เข้าครัว Lite Cuisine

ข้าวเหนียวสายรุ้ง


พิมพการัง

50_food1
ภาพประกอบ : http://nichapatr.bloggang.com/

เลิกศาลาเช้าแล้วชาววัดก็แยกย้ายกันไป

หมู่พระสงฆ์กับเณรน้อยย่างเท้าเปล่าออกไปรับบาตร
ฝ่ายหญิงอยู่วัดก็ทำความสะอาดบ้าง ทำงานในครัวบ้าง ช่วยกันปอกผลไม้
ทำอาหาร ชงกาแฟไปตามเรื่อง รอจนสายกว่าพระสงฆ์กลับมาวัดแล้ว
ท่านจะวางสิ่งที่รับบาตรมาบนโต๊ะยาวให้ชาววัดช่วยกันจัดหมวดหมู่
แยกข้าว อาหารคาว ขนม แยกธูปเทียนออก เอาสตางค์ไปใส่ในตู้รับบริจาคเสีย

ช่วงที่พวกเราทำงานจุกจิกกันอยู่ หลวงปู่มักจะมาไล่ให้พวกเราไปใส่บาตร
ท่านว่าเป็นคนอยู่วัดแท้ๆ กลับไม่ค่อยใส่บาตรกัน
บุญกิริยาวัตถุควรทำให้ครบ ใฝ่สะสมเป็นนิสัยติดตัวไป

บุญกิริยาวัตถุมีสิบประการคือ ทำทาน รักษาศีล ภาวนา อ่อนน้อมถ่อมตน
ช่วยเหลือผู้อื่น(รวมทั้งช่วยเหลืองานบุญ ประกอบศาสนกิจต่างๆ ด้วยค่ะ)
แผ่ส่วนบุญ อนุโมทนาบุญ ฟังธรรม แสดงธรรม ทำความเห็นของตนให้ถูกต้อง

ผู้คนที่เข้าวัดมีหลากหลาย
บางคนเข้ามาหาทางดับทุกข์ บางคนมาทำบุญตามประเพณี ที่หวังโชคลาภก็ยังมี
ชาววัดมักจะเคยมีช่วงที่อยากแยกตัวอยู่เพียงลำพัง
อย่างมากก็แค่ยอมเสวนากับหมู่ นักภาวนาด้วยกัน
แต่พอตั้งใจสำรวจจริงๆ ก็เห็นว่าเป็นเพียงมานะอัตตา
เห็นความคิดของเราดีกว่า ตัวของเราดีกว่าเขาก็แค่นั้นเอง

ละความคิดเห็นของตน วางงานในมือลงเสียก่อน แล้วรีบรุดไปที่ศาลา
น้อมจบตักบาตรด้วยข้าวเปล่าใส่ในบาตรพระที่ตั้งเรียงรายไว้
อธิษฐานเพื่อเพิ่มความหนักแน่นในก้าวเดินแห่งตน

จนถึงเวลาพระสงฆ์ สามเณร แม่ชี พ่อขาวแม่ขาวลงศาลาพร้อมแล้ว
ก็ถวายประเคนสำรับทีละถาดไป
ถาดเลื่อนแรกจะบรรจุข้าวสวยหนึ่งหม้อ ข้าวเหนียวกระติ๊บเขื่อง
ตามด้วยห่อข้าวที่รับบาตรมา ต่อด้วยอาหารคาว อาหารหวาน ผลไม้ และเครื่องดื่ม
พระสงฆ์ตักก่อนแล้วเลื่อนลงมาเรื่อยถึงชาววัดที่ถือศีลภาวนาในวัด
แล้วจึงเลื่อนลงเป็นชาวบ้านที่มาทำบุญ
ส่วนที่เหลือก็แจกจ่ายกลับบ้านกันไป ไม่มีเสียของเปล่า

พระสงฆ์หลายรูปคุ้นเคยกับข้าวเหนียวมากกว่าเพราะอิ่มแน่นแฟ้นกว่า
ที่นี่ฉันมื้อเดียว แถมบางช่วงยังต้องทำงานก่อสร้างอีก
แม้แต่ชาววัดเองก็ชอบข้าวเหนียว ข้าวเหนียวมักจะหมดก่อน
บางช่วงข้าวเหนียวขาดไปก็ไม่มีถวาย
ดังนั้นเวลาถวายข้าวสารให้โรงครัวเลือกเป็นข้าวเหนียวก็ดีนะคะ

ข้าวเหนียวมีหลายแบบ ข้าวเหนียวงอกก็มี
เคยมีคนถวายข้าวเหนียวนิลสีดำหอมน่ารับประทานแถมอุดมด้วยสารอาหาร
เทคนิคการหุงข้าวเหนียวให้นิ่ม สุกกำลังดีคือแช่เมล็ดข้าวก่อนหุง
น้ำที่ใช้หุงบางสูตรให้เหยาะเกลือเล็กน้อย
บางท่านเข้าใจว่าให้ใส่น้ำมากๆ จะได้นิ่มแต่ความเป็นจริงจะทำให้แฉะเสียมากกว่า

พอข้าวสุกให้เอามาเกลี่ยๆ บนกระด้งที่บุด้วยผ้าขาวบาง
เพื่อให้ข้าวคลายความร้อนและความชื้น เวลาบรรจุลงกระติ๊บจะได้ไม่แฉะภายใน
กระติ๊บไม้สานยิ่งช่วยให้ระบายความชื้นได้ดี ข้าวจะนิ่มและร้อนนาน

50_food2
ภาพประกอบ : http://nichapatr.bloggang.com/

แม่แก้ว เป็นชาววัดที่รับอาสาหุงข้าวเหนียว เธอเป็นคนช่างประดิดประดอย
เห็นข้าวเหนียวหุงขึ้นหม้อขาวๆ สวยๆ ก็อยากปรุงให้ประณีตยิ่งขึ้น
เธอจึงแช่น้ำใบเตยไว้ เวลาจะหุงข้าวเหนียวก็หุงกับน้ำใบเตย
แล้วคั้นใบได้สีเขียวสดใสใส่ไปด้วย กลัวจะหอมไม่พอก็เก็บใบเตยมาหุงอีก
ผลคือได้ข้าวเหนียวสีเขียวอ่อนใส หอมโชยไปทั่ว ใครๆ ก็ชมกันยกใหญ่

วันรุ่งขึ้นแม่แก้วใช้น้ำคั้นกลีบดอกอัญชันหุงก็ได้ข้าวเหนียวสีม่วงอ่อนๆ
ขัดใจที่ข้าวดอกอัญชันไม่หอม จึงใส่ใบเตยเพิ่มได้ข้าวเหนียวสีม่วงอ่อนหอมเตยฟุ้งจรุงใจ

ต่อมาก็หุงข้าวเหนียวกับน้ำยาอุทัยแล้วโรยกลีบกุหลาบมอญ
ได้ข้าวเหนียวหอมกุหลาบสีชมพูหวาน

50_food3
ภาพประกอบ : http://cookie-nim.bloggang.com/

แม่แก้วชักสนุก ชาวครัวก็เริ่มรอดูว่าจะมีข้าวเหนียวสีอะไรออกมาอีก
แม่แก้วคิดเป็นการบ้านยกใหญ่ว่าจะจับคู่สีอย่างไรดี สีเขียว สีม่วง สีชมพูทำได้แล้ว
แล้วข้าวเหนียวสีส้ม สีแดง สีเหลืองล่ะผสมอย่างไร ปรุงให้หอมอะไรดี

ทำแต่ละครั้งต้องวางแผน ทดลองล่วงหน้า ฝากคนออกไปซื้อของ
หุงออกมาไม่ดีพอก็ต้องคลุก ยืนคั้นน้ำดอกไม้ใหม่อยู่อย่างนั้น
เธอกะว่าจะสลับหลายๆ สีใส่โถแก้วเจียรนัย
จัดเรียงเป็นข้าวเหนียวสายรุ้งเสียเลย

จนกระทั่งมีผู้สะกิดว่าสังเกตไหม ข้าวเหนียวสีสวยสดนี่หลวงปู่ไม่ฉันเลย!

แม่แก้วหน้าสลด ไปแอบกราบถามครูบาโตพระอุปัฏฐากของหลวงปู่
ครูบาโตว่าหลวงปู่ชอบความเรียบง่าย ของแปลกๆ แบบนี้ท่านไม่ฉัน

ครูบาโตก็สุดแสนจะเมตตา เห็นแม่แก้วหน้าจ๋อยไปถนัดใจก็ปลอบว่า
ไม่เป็นไรนะ ไม่เป็นไร โยมอยากหุงสีอะไรก็เอาเถอะนะ ตามสบาย

แม่แก้วจึงพับเก็บไอเดียข้าวเหนียวสายรุ้งไว้ กลับมาหุงข้าวเหนียวสามัญธรรมดา
เธอมาเล่าว่าก็ดีเหมือนกัน ใจสงบลง มีเวลาไปภาวนาเพิ่มอีกมากเลย
ที่ผ่านมาเดินจงกรมไป ใจก็ฟุ้งเรื่องจะมิกซ์แอนด์แมทช์ข้าวเหนียวอย่างไรดีอยู่ได้ตั้งนาน

มายาสายรุ้งลวงตา ล่อหลอกให้เสียเวลาเก่งนักเชียว



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP