กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage

หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล : สงบงามด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย


เทียบธุลี

ความเป็นผู้ว่าง่าย (โสวจัสสตา) คือหนึ่งในนาถกรณธรรม ๑๐ อันเป็นคุณธรรมที่ทำให้ตนเป็นที่พึ่งของตนได้
ดังที่พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม ได้ระบุไว้ว่า นาถกรณธรรมนี้ ท่านเรียกว่าเป็น
พหุการธรรม หรือ ธรรมมีอุปการะมาก เพราะเป็นกำลังหนุนในการบำเพ็ญคุณธรรมต่างๆ
ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์
ดังเรื่องราวของพระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล) ซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้มีคุณธรรมในข้อนี้


041_lpBoonjan

พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล)
วัดป่าสันติกาวาส ตำบลไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี


เหตุการณ์ต่างๆ นี้ เกิดขึ้นในช่วงพรรษาที่ ๒ ซึ่งท่านได้ไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์และขอนิสัย
จากหลวงปู่ภูมี ฐิตธมฺโม พระสุปฏิปัณโณผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี
หลวงปู่บุญจันทร์ได้เล่าถึงเรื่องราวในช่วงนี้ไว้ว่า

ท่านจัดให้พักที่กุฏิเล็กๆหลังหนึ่ง ในขณะที่พักอยู่กับท่านพระอาจารย์ภูมีนั้น
ได้ตั้งใจปฏิบัติเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา และทำอาจาริยวัตรด้วยความเคารพไม่ให้ขาด


ในขณะที่ยังเป็นพระพรรษาน้อยนั้น ท่านได้ถูกทดสอบจากครูบาอาจารย์อยู่เสมอ

ในขณะที่พักอยู่กับท่านพระอาจารย์ภูมีนั้น ในตอนเย็นก็ทำข้อวัตรตักน้ำใส่ตุ่มในห้องน้ำของท่าน
เสร็จแล้วพอค่ำก็เดินจงกรม เมื่อเดินจงกรมเสร็จแล้วขึ้นกุฏิทำวัตรสวดมนต์
จบแล้วเข้าที่นั่งสมาธิภาวนา พิจารณาความตายเป็นอารมณ์
เมื่อหยุดจากนั่งสมาธิภาวนาแล้วก็จำวัดนอนภาวนาตั้งสติไว้ เมื่อรู้สึกตัวก็ลุกขึ้น


ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณหนึ่งนาฬิกา ท่านได้ยินเสียงหลวงปู่ภูมีเรียกชื่อว่า บุญ

พอได้ยินเสียงท่านเรียกคำเดียว จึงตอบท่านว่า "กระผม" พอท่านได้ยินเสียงตอบรับแล้ว
ท่านก็ตอบใหญ่เลยว่า "ทำไมไม่รู้จักเอาน้ำใส่ตุ่มใส่โอ่งในห้องน้ำ หาน้ำจะล้างส้วมก็ไม่มี"


เมื่อได้ยินดังนั้นท่านจึงคิดในใจว่า "น้ำเราก็ตักใส่ตุ่มใส่โอ่งไว้เต็มแล้ว ทำไมครูบาอาจารย์จึงว่าไม่มีน้ำ"
แต่แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า "หรือว่าท่านจะทดลองเรา" จึงรีบไปดูที่ห้องน้ำ
ปรากฏว่าในตุ่มไม่มีน้ำเลยทั้งๆ ที่ตักไว้ตั้งแต่ตอนเย็น
และใช้อย่างไรก็ไม่หมดเพราะเป็นห้องน้ำที่หลวงปู่ภูมีใช้เพียงรูปเดียวเท่านั้น

เมื่อดูว่าน้ำไม่มีแล้ว จึงถือเอาครุไปตักน้ำในบ่อสระ เดินฝ่าความมืดเพราะสมัยนั้นไฟฟ้ายังไม่มี
นำน้ำมากรองใส่ตุ่มในห้องน้ำจนเต็มแล้ว ท่านให้นวดเส้นไปจนถึงตี ๔ ท่านจึงบอกให้กลับกุฏิ
พอกลับถึงกุฏิแล้วไหว้พระทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว ถือห่อผ้าครองลงจากกุฏิเข้าทางเดินจงกรมไปจนสว่าง


เหตุการณ์นี้มิได้ทำให้หลวงปู่เกิดอกุศลจิตใดๆ

ในขณะจิตนั้นมีความเอิบอิ่มในจิตใจ ไม่มีความโกรธความเคืองใจในครูบาอาจารย์ที่ท่านทดสอบเราเลย"

ต่อมาเมื่อมีโยมนำใบพลูมาถวายหลวงปู่ภูมี ท่านก็ถูกทดสอบอีกครั้ง

ท่านให้โยมเอาตั้งไว้ที่ระเบียงกุฏิท่าน พอถึงเวลาเย็นทำอาจาริยวัตรสรงน้ำท่านเสร็จแล้ว
ท่านอาจารย์จึงพูดว่า "คืนนี้ให้ท่านบุญมาเฝ้าใบพลูที่โยมเขาเอาถวายนี้ที่ระเบียงกุฏิ"


ฝ่ายหลวงปู่บุญจันทร์ก็นึกในใจว่า "ประสาพลูแค่นี้ก็จะให้มาเฝ้า"
แล้วกลับนึกขึ้นได้ว่า
ท่านคงจะทดสอบเราอีก จึงกลับไปสรงน้ำแล้วกลับมายังกุฏิของพระอาจารย์

กลับมานั่งภาวนาเฝ้าใบพลูที่ระเบียงกุฏิท่านอาจารย์ ยุงก็มาก
อาศัยความอดทนและความเพียรนั่งภาวนาเฝ้าใบพลูสู้กับยุงไป
จนถึงเวลาดึกสงัดได้ยินเสียงท่านอาจารย์เปิดประตูออกมาดู
เห็นเรานั่งอยู่ท่านจึงพูดขึ้นว่า "โอ้ ยังอยู่หรือนึกว่าหนีไปแล้ว"
ท่านจึงเรียกเข้าไปในกุฏิแล้วให้นวดเส้นจนใกล้สว่างท่านจึงให้หยุด
เมื่อลงจากกุฏิท่านอาจารย์แล้วกลับไปกุฏิตัวเองเข้าทางเดินจงกรมต่อไปจนสว่าง


ในเวลาต่อมาท่านได้ถูกทดสอบเรื่องอื่นอีก เช่นการทดสอบเรื่องอาหาร
เมื่อมีผู้นิมนต์หลวงปู่ภูมีและพระลูกวัดไปฉันเช้าที่งานศพคหบดีในเมืองอุดรธานี
ซึ่งหลวงปู่บุญจันทร์ได้ไปในคราวนี้ด้วย

พอไปถึงบ้านเจ้าภาพงานแล้วแทนที่ท่านจะให้นั่งตามลำดับพรรษา
ท่านกลับบอก "ให้ท่านบุญมานั่งทางนี้" ท่านให้มานั่งอยู่ทางขวามือท่านองค์เดียว
พอเจ้าภาพถวายอาหารอันไหนเป็นอาหารประณีต ท่านจะส่งไปทางพระที่นั่งเป็นแถวอยู่
พออันเป็นผักเป็นน้ำพริกท่านจะส่งมาให้ "อันนี้ให้ท่านบุญ"

แม้จะถูกทดสอบหลายครั้ง แต่ท่านก็ไม่เคยมีความเคืองขุ่นหรือน้อยใจ

เราก็ยินดีไม่ได้น้อยใจในครูบาอาจารย์ กลับดีใจว่าครูบาอาจารย์ท่านทดสอบเราฝึกเรา
การอยู่กับครูบาอาจารย์จึงเป็นผลดี เพราะท่านเป็นครูฝึกเราให้มีความเข้มแข็งในการปฏิบัติ
เพื่อให้เกิดความรู้ ความเห็นในธรรม


ด้วยความเป็นผู้มีจริยวัตรดีงามส่งผลให้หลวงปู่บุญจันทร์ ได้รับความเมตตาจากครูบาอาจารย์หลายรูป
เช่น หลวงปู่คำดี ปภาโส หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ฯลฯ
เรื่องราวของท่านเป็นแบบอย่างของความเป็นผู้ว่าง่าย มีเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ โดยมิได้มีทิฐิมานะใดๆ
ควรที่เราชาวพุทธจะนำมาเป็นแบบอย่างในการฝึกฝนตนเองสืบไป


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


เอกสารประกอบการเขียน

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๔๖) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ กรุงเทพฯ : ธรรมสภา

พระสมหมาย อตฺตมโน (๒๕๔๐) กมโล ผู้งามดั่งดอกบัว กรุงเทพฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์


เว็บไซต์

http://kamalo.50megs.com



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP