จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อยากได้อะไรในโลก


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


054_destination



ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะได้อ่านเนื้อหาในย่อหน้าถัดไปต่อจากย่อหน้านี้ ผมอยากจะขอให้ท่านผู้อ่าน

ได้พิจารณาว่าตัวท่านเองอยากจะได้อะไรในโลกนี้ หรือท่านอยากจะให้ชีวิตท่านมีอะไรบ้าง
ซึ่งอาจจะใช้เวลาพิจารณาไม่นานครับ สักประมาณหนึ่งหรือสองนาทีก็ได้
โดยพิจารณาคำถามนี้ก่อนที่ท่านจะได้อ่านย่อหน้าถัดไปนะครับ

หากท่านพิจารณาแล้วก็ดูเหมือนว่าชีวิตท่านมีอะไรที่ต้องการมากมายเสียเหลือเกิน
จนกระทั่งทำให้งง และไม่รู้ว่าต้องการให้ชีวิตของท่านเป็นอย่างไรกันแน่
ผมจะลองเปลี่ยนคำถามใหม่นะครับ เผื่อว่าจะพิจารณาได้ง่ายขึ้น
สมมุติว่า ให้มีคน ๆ หนึ่งมาอวยพรให้กับท่านผู้อ่านก็แล้วกัน
ท่านผู้อ่านจะชอบคำอวยพรแบบไหนมากกว่ากัน ก็ลองเลือกดูนะครับ

แบบที่ ๑ ขอให้มีคู่สมรสที่ดี ลูกหลานที่ดี ครอบครัวที่ดี พร้อมด้วยเงินทอง
และทรัพย์สินที่จำเป็นทั้งหลายสำหรับครอบครัวอย่างครบถ้วนบริบูรณ์

แบบที่ ๒ ขอให้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี มีสมบัติมากมาย และทรัพย์สินมากมายก็ตกทอดแก่บุตร
ทำกิจการค้าเจริญก้าวหน้า คิดหวังสิ่งไหนประการใดก็ใช้ทรัพย์สมบัติไปซื้อหามาได้
มีแต่ความสุขมากมาย โดยไม่พบกับความเสื่อมสูญเลย

แบบที่ ๓ ขอให้ได้เป็นนักบวชผู้สามารถในการทำนายโชคชะตาราศีได้แม่นยำ
และถึงพร้อมด้วยลาภสักการะอย่างมากมาย

แบบที่ ๔ ขอให้เป็นผู้มีโฉมงามที่สุดกว่าหญิงใดในแผ่นดิน และยังเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ

แบบที่ ๕ ขอให้ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีอำนาจปกครองหลายทวีป ไม่มีใครยิ่งใหญ่เกิน

หากคิดคำตอบในตอนแรกไม่ออก ก็ให้ท่านผู้อ่านลองเลือกคำอวยพรหนึ่งใน ๕ แบบนี้แล้วกันครับ

จะเห็นได้ว่าคำอวยพร ๕ แบบที่ยกมานั้น ก็อาจมีบางสิ่งที่แต่ละท่านอยากจะได้ไม่ตรงกัน
ซึ่งปกติแล้ว เรื่องราวก็มักจะเป็นว่า คนไหนขาดแคลนสิ่งไหนแล้ว ก็จะขวนขวายหาสิ่งนั้น
คล้าย ๆ กับว่าหากคนไหนกินข้าวทุกวันแล้ว ก็อยากจะกินก๋วยเตี๋ยว
ส่วนคนไหนที่กินก๋วยเตี๋ยวทุกวันแล้ว ก็อยากจะกินข้าว ทำนองนั้น
ความที่อยากจะได้ในสิ่งที่เราขาดแคลน หรือยังไม่มี (หรือสิ่งที่เรามีแล้ว แต่สูญเสียไป) นี้
ทำให้หลาย ๆ คนต้องทุกข์ใจมาก และเป็นทุกข์ในชีวิตอย่างมาก

ความทุกข์ใจอย่างมากมายในเรื่องต่าง ๆ นั้น ยกตัวอย่างเช่น การถูกคนที่รักทรยศหักหลัง
(จะเป็นแฟน สามี หรือภรรยาก็ตาม) สูญเสียคนที่รัก หลงรักคนมีเจ้าของแล้ว
ไม่มีแฟน (หาแฟนไม่ได้) เหงาไม่มีเพื่อนสนิท เจ้านายที่ทำงานนิสัยไม่ดี เพื่อนร่วมงานนิสัยไม่ดี
ทะเลาะกับคนอื่น มีปัญหาเรื่องสุขภาพ มีปัญหาเรื่องฐานะทางการเงิน เรียนไม่เก่ง
ต้องการมีชื่อเสียง หรือสูญเสียชื่อเสียง ฯลฯ สารพัดสารพัน
ซึ่งในบางกรณีนั้น คนที่ประสบความทุกข์ดังกล่าวก็อาจจะได้มีโอกาสเข้ามาในเส้นทางธรรม
เพราะต้องการพ้นจากสภาวะแห่งความทุกข์เช่นนั้น
บางคนก็พยายามหาทางแก้ไขทางโลกให้ได้ก่อน แต่เมื่อจนปัญญา และทนไม่ไหวแล้ว
จึงได้หลบเข้ามาเส้นทางธรรม เพราะต้องการพ้นจากสภาวะแห่งความทุกข์เช่นนั้น
บางคนก็สู้ตายอยู่กับเส้นทางโลก โดนไม่สนใจทางธรรมไปจนกระทั่งสิ้นอายุขัยเลยก็มี

ในบรรดา “คนที่เข้ามาเส้นทางธรรม” นั้น เห็นว่าน่าจะแบ่งได้เป็นสองประเภทนะครับ
ประเภทแรก คือคนที่เข้ามาทางธรรมแล้วอยู่ยาวเลย ก็ศึกษาและปฏิบัติต่อเนื่องไปเรื่อย
เพราะเข้าใจแล้วว่า สิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงในโลก และช่วยให้พ้นทุกข์สิ้นเชิงก็คือธรรมะเท่านั้น
ส่วนประเภทที่สอง คือ คนที่เข้ามาหลบภัยทุกข์ชั่วคราว เพราะทุกข์ใจมากเหลือเกิน
และพอเริ่มสบายใจแล้ว น้ำตาแห้งเหือดหายแล้ว ทำใจได้แล้ว ก็กระโจนกลับไปลุยทางโลกใหม่
แต่หากต้องทุกข์ใจใหม่อีกแล้ว ก็อาจจะกลับ (หรือไม่กลับ) มาเส้นทางธรรมอีกเพื่อหลบภัยนั้น
โดยสิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องการในชีวิตจริง ๆ ก็คือ ความสุข และความสมหวังทางโลกเท่านั้น
และเห็นธรรมะเป็นเพียงร่มไม้ที่หลบแดดร้อนเพียงชั่วคราว

กลับมาที่คำถามในตอนต้นกันนะครับ ซึ่งหากท่านผู้อ่านจะถามผมว่า “ควรจะเลือกคำอวยพรแบบไหน”
ผมก็ขอตอบว่า ย่อมขึ้นกับจริตและความชอบของท่านนะครับว่า ท่านจะเลือกเป้าหมายในทางไหน
กล่าวคือ ท่านจะเลือกเป้าหมายในทางโลก หรือท่านจะเลือกเป้าหมายในทางธรรม เป็นสำคัญในชีวิต
ถ้าท่านเลือกเป้าหมายในทางโลกแล้ว ท่านจะเลือกคำอวยพรใด ๆ ใน ๕ แบบ ก็ย่อมได้ครับ
ก็ตามแต่จริตและความชอบของท่าน ซึ่งหากชอบแบบไหน ก็เลือกแบบนั้นได้

แต่ถ้าท่านเลือกเป้าหมายในทางธรรมแล้ว และท่านได้เลือกคำอวยพรใดใน ๕ แบบนั้น
ก็ขอให้พิจารณาเรื่องราวจากอรรถกถาในพระสูตรที่ชื่อว่า “ภิงสจริยา”
ว่าด้วยจริยาวัตรของภิงสพราหมณ์ ดังต่อไปนี้ครับ

ในสมัยหนึ่ง พระโพธิสัตว์มีชื่อว่า “กัญจนกุมาร” เกิดเป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล ในกรุงพาราณสี
มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ กัญจนกุมารมีน้องชาย ๖ คน น้องสาว ๑ คน รวมเป็นพี่น้องกันทั้งหมด ๘ คน
น้องสาว ๑ คนนั้นเป็นน้องคนสุดท้อง ชื่อว่า “กัญจนเทวี”
ครั้นกัญจนกุมารเจริญวัยแล้วก็ได้ไปเล่าเรียนศิลปะที่เมืองตักกศิลา
โดยเมื่อศึกษาทุกอย่างสำเร็จแล้วก็เดินทางกลับบ้าน

ต่อมา บิดามารดาประสงค์จะให้กัญจนกุมารได้ครองเรือนและดูแลทรัพย์สมบัติสืบต่อไป
จึงกล่าวว่า บิดามารดาจะจัดหาหญิงสาวจากตระกูลที่มีชาติเสมอมาให้เป็นภรรยา
กัญจนกุมารได้ยินดังนั้นแล้วก็กล่าวต่อบิดามารดาว่า ตนเองไม่ต้องการอยู่ครองเรือน
เพราะโลกสันนิวาสทั้งหมดมีภัยเฉพาะหน้าสำหรับตนเองดุจถูกไฟไหม้
ผูกมัดดุจเรือนจำ ปรากฏเป็นของน่าเกลียดดุจที่เทขยะ ตนเองประสงค์ที่จะออกบวช
โดยขอให้พ่อแม่ได้ยกทรัพย์สมบัตินั้นให้แก่บุตรคนอื่น ๆ เถิด

ปรากฏว่าน้อง ๆ ทุกคนของกัญจนกุมารจนกระทั่งน้องคนสุดท้องคือกัญจนเทวีนั้น
ต่างก็ปฏิเสธไม่ยอมรับที่จะอยู่ครองเรือนเพื่อสืบทอดสมบัติเหล่านั้น
โดยน้อง ๆ ทุกคนต่างก็แสดงความประสงค์ที่จะออกบวชเหมือนพี่ชายคนโตกันหมดทุกคน
ต่อมา เมื่อบิดามารดาได้สิ้นชีพลง พระโพธิสัตว์และน้อง ๆ ได้ปลงศพบิดามารดาเรียบร้อยแล้ว
ก็ได้นำทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏินั้นออกแจกจ่ายเป็นทานจนหมดสิ้น
จากนั้น ก็ได้พากันออกบวช ถือเพศเป็นฤๅษีไปอยู่ที่ป่าหิมพานต์เพื่อแสวงหาโมกขธรรม
โดยในการนั้นก็ได้ชวนสหาย ๑ คน ทาสชาย ๑ คน และทาสหญิง ๑ คน
รวมทั้งสิ้นเป็น ๑๑ คน ไปออกบวชด้วยกัน โดยมีพระโพธิสัตว์เป็นฤๅษีผู้เป็นประมุข

ครั้นฤๅษีทั้ง ๑๑ คนได้ออกบวชแล้ว ก็ได้สร้างอาศรมใกล้สระบัวใหญ่สระหนึ่ง
ซึ่งบริเวณนั้นได้มี “ต้นไทรใหญ่” อันเป็นที่อยู่ของ “รุกขเทวดา” องค์หนึ่ง
ฤๅษีทั้งหลาย (เว้นแต่พระโพธิสัตว์นั้น) มักจะสนทนากันเอะอะ แม้กระทั่งเวลาไปหาผลไม้ก็ตาม
พระโพธิสัตว์ในฐานะฤๅษีผู้เป็นหัวหน้าจึงได้เรียกประชุมและติเตียนว่า
การสนทนากันดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่สมณเพศตนเอง
ฤๅษีทั้งหมดจึงได้ทำกติกากันว่า ในแต่ละวันให้ผลัดเวรกันออกไปหาอาหารเพียงคนเดียว
และให้นำอาหารนั้นมาแบ่งเป็น ๑๑ ส่วน เพื่อนำไปวางบนแท่นหินใต้ต้นไทรใหญ่
จากนั้น ให้ตีระฆังขึ้นเป็นสัญญาณให้แต่ละคนต่างมาหยิบส่วนแบ่งอาหารของตนไป
โดยไม่ต้องพบหน้ากันเลย (จะได้ไม่ต้องสนทนากัน) ซึ่งอาหารประจำวันก็นั้นคือ “เหง้าบัว”

ด้วยเหตุที่บรรดาฤๅษีทั้งหลายมิได้ระคนด้วยหมู่คณะเหมือนเช่นเดิม
ต่างคนจึงได้มีความเพียรกล้า มีอินทรีย์มั่นคงอย่างยิ่ง บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้น
ลำดับนั้น ด้วยเดชแห่งศีลของฤๅษีเหล่านั้น ภพของท้าวสักกะ (คือพระอินทร์) ได้หวั่นไหว
ท้าวสักกะทราบเหตุนั้น ทรงดำริว่า “เราจะทดลองฤๅษีเหล่านี้”
จากนั้น ท้าวสักกะจึงได้แอบไปลัก “เหง้าบัว” เฉพาะในส่วนของพระโพธิสัตว์ใน ๓ วันติดต่อกัน

ในวันแรกที่เหง้าบัวส่วนของพระโพธิสัตว์หายไปนั้น
พระโพธิสัตว์ก็มิได้ขุ่นเคือง แต่คิดเพียงว่าน้อง ๆ คงจะเผลอลืมแบ่งส่วนของตนไว้ให้
ในวันที่สอง เหง้าบัวส่วนของพระโพธิสัตว์ก็หายไปอีก
พระโพธิสัตว์ก็มิได้ขุ่นเคือง แต่คิดว่า เราอาจจะมีความผิดใดกระมัง
และการที่มิได้แบ่งส่วนให้แก่เรานี้ น้องคงจะต้องการการขับไล่เราหรือเปล่าหนอ
ในวันที่สามนั้น เหง้าบัวส่วนของพระโพธิสัตว์ก็ยังหายไปอีก
พระโพธิสัตว์ก็มิได้ขุ่นเคือง แต่คิดว่าเราสมควรจะไต่ถาม และฟังเหตุการณ์นั้น
หากตนเองมีความผิดใด ก็จักได้ขอขมาให้ถูกต้อง

(ในส่วนนี้ก็แสดงให้เห็นถึงจิตใจของพระโพธิสัตว์นะครับ หากเป็นพวกเรา ๆ นี้ล่ะก็นะ
แค่เพียงเหง้าบัวหายไปวันแรกหรือวันที่สอง ก็อาจจะเม้งแตก และมีเรื่องกันแล้วนะครับ)

ในเวลาเย็นวันนั้น พระโพธิสัตว์จึงได้ให้สัญญาณระฆังเพื่อเรียกประชุมฤๅษีทั้งหมด
และได้บอกเรื่องราวนั้นให้ทราบ สอบถามกันแล้ว ก็ได้ความว่าในทั้ง ๓ วันนั้น
ฤๅษีอื่น ๆ ได้แบ่งส่วนของพระโพธิสัตว์ไว้ให้ตามที่ได้ตกลงกัน
พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า “พวกท่านได้แบ่งส่วนไว้ให้เรา แต่เราไม่ได้ นี่มันคือเรื่องอะไรกัน
?
ฤๅษีทั้งหมดได้ฟังดังนั้น ต่างก็ได้ถึงความสังเวช และต่างสงสัยว่าจะมีใครขโมยเหง้าบัวนี้ไป

ในขณะนั้น ฤๅษีน้องคนที่ ๑ จึงได้ลุกขึ้นกราบพระโพธิสัตว์ และทำความเคารพต่อฤๅษีอื่น ๆ
จากนั้น จึงได้กล่าวคำสาบานอย่างหนักแน่น เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนเองว่า
“หากข้าพเจ้าลักเหง้าบัวไป ขอให้ชาติหน้าข้าพเจ้าได้ภรรยาที่น่ารักน่าปรารถนา
จงพรั่งพร้อมด้วยบุตรธิดา และพร้อมด้วยม้า โค ทอง เงิน และสิ่งพอใจเถิด”
หมู่ฤๅษีได้ยินดังนั้นแล้วปิดหูพร้อมกล่าวว่า ท่านอย่ากล่าวอย่างนั้น คำสาบานของท่านรุนแรงเกินไป
แม้พระโพธิสัตว์เองก็กล่าวว่า คำสาบานของท่านรุนแรงเกินไป อย่าถือเอาเลย ได้โปรดนั่งลงเถิด

แต่กระนั้นก็ตาม เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตน ฤๅษีคนถัดมา จึงได้กล่าวคำสาบานว่า
“หากข้าพเจ้าลักเหง้าบัวไป ขอให้ชาติหน้าข้าพเจ้าจงได้เป็นคฤหบดี ผู้ร่ำรวยด้วยข้าวเปลือกมาก
สมบูรณ์ด้วยกสิกรรม พร้อมทั้งมียศ มีบุตร มีทรัพย์ และได้สิ่งที่ปรารถนาทุกอย่าง
ไม่พบเห็นความเสื่อมใด และจงครองเรือน”

ฤๅษีคนถัดมา ก็ได้กล่าวคำสาบานว่า “หากข้าพเจ้าลักเหง้าบัวไป ขอให้ชาติหน้า
ข้าพเจ้าจงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นผู้ทำการข่มขี่ และให้มีอำนาจครองแผ่นดิน
พร้อมด้วยทวีปทั้ง ๔ เป็นที่สุด”

(เอ๊ะ ชักจะยังไง ๆ นะครับ ... ทำไมฤๅษีแต่ละคนจึงได้สาบานว่าหากตนเองขโมยเหง้าบัวไปแล้ว
ขอให้ชาติหน้านั้นตนเองได้แต่มีครอบครัวดี ฐานะดี มีทุกอย่างพร้อม มีอำนาจครองแผ่นดินล่ะ
สาบานกันอย่างนี้จะถือว่าเป็นการลงโทษในการกระทำผิดได้หรือ)

ฤๅษีคนถัดมา ได้กล่าวคำสาบานว่า “หากข้าพเจ้าลักเหง้าบัวไป ขอให้ชาติหน้า
ข้าพเจ้าจงเป็นพราหมณ์ ผู้ไม่ปราศจากราคะ จงขวนขวายในฤกษ์ยาม
ทำนายทายโชคชะตาราศีได้แม่นยำ มียศศักดิ์ และถึงพร้อมด้วยลาภสักการะ”

ฤๅษีคนถัดมา ได้กล่าวคำสาบานว่า “หากข้าพเจ้าลักเหง้าบัวไป ขอให้ชาติหน้า
ข้าพเจ้าจงได้บริโภคบ้านส่วยอันหนาแน่นด้วยสิ่งทั้ง ๔ อันบริบูรณ์พร้อม
ที่ท้าวเทพเทวดาประทานให้ จงไม่ปราศจากราคะ และได้เข้าถึงมรณะ”

ฤๅษีคนถัดมา ได้กล่าวคำสาบานว่า “หากข้าพเจ้าลักเหง้าบัวไป ขอให้ชาติหน้า
ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ใหญ่บ้าน จงบันเทิงอยู่ด้วยการฟ้อนรำ การขับร้องในท่ามกลางสหายตลอดชีวิต
และอย่าได้รับความเสื่อมเสียใด ๆ จากพระราชา”

ฤๅษีคนถัดมา ได้กล่าวคำสาบานว่า “หากข้าพเจ้าลักเหง้าบัวไป ขอให้ชาติหน้า
ข้าพเจ้าจงเป็นผู้อัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นผู้งามประเสริฐเลิศกว่าหญิงอื่นทั่วแผ่นดิน”

ฤๅษีคนถัดมา ได้กล่าวคำสาบานว่า “หากข้าพเจ้าลักเหง้าบัวไป ขอให้ชาติหน้า
ข้าพเจ้าจงเป็นสตรีผู้มีอภิธรรมลึกซึ้ง ได้นั่งอยู่ในท่ามกลางวงบรรพชิตทั้งหลาย
มีวาจาฟาดฟัน ทิ่มแทง โต้เถียง ข่มขี่วาจาแห่งบรรพชิตเหล่านั้น ด้วยเหตุแห่งลาภสักการะ”

ฤๅษีทั้งหลายต่างได้กล่าวคำสาบานกันถ้วนทุกคนแล้ว
ต่างกันก็มองกันแล้วสงสัยว่า เช่นนี้ใครจะเป็นคนลักขโมยเหง้าบัวของพระโพธิสัตว์ไปล่ะ
ซึ่งกรณีนี้ก็ร้อนถึง “รุกขเทวดา” ที่อาศัยอยู่ตรง “ต้นไทรใหญ่” นะครับ
เกรงว่าคนอื่นจะเข้าใจว่า ตนเองเป็นผู้นำไป จึงได้ปรากฏตัวออกมาและกล่าวคาถาว่า
“ผู้ใดลักเหง้าบัวของท่านไป ขอให้ผู้นั้นได้ไปเกิดเป็นพระเถระเจ้าอาวาส
ทำนวกัมม (งานก่อสร้าง ฯลฯ) คือปฏิสังขรณ์วิหารอันชำรุดทรุดโทรม แขวงเมืองชังคลนคร
แกะสลักบานประตู หน้าต่าง ตลอดวันยังค่ำ และเรี่ยไรเงินทองจัดงานวัดตลอดปี ตลอดชาติ
ไม่มีวันเจริญสมณธรรมจนวันตายเถิด”

ต่อจากรุกขเทวดาแล้ว ก็ยังมีช้างและวานรในบริเวณนั้นที่สนิทสนมกับเหล่าฤๅษี
ได้มาร่วมสาบานอีกด้วย หลังจากที่ได้สาบานกันหมดจนกระทั่งรุกขเทวดา ช้าง และวานร
จากนั้น พระโพธิสัตว์จึงเห็นสมควรที่จะต้องแสดงความบริสุทธิ์ของตนเองด้วย
จึงได้กล่าวคาถาว่า “ผู้ใดกล่าวสิ่งที่ไม่สูญหายว่าสูญหาย
ขอให้ผู้นั้นจงได้ และจงบริโภคกามทั้งหลาย หรือว่าข้าแต่เทวะผู้เจริญทั้งหลาย
ผู้ใดไม่เคลือบแคลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นจงเข้าถึงมรณะ ในท่ามกลางเรือนเถิด”

เมื่อได้กล่าวสาบานกันทั้งหมดถ้วนทั่วแล้ว ท้าวสักกะทรงทราบว่า ฤๅษีทั้งหมดเหล่านี้
มิได้มีความเพ่งในกามทั้งหลาย จึงทรงสลดพระทัย และได้แสดงตัวออกมา
โดยนำเหง้าบัวมาคืน พร้อมกล่าวว่าที่ตนเองทำไปนั้น ก็เพื่อเป็นการทดลองบรรดาฤๅษีนั้น
พระโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้น จึงตำหนิต่อท้าวสักกะว่า
“ท่านเทวราช พวกอาตมาไม่ใช่นักฟ้อนรำของท่าน ไม่ใช่ผู้ควรจะฟังเล่นของท่าน
ไม่ใช่ญาติของท่าน ไม่ใช่สหายของท่าน ที่พึงทำการรื่นเริง ท่านอาศัยใครจึงมาล้อเล่นเช่นนี้”

ลำดับนั้นท้าวสักกะจึงได้ทรงขอให้พระโพธิสัตว์ และเหล่าฤๅษีนั้นยกโทษให้ โดยกล่าวว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เป็นดังพรหม ท่านเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า และเป็นบิดาของข้าพเจ้า
เงาเท้าของท่านนี้จงเป็นที่พึ่งแห่งความผิดพลาดของข้าพเจ้า ท่านผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
ขอท่านจงอดโทษสักครั้งเถิด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่มีความโกรธเป็นกำลัง”
พระมหาสัตว์ และบรรดาเหล่าฤๅษีจึงได้ยกโทษให้แก่ท้าวสักกะเทวราช

เราก็พึงสังเกตนะครับว่า แม้จะเป็นใหญ่โตถึงระดับพระอินทร์ก็ตาม
แต่เมื่อทราบว่าตนเองประพฤติผิดแล้ว ก็ยังรู้จักที่จะขอขมาโทษ
ต่างกับ “คน” บางคนนะครับที่หลงอัตตาตนเอง หลงว่าตนมีศักดิ์ใหญ่ มีชื่อเสียง เกียรติยศสูงส่ง
ก็เลยทำให้ยอมรับและขอขมาโทษในสิ่งประพฤติผิดของตนเองนั้นไม่เป็น
เพราะฉะนั้นแล้ว หากเราจะได้พลาดพลั้งประพฤติอะไรผิดไปในชีวิตของเรา
กรณีก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะขอโทษกันนะครับ ขนาดพระอินทร์ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ยังขอโทษเลย
และบัณฑิตผู้มีปัญญาทั้งหลาย ย่อมไม่มีความโกรธ และพร้อมที่จะให้อภัยให้แก่บุคคลอื่นเสมอ
ส่วน “คน” บางคนนั้น แม้เพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็กลับจะบอกว่า ให้อภัยกันไม่ได้
(ผมไม่ได้ใช้คำว่า “มนุษย์” นะครับ เพราะ “มนุษย์” นั้นแปลว่า ผู้มีใจสูง)

ประเด็นสำคัญของเรื่องเล่านี้ก็คือว่า สังคมในปัจจุบันล้วนแล้วแต่บูชากาม บูชาวัตถุ
และขวนขวายแก่งแย่งที่จะได้กามทั้งหลายเพื่อมาบำรุงบำเรอตัณหาของตนเอง
โดยหลงเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นความสุข เป็นของดีของวิเศษที่ควรจะใฝ่ฝันหา
แต่บัณฑิตผู้มุ่งสู่โมกขธรรมนั้นล้วนแต่ติเตียนกามคุณทั้งหลายว่า เป็นเสมือนน้ำลายที่บ้วนทิ้งแล้ว
การที่ได้บำรุงบำเรอความสุขจากกามทั้งหลายอย่างพรั่งพร้อม แทนที่จะเป็นคำอวยพรที่ดีที่ชอบ
กลับเป็นเสมือนคำสาปแช่งที่น่ากลัว และต่างต้องการหลีกหนีจากสิ่งเหล่านั้น

ในหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุเล่มหนึ่งได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า
“ผู้ที่ไม่รู้จักโทษของกามคุณแล้ว ยังขืนเสพกามคุณ จึงไม่มีวันอิ่ม ไม่มีวันพอ ได้แต่กระหาย
น้ำลายไหลยืด เหมือนสุนัขแทะกระดูก”

ฉะนั้นแล้ว หากท่านมุ่งเป้าหมายทางโลกแล้ว เรื่องนี้ก็อาจจะไม่ได้แสดงอะไรเท่าไร
แต่หากท่านมุ่งเป้าหมายทางธรรมแล้ว ก็สมควรพิจารณาให้เห็นว่า
สิ่งทั้งหลายที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ต้องการแก่งแย่งชิงกันอย่างวุ่นวายตามกระแสสังคมนั้น
กลับเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และสมควรหลีกหนีให้ห่างไกลเสียอีกสำหรับในทางธรรม
ดังเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ที่ได้กล่าวมา

(โดย “พระโพธิสัตว์” ต่อมาก็คือ พระผู้มีพระภาคเจ้า “น้องชายทั้ง ๖ คน” ของพระโพธิสัตว์นั้น
ต่อมาก็คือ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ
และพระอานนทเถระ “น้องสาว” คือนางอุบลวรรณา และ “ท้าวสักกะ” คือพระกาฬุทายี)

ในท้ายนี้ ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า หรือผู้มีปัญญานั้นก็ย่อมจะล้วนแล้วแต่เห็นคุณค่าของธรรมะนะครับ
โดยท่านเหล่านั้นแม้จะมิได้ประสบทุกข์น้ำตาไหลพราก แต่ก็ยังมุ่งหาและเดินสู่เส้นทางแห่งธรรม
สำหรับพวกเรา ๆ ที่มิได้มีอินทรีย์แก่กล้า หรือมีปัญญามากมายนั้น ชีวิตเราได้มัวเมาหลงอยู่กับโลก
วิ่งตามขวนขวายแก่งแย่งสิ่งกามทั้งหลายไปตามกระแสโลก
และต่อมาก็ได้มีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือว่าได้มีใครสักคนหนึ่งที่เข้ามาทำให้เราทุกข์ใจมาก
ทุกข์มากที่สุดจนกระทั่งต้องหนีเข้ามาทางธรรมแล้ว
และหากเราจะได้ยึดถือเส้นทางธรรมเป็นเป้าหมายของชีวิตเราแล้ว
แทนที่เราจะไปโกรธไม่พอใจเรื่องนั้น หรือคน ๆ คนนั้น เราเองกลับที่จะต้องขอบคุณเรื่องนั้น
และขอบคุณคน ๆ นั้นอย่างมากมายเสียเหลือเกินที่ได้ผลักดันให้เราได้เข้าสู่เส้นทางธรรมะนี้
อันเป็นโอกาสที่จะทำให้เราซึ่งหลงกาม จมกาม ทุกข์เพราะกาม ได้พ้นจากสิ่งเหล่านี้
ส่วนว่าเมื่อเราเข้ามาทางธรรมแล้ว เราจะอยู่ยาว หรืออยู่ชั่วคราวแค่หลบแดดร้อน (พอหายร้อนแล้ว
ก็กระโจนกลับไปไขว่คว้าหากามทางโลกอีก) อันนี้ก็แล้วบุญบารมีและจริตของแต่ละท่านแล้วครับ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

หมายเหตุ – ข้อมูลอ้างอิงจาก

๑. “ภิงสจริยา” จากพระไตรปิฎกและอรรถกาแปล พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก และ

๒. หนังสือ “โรงมหรสพทางวิญญาณ” (ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโรงมหรสพทางวิญญาณ)
บรรยายโดยท่านพุทธทาสภิกขุ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP