ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ธรรมะท่ามกลางความขัดแย้งในสังคม


ถาม - เราสามารถนำธรรมะไปประยุกต์ใช้อย่างไรให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ในท่ามกลางความขัดแย้งครับ

ธรรมะนี่นะ ถ้ารวมลงสั้นๆ ที่สุดที่ความรู้สึกของคน
ได้ยินคำว่า "ธรรมะ" ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องของความรู้สึกสบายใจ
พอเราพูดคำว่า "ธรรมะ" นะ มันไม่มีการรบราฆ่าฟัน
มันดูเหมือนไม่มีความขัดแย้ง ดูเหมือนไม่มีแผ่นดินไหว
ไม่มีการระเบิด ไม่มีไฟไหม้ ไม่มีเสียงปืน มีแต่ความสงบสุข มีแต่ความร่มเย็น
แล้วความสงบสุข ความร่มเย็น มันคืออะไรล่ะ
มันทำให้เรารู้สึกอย่างไร มันทำให้เรารู้สึกสบายใจนั่นเอง

เพราะฉะนั้นคำว่า "ธรรมะ" ถ้าหากว่าเรา "เข้าถึง" ธรรมะกันจริงๆ
ไม่ต้องไปใช้มาตรวัดของสำนักไหน
หรือว่าไม่ต้องไปบอกว่าตัวเองเป็นปุถุชน กัลยาณชน อริยชน
ถ้าหากว่ามีความสบายใจ ก็ถือว่าเสมอกัน
ได้อะไรดีๆ จากธรรมะไปเสมอกัน
ถ้าหากอยากให้ประเทศไทยเรา เป็นประเทศที่มีธรรมะ
เราตั้งโจทย์กันดีกว่าว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้จิตใจของคนไทย มีความสบายใจพร้อมๆ กัน
หรือถ้าพร้อมกันไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด มีความสบายใจกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ถามว่าจะเอาธรรมะมาประยุกต์ได้ยังไง
พระพุทธเจ้าสอนวิธีที่จะสบายใจไว้ง่ายๆ ก็คือ อย่าไปสำคัญมั่นหมายอะไรผิดๆ
อย่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรที่มันชวนให้เราหลงเข้าใจอะไรแบบผิดๆ
อย่างบางที ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายที่สุดก็คือว่าคนทุกคนไม่ชอบความร้อน
ไม่ชอบที่จะแบกก้อนหินร้อนๆ ไว้ในมือ ให้มันหนัก ให้มันร้อนเปล่า
แต่ดูประหนึ่งว่าจิตใจของคนไทย แล้วก็คนทั่วโลกด้วย จริงๆ แล้วสมัยนี้
มันมีความหวงก้อนหินร้อนๆ ที่มันมีน้ำหนักทำให้เป็นภาระแก่เรา
เราถือไว้ ร้อนก็ร้อน หนักก็หนัก แต่เราก็หวง
ดูเข้าไปที่อาการของใจนะ มันมีอาการหวงอยู่จริงๆ
ทั้งๆ ที่โดยกิริยาภายนอก เวลาที่เราพูดกัน เวลาที่เราคุยกัน เราอยากจะหลุดพ้น
อยากจะทำให้ทุกข์หนักอก ไอ้ก้อนทุกข์ที่มันทั้งหนักทั้งร้อน
มันยกออกจากอกเรา ให้มันโล่งเหมือนกับยกภูเขาออกจากอก

แต่ในทางปฏิบัติลองดูเข้าไปที่ใจ สำรวจเข้าไปที่ใจ สำรวจที่ความรู้สึกของคุณเอง
บางครั้งนี่นะไอ้ก้อนที่มันหนักๆ ก้อนที่มันร้อนๆ นี่
ใจเราอุ้มมันเอาไว้ประหนึ่งว่าหวงมัน คืออุ้มมันไว้ไม่ยอมปล่อย
แล้วก็จะเกี่ยงให้คนอื่นปล่อยก่อน หรือว่าเกี่ยงให้ใครสักคนมายกมันออกไปจากอกเรา
ทั้งๆ ที่อกเรานี่ จริงๆ แล้วมันวางลงด้วยมือของราเองได้ทุกเมื่อ
แต่เราไม่ยอมวาง เพราะเราหวงไว้
ความหวงทุกข์ หวงก้อนทุกข์ หวงต้นเหตุของทุกข์ มันมาจากอะไร
มันมาจากทิฐิมานะ มันมาจากความไม่เข้าใจ ว่าเรื่องของหน้าตา จริงๆ แล้วมันเรื่องเล็ก
ความสบายใจต่างหากเป็นเรื่องใหญ่ แต่คนนี่ด้วยความไม่เข้าใจธรรมะ
มันมองว่าหน้าตานี่เรื่องใหญ่ ความสบายใจน่ะเรื่องเล็ก
มองกันอย่างนี้มันก็เลยยังหวงเหตุของทุกข์กันอยู่
ผมอยากจะฝากไว้ว่าทุกความทุกข์นี่มันหายได้หมด ถ้าเราไม่ยึดต้นเหตุของทุกข์ไว้



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP