จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

รักษาศีลห้าให้แข็งแรง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


051_destination


เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งในเรื่องการรักษาศีล
ญาติธรรมท่านนั้นบอกว่า เขาไม่ได้ทำผิดศีลห้าเลยมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
โดยไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ลักทรัพย์ ไม่ได้ผิดลูกผิดเมียคนอื่น ไม่ได้พูดโกหก และไม่ได้ดื่มสุรา
ผมก็กล่าวอนุโมทนาไปกับญาติธรรมท่านนั้นด้วย และได้แนะนำเสริมไปนิดนึงว่า
ที่ไม่ผิดศีลนั้นดีอยู่แล้ว แต่ว่าการที่ไม่ได้ทำผิดนั้น อาจจะไม่ได้แปลว่าพยายามรักษาศีลก็ได้
ดังนั้นแล้ว ก็แนะนำว่าควรจะระลึกใจทุกวันด้วยว่า เราตั้งใจจะรักษาศีลห้า
โดยก็จะระลึกวันละ ๔ เวลาก็ได้ คือ ตื่นนอนตอนเช้า ตอนเที่ยง ตอนเย็น และก่อนนอน

บางท่านอาจจะมีคำถามว่า การที่ไม่ผิดศีลก็เท่ากับว่ารักษาศีลแล้วไม่ใช่หรือ
ทำไมจะต้องมาระลึกใจเพิ่มอีกว่าตั้งใจจะรักษาศีลด้วยล่ะ ซึ่งญาติธรรมท่านนั้นก็สงสัยเหมือนกัน
ผมขออธิบายโดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบนะครับว่า
สมมุติว่ามีชายคนที่หนึ่งไม่มีเงินซื้อสุรา ก็เลยไม่ดื่มสุรา แต่หากเขาเกิดมีเงินขึ้นมาแล้ว
ก็ไม่แน่ว่าเขาอาจจะซื้อสุรามาดื่มหรือไม่ก็ได้ หรือหากมีคนให้สุรามาฟรีแล้ว เขาก็อาจจะดื่มหรือไม่ก็ได้
เทียบกับชายคนที่สองที่ตั้งใจถือศีลไม่ดื่มสุรา โดยไม่ว่าจะมีเงินซื้อหรือไม่มีเงินซื้อก็ตาม ก็จะไม่ดื่มสุรา
หากลองเทียบกันแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าในวันหนึ่ง ๆ นั้น ชายสองคนนี้ไม่ดื่มสุราเหมือนกัน
และต่างก็ไม่ผิดศีลทั้งคู่ แต่ชายคนที่หนึ่งนั้นไม่ได้มีเจตนาในการรักษาศีลเหมือนกับชายคนที่สอง

สมมุติต่อไปว่า ท่านผู้อ่านมีลูกอายุสามขวบคนหนึ่ง และท่านเกิดจำเป็นจะต้องฝากลูกให้คนอื่นดูแล
ในวันแรก ท่านนำลูกไปฝากกับหญิงคนที่หนึ่ง ซึ่งเธอไม่ได้เฝ้าดูแลลูกของท่านผู้อ่านเลย
โดยเธอก็ปล่อยให้เด็กเดินเล่นในบ้านจับโน่นจับนี่ไปตามยถากรรม
แต่ว่าเด็กไม่ได้ไปหยิบของมีคมมาเล่น หรือไปปีนป่ายตกลงมาบาดเจ็บ จึงไม่มีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นกับเด็ก
ในวันที่สอง ท่านนำลูกไปฝากกับหญิงคนที่สอง ซึ่งเธอได้คอยเฝ้าดูลูกของท่านผู้อ่านอยู่ตลอด
โดยเธอเฝ้ามองไม่ให้คลาดสายตา และก็เตือนไม่ให้เด็กไปจับของมีคม หรือปีนป่ายอะไรอันตราย
ด้วยความที่ได้เฝ้าดูแลเด็กเป็นอย่างดี จึงไม่มีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นกับเด็กเช่นกัน
ลองพิจารณานะครับว่า หญิงสองคนนี้เฝ้าดูแลรักษาลูกของท่านเหมือนกันไหม
หากตอบว่าหญิงทั้งสองคนนั้นดูแลรักษาลูกของท่านไม่เหมือนกันแล้ว
กรณีของการรักษาศีลก็เช่นกันครับ ลำพังเพียงว่าไม่ได้ทำอะไรผิดศีลนั้น
ก็เรียกได้ว่า “ไม่ผิดศีล” แต่หากจะ “รักษาศีล” ด้วยแล้ว ก็ควรจะต้องมีเจตนาตั้งใจรักษาศีลด้วย

การตั้งใจระลึกว่ารักษาศีลนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยย้ำเตือนให้รักษาศีลอย่างแข็งแรงแล้ว
หากสามารถระลึกได้บ่อย ๆ ทุกวัน ๆ ก็ยังถือเป็นการทำ “สีลานุสสติ” ให้เป็นอารมณ์
กล่าวคือ ได้ระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด และได้รักษาไว้ดีแล้วอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นกุศลจิต
และหากในช่วงเวลาก่อนตายนั้น ดวงจิตสุดท้ายก่อนตายได้ระลึกถึงศีลที่ได้รักษาไว้ดีแล้ว
ก็ย่อมจะช่วยส่งให้ผู้ตายไปสุคติภูมิอีกด้วย

นอกจากนี้ ศีลยังถือเป็นสิกขาข้อแรกในไตรสิกขาที่พุทธศาสนิกชนควรจะต้องศึกษา
โดยหากท่านใดได้ตั้งใจจะรักษาศีลห้าอย่างแข็งแรง และได้ประพฤติเช่นนั้นไว้ดีแล้ว
ก็ย่อมจะได้อานิสงส์มากกว่าการทำทานเสียอีก เช่น มากกว่าทำบุญผ้าป่า มากกว่าทำบุญกฐิน
มากกว่าทำบุญสังฆทาน มากกว่าทำบุญวิหารทาน มากกว่าทำบุญธรรมทาน ฯลฯ

ผมเองเคยได้สนทนากับคุณพ่อของเพื่อนท่านหนึ่งนะครับ
โดยคุณพ่อท่านมีความเห็นว่า “ทาน” ควรจะมีอานิสงส์สูงกว่า “ศีล”
ผมถามว่า “เพราะอะไรครับคุณพ่อ”
คุณพ่อท่านอธิบายว่า “เพราะทานนั้น เป็นการทำแล้วคนอื่นได้ประโยชน์หลายคน
แต่ศีลนั้น คนรักษาศีลได้ประโยชน์คนเดียว ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของคนที่รักษาศีลนั้นเท่านั้น
ดังนั้นแล้ว ทานเพื่อคนอื่น ๆ จึงควรจะมีอานิสงส์สูงกว่าศีล”

ผมฟังแล้วก็อธิบายโดยยกตัวอย่างว่า “สมมุตินะครับว่า มีคนเอาเงินมาให้คุณพ่อเดือนละห้าพันบาท
แต่พอลับหลังแล้ว เขามาประพฤติผิดในทางชู้สาวกับภรรยาคุณพ่อ กับลูกสาวคุณพ่อ
และแอบมาทำร้ายร่างกายคุณพ่อ คุณพ่อจะยินดีให้เขาประพฤติผิดศีลเช่นนี้
โดยถือว่าเขาได้ทำทานกับคุณพ่อไหม หรือคุณพ่อจะบอกเขาว่า ไม่ต้องเอาเงินมาให้หรอก
แต่กรุณาอย่ามาประพฤติผิดในทางชู้สาวกับภรรยาและลูกสาวของคุณพ่อ
และอย่ามาทำร้ายร่างกายกัน คุณพ่อจะเลือกอย่างไหน”

ว่าแล้วอธิบายต่ออีกตัวอย่างหนึ่งว่า “สมมุติมีนักการเมืองคนหนึ่งทำบุญที่วัดร้อยแห่ง
วัดละหนึ่งล้านบาท ช่วยทำบุญบริจาคเงินตามงานศพอีกเป็นร้อย ๆ งาน งานละหนึ่งพันบาท
แต่เวลาเขาทำงานนั้น เขาโกงงบประมาณประเทศชาติทีละเป็นร้อยล้านพันล้านบาท
เรา ๆ ที่เป็นประชาชนจะยินดีชอบใจไหม หรือจะบอกกับนักการเมืองคนนั้นว่า
เขาไม่ต้องนำเงินมาทำบุญหรอก แต่เขาช่วยกรุณาหยุดโกงประเทศยังจะดีเสียกว่า
และยังจะได้ประโยชน์เสียมากกว่า ซึ่งก็จะเห็นได้นะครับว่า
ในทั้งสองกรณีนี้ คุณพ่อคงอยากจะให้อีกเขาถือศีลมากกว่าทำทาน”

มาถึงตรงนี้แล้ว เรามาลองพิจารณาด้วยตนเองกันนะครับว่า (ไม่ต้องไปพิจารณาคนอื่นนะครับ)
ที่ผ่านมาซึ่งเราได้ตั้งใจจะรักษาศีลห้ากันนั้น เราได้รักษาศีลห้ากันอย่างแข็งแรงเพียงไร
โดยการรักษาศีลนั้น ควรจะต้องรักษากันทั้งที่กาย วาจา และใจ
ไม่ใช่ว่าจะรักษากันที่เพียงกาย และวาจาเท่านั้น
เพราะหากใจหมั่นคิดเรื่องทำผิดศีลแล้ว ก็ย่อมจะถือว่าศีลที่ตนเองถือนั้นด่างพร้อยได้

ศีลข้อที่หนึ่ง งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ และทำร้ายสัตว์ทั้งปวง
ในข้อนี้ เรื่องฆ่าสัตว์ใหญ่ประเภทช้าง ม้า วัว ควายนั้นคงยากนะครับ
เราลองพิจารณาสัตว์เล็ก ๆ ดีกว่า ลองพิจารณาดูซิว่า
เวลาที่เราเห็นแมลงสาบวิ่งไปมาในบ้าน เราเหยียบหรือตีมันไหม
เราใช้ไม้ตีแมลงวันหรือไม้ตียุงหรือเปล่า เราใช้ยาฆ่าแมลงสาบหรือใช้ยาฆ่ายุงไหม
เราใช้บ้านกาวดักหนู หรือยาเบื่อหนูไหม เวลาที่เห็นมดเดินยาวเป็นทางเราไปฆ่ามันหรือเปล่า
เวลาที่ไปร้านอาหาร เราสั่งอาหารประเภทปูปลากุ้งหอยเป็น ๆ มาทานไหม
หรือว่าปล่อยให้คนอื่นในโต๊ะสั่งอาหารประเภทปูปลากุ้งหอยเป็น ๆ แล้วเราก็ทานกับเขาด้วย
เราดูกีฬาต่อยมวย มวยปล้ำ หรือกีฬาต่อสู้อื่น ๆ เราดูปลากัดกัน หรือการชนไก่หรือเปล่า
เราเล่มเกมส์ฆ่ากันยิงกันแทงกัน หรือดูภาพยนตร์ฆ่ากันยิงกันแทงกันไหม
(เพราะว่าการเล่นเกมส์หรือดูภาพยนตร์เหล่านี้ ก็ทำให้จิตใจของเราจมหรือยินดีไปอยู่กับเรื่องเหล่านี้ด้วย
ก็จะทำให้ศีลนั้นด่างพร้อยที่จิตใจได้ แม้จะไม่ได้ด่างพร้อยที่วาจา และกายก็ตาม)

ศีลข้อที่สอง งดเว้นจากการลักทรัพย์
ในข้อนี้ ลองพิจารณาว่าเรามีหยิบของใช้ที่ทำงานติดมือกลับบ้านมามีบ้างไหม
เช่น กระดาษ ปากกา หรือเครื่องเขียนของใช้สำนักงานต่าง ๆ
หรือใช้ของต่าง ๆ ที่ทำงานเพื่อเรื่องส่วนตัว เช่น สั่ง
print เอกสารส่วนตัว
ใช้โทรศัพท์ที่ทำงานเพื่อกิจธุระส่วนตัว ส่งโทรสารที่ทำงานเพื่อเรื่องส่วนตัว
ซึ่งปกติแล้ว สิ่งของและอุปกรณ์ทำงานเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายคิดเป็นเงินได้ทั้งนั้น
เราไปทานบุฟเฟ่ต์ตามร้านอาหาร หรืออาหารเช้าตามโรงแรมแล้วมีแอบนำอาหารออกไปด้วยไหม
เราซื้อและใช้โปรแกรมผิดลิขสิทธิ์ ซื้อซีดีเพลง ซีดีหนังผิดลิขสิทธิ์ไหม
เราหลบเลี่ยงไม่เสียภาษี หรือไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ตามกฎหมายหรือเปล่า

อนึ่ง กรณีหลบเลี่ยงภาษีนี้ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑
มหาวิภังค์ ภาค ๑ ได้มีอธิบายเรื่องนำแก้วมณีล่วงด่านภาษี ๓ เรื่อง
ว่า
๑. ก็โดยสมัยนั้นแล บุรุษผู้หนึ่งนำแก้วมณีซึ่งมีราคามากเดินทางไกลไปกับภิกษุรูปหนึ่ง
ครั้นบุรุษนั้นเห็นด่านภาษี จึงหย่อนแก้วมณีลงในถุงย่ามของภิกษุนั้นผู้ไม่รู้ตัว
เดินพ้นด่านภาษีไปแล้ว จึงถือนำไปเอง ภิกษุนั้นได้มีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูกรภิกษุ เธอคิดอย่างไร
?
ภิกษุตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้ตัว พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุ ภิกษุผู้ไม่รู้ตัว ไม่ต้องอาบัติ

๒. ก็โดยสมัยนั้นแล บุรุษผู้หนึ่งนำแก้วมณีซึ่งมีราคามาก เดินทางไกลไปกับภิกษุรูปหนึ่ง
ครั้นบุรุษนั้นเห็นด่านภาษี จึงทำลวงว่าเป็นไข้ แล้วได้ให้ห่อของของตนแก่ภิกษุนั้น
ครั้นเดินทางพ้นด่านภาษีไปแล้ว บุรุษนั้นจึงได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า
ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงนำห่อของของผมมา ผมหาได้เป็นไข้ไม่
ภิกษุนั้นถามว่า ท่าน ท่านได้ทำทีท่าเช่นนั้นเพื่อประสงค์อะไร
บุรุษนั้นได้แจ้งความแก่ภิกษุนั้นแล้ว เธอได้มีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว กระมังหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูกรภิกษุ เธอคิดอย่างไร
?
ภิกษุตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้ตัว พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุ ภิกษุผู้ไม่รู้ตัว ไม่ต้องอาบัติ

๓. ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไกลไปกับพวกเกวียน
บุรุษคนหนึ่งเกลี้ยกล่อมภิกษุนั้นด้วยอามิสแล้ว เห็นด่านภาษี จึงส่งแก้วมณีซึ่งมีราคามากให้แก่ภิกษุนั้น
ด้วยขอร้องว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงช่วยนำแก้วมณีนี้ผ่านด่านภาษีด้วย
จึงภิกษุนั้นนำแก้วมณีนั้นให้ผ่านด่านภาษีไปแล้ว ได้มีความรังเกียจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว กระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
(ข้อมูลจาก
http://www.84000.org)

ศีลข้อที่สาม งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
ในข้อนี้ หากไปเที่ยวผู้หญิงบริการ หรือผู้ชายบริการก็ถือว่าผิดในข้อนี้ด้วย
แม้กระทั่งการมีอะไรกันกับแฟนโดยที่ยังไม่ใช่สามีภรรยากันโดยชอบ
ก็ถือว่าผิดศีลในข้อนี้ด้วย โดยเป็นการประพฤติผิดต่อลูกของคนอื่น
นอกจากนี้ ควรลองพิจารณาว่า เวลาที่เดินผ่านไปพบสาว ๆ สวย ๆ หรือชายหนุ่มหล่อแล้ว
จิตใจเราหลงไปคิดในเรื่องประพฤติผิดในกามกับเธอหรือเขาหรือเปล่า
หรือว่าเรามีฟังเพลง หรือชมภาพยนตร์ประเภทที่มีเรื่องประพฤติผิดในกามหรือไม่
เพราะก็ย่อมจะทำให้ศีลด่างพร้อยในจิตใจได้เช่นกัน

ศีลข้อที่สี่ งดเว้นจากการพูดโกหก
ในข้อนี้ ควรลองพิจารณาว่าที่เราทำงานในปัจจุบันนั้น เรามีโกหกลูกค้า เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานหรือไม่
ในชีวิตครอบครัวที่บ้านนั้น เราโกหกอะไรกับคนในครอบครัวหรือเปล่า
เวลาที่มีใครชวนเราไปไหน และเราไม่อยากไปด้วย เราหาเหตุหรือใช้เหตุอะไรที่ไม่จริงไปโกหกเขาบ้างไหม
แม้ว่าจะไม่โกหกเองก็ตาม แต่เราได้สนับสนุนให้ใครพูดโกหก หรือใช้ให้ใครไปพูดโกหกด้วยหรือเปล่า
ในข้อนี้ หากจะให้ดี ก็ควรจะงดเว้นการพูดคำหยาบ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อไปด้วยเลย

ศีลข้อที่ห้า งดเว้นจากการดื่มสุรา
บางท่านบอกว่าไม่ดื่มเหล้า แต่ปรากฏว่าไปดื่มไวน์หรือแชมเปญแทน ซึ่งก็ทำให้เมาได้เหมือนกันนะ
ในข้อนี้ ลองพิจารณาว่าแม้เราจะไม่ได้ดื่มสุราเอง แต่เราได้สนับสนุนให้คนอื่นดื่มสุราหรือเปล่า
เช่น เราเป็นเจ้าภาพเลี้ยงสุราคนอื่น สั่งสุรามาให้คนอื่นดื่ม รินหรือเติมหรือผสมสุราให้คนอื่น
ถือหรือส่งแก้วสุราให้คนอื่น หรือกระทั่งซื้อสุรามามอบให้เป็นของขวัญแก่คนอื่น เป็นต้น
แม้ว่าเราจะไม่ได้ดื่มสุราเองก็ตาม แต่การที่เราไปสนับสนุนให้คนอื่นดื่มสุรานี้
ก็ย่อมจะทำให้ศีลข้อห้าของเราเองด่างพร้อยได้

ก็ขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้ระลึกใจไว้สม่ำเสมอนะครับว่า จะตั้งใจรักษาศีลอย่างแข็งแรง
และก็หมั่นตรวจสอบตนเองเป็นระยะ ๆ โดยใช้โยนิโสมนสิการครับว่า ศีลห้าของตนเองยังแข็งแรงอยู่ไหม
ส่วนฆราวาสบางท่านที่ตั้งใจจะถือศีลแปด ก็ควรหมั่นระลึกใจและตรวจสอบด้วยเช่นกันครับ
(ซึ่งผมก็ขออนุโมทนากับทุกท่านที่ตั้งใจถือศีลรักษาศีลด้วยครับ)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP