กระปุกออมสิน Money Literacy

ไม่สำคัญว่าหาได้เท่าไหร่ แต่สำคัญที่เก็บได้เท่าไหร่ จริงไหม?


Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger

สิ่งเย้ายวนใจในสังคมปัจจุบันนั้นมีมากมายหลายหลากเหลือเกิน สื่อโฆษณาแต่ละอันก็พยายามทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตเราขาดอะไรไปซักอย่าง และซักอย่างที่เราขาดไปนั้น สามารถเติมเต็มชีวิตเราได้ก็ด้วยสินค้าของเขา ถึงเราจะมีสติรู้ทันขึ้นมาครั้งหนึ่ง ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถหลบได้ในครั้งต่อๆไป สิ่งล่อตาล่อใจเหล่านี้นอกจากทำให้เราขาดสติแล้ว ก็ยังทำให้เราเสียสตางค์อีกด้วย เห็นไหมครับ จะมีเงินเก็บกับเขาซักก้อน มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มีมารผจญมาตลอด

ทางแก้ไขเพื่อที่จะทำให้เรามีเงินเก็บเพิ่มขึ้นที่ผมคิดได้ เพื่อที่จะทำให้เงินในกระเป๋าเราเพิ่มขึ้นก็คือ

๑) หารายได้ให้มากขึ้น หรือ

๒) เก็บเงินที่หามาให้ได้มากขึ้น


ทางไหนดีกว่ากัน? ผมคิดว่าแล้วแต่จริตนิสัยแต่ละคน แต่ขอเล่าตัวอย่างซักหนึ่งอย่างเป็นข้อคิดนะครับ

สมมติว่าผมเป็นเจ้าของร้านขายเสื้อผ้า เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าใจกลางกรุงเทพฯไว้ซักแห่ง ร้านของผมขายดีบ้างไม่ดีบ้าง เพราะไม่ได้อยู่ในทำเลที่ดีที่สุดในห้างนั้น แถมเพิ่งเปิดร้านมา ก็ยังไม่รู้ว่าจะเลือกเสื้อผ้าแบบไหนมาขาย จะเจาะกลุ่มตลาดแบบไหนดี เวลาเลือกซื้อสินค้าเข้ามาวางหน้าร้าน ก็เลือกแบบกลางๆที่ใครใส่ก็ได้ ไม่เจาะกลุ่มตลาดมากเกินไป และด้วยความที่เลือกเสื้อผ้ามาหลากหลาย ก็ไม่ได้ซื้อของเข้าร้านล๊อตใหญ่ๆ ราคาต้นทุนจึงถือว่าแพงนิดหน่อย เอามาขายหน้าร้านก็กำไรไม่มาก แค่พออยู่ได้


วันดีคืนดีผมนึกอยากเพิ่มรายได้ให้ร้านตัวเองขึ้นมา เลยคิดเปิดสาขาเพิ่ม (เพราะมองที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นหลัก) วาดไว้ว่ายอดขายต้องโตเป็น ๒ เท่า (เพราะมี ๒ สาขาแล้ว) และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆครับ รายได้ผมมากขึ้น และก็คิดว่าเป็นวิธีเพิ่มรายได้ที่ดีทีเดียว เมื่อคิดได้ตามนี้ ก็วางแผนขยายสาขาที่ ๓ และสาขาที่ ๔ ตามมา เมื่อมีเงินเท่าไหร่ เราก็เอาไปลงทุนเท่านั้น หวังว่ากิจการจะดีขึ้นๆๆๆ ไปเรื่อยๆ

และแล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ร้านที่ผมขยายสาขาที่ ๓ และ ๔ ยอดขายไม่ได้ดีเหมือนสองสาขาแรก และประสบปัญหาขาดทุนในหลายๆเดือน (ภาษาสมัยใหม่ คงต้องเรียกว่า งานเข้า”) จนไปทำให้กำไรโดยรวมที่ได้จากสองสาขาแรกลดลงด้วย แถมค่าเช่าก็แพงขึ้น อะไรๆก็แพงขึ้น ยังดีที่ตั้งสติได้ทัน ตัดใจขาย ๓ สาขาที่เปิดใหม่ทิ้ง เหลือสาขาแรกสาขาเดียว เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกต้นทุนค่าเช่า และแบกขาดทุนต่อไป แต่เงินลงทุนที่ลงไปแล้วก็ต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่


บทเรียนนี้สอนอะไรเรา? ผมหาเงินเก่ง แต่ผมไม่ได้เก็บเงินเผื่อในยามฉุกเฉินเลย เมื่อเจอกับปัญหาที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน ผมไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สุดท้ายต้องกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เปรียบเทียบกับการเจริญสติ ถ้าผมไม่เคยฝึกปฏิบัติในรูปแบบ หรือไม่เคยเจริญสติในชีวิตประจำวันมาก่อน เมื่อทุกข์มาถึงตัว คงเป็นเรื่องยากที่ผมจะสามารถรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองได้ ทางแก้ปัญหาก็คือ ผมต้องเตรียมรับมือ ต้องหมั่นซ้อม ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นมาจริงๆ

มองในอีกมุมหนึ่ง ผมขยายสาขาทั้งๆที่นโยบายของร้านตัวเองก็ยังไม่ชัดเจน กลุ่มเป้าหมายยังคลุมเครือ คุมให้ต้นทุนสินค้าราคาถูกก็ไม่ได้ ครั้นขยายสาขาไป ก็เท่ากับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับร้านแค่ร้านเดียว แต่กลับเกิดขึ้นกับร้านทั้ง ๔ สาขา แค่ร้านเดียวยังแก้ไม่ได้ แล้ว ๔ ร้านมันจะไหวเหรอครับ จริงไหม?

การแก้ปัญหาภายในร้านสาขาแรกให้หมด ก่อนที่จะคิดขยายสาขา ก็เหมือนกับการรู้จักเก็บ รู้จักออมนะครับ ต่อให้เราสามารถทำเงินได้เท่าไหร่ แต่พฤติกรรมการใช้จ่ายของเราไม่เปลี่ยน ไม่มีวินัยในการออม เราก็คงไม่มีเงินเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน อาจมีคนค้านผมว่า ความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเขามีความสุขที่ได้ใช้เงิน อันนี้ผมก็ไม่เถียง แต่อยากให้ย้อนถามตัวเองกลับว่า ความสุขนั้น เป็นความสุขที่ตั้งอยู่บนความประมาทหรือเปล่า หากหามาเท่าไหร่แล้วใช้ไปเท่านั้น โดยไม่เผื่อเลยว่าวันข้างหน้าเราจะเจออะไรบ้าง ดูเหมือนจะมีทุกข์ตามมาไม่วันใดก็วันหนึ่ง ถ้าใช้ชีวิตแบบนั้น


จากตัวอย่างที่ผมสมมติขึ้นมา สรุปได้ว่า อยากจะโตไปข้างหน้า ถ้ารากฐานยังไม่แข็งแรง การเติบโตนั้นก็เป็นแค่ฟองสบู่ที่รอวันแตก เพราะฉะนั้น การหาเงินเก่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราต้องมั่นใจก่อนว่า เรามีระบบที่จะทำให้เงินที่เราหามา เก็บอยู่กับเรา เพื่อที่ชีวิตของเราจะได้ไม่แขวนอยู่บนเส้นด้ายที่เรียกว่าความประมาท อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อก็คือ เมื่อเรามีเงินเก็บแล้ว หนทางในการต่อยอดความมั่งคงของเราจะเพิ่มขึ้นทันที เพราะนอกจากเราจะทำงานเพื่อเงินแล้ว เงินที่เราหามาได้ก็สามารถทำงานแทนเรา จะด้วยการฝากเงินในธนาคาร ลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ก็แล้วแต่ความถนัด แล้วแต่จริตนิสัยของเราเอง ไม่ต่างกับการปฏิบัติธรรมครับ เก็บเงินให้ได้ก่อน ก็เหมือนกับการรักษาศีลได้ครบ หารายได้เพิ่มขึ้น ก็เหมือนกับการไปเจริญปัญญากันต่อ ไปเลือกทางเดินที่เหมาะกับจริตนิสัยของผู้ปฏิบัติอีกที เลือกวิธีหารายได้ ไม่ว่าวิธีไหน ต้องได้มาแบบสุจริต ก็เหมือนกับปฏิบัติให้อยู่ในสติปัฏฐาน ๔ ถ้าทำได้ตามนี้ ไม่ว่าจะเรื่องเงิน หรือเรื่องธรรมะ ก็นับได้ว่า เรามาถูกทางแล้ว


สรุปแล้ว ทั้งหาเงิน และเก็บเงิน สำคัญเหมือนกันครับ แต่ถ้าไม่รู้จักเก็บตั้งแต่แรก หามาได้เท่าไหร่ รับรองได้เลยว่า ความทุกข์ตามมาแน่นอน



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP