กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage

หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ : ใต้ร่มธงชัยพระอรหันต์


เทียบธุลี

การได้บวชเป็นพระภิกษุและครองเพศพรหมจรรย์ตราบวายชนม์นั้นเป็นเรื่องยาก
ต้องอาศัยทั้งบุญบารมีที่สั่งสมมาและความมั่นคงแน่วแน่ในชาติปัจจุบัน
แต่แม้ว่าจะมีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะครองสมณเพศไปจนวาระสุดท้ายเพียงใดก็ตาม
ก็มิวายที่จะถูกรบกวนด้วยกิเลสต่างๆ ซึ่งหากท่านผู้นั้นมิได้มีศรัทธาอย่างเข้มแข็ง
ก็คงจะต้องลาสิกขาไปใช้ชีวิตในทางโลกอย่างแน่นอน

045_lpJunRaem

พระครูเขมคุณโสภณ (หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ)
วัดเกาะแก้วธุดงคสถาน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์

ดังเรื่องราวของพระครูเขมคุณโสภณ (หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ)
ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่อายุน้อย
โดยเป็นเด็กวัดในช่วงที่ศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ ๓-๔ รวม ๒ ปี
และต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๗-๒๐ ปี รวม ๓ พรรษา
แม้ว่าจะลาสิกขาออกมาช่วยงานทางบ้าน
แต่ด้วยบุญบารมีเดิมประกอบกับความตั้งใจอันแน่วแน่ในทางธรรม
ก็ทำให้ท่านได้กลับมาสู่ร่มกาสาวพัสตร์ในที่สุด

เรื่องเริ่มต้นขึ้นในวันหนึ่งเมื่อหลวงปู่ไปถางไร่ที่อยู่ใกล้ๆ กับป่าช้า เพื่อเตรียมการเพาะปลูก
ทำงานตั้งแต่เช้าจนใกล้จะถึงเวลาเพล ซึ่งโยมแม่จะต้องนำอาหารกลางวันมาส่ง แต่ก็ยังไม่มา

...แล้วฉับพลันสายตาก็เหลือบไปเห็นหัวกะโหลกและโครงกระดูกของคนตาย
ที่ญาตินำเอาศพไปเผาบ้างฝังบ้างในป่าช้า กระจัดกระจายไปทั่ว
พอมีไฟป่าเกิดไหม้ป่าขึ้น จึงทำให้มองเห็นโครงกระดูกเกลื่อนกลาดไปทั่วบริเวณนั้น
เมื่อเห็นภาพเหล่านั้น ในใจมันฉุกคิดขึ้นมาว่า
ต่อไปข้างหน้าเราเองก็ต้องเป็นเหมือนโครงกระดูกที่นอนเรียงรายกันอยู่นี้
เราเองก็ต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ไม่อาจพ้นไปได้
สรรพสัตว์ทุกตัวตนที่เกิดมาในโลกนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้

คนเราเกิดมาทุกคนไม่มีใครพ้นจากความตายไปได้เลยแม้แต่คนเดียว..."

ขณะนั้นเองท่านก็ได้พิจารณาถึงหลักไตรลักษณ์

...ในใจขณะนั้นได้พิจารณาเห็นหลักสัจธรรม
คือ อนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกข์ เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่มีตัวตน
มองเห็นไตรลักษณ์ตามสภาพที่เป็นจริง และจิตใจก็ยอมรับความเป็นจริงนั้นเองโดยอัตโนมัติ
ไม่ว่าจะลืมตาหรือหลับตาก็ปรากฏแต่รูปโครงกระดูก โครงกระดูกลอยมาติดตาเป็นนิมิต
ได้แต่พิจารณาถึงธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น..."

จนโยมมารดานำอาหารมาส่ง หลวงปู่ก็ไม่ได้รับประทาน

เพราะจิตใจตกอยู่ในห้วงของอารมณ์ที่ปรากฏอยู่ และยิ่งเห็นจริงอย่างลึกซึ้งถึงใจ
ว่าคนเราต้องตายแล้วตายเล่า เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ ภพแล้วภพเล่า ชาติแล้วชาติเล่า
ชีวิตหาที่สุดไม่ได้เลย"

อีกทั้งต่อมาก็มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้อยากเข้าสู่เพศบรรพชิตมากขึ้น
เมื่อใคร่ครวญเป็นอย่างดีแล้ว ที่สุดท่านก็ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะบวช

อย่ากระนั้นเลยกับชีวิตฆราวาส การแต่งงาน การสร้างโลกสร้างภพชาติไม่มีที่สิ้นสุด
เราจะเลือกเอาการบวชดีกว่า"

การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการบวชโดยไม่คิดจะลาสิกขา ซึ่งบิดามารดาก็ได้อนุญาตแล้ว

ถ้าบวชก็จะเสียเวลาทำมาหากิน สมมติว่าเราบวช ๕ ปี
ถ้าปลูกมะม่วงในระยะเวลาที่เท่ากันนี้ก็จะได้กินหมากกินผล
หากสึกออกมาก็จะสร้างตัวสร้างฐานะไม่ทันคนอื่นเขา
ถ้าหากบวชแล้วเราต้องไม่สึก ถ้าบวชแล้วสึก เราจะไม่บวช"

หลังจากครองสมณเพศในธรรมยุติกนิกายแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑
ท่านเดินทางไปยังวัดป่าหนองผือนาใน (วัดป่าภูริทัตถิราวาส ) อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
เพื่อไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และพำนักอยู่เป็นเวลา ๑ ปี

หลังจากบวชได้ประมาณ ๖ พรรษา หลวงปู่ได้ติดตามพระอริยเวที (หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล)
เพื่อไปช่วยสร้างวัดป่าบ้านโพน (วัดรังสีปาลิวัน) อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
โดยได้จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้เพื่อดูแลความเรียบร้อยแทนองค์หลวงปู่มหาเขียน
และ ณ ที่แห่งนี้เองที่ได้เกิดเหตุการณ์หนึ่ง
ซึ่งเป็นการทดสอบความแน่วแน่ในการครองเพศบรรพชิตของท่าน
เรื่องมีอยู่ว่ามีสาวสวยประจำหมู่บ้านนางหนึ่งได้แอบหลงรัก
และเผยความนัยด้วยการเขียนจดหมายสอดไว้ในซองบุหรี่ที่นำมาใส่บาตรในตอนเช้า
เมื่อหลวงปู่รับบิณฑบาตเสร็จ แกะซองบุหรี่เพื่อจะจุดสูบ ก็ได้พบข้อความ

เห็นวันแรกก็เกิดหลงรักจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ
ถ้าญาครูเป็นโยม จะพาหนีไปสร้างครอบครัวอยู่ด้วยกัน"

แม้ว่าข้อความจะเปิดเผยความในใจอย่างชัดแจ้ง และเจ้าของข้อความก็มีรูปร่างหน้าตาสะสวย
แต่พระหนุ่มก็มิได้หวั่นไหวไปกับกลกิเลสเลยแม้แต่น้อย
เป็นเวลาถึง ๔ เดือนที่หญิงนางนี้เขียนจดหมายสอดซองบุหรี่ใส่บาตรเป็นประจำ
ทว่ากลับเป็นความพยายามอันไร้ผลโดยสิ้นเชิง มิอาจทำให้ท่านหวั่นไหวเลยแม้แต่น้อย
จนกระทั่งออกพรรษาหลวงปู่จึงออกจากหมู่บ้านเพื่อแสวงหาความวิเวกต่อไป
ท่านได้เล่าถึงความรู้สึกในขณะนั้นว่า

ในใจตอนนั้นมันแกล้วกล้ามาก ตั้งปณิธานไว้ว่าถ้าหากตาย
เราต้องตายภายใต้ผ้ากาสาวพัสตร์ อันเปรียบเสมือนธงชัยพระอรหันต์
มันมีคุณค่ามีศักดิ์ศรีมากกว่าการตายในเพศฆราวาสยิ่งนัก"

ด้วยความมั่งคงไม่ไหวหวั่นไปกับเล่ห์กลของกิเลส มุ่งในธรรมะเพื่อการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
ทำให้หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ สามารถดำรงเพศพรหมจรรย์ตราบวาระสุดท้าย
เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนในฐานะของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ผู้เป็นสาวกแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


เอกสารประกอบการเขียน

ประวัติสังเขป ธรรมเทศนา และปฏิปทาของหลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ และมุตโตทัยของพระมั่น ภูริทตฺโต (๒๕๔๕) กรุงเทพฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP