๙๓] อภัยราชกุมารประทับ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นบ้างหรือไม่
?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ราชกุมาร ในปัญหาข้อนี้จะวิสัชนาโดยส่วนเดียวมิได้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว.

ราชกุมาร เหตุไฉนพระองค์จึงตรัสอย่างนี้เล่า ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส หม่อมฉันเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. นิครนถ์นาฏบุตรได้บอกว่า ไปเถิด พระราชกุมาร
เชิญพระองค์เสด็จไปยกวาทะแก่พระสมณโคดมเถิด เมื่อพระองค์ยกวาทะแก่พระสมณโคดมอย่างนี้
กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า อภัยราชกุมารทรงยกวาทะแก่พระสมณโคดม
ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้. เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้ หม่อมฉันได้ถามว่า
ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ อย่างไร
?
นิครนถ์นาฎบุตรตอบว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จ
เข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วจงทูลถามอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่นบ้างหรือไม่
?
ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ราชกุมาร ตถาคตกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้
พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น
การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า เพราะแม้ปุถุชนก็กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ราชกุมาร ตถาคตไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้
พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น
เหตุใดพระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า เทวทัตจักเกิดในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง
เป็นผู้อันใคร ๆ เยียวยาไม่ได้ ดังนี้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตโกรธเสียใจ
พระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า
ไม่อาจคายออกได้เลย เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ บุรุษนั้นจะไม่อาจกลืนเข้า
ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด พระราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น ถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว
จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย
.




วาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์


[๙๔] สมัยนั้นแล มีกุมารน้อยนอนหงายอยู่บนพระเพลาของอภัยราชกุมาร.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะอภัยราชกุมารว่า ราชกุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ถ้ากุมารนี้อาศัยความเผลอของพระองค์หรือของหญิงพี่เลี้ยง พึงนำไม้หรือก้อนกรวดมายัดใส่ในปาก
พระองค์จะทำอย่างไร
?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะนำออกเสีย ถ้าหม่อมฉันไม่อาจจะนำออกได้แต่แรก
หม่อมฉันก็จะเอามือซ้ายประคองศีรษะ แล้วงอนิ้วมือขวาควักไม้หรือก้อนกรวดแม้จะมีเลือดออกเสีย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดูในกุมาร
.

ราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจาไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น
ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
.
ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้และประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย
.

 



พุทธปฏิภาณ


[๙๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้บัณฑิตก็ดี
สมณะผู้บัณฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้วเข้ามาเฝ้าทูลถามพระตถาคต
การพยากรณ์ปัญหาของบัณฑิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรึกด้วยพระหฤทัยไว้ก่อนว่า
บัณฑิตทั้งหลายจักเข้ามาเฝ้าเราแล้วถามอย่างนี้ เราอันบัณฑิตเหล่านั้นถามอย่างนี้แล้ว
จักพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่าพยากรณ์นั้นปรากฏแจ่มแจ้งกะพระตถาคตโดยทันที
?

ราชกุมาร ถ้าอย่างนั้น ในข้อนี้ อาตมภาพจักกลับถามพระองค์บ้าง ข้อนี้พระองค์เห็นควรอย่างใด
พระองค์พึงพยากรณ์อย่างนั้น ราชกุมาร พระองค์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
พระองค์เป็นผู้ฉลาดในส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถมิใช่หรือ
?

อย่างนั้น พระเจ้าข้า หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ.

ราชกุมาร พระองค์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ชนทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้ว
พึงทูลถามอย่างนี้ว่า ส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถอันนี้ชื่ออะไร
การพยากรณ์ปัญหาของชนเหล่านั้น พระองค์ตรึกด้วยใจไว้ก่อนหรือไม่ว่า
ชนทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้ว จักถามอย่างนี้ เมื่อเราถูกชนเหล่านั้นถามอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้
หรือว่าการพยากรณ์นั้นปรากฏแจ่มแจ้งกะพระองค์โดยทันที
?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะหม่อมฉันเป็นทหารรถ รู้จักดี ฉลาดในส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถ
ส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถทั้งหมดหม่อมฉันทราบดี
ฉะนั้น การพยากรณ์ปัญหานั้นปรากฏแจ่มแจ้งกะหม่อมฉันโดยทันทีทีเดียว
.

ฉันนั้นเหมือนกันแล ราชกุมาร กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้บัณฑิตก็ดี
สมณะผู้บัณฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้วจักเข้ามาถามตถาคต การพยากรณ์ปัญหานั้น
ย่อมแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่ธรรมธาตุนั้นตถาคตแทงตลอดดีแล้ว
การพยากรณ์ปัญหานั้น จึงแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที
.

[๙๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อภัยราชกุมารได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้
ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล
.



อภัยราชกุมารสูตรที่ ๘ จบ




(อภยราชกุมารสูตร คหปติวรรค
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภาค ๒ เล่ม ๑
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๐)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP