จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เริ่มต้นที่กุศล จบลงที่อกุศล



งดงาม

This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


048_destination


เวลาที่เราสร้างบุญกุศลนั้น บางทีในใจก็หวังต้องการจะให้ได้บุญกุศลกันนะครับ
แต่การสร้างบุญกุศลในแต่ละคราวนั้น ก็อาจจะไม่ได้จบลงที่กุศลเสมอไป
มีอยู่หลายกรณีเลยทีเดียวที่เริ่มต้นที่กุศล แต่ว่าท้ายสุดแล้วกลับไปจบลงที่อกุศล

ตัวอย่างที่เราอาจจะเห็นบ่อยในชีวิตจริงก็เช่นว่า เรื่องให้ยืมเงินแก่คนรู้จัก
โดยก่อนที่จะให้เขายืมเงินนั้น ก็เห็นว่าเขาเดือดร้อนหรือจำเป็น จึงมีจิตเมตตาอยากจะช่วยเขา
แต่เมื่อให้ยืมเงินไปแล้ว ปรากฏว่าคนที่ยืมกลับไม่ได้มาคืนเงินตามที่ตกลงไว้
พอไปทวงเงินคืน คนที่ยืมเงินก็กลับตอบรับด้วยกิริยาหรือถ้อยคำที่ไม่เป็นมิตร
หรืออาจจะผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ โดยปราศจากความจริงใจที่จะคืนเงินให้
ท้ายสุด ก็ทำให้คนที่ให้ยืมเงินด้วยจิตเมตตาแต่แรกนั้น มีโลภะต้องการที่จะได้เงินนั้นคืน
มีโทสะไม่พอใจที่ไม่ได้เงินคืน หรือได้รับการตอบรับที่ไม่ดี
และมีโมหะหมกมุ่นหลงคิดแต่เรื่องทวงเงินคืนนั้น
จากเดิมเริ่มต้นแต่แรกที่กุศลเมตตาต้องการจะช่วยเหลือเขา
แต่ก็จบลงที่อกุศลคือ โลภะ โทสะ และโมหะ ดังที่กล่าว
แถมคนให้ยืมยังอาจจะคอยคิดพยาบาทเคียดแค้นคนที่ยืมเงินนั้นไปตลอด
และไปคอยตามราวีสร้างอกุศลเพิ่มโดยการตามด่าทอคนที่ยืมเงินนั้นอีก
หรืออาจจะถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน หรือฆ่ากันก็ยังมี

ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งเช่น เรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลอื่น
ตอนแรกก็ตั้งใจให้ความช่วยเหลือด้วยจิตเมตตา
แต่พอเริ่มช่วยเหลือแล้ว คนที่ให้ความช่วยเหลือนั้นก็มีภาระมากขึ้นทุกที
และต้องเหน็ดเหนื่อย เสียแรงกาย เสียแรงใจในการช่วยเหลือนั้น
แต่ปรากฏว่า คนที่รับความช่วยเหลือกลับตอบรับด้วยกิริยาหรือถ้อยคำในทางลบ
หรือไม่สนใจ และไม่รับรู้ใด ๆ ในความช่วยเหลือนั้น
หรืออาจจะขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกมากมาย
โดยไม่แสดงความคำนึงถึงความยากลำบากของคนที่ให้ความช่วยเหลือเท่าไรเลย
ท้ายสุด คนที่ให้ความช่วยเหลือนั้นก็มีโลภะต้องการที่จะได้รับการยอมรับหรือตอบรับดี ๆ
มีโทสะไม่พอใจที่ไม่ได้รับการยอมรับหรือตอบรับที่ดี ๆ และมีโมหะหมกมุ่นหลงคิดดังกล่าว
จากเดิมเริ่มต้นแต่แรกที่กุศลเมตตาที่จะให้ความช่วยเหลือแก่คนอื่น
แต่ก็จบลงวที่อกุศลคือ โลภะ โทสะ และโมหะ ดังที่กล่าว
แถมยังอาจจะทะเลาะกับคนที่รับความช่วยเหลือจนกระทั่งตัดขาดเลิกคบกันก็มี
แล้วก็จำฝังใจด้วยความเคียดแค้น และไม่พอใจคนที่รับความช่วยเหลือนั้น
พอระลึกทีไร ก็ไม่สามารถจะนึกถึงความช่วยเหลือที่เคยได้ให้ไว้ด้วยเมตตาแล้ว
แต่ก็กลับนึกได้แต่เพียงเรื่องไม่พอใจ และเรื่องเคียดแค้น ซึ่งมีแต่อกุศลล้วน ๆ

ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งเช่น เรื่องการให้คำแนะนำแก่บุคคลอื่น ๆ
ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิด (อาจจะเป็นคนที่บ้าน หรือคนที่ทำงาน) หรือคนห่างไกลก็ตาม
โดยเมื่อเริ่มแรกนั้น คนให้คำแนะนำก็มีเจตนาดีที่จะแนะนำให้คนรับคำแนะนำได้รับสิ่งดี ๆ
หรือจะด้วยความห่วงใยไม่อยากให้คนรับคำแนะนำนั้นประสบกับสิ่งไม่ดี
ต่อมาปรากฏว่า คนรับคำแนะนำนั้นไม่รับฟังหรือปฏิเสธคำแนะนำดังกล่าว
ไม่ว่าจะเพราะว่า ไม่เห็นด้วย ไม่สนใจ ไม่เข้าใจ หรือด้วยเหตุประการใด ๆ ก็ตาม
ท้ายสุด ก็ทำให้คนที่ให้คำแนะนำนั้น มีโลภะต้องการที่จะให้คนอื่นทำตามคำแนะนำตนเอง
มีโทสะไม่พอใจที่คนอื่นปฏิเสธหรือไม่สนใจคำแนะนำตน และมีโมหะหมกมุ่นหลงคิดดังกล่าว
จากเดิมเริ่มต้นแต่แรกที่กุศลเมตตาที่จะให้คำแนะนำแก่คนอื่น
แต่ก็จบลงที่อกุศลคือ โลภะ โทสะ และโมหะ ดังที่กล่าว
และยังอาจไปตามราวีทะเลาะหรือด่าทอคนที่ปฏิเสธคำแนะนำนั้นเสียอีก
แล้วก็จำฝังใจด้วยความเคียดแค้น พอระลึกทีไร ในใจก็เกิดแต่อกุศลร่ำไปทุกที

ในเรื่องให้คำแนะนำนี้ หากเป็นเรื่องในครอบครัวแล้ว
ที่น่าจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องการแนะนำแก่ลูกอายุน้อย ๆ หรือแก่พ่อแม่ผู้สูงอายุ
บางทีเริ่มแรกก็ให้คำแนะนำด้วยเมตตา ปรารถนาดี และห่วงใย
แต่พอคำแนะนำถูกปฏิเสธ ถูกละเลย หรือไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
คนให้คำแนะนำก็เกิดโลภะ โทสะ และโมหะแล้ว
แถมยังอาจจะพลาดไปต่อว่าลูกอายุน้อย ๆ หรือพ่อแม่ผู้สูงอายุด้วยจิตอกุศลเสียอีก
ต่อว่าลูกนี้ก็ยังเป็นกรรมเบา ๆ แต่ต่อว่าพ่อแม่นี้เป็นกรรมหนักนะครับ
คนที่ต่อว่านั้นเองก็อาจจะไม่มีสติรู้เท่าทันที่จะสามารถระลึกตรงนี้ได้
โดนกิเลสและอกุศลครอบงำให้ทำสิ่งเหล่านั้นด้วยจิตอกุศล ทำไปด้วยโทสะล้วน ๆ
แต่กลับหลงเข้าใจว่าตนเองกำลังต่อว่าพ่อแม่ด้วยความห่วงใย ด้วยเมตตา
ซึ่งในขณะนั้น “ไม่ใช่แล้ว” คำต่อว่าทั้งหลายที่พรั่งพรูออกมาจากปากนั้น
เกิดขึ้นโดยโทสะและเป็นอกุศลล้วน ๆ อย่างสิ้นเชิง
เมตตาที่เกิดขึ้นในใจแต่แรกถูกแทนที่ด้วยโลภะโทสะ โดยที่เจ้าตัวก็ไม่มีสติรู้ทัน
ก็เป็นเรื่องที่ว่าเริ่มต้นที่กุศลเพียงสั้น ๆ แต่ต่อเนื่องและจบลงที่อกุศลกรรมหนักอย่างยาวนาน

เช่นว่า แนะนำพ่อแม่ว่าอากาศเย็นให้ใส่เสื้อกันหนาวเพียงประโยคเดียว
แต่พอพ่อแม่ปฏิเสธไม่สนใจ หรือละเลยเพิกเฉยต่อคำแนะนำนั้น ก็เกิดโทสะไม่พอใจ
ท้ายสุด ก็ต่อว่าพ่อแม่รุนแรงด้วยโลภะหรือโทสะอยู่นานอีกหลายสิบประโยค
แถมเจ้าตัวโดนกิเลสหลอกอีกว่าต่อว่าพ่อแม่ด้วยเมตตา (เพื่อจะให้ใส่เสื้อกันหนาวนะ)
โดยไม่มีสติรู้ทันเห็นอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจเลย
และไม่ได้เห็นเลยว่าที่ต่อว่าไปนั้น ก็ด้วยมานะอัตตา ด้วยใจที่เป็นอกุศลทั้งนั้น
ความคิดตอนแรกน่ะใช่ ว่าต้องการให้ใส่เสื้อกันหนาวด้วยความเป็นห่วง
แต่ขณะที่ต่อว่าหลังจากแนะนำนั้นเป็นเพราะ “โมโห” ที่พ่อแม่ไม่ทำตาม
และ “อยาก” จะต้องให้พ่อแม่ทำตามตนเองให้ได้ โดยถ้อยคำต่อว่านั้นก็รุนแรง

แม้กระทั่งในเรื่องการไปทำบุญกุศลที่วัด ก็สามารถจบลงที่อกุศลได้นะครับ
มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ผมไปไหว้พระทำบุญที่วัดริมแม่น้ำแห่งหนึ่ง
ในระหว่างที่ผมเพิ่งไปถึงวัดนั้น มีผู้หญิงคนหนึ่งซื้อเต่าตัวใหญ่จากร้านขายในบริเวณนั้น
(ตัวใหญ่มากครับ กระดองยาวประมาณเกือบหนึ่งช่วงแขนทีเดียว
คุ้น ๆ ว่า ได้ยินราคาประมาณสองหรือสามพันบาทนี่แหละ)
ผู้หญิงคนนั้นยกเต่าขึ้นอธิษฐานจิตแล้วก็บรรจงปล่อยเต่าตัวนั้นลงน้ำไป
ระหว่างที่ผู้หญิงคนนั้นยืนมองเต่าว่ายน้ำออกจากฝั่งด้วยใจที่มีปีติในการทำกุศลนั้น
เต่ายังว่ายออกไปไม่ได้ถึงสองสามเมตรเลย ก็มีเด็ก ๆ สามสี่คนแถวนั้นถอดเสื้อกระโจนลงแม่น้ำไป
แล้วก็อุ้มเต่าตัวนั้นกลับขึ้นมา แล้วก็ตะโกนโหวกเหวกดีใจตามภาษาเด็กว่า จับได้แล้ว จับได้แล้ว
แล้วกลุ่มเด็ก ๆ ก็พากันวิ่งไปที่อื่นหายไปจาก ณ ที่นั้นในทันที (คงจะพาเต่าตัวนั้นไปขายต่อล่ะครับ)

ผู้หญิงคนนั้นมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างอึ้งกิมกี่อยู่ครู่หนึ่งสั้น ๆ
จากนั้น ก็เดินกลับไปที่ร้านขายเต่าซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อจะทวงเงินคืน
พอเดินกลับไปถึงร้าน ปรากฏว่าเจ้าของร้านหายตัวไปแล้ว เหลือแต่กะละมังปลาเล็ก ๆ วางอยู่
ผู้หญิงคนนั้นเห็นดังนั้นก็ยืนตะโกนด่ารุนแรงโหวกเหวกอยู่หน้าร้านขายนั้น
โดยผมได้เข้าไปไหว้พระ และทำบุญในวัดตามสมควรได้สักพักหนึ่งแล้ว
ซื้อขนมปังก้อนเดินกลับออกมาริมน้ำเพื่อให้อาหารปลา ก็ยังเห็นผู้หญิงคนนั้นยืนด่าโหวกเหวกไม่เลิก
(แสดงว่าด่ารุนแรงต่อเนื่องอยู่นานพอสมควรเลยทีเดียว)
ผมให้อาหารปลาเสร็จแล้ว เธอก็ยังด่าอยู่ และสาปแช่งต่าง ๆ มากมายต่อคนขาย

ผมยืนเป็นไทยมุงดูเหตุการณ์อยู่ห่าง ๆ ในบริเวณร้านขายปลาข้างเคียงนั้น
ก็ได้ยินคนขายร้านใกล้ ๆ คุยกับคนขายอีกร้านหนึ่งว่า
“แหม จะจับเต่ากลับมา ก็ควรรอให้คนทำบุญเขากลับไปก่อนสินะ
ไม่ใช่ว่าไปจับต่อหน้าเขาแบบนี้ เขาก็ต้องโกรธโมโหเป็นธรรมดา”
ผมฟังแล้ว ผมก็อึ้งไปด้วย ก็เกิดคิดอกุศลไม่พอใจร้านค้าบริเวณนั้นตามไปด้วย
(ในช่วงเวลานั้น ผมเองยังไม่เคยได้ฟังหรือเรียนเรื่องการเจริญสติ)
ผู้หญิงคนนั้นด่าต่ออีกสักพักหนึ่งแล้ว ก็เดินจากไปด้วยอารมณ์โกรธ
ซึ่งน่าจะเชื่อว่าความปีติใจที่เป็นกุศลในช่วงแรกนั้นได้จางหายไปหมดแล้ว
และหากเธอระลึกถึงเหตุการณ์นี้อีก ก็น่าจะระลึกได้ถึงแต่อารมณ์โทสะและเรื่องชวนโกรธนี้
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ในขณะที่เธอได้ซื้อเต่าใหญ่มา และได้ปล่อยเต่าใหญ่ลงแม่น้ำไปแล้วนั้น
ก็น่าจะถือว่าเธอได้ทำบุญกุศลสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว
การที่เด็ก ๆ ได้กระโจนลงน้ำไปจับเต่ากลับขึ้นมานั้น เป็นกรรมไม่ดีของเด็ก ๆ เหล่านั้นเอง
และไม่ได้มีผลกระทบในบุญกุศลที่ได้ทำไว้สมบูรณ์แล้วของผู้หญิงคนนั้น
แต่เมื่อผู้หญิงคนนั้นจับสองเรื่องมาปะปนกันแล้ว กุศลที่ได้ทำไว้แต่แรกก็ด่างพร้อย
ท้ายสุดแล้ว สิ่งที่ทำตามมาภายหลังก็มีแต่อกุศลทั้งนั้นเลย

ในเรื่องการทำบุญที่วัดแต่จบลงที่อกุศลก็ยังมีกรณีอื่น ๆ นะครับ
เช่นว่าไปทำบุญที่วัดกันแล้วไปประสบเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจบางอย่าง
หรือพบเห็นความประพฤติที่ไม่ถูกใจบางอย่าง
(ไม่ว่าจะเป็นความประพฤติของพระภิกษุ ของแม่ชี ของเจ้าหน้าที่วัด
หรือของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือของพุทธศาสนิกชนอื่น ๆ ที่ไปวัดนั้นก็ตาม)
ก็ทำให้คนที่ไปทำบุญที่วัดเกิดจิตอกุศล และเก็บกลับไปได้แต่เรื่องขยะในใจนั้น

แม้กระทั่งในเรื่องการปฏิบัติธรรมก็ตาม
ก็มีให้เห็นอยู่เหมือนกันว่า บางคนไปเรียนที่สำนักโน้นสำนักนี้แล้วไม่ถูกจริต ไม่ตรงใจ
ไม่เข้าใจ ไม่ได้ผล ไม่เห็นผลทันใจ หรือว่าไม่ได้รับการยอมรับตามที่ปรารถนาไว้ เป็นต้น
ท้ายสุดก็ตามตำหนิด่าสำนักโน้น สำนักนี้ที่ตนเองเคยไปเรียนว่า ไม่ดีอย่างโน้น ไม่ได้เรื่องอย่างนี้
ถ้อยคำด่าก็ประกอบไปด้วยโทสะในใจ อกุศลในจิตใจ ไม่ได้ประกอบด้วยเมตตาใด ๆ เลย
แต่ก็ยังหลงเข้าใจว่าที่ตนเองทำไปนี้เป็นเพราะกุศล ทำด้วยกุศล และจะได้กุศล
ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด และหลงผิดอย่างสิ้นเชิง

ในทุกตัวอย่างเรื่องที่ยกมานี้ คำว่า “ท้ายสุด” ไม่ได้หมายถึงตอนจบเรื่องแบบสั้น ๆ เสมอไปนะครับ
ไม่ได้เหมือนกับตอนจบละครโทรทัศน์ ประเภทว่าละครมีสามสิบหรือสี่สิบตอน
แต่ว่าตอนจบละคร ก็มีเพียงแค่สั้น ๆ เพียงตอนเดียวเท่านั้น
ในเรื่องของอกุศลที่เกิดขึ้นในตัวอย่างเรื่องเหล่านั้น บางทีอกุศลก็เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรก ๆ เลย
ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และลากยาวไปชั่วชีวิตจนกระทั่งถึงแก่ความตาย
และสำหรับบางคนนั้น แม้กระทั่งตายไปแล้วก็ยังมีคิดเคียดแค้นกันแบบข้ามภพข้ามชาติก็มี

ในหลายกรณีนั้น “อกุศล” ที่เกิดขึ้นภายหลังมีมากมายกว่า “กุศล” ที่เกิดขึ้นสั้น ๆ ในช่วงแรกเสียอีก
เช่นว่า แนะนำพ่อแม่ประโยคเดียว แล้วไปด่าท่านด้วยโทสะหลายสิบประโยค
หรือให้ความช่วยเหลือเพื่อนแค่นิดเดียว หลังจากนั้นทะเลาะกัน และเป็นศัตรูกันไปตลอด
หรือไปทำบุญที่วัดอยู่ครู่เดียว หลังจากนั้นก็ตำหนิด่าวัดนั้น (หรือทุกวัด) ตลอดยาวนาน
หรือไปศึกษาปฏิบัติธรรมจากสำนักหนึ่ง จากนั้น ก็ตำหนิด่าสำนักนั้น (หรือสำนักอื่นด้วย) ตลอดยาวนาน
ซึ่งการแนะนำหรือช่วยเหลือคนอื่นนั้น ก็ได้อานิสงส์เพียงในระดับของทาน
แต่เวลาไปด่าหรือไปเบียดเบียนคนอื่นเขานั้น เป็นการด่างพร้อยหรือเสื่อมในระดับของศีล
กรณีจึงกลายเป็นว่าพยายามสร้างกุศลในระดับทาน
แต่ผลคือเสียหายตนเองในระดับศีลซึ่งเสียหายระดับสูงกว่า
ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการอาบน้ำด้วยน้ำโคลนที่ยิ่งอาบแล้ว ก็ยิ่งสกปรก

มีคำถามว่าแล้วเราจะป้องกันเพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
คำตอบไม่ใช่ว่า ไม่ควรไปทำบุญกุศลอะไรนะครับ
แต่คำตอบนั้นคือว่า ต้องมี “สติรู้เท่าทัน” ครับ
หากมีสติรู้เท่าทันแล้ว โอกาสที่อกุศลเหล่านี้จะมาครอบงำใจ
และพาเราไปทำสิ่งอกุศลกรรมทั้งหลาย ก็จะลดน้อยลงมาก (หรืออาจจะไม่มีเลย)
แม้ว่าบางคนอาจจะมีเผลอหรือพลาดไปบ้าง แต่ก็จะรู้สึกตัวและไม่ได้ถลำลึกลงไปมาก
แต่หากขาดเสียซึ่ง “สติ” แล้ว บางคนทำสิ่งที่เป็นอกุศลด้วยจิตอกุศลแท้ ๆ
แต่ก็สามารถโดนกิเลสหลอกให้เข้าใจผิดไปได้ครับว่าเป็นการทำสิ่งกุศลด้วยจิตกุศล
(เพราะไม่เห็นกิเลสในใจตนเอง แต่ไปมัวมองหรือพิจารณาแต่เรื่องกิเลสของคนอื่น)
หากปราศจากซึ่ง “สติ” แล้ว กรณีจะไม่ยากเลยที่จะเริ่มต้นที่กุศล แต่จบลงที่อกุศล
หรือบางทีนะครับ “เริ่มต้นก็ที่อกุศลเลย และจบลงที่อกุศลด้วย”



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP