ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ปฏิบัติธรรมแล้วทำไมนิสัยยังไม่ดี


ถาม : ทำไมบางคนเข้าวัดแล้ว กลับมีนิสัยชอบว่าและจับผิดคนอื่น
และคิดว่าตัวเองดีที่สุดแล้ว แบบนี้เขาจะได้บุญไหมครับ

นิสัยเพ่งโทษอันเกิดจากการติดดีนี่นะ มันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์เหมือนกัน
ผมว่ามันเป็นกันเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
น้อยมากที่จะมีนิสัยแบบถ่อมเนื้อถ่อมตัวอยู่ก่อน แล้วก็พอเข้าวัดเข้าวาศึกษาทางศาสนาแล้ว
ก็จะยังรักษาความถ่อมเนื้อถ่อมตัวนั้นไว้ได้นะ น้อยนะ น้อยมากๆ
ส่วนใหญ่ผมเห็น ๙๙ จาก ๑๐๐ เลยก็คือว่า
ถ้าเคยเป็นมายังไงนะ เรารู้สึกว่าเรามีเพื่อนแบบนี้ เรามีญาติแบบนั้น
แล้วเราเปลี่ยนแปลงไปนะครับ ไปเข้าใจธรรมะ เข้าวัดเข้าวา รู้สึกว่าเราพบความสว่างแล้ว เราได้ดีแล้ว
ไอ้กิเลสมนุษย์ที่มันมีการเทียบเขาเทียบเรา มันก็ไม่ได้หายไปด้วย
คือเขาเรียกว่าเป็นมานะ เป็นอัตตาแหละ เป็นการเทียบเขาเทียบเรา
คือก่อนที่จะรู้จักธรรมะ คนเราก็มีการเทียบเขาเทียบเราอยู่ก่อน ว่าเราดีบ้าง เราแย่ เราด้อยกว่าเขาบ้าง
เมื่อรู้จักธรรมะแล้ว ไอ้นิสัยเทียบเขาเทียบเราตรงนี้ มันก็ไม่ได้หายไปไหน กลับจะยิ่งเติบโตขึ้น

เพราะ อะไร เพราะความเชื่อ หรือว่าศรัทธา
หรือว่าคุณงามความดีทางศาสนาเป็นของใหญ่ เป็นของใหญ่อันเป็นที่สุดเลย
มนุษย์เชื่ออยู่ลึกๆ ว่าเรื่องศาสนาเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิต
เพราะเป็นการเปิดเผยความจริง เพราะเป็นทางสวรรค์ เป็นทางนิพพาน
เมื่อตัวเองรู้สึกว่าเข้ามาอยู่บนเส้นทางที่มีคุณค่าสูงสุด สูงส่งที่สุด
ก็เลยไปพอกไอ้ความรู้สึกในอัตตามานะตรงนี้ ให้มันยิ่งใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิมซะอีก
เพราะแต่ก่อนมันไม่รู้ว่าตรงไหนเขาเรียกว่าสูงสุด
ทีนี้มาฟังพระพุทธเจ้าบอกว่า นี่แหละ กิจกรรมทางศาสนานี่แหละ
การเข้าวัดเข้าวา การปฏิบัติธรรมนี่แหละ สูงสุด ไม่มีอะไรเหนือไปกว่านี้อีกแล้ว
มันก็ไปเสริมอัตตามานะตรงนั้นว่า เราสูงที่สุดแล้ว เราเหนือกว่าคนอื่นแล้ว
กลับมามองคนอื่นนี่ ที่เคยไม่เห็นหัวอยู่ คราวนี้ยิ่งไม่เห็นใหญ่เลย
ยิ่งไม่เห็นแม้กระทั่งว่าเขาจะมีความดีความชอบอะไร
เห็นแต่ว่าสิ่งที่เราทำ สิ่งที่มันเป็นบุญ สิ่งที่เป็นกุศล ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
แต่ไอ้สิ่งที่มันเป็นบาป สิ่งที่มันเป็นพื้นของบาปกรรมทั้งหลาย
คือโลภะ โทสะ โมหะ ที่มันยังอยู่เต็มหัวใจ ที่มันยังกัดกิน ที่มันยังครอบงำหัวใจเราอยู่นี่ มองไม่เห็น
เพราะอะไร เพราะว่ารู้สึกไปซะแล้ว สร้างภาพ หรือว่าติดกับภาพซะแล้ว
ว่าเราเป็นคนเข้าวัด เราเป็นคนที่มีบุญมีกุศลอย่างใหญ่

ตรงนี้ถามว่าเขาได้บุญหรือเปล่า มันได้บุญตรงที่มีความศรัทธา มีความสว่าง มีทิศทางของความสว่าง
เหมือนอย่างที่เมื่อกี้ผมพูด ทิศทางของความสว่างเกิดจากใจที่มันยึดใครคนหนึ่งเป็นสรณะ
อย่างเช่นยึดพระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใสจริงๆ นั่นก็คือมีทิศของความสว่างที่แน่นอนที่มั่นคง
แต่ส่วนบาปมันก็ยังได้ทำอยู่ แล้วก็อาจจะได้ทำยิ่งกว่าเดิมซะด้วย
เพราะว่าเวลาที่เราอ้างอิงหรือว่าเอาศาสนามาพูด มาบังหน้า หรือว่ามาเป็นภาพติดตัวนี่นะ
ทันทีที่เราไปทำเรื่องที่มันเป็นกิเลสๆ มันถูกขยายผลใหญ่โตอย่างที่คุณคิดไม่ถึงเลย
ยกตัวอย่าง อย่างบางคนไปบอกว่าผมนี่แหละรู้จริงแล้ว ผมนี่แหละคนในของพุทธศาสนา
แต่กลับไปใช้แอบอ้าง เอาพุทธศาสนาไปแอบอ้าง
บอกว่านี่คุณควรเลือกผมเข้าไปในสภา หรือว่าคุณควรที่จะเชื่อผม ไม่ว่าผมจะขออะไร

ไอ้ประเภทแบบนี้นี่นะ มันกลายเป็นว่าคุณเอาของสว่างมาปู้ยี่ปู้ยำให้มันเป็นของต่ำไป ของมืดไป
กรรมที่เกิดจากการเอาของสูง ดึงของสูงลงมาที่ต่ำ ตัวนั้นมันใหญ่หลวงนะ มันเป็นบาปกรรมที่ใหญ่หลวง
เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าวัด ถ้าจะมีความรู้สึกว่าเรามาอยู่ในจุดที่สูงส่งแล้ว
ไม่ใช่ไปติดภาพนะ ว่าเราเข้าวัด หรือไม่เข้า หรืออยู่นอกวัด
แต่ให้สำรวจเข้ามาว่าเรายังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะอยู่แค่ไหน
ถ้าหากสำรวจได้แล้ว แล้วก็พบว่า เออ โลภะ โทสะ ของเรา มันลดลงได้จริง
เบาบางลงไปจริง ค่อยภูมิใจ

แต่ถ้าหากว่าโลภะ โทสะ มันยังอยู่ อย่าเพิ่งไปภูมิใจ
แม้ว่าเราจะเชื่อแล้วว่า ตัวเองอยู่ในที่ที่ดี อยู่ในที่ที่มันเป็นศรัทธา
มันมีความสว่าง มันมีความเจริญรุ่งเรืองขนาดไหนก็ตามนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP