จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ระลึก “อะไร” เมื่อไปทำบุญที่วัด (ตอนจบ)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

(ต่อจากตอนที่แล้ว)


044_destination



เวลาเราได้เข้าไปทำบุญในอุโบสถ วิหาร หรือศาลาการเปรียญก็ดี
ย่อมจะได้เห็นพระพุทธรูปหรือพระประธานในอุโบสถ วิหาร หรือศาลาการเปรียญนั้น
บางท่านก็อาจจะนำเงินใส่ตู้รับบริจาคเพื่อทำบุญถวายพระประธาน
หรือนำเงินใส่ตู้ค่าดอกไม้ธูปเทียน และนำดอกไม้ธูปเทียนไปถวาย
หรือนำเงินใส่ตู้ค่าข้าวสาร และนำข้าวสารถุงไปอธิษฐานถวาย

หรือนำเงินใส่ตู้ค่าผ้าไตร และนำผ้าไตรไปอธิษฐานถวาย
ลองพิจารณาว่า ใจเราในขณะนั้นจะระลึกอะไรครับ
หากเป็นพระประธานหรือพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียง เช่นว่า เป็นหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์แล้ว
เราก็มักจะระลึกว่า เรามาทำบุญถวายหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์องค์นั้นใช่ไหม
แต่หากไม่ใช่หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงแล้ว บางท่านก็อาจจะระลึกว่า
ได้มาทำบุญถวายพระพุทธรูปหรือพระประธานในวัดนั้น ๆ

การที่เราได้ระลึกว่าได้ทำบุญถวายพระพุทธรูป พระประธาน หรือหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์นั้น
ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและได้บุญกุศลเช่นกัน แต่ว่าผมจะขอแนะนำให้ลองระลึกอีกแบบหนึ่ง
โดยขอให้พิจารณาว่า พระพุทธรูปหรือพระประธานนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนของพระพุทธเจ้า
เมื่อเราจะร่วมทำบุญถวายใด ๆ ต่อพระประธานหรือพระพุทธรูป
(เช่น ถวายผ้าไตร ถุงข้าวสาร พานดอกไม้ หรือของอื่นใดก็ดี รวมถึงถวายปัจจัยด้วย)
ขอให้เราได้พิจารณามองทะลุเนื้อโลหะ เนื้อหิน ไม้ ปูน ดิน ทราย ฯลฯ
ของพระประธานหรือพระพุทธรูปนั้น ๆ มองทะลุชื่อเสียงและความศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ
ที่ห้อมล้อมพระพุทธรูปองค์นั้น หรือพระประธานองค์นั้น
แต่ให้ระลึกเห็นว่าเบื้องหน้าของเราคือพระพุทธองค์
ผู้ทรงพระปัญญาธิคุณ พระปริสุทธิคุณ และพระกรุณาคุณ
ท่านได้ทรงบำเพ็ญบารมีมาอย่างมากมายนับกัลป์ไม่ถ้วนเพื่อช่วยเหลือ
เหล่าเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ ให้สามารถข้ามพ้นสังสารวัฏได้
ระลึกในใจให้เสมือนว่าพระพุทธองค์ได้อยู่ตรงหน้าของเราแล้ว
เราจึงได้ร่วมทำบุญใส่ตู้ หรือถวายวางของเหล่านั้นครับ

บางท่านอาจจะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานและได้มีการถวายพระเพลิงไปแล้ว
จริง ๆ แล้วที่ถวายพระเพลิงไปนั้นเป็นเพียงสรีระร่างกาย เป็นเพียงธาตุขันธ์เท่านั้น
แต่พระพุทธเจ้าองค์จริงที่ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระปริสุทธิคุณ และ
พระกรุณาคุณนั้น ยังไม่ได้หายจากไปไหน และก็ยังดำรงอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
แม้พระพุทธองค์ก็ยังได้ทรงสั่งสอนว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นพระตถาคต
โดยในคำสอนดังกล่าวท่านไม่ได้กล่าวจำกัดช่วงเวลาไว้
ว่าจะต้องเห็นธรรมในสมัยพุทธกาลเท่านั้น จึงจะสามารถเห็นพระตถาคตได้
ดังนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าองค์จริงนั้น ท่านก็ยังอยู่ให้เราได้ระลึกถึงและกราบไหว้
เสมือนกับเวลาที่เราได้สวดมนต์ระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วมีจิตใจสงบร่มเย็น

ในอุโบสถ วิหาร หรือศาลาการเปรียญบางแห่งอาจจะมีรูปหล่อหรือรูปปั้นพระอัครสาวกด้วย
ก็ขอแนะนำให้ระลึกในทำนองเดียวกันครับ โดยให้มองทะลุเนื้อโลหะ เนื้อหิน ปูน ดิน ฯลฯ
ของรูปหล่อหรือรูปปั้นพระอัครสาวกนั้น และให้เราระลึกว่า
เรากำลังทำบุญถวายพระอัครสาวกนั้นด้วย หรือเรากำลังทำบุญถวายพระพุทธเจ้า
ซึ่งมีอัครสาวกอยู่ในที่นั้นด้วย

ในวัดบางแห่งมีพระบรมสารีริกธาตุให้เราได้กราบไหว้บูชาและทำบุญถวายนะครับ
ซึ่งการได้กราบไหว้บูชาและทำบุญถวายพระบรมสารีริกธาตุนี้มีอานิสงส์สูงมาก
โดยในพระไตรปิฎกได้มีเล่าเรื่อง “ปีตวิมาน” ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในปีตวิมาน
(พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ-เปตวัตถุ เถรคาถา-เถรีคาถา)
ว่า มีนางเทพธิดานางหนึ่งเป็นผู้นุ่งห่มผ้าล้วนแล้วด้วยสีเหลือง มีธงก็เหลืองตกแต่งด้วย
เครื่องอลังการเหลือง มีกายอันลูบไล้ด้วยจุณจันทน์เหลือง ทัดทรงดอกบัวหลวง
มีปราสาทอันแล้วด้วยทองคำ มีที่นอนและที่นั่งสีเหลือง ทั้งภาชนะที่รองรับขาทนียะ
และโภชนียะสีเหลือง มีฉัตรสีเหลือง รถสีเหลือง มีม้าและพัดล้วนแล้วสีเหลือง
สมเด็จอัมรินทราธิราชตรัสถามว่า เมื่อชาติก่อนนางเป็นมนุษย์ได้กระทำบุญอะไรไว้
และนี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร

นางเทพธิดาตอบว่านางได้น้อมนำเอาดอกบวบขมซึ่งมีรสขมไม่มีใครชอบ
จำนวน ๔ ดอก ไปบูชาพระสถูปตั้งจิตอุทิศต่อพระบรมธาตุของพระบรมศาสดา
ด้วยจิตอันเลื่อมใสกำลังส่งใจไปในพระบรมธาตุของพระศาสดานั้น
ในระหว่างนั้น นางไม่ทันได้ระวังแม่โคตัวหนึ่งที่อยู่ในเส้นทาง
ทันใดนั้น แม่โคได้ขวิดนางผู้มีความปรารถนาแห่งใจยังไม่ถึงพระสถูปถึงแก่ความตาย
ด้วยผลบุญกรรมนั้นนางละอัตภาพมนุษย์แล้ว จึงได้ทิพยสมบัตินี้
นางเทพธิดาได้กล่าวต่อไปว่าหากได้ไปถึงพระสถูปแล้ว นางย่อมพึงได้ทิพยสมบัติยิ่งกว่านี้

ท้าวมัฆวานผู้เป็นอธิบดีแห่งทศเทพผู้ทรงเทพกุญชร ได้ทรงสดับเนื้อความแล้ว
ได้ตรัสกะมาตลีเทพบุตรว่า จงดูผลแห่งกรรมอันวิจิตรน่าอัศจรรย์นี้
ทานวัตถุแม้มีประมาณน้อยอันนางเทพธิดานี้ทำแล้ว ย่อมเป็นบุญมีผลมาก
เมื่อจิตเลื่อมใสในพระตถาคตสัมพุทธเจ้า ในพระปัจเจกพุทธเจ้า
หรือในสาวกของพระตถาคต ทักษิณาย่อมไม่ชื่อว่ามีผลน้อยเลย
มาเถิดมาตลี แม้เราทั้งหลายพึงรีบเร่งบูชาพระบรมสารีริกธาตุของพระตถาคตให้ยิ่งๆ ขึ้นเถิด
เพราะการสั่งสมบุญย่อมนำสุขมาให้ เมื่อพระตถาคตจะยังทรงพระชนม์อยู่
หรือเสด็จปรินิพพานไปแล้วก็ตาม เมื่อจิตสม่ำเสมอ ผลก็ย่อมสม่ำเสมอ
เพราะเหตุที่ตั้งจิตไว้ชอบธรรม สัตว์ทั้งหลายย่อมไปสู่สุคติ
ทายกทั้งหลายได้กระทำสักการบูชาในพระตถาคตเหล่าใดไว้แล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์
พระตถาคตเหล่านั้นย่อมเสด็จอุบัติขึ้น เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก

ในกรณีของพวกเรานี้ที่ได้มีโอกาสกราบไหว้บูชาและทำบุญถวายพระบรมสารีริกธาตุ
เมื่อได้ทำกราบไหว้บูชาและทำบุญถวายด้วยจิตเลื่อมใสยังพระตถาคตแล้ว
ย่อมได้อานิสงส์มากมายกว่านางเทพธิดาในเรื่อง “ปีตวิมาน” ที่เล่าข้างต้นเสียอีก
ดังนั้น ก็ให้เรายังจิตเลื่อมใสทุกครั้งที่ได้กราบไหว้บูชาและทำบุญถวายนะครับ
อย่าเพียงแต่กราบไหว้ผ่าน ๆ ไป หรือเพียงไหว้ให้ครบ แต่ปราศจากจิตใจเลื่อมใส

ในกรณีที่เราได้ปฏิบัติบูชาในวัดด้วย เช่น สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม
หรือเจริญกรรมฐานในอิริยาบถใด ๆ ก็ตาม โดยอธิษฐานจิตเพื่อเป็นปฏิบัติบูชานั้น
ก็สามารถระลึกได้ว่าถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชาได้ในคราวเดียว
หากปฏิบัติต่อหน้าพระพุทธรูป หรือพระประธาน หรือพระบรมสารีริกธาตุก็ดี
ก็สามารถระลึกไปได้เลยว่ากำลังปฏิบัติบูชาถวายต่อเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า
หรือถวายต่อพระบรมสารีริกธาตุ แล้วแต่กรณี

ในระหว่างที่อยู่ในวัดนั้น อาจจะมีบางท่านที่เกิดจิตอกุศลคิดอะไรไม่ดี
หรือคิดอะไรที่จะบั่นทอนบุญกุศลของตนเอง เช่น จู่ ๆ ก็อาจจะคิดสงสัยว่า
พระบรมสารีริกธาตุของจริงหรือเปล่าหนอ หรือพระอรหันต์ธาตุของจริงไหมหนอ
หรือเกิดมีจิตไปคิดด่าว่าใครก็ตาม หรือเกิดจิตอกุศลใดก็ตาม ก็ให้มีสติตามรู้ทันครับ
ห้เห็นว่าจิตอกุศลนั้นเกิดขึ้นมาเอง จิตอกุศลนั้นก็ไม่เที่ยง รักษาไว้ไม่ได้
จู่ ๆ แล้ว ใจก็เกิดจิตอกุศลขึ้นมาเอง เราไม่ได้ตั้งใจให้เกิด และจิตอกุศลนี้ไม่ใช่ตัวเรา
บังคับไม่ได้ และจิตอกุศลนี้บีบคั้นใจเราให้เกิดทุกข์
เมื่อมีสติตามรู้ทันดังกล่าวแล้ว ย่อมทำให้จิตอกุศลไม่สามารถมาครอบงำใจเราได้

สำหรับท่านที่อยู่ระหว่างเจริญสติภาวนา เวลาที่เราทำบุญอยู่ในวัดนั้น
บรรดาความโกรธ อิจฉาริษยา ไม่พอใจ หรือกิเลสฝ่ายอกุศลอื่น ๆ นี้
มักจะเกิดขึ้นน้อยลงนะครับ (เพราะกำลังมีปีติ) หรือหากจะเกิดขึ้นมาก็ตาม ก็มักจะเห็นได้ง่าย
แต่ใจที่หลงไปกับเรื่องกุศลนี้สิจะดูยากกว่ามาก ๆ เช่น ทำบุญกุศลแล้ว มีปีติมีความสุข
ใจก็ไหลตามไป หลงตามไปเลย (โมหะครอบแล้วลืมกายลืมใจไปเลย) ซึ่งจะดูยากกว่า
จึงแนะนำให้มีสติพิจารณาใจที่หลงคิดเรื่องกุศลด้วย
ก็คือ ให้เรามีสติรู้ทันทั้งใจที่เป็นอกุศล และกุศลที่เกิดขึ้นนั้น

ในวัดบางแห่งก็มีให้ร่วมทำบุญกระเบื้องหรือก่อสร้างอุโบสถหรือวิหารนะครับ
เราอาจจะเห็นคนอื่นบางท่านนำเงินร่วมทำบุญเพียงสิบบาทหรือยี่สิบบาทก็ตาม
ก็อย่าไปหลงเข้าใจว่า จะเป็นบุญกุศลเพียงเล็กน้อยนะครับ
เพราะการทำบุญวิหารทานถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศนั้นมีอานิสงส์มหาศาล
โดยจะขอเล่าบางส่วนจาก “เวลามสูตร” ในพระไตรปิฎก
ว่าด้วยทานเทียบกับทานของเวลามพราหมณ์
(พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต) ว่า
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า
ดูกรคฤหบดี ในตระกูลของท่าน ยังให้ทานอยู่บ้างหรือหนอ
ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ในตระกูลของข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่ แต่ทานนั้นเป็นของเศร้าหมอง
เป็นปลายข้าว มีน้ำผักดองเป็นที่สอง

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสอนว่า เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อ “เวลามพราหมณ์”
ซึ่งเขาได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔
,๐๐๐ ถาด
(“รูปิยะ” แปลว่า เงินตรา) ถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔
,๐๐๐ ถาด
ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔
,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก
มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง
ให้รถ ๘๔
,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง
มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้แม่โคนม ๘๔
,๐๐๐ ตัว
มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔
,๐๐๐ คน
ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์ ๘๔
,๐๐๐ ที่ลาดด้วยผ้าโกเชาว์
ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด
มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง ให้ผ้า ๘๔
,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้
ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียด นอกจากนี้แล้ว ยังได้ให้ข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค
เครื่องลูบไล้ ที่นอน อื่น ๆ มากมายเหมือนแม่น้ำไหลหลาก

ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็น “เวลามพราหมณ์” ได้ให้ทานนั้นเป็นมหาทาน
แต่ว่าในทานนั้นไม่มีใครเป็นพระทักขิเณยยบุคคลที่มารับทานดังกล่าว
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียว (หมายถึงพระโสดาบัน) บริโภค
ยังมีผลมากกว่ามหาทานที่ “เวลามพราหมณ์” ได้ให้แล้วเสียอีก
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทาน
ที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ (หมายถึงพระโสดาบัน) ร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่า
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่า
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่า
ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่า
ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่า

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค
การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ มีผลมากกว่า
ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจตุรทิศ
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ (ศีลห้า)
จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่งความประมาท
มีผลมากกว่าการที่บุคคล มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ดังนั้นแล้ว แม้เราจะได้ทำบุญกระเบื้องหรือก่อสร้างอุโบสถหรือวิหารเพียงไม่มาก
แต่ได้ทำด้วยจิตเลื่อมใสมุ่งหวังถวายวิหารทานแก่สงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศแล้ว
ย่อมมีอานิสงส์มากกว่า “เวลามพรหมณ์” ได้ทำมหาทานดังที่กล่าวอีกนะครับ
อนึ่ง การที่เรามีศีลห้า และมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ย่อมมีอานิสงส์สูงกว่ามหาทานใด ๆ ทั้งปวงที่กล่าวข้างต้น รวมถึงวิหารทานด้วย

การร่วมทำบุญค่าน้ำค่าไฟฟ้าวัดโดยนำเงินใส่ตู้นั้น ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องระลึกเพียง
น้ำประปาหรือไฟฟ้าที่ใช้ในวัดนะครับ แต่เราสามารถระลึกได้ว่าถวายเป็นสังฆทาน
เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ทั้งปวง และเพื่อประโยชน์แก่การสืบสานพระพุทธศาสนา
อันจะเป็นประโยชน์แก่เหล่ามนุษย์ทั่วไปและเหล่าเทวดาทั้งปวง
การร่วมทำบุญการศึกษาของพระภิกษุ หรือนำเงินใส่ตู้ทำบุญอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกัน

เรามักจะได้เห็นหลาย ๆ ท่านได้พาพ่อแม่ไปทำบุญที่วัดด้วยนะครับ
ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นได้สร้างกุศลในการส่งพ่อแม่ของเขาให้ไปภพภูมิที่ดีในอนาคต
ก็เสมือนกับว่าเรากำลังเห็นคนอื่นทำบุญกับพระอรหันต์ของเขา
เราเองก็สามารถอนุโมทนาบุญกับเขาได้ ในทางกลับกัน
หากเราได้พาพ่อแม่เราไปทำบุญกุศลที่วัด ก็เท่ากับว่าเราทำบุญกับพระอรหันต์เช่นกัน

เวลาที่ถวายของสังฆทานในวัด เราก็อาจได้เห็นว่ามีพระภิกษุหนึ่งรูปบ้าง
สองรูปบ้าง หรือหลายรูปบ้างมารับสังฆทาน แต่ว่าเวลาเราระลึกนั้น
เราไม่ควรพิจารณาเพียงว่าถวายแด่พระภิกษุที่รับนั้นเท่านั้นนะครับ
เพราะว่าสังฆทานนั้นเป็นการถวายแด่สงฆ์ทั้งปวงโดยไม่เฉพาะเจาะจง
ดังนั้นแล้ว เราก็ควรจะระลึกในใจว่าถวายแด่สงฆ์ทั้งหมดทั้งปวงเลย
แต่ว่าพระภิกษุรูปที่รับของถวายนั้นเป็นผู้รับของถวายแทนสงฆ์ทั้งหมด

เล่ามาถึงตรงนี้ก็คงจะได้บุญกุศลมากมายมหาศาลกันแล้ว
ก็อย่าลืมอุทิศบุญกุศลเผื่อแผ่ไปยังเหล่าญาติทั้งหลายทุกภพทุกชาติ
และเผื่อแผ่เจ้ากรรมนายเวรและสัตว์โลกทั้งหลายด้วยนะครับ
นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือท่านอื่น ๆ นั้นแล้ว
คนที่อุทิศบุญกุศลเองก็ยังได้บุญกุศลเพิ่มอีกด้วย
เป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายเลย (
Win-Win Situation)

ท้ายสุด เมื่อได้ทำบุญกุศลไว้ดีแล้ว เราก็ต้องมีอุเบกขานะครับ
ยกตัวอย่างว่า ทำบุญเสร็จแล้ว เงินหมดแล้ว แต่ไปเจอสิ่งที่อยากจะทำบุญอีก
เช่น เจอคนน่าสงสารและอยากจะช่วยเขา แต่ไม่มีเงินจะช่วยแล้ว
ก็ต้องวางใจอุเบกขาครับ เสมือนกับว่าเรามีเงิน ๑๐๐ บาท
และได้แลกเป็นธนบัตร ๒๐ มาห้าใบ โดยเราได้ทำบุญแจกเด็กในวัดไปแล้วห้าคน
พอเดินออกมานอกวัดจะกลับบ้าน ก็ได้เจอเด็กน่าสงสารอีกคนหนึ่งมาขอเงิน
แต่เราเงินหมดแล้ว ไม่มีเหลือจะให้แล้ว พอเรากลับมาถึงบ้าน
เราก็มัวไประลึกถึงแต่เด็กคนสุดท้ายที่น่าสงสารที่เราไม่ได้ทำบุญด้วย
อย่างนี้ก็เรียกได้ว่า “เสียท่า” แล้วล่ะครับ โดยที่เราควรจะระลึกนั้นก็คือ
บุญกุศลที่เราได้ทำไว้ดีแล้วกับเด็กห้าคนนั้น และบุญกุศลอื่น ๆ ที่ได้ทำในวัด
ส่วนเด็กน่าสงสารอีกคนนึงที่เราไม่สามารถช่วยได้นั้น เราต้องมีอุเบกขาครับ
ไม่เช่นนั้น ก็เสมือนว่าทำบุญกุศลมาดีตลอดสายเลย แต่มาตกม้าตายเอาตอนจบนี่เอง



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP