จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ทำอะไรกันดี


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


041_destination

photo by Silawat

http://silawat.multiply.com/photos/album/10/Hot_and_coLD#photo=1.jpg


เห็นชื่อบทความแล้ว บางท่านอาจจะสงสัยนะครับว่า
เพิ่งกลางเดือนธันวาคมเอง ผมจะรีบกล่าวส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่กันไปทำไม
ก็ขออธิบายว่า ผมไม่ได้จะกล่าวลาทีปีเก่าและสวัสดีปีใหม่กับท่านผู้อ่านนะครับ
แต่จะมาคุยแนะนำบางท่านที่ยังไม่มีแผนการว่าจะทำอะไรในช่วงวันหยุดยาว
ระหว่างส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึงนี้ ได้พิจารณาว่าจะทำอะไรดี
แหม ก็หยุดยาวตั้งหลายวันนะครับ หากปล่อยเวลาสี่วันให้ผ่านไปเฉย ๆ
โดยไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ก็นับว่าน่าเสียดายมากเลย

นี่ก็มาถึงกลางเดือนธันวาคมแล้วนะครับ
หากท่านไหนยังไม่ได้วางแผนเลยว่าจะทำอะไร แต่เกิดอยากจะไปเที่ยวขึ้นมา
ก็คงจะมีปัญหาเรื่องการจองโรงแรมและที่พักล่ะครับ
จองช่วงนี้ก็คงช้าไปแล้วล่ะ ที่พักซึ่งเป็นที่นิยมก็คงมีจองกันเต็มหมดแล้ว
แถมค่าที่พักในวันหยุดยาวช่วงปีใหม่นี้ ก็ราคาแพงกว่าช่วงวันหยุดปกติอีกด้วย
ท่านก็ควรถามตัวเองนะครับว่า มีเหตุผลความจำเป็นอะไรหรือเปล่า
ที่จะต้องไปเที่ยวในช่วงปีใหม่ เพราะค่าที่พักก็แพง คนเยอะ อาหารการกินก็แย่งกัน
บางร้านก็รอคิวนาน บริการก็ช้า การจราจรบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวก็หนาแน่น
หากสถานที่ก็เหมือนเดิม แต่ต่างกันเพียงว่าบรรยากาศช่วงปีใหม่เท่านั้นแล้ว
รอไปเที่ยวหลังปีใหม่สักเดือนหรือสองเดือนจะดีไหม
ราคาที่พักถูกลง คนน้อยกว่า ไม่ต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้ด้วย
(กรณีจะไปเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับนั้น ก็ทำนองเดียวกันนะครับ)

ทีนี้ หากสมมุติว่า จะไม่ไปเที่ยวแล้ว เราจะทำอะไรกันดี
ผมขอแนะนำว่าช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้
เป็นช่วงเวลาที่เหมาะมากสำหรับจะ “ให้เวลากับตัวเองและครอบครัว”
และขอแนะนำว่าท่านอย่าใช้เวลาเพื่อไปตะลอน ๆ นอกบ้านให้เหนื่อย
ซึ่งเสียเงิน และเสียเวลาโดยไม่จำเป็น หรือไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควรเลย

การให้เวลากับตัวเองและครอบครัว คืออย่างไร
“ให้เวลากับตัวเอง” ก็คือว่า ให้ตัวท่านเองได้มีเวลาว่าง ๆ มาคิดทบทวน
เรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา และวางแผนสำหรับอนาคต หรือได้ทำกิจกรรมใด ๆ
เพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านเอง ซึ่งจะขอแบ่งเป็นสองส่วนนะครับ
คือ ๑ ทางโลก และ ๒ ทางธรรม


ในส่วนของทางโลกนั้น ยกตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะคิดทบทวนว่า


· เราได้บกพร่องอะไรในเรื่องหน้าที่การงานหรือการเรียนการศึกษาหรือไม่
และควรจะต้องทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในอนาคต มีอะไรบ้างที่จะ
สามารถปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก


· เราได้ใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสมหรือไม่ ฟุ่มเฟือยในเรื่องไม่เป็นเรื่องหรือเปล่า
จะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรหรือไม่


· เราได้ดูแลสุขภาพร่างกายของเราดีแค่ไหน ร่างกายแข็งแรงไหม
แบ่งเวลาออกกำลังกายมากน้อยเพียงไร หากอายุเริ่มเยอะแล้ว ควรพิจารณา
ว่าควรจะเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการออกกำลังกายด้วยหรือไม่


· เราทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหรือเปล่า หรือทานแต่อาหารที่เป็นโทษ
แก่ร่างกายทั้งสิ้น และทานอาหารมากหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า น้ำหนักมาก
หรือน้อยเกินไปหรือไม่ อย่างไร


· เราใช้ชีวิต หรือมีนิสัยหรือชีวิตความเป็นอยู่บางอย่างที่ควรปรับปรุงไหม เช่นว่า
นอนดึกเกินไป หรือนอนน้อยเกินไป หรือตื่นสายเกินไป พักผ่อนน้อยเกินไป
ทานอาหารเป็นเวลาหรือเปล่า ขับถ่ายเป็นเวลาหรือไม่


· เราใช้เวลาชีวิตของเราไปยุ่งเรื่องคนอื่นมากจนเกินไปหรือไม่ เราใช้เวลา
ในเรื่องของเรามากน้อยแต่ไหน ควรจะมีการจัดสรรเวลาส่วนตัวใหม่อย่างไรหรือเปล่า


· บ้านที่อยู่ในปัจจุบันควรจะได้มีการจัดใหม่ หรือทำความสะอาดอย่างไรหรือไม่
เอกสารและของที่เก็บอยู่ในบ้านควรจะได้มีการจัดใหม่ หรือนำออกไปบริจาค
หรือจำหน่าย หรือทำความสะอาดอย่างใดหรือไม่ หรือควรนำไปทิ้งหรือเปล่า


· สิ่งที่เราได้วางแผนไว้ว่าจะทำเมื่อปีที่ผ่านมานั้น ได้ทำสำเร็จไปกี่เรื่อง มีอะไรบ้าง
และที่ทำไม่สำเร็จนั้นมีกี่เรื่อง อะไรบ้าง เพราะอะไร ต้องพยายามทำต่อไปหรือไม่


· ชีวิตในปีที่ผ่านมานั้น ได้มีพัฒนาการในทางโลกอย่างไรบ้าง
และควรจะทำอะไรต่อไป มีอะไรที่สามารถทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ไหม เป็นต้น


ในส่วนของทางธรรมนั้น ยกตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะคิดทบทวนว่า


· เราได้สร้างอกุศลกรรมใด ๆ ไว้บ้าง โดยเราควรตั้งจิตและตั้งใจว่าจะลด ละ เลิก
อกุศลกรรมดังกล่าวเสีย


· เราได้สร้างกุศลกรรมใด ๆ ไว้บ้าง โดยเราควรตั้งจิตและตั้งใจว่าจะสร้าง
กุศลกรรมดังกล่าวให้บ่อยขึ้น และให้เจริญขึ้น


· เรายังไม่ได้สร้างกุศลกรรมใด ๆ ไว้ ควรพิจารณาว่าจะมีช่องทางใด ๆ
ที่จะสร้างกุศลกรรมดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร


· เราได้ทำทานไว้เหมาะสมแล้วหรือยัง และจะทำทานใดต่อไปในอนาคต


· เราได้ถือศีลไว้สมบูรณ์แล้วหรือยัง และจะต้องทำการแก้ไขหรือปรับปรุงตนเอง
อย่างไรต่อไปในอนาคต เพื่อให้ศีลที่เราถือนั้นสมบูรณ์และไม่บกพร่อง


· เราได้ภาวนาไว้ดีแล้วหรือยัง และจะทำอย่างไรเพื่อการภาวนาต่อไปในอนาคต


· เราได้ศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรมแล้วหรือยัง


· ณ เวลานี้ เราพร้อมที่จะตายได้แล้วหรือยัง ... ยังมีกุศลกรรมใด ๆ ที่เราควรจะ
ทำให้ถึงพร้อมก่อนเวลาตายของเราหรือไม่ ก็ควรจะรีบทำเสีย เป็นต้น


ในการทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ตนเองนั้น ก็อาจจะเลือกทำกิจกรรมใด ๆ ดังตามที่ได้
วางแผนคิดทบทวนทั้งทางโลกและทางธรรมข้างต้นนั่นแหละครับ ยกตัวอย่างเช่น
ออกกำลังกาย พักผ่อน ทำความสะอาดบ้าน จัดของในบ้านใหม่ อ่านหนังสือธรรมะ
ทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมภาวนา เป็นต้น

“ให้เวลากับครอบครัว” ก็คือว่า ให้ท่านได้มีเวลาว่าง ๆ มาคิดทบทวน
เรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา และวางแผนสำหรับอนาคตเกี่ยวกับครอบครัว
หรือได้ทำกิจกรรมใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่ครอบครัว
โดยคำว่า “ครอบครัว” นี้ก็รวมถึงพ่อแม่ คู่สมรส บุตรเป็นสำคัญ
และก็รวมถึง ญาติผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณผู้ให้การเลี้ยงดูท่านมาจนโตด้วย
ซึ่งจะขอแบ่งเป็นสองส่วนเช่นกันนะครับ คือ ๑ ทางโลก และ ๒ ทางธรรม

ในส่วนของทางโลกนั้น ยกตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะคิดทบทวนว่า
เราได้ให้เวลาและดูแลพ่อแม่ตามสมควรหรือไม่
เราได้ให้เวลาและดูแลญาติผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณตามสมควรหรือไม่
เราได้ให้เวลาและดูแลคู่สมรสและบุตรตามสมควรหรือเปล่า
เราได้ทำอะไรบกพร่องในการดูแลครอบครัวหรือไม่
ควรต้องแก้ไขปรับปรุงใด ๆ บ้างหรือไม่ เช่น ต้องอบรมสั่งสอนบุตร
ในเรื่องใด ๆ เพิ่มเติมหรือเปล่า เป็นต้น
ส่วนเรื่องอื่น ๆ นั้นก็ทำนองเดียวกับ คิดทบทวนเรื่องของตัวเองนะครับ
ยกตัวอย่างเช่นว่า สุขภาพของคนในครอบครัวเป็นอย่างไร
คนในครอบครัวทานอาหารมีประโยชน์หรือเปล่า
คนในครอบครัวออกกำลังกายเพียงพอไหม พักผ่อนเพียงพอไหม ฯลฯ

ในส่วนของทางธรรมนั้น ยกตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะคิดทบทวนว่า
คนในครอบครัวได้ทำทานมากน้อยแค่ไหน ถือศีลมากน้อยแค่ไหน
ภาวนามากน้อยแค่ไหน ศึกษาธรรมะมากน้อยแค่ไหน
มีหนทางใดที่ท่านจะช่วยเหลือคนในครอบครัวให้สามารถสร้างกุศลกรรมได้มากขึ้น
และช่วยเหลือคนในครอบครัวให้ลด ละ เลิกอกุศลต่าง ๆ ลง เป็นต้น

ในการทำกิจกรรมใด ๆ เพื่อประโยชน์ครอบครัว ก็อาจจะทำกิจกรรมใด ๆ ตามที่ได้
วางแผนคิดทบทวนทั้งทางโลกและทางธรรมข้างต้นนั่นแหละครับ ยกตัวอย่างเช่น
ไปเยี่ยมเยียนบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณ ไม่ว่าจะมีของขวัญไปเยี่ยมด้วย
หรือไม่ก็ตาม แต่หากอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว ก็อาจจะซื้อและเขียนการ์ดอวยพรปีใหม่ให้
(หรือพร้อมกับให้ของขวัญด้วยก็ได้) จัดกิจกรรมออกกำลังกายร่วมกันในครอบครัว
ร่วมกันทำความสะอาดบ้าน จัดของในบ้าน ประชุมร่วมกันเพื่อปรับปรุงบ้าน
จัดงานฉลองปีใหม่ในบ้านพร้อมหน้าทุกคนในครอบครัว นับถอยหลังปีใหม่ด้วยกัน
ทำกิจกรรมสร้างกุศลกับคนในครอบครัว พากันทำทาน ถือศีล หรือปฏิบัติภาวนา
เดินจงกรม นั่งสมาธิ ฯลฯ

ทั้งนี้ การให้ของขวัญบางอย่างแก่คนในครอบครัวนั้น
อาจจะไม่จำเป็นต้องเสียเงินไปซื้อของขวัญอะไรมากมาย
การที่เราตัดสินใจเลิกนิสัยบางอย่างที่ไม่ดี ก็ถือเป็นของขวัญ
ที่มีคุณค่าอย่างมากมายให้แก่คนในครอบครัวเช่นกัน ยกตัวอย่างว่า
จะเลิกดื่มสุรา จะเลิกสูบบุหรี่ จะเลิกเล่นการพนัน จะเลิกกลับบ้านดึก
จะเลิกขับรถเร็วที่เป็นอันตราย จะเลิกพูดจาหยาบคาย
จะเลิกพูดจาเบียดเบียนทำให้คนอื่นเสียใจ เป็นต้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้นก็เป็นเพียงตัวอย่างบางเรื่องเท่านั้นนะครับ
ซึ่งผมย่อมจะไม่สามารถไปรู้เรื่องราวของตัวท่านและครอบครัวของท่าน
ได้ดีหรือได้ละเอียดเท่ากับตัวของท่านเองหรอกครับ
ท่านจึงควรคิดพิเคราะห์เลือกเรื่องที่ท่านควรจะนำมาทบทวน
และกิจกรรมที่ท่านควรจะทำนั้นเอง เพื่อที่ท่านจะได้ข้อมูลที่ดีที่สุดครับ

ท้ายสุดนี้ ขอฝากไว้ว่า ในอันที่จริงแล้ว การ “ให้เวลากับตัวเองและครอบครัว” นั้น
ไม่จำเป็นต้องรอทำตอนช่วงปีใหม่หรอกครับ หากแต่ทำวันนี้ คืนนี้ และเดี๋ยวนี้เลยก็ได้
ทำทันทียิ่งดี (และยิ่งทำบ่อย ๆ ก็ยิ่งดีครับ) แต่หากท่านไม่สามารถทำได้ทันทีแล้ว
และหากท่านยังไม่มีแผนการจะทำอะไรในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้แล้ว
ก็ขอแนะนำว่าควรจะ “ให้เวลากับตัวเองและครอบครัว” ดังที่กล่าวนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP