สารส่องใจ Enlightenment

การปฏิบัติภาวนาให้ได้ผล ต้องตั้งสัจจะและเพียรให้ติดต่อกัน



หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่


 

การปฏิบัติ เราจะเดินก็ให้ตั้งสัจจะไว้ว่า จะเดินเท่านี้เท่านั้น
หรือเราจะนั่งวันหนึ่งคืนหนึ่ง หรือถ้าเราสู้ไม่ไหวเราก็เอาแต่พอสมควร ให้ตั้งใจจริง ๆ
กำหนดตั้งสัจจะไว้ในจิตในใจ ละความมัวเมาออกให้หมด
คอยกำหนดจิตเข้ามาสู่ภายในให้ใจเบิกบาน
ตั้งความสัตย์ว่าจะภาวนาเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้
หรือถ้าจะเดินก็ให้กำหนดระวังรักษาจิตใจของเรา ให้แช่มชื่นเบิกบาน
ไม่ปล่อยใจให้เป็นธรรมเมา รักษาจิตใจให้ตั้งอยู่เฉพาะธรรมโม .

อย่าละความเพียรความพยายาม ให้เพียรติดต่อกัน
จะเป็นวันหนึ่งหรือคืนหนึ่งก็ได้ เช่น ตั้งสัจจะว่าจะนั่งตลอดคืนจะไม่นอน อย่างนี้
ตั้งสัจจะไว้อย่างนี้เป็นการดี ตั้งสัจจะต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งใจให้ดี
คอยระวังรักษาจิตใจของเรานั้นแหละให้ผ่องใสตลอดไป
ให้พยายามรักษาความดี ความหมั่นความขยันของเราไว้ ให้สละความเกียจคร้านออกไปเสีย
ปกติจิตของเรานี้มักจะไหลไปสู่ความเกียจคร้านความลุ่มหลง
เราต้องพยายามหาอุบายมาเตือนตนอยู่เสมอ ด้วยความเพียรความหมั่น
ให้รักษากาย วาจา ใจของเราให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ในสิกขาวินัย
นำความผิดความชั่ว ออกจากกาย จากวาจา จากใจ

การปฏิบัติภาวนาที่จะให้จิตอยู่ในธรรมโม ต้องพิจารณากลับไปกลับมา
และหาอุบายแยบคายมาตักเตือนจิต ด้วยความเพียรติดต่อกัน

อาศัยความเพียรเป็นติดต่อไปจึงจะชนะความเกียจคร้าน
ความมัวเมา ความประมาทอันใดมีก็ให้ละเสีย ให้วางเสีย
ทำจิตใจของเราให้ตั้งอยู่ในธรรมโม พิจารณากลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้
ต้องอาศัยความเพียร ความหมั่น ความขยัน ไม่เช่นนั้นจิตมันจะตกไปสู่ความเกียจคร้าน
เราต้องตักเตือนข่มขู่ ชักจูงแนะนำจิตของเราด้วยอุบายแยบคาย
ถ้าจิตใจมันเกียจคร้าน เราต้องหาอุบายมาตักเตือน ชักจูงแนะนำ ให้มีความอาจหาญ ร่าเริง
ให้เกิดความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร ไม่ปล่อยให้จิตนิ่งเฉยเกียจคร้าน
เราต้องละความเกียจคร้าน ความไม่ดีของจิต ด้วยอบรมภาวนาอย่างนี้
ถ้าเราตักเตือนชี้นำด้วยอุบายอันชอบ ในที่สุดจิตก็จะฟังเหตุผล
เกิดความมุมานะพยายามในความเพียร

เราต้องข่มขู่ตักเตือนบ่อยๆ ในสมัยที่จิตนิ่งเฉยต่อความเพียร
ถ้าเราคอยประคับประคองจิต ด้วยอุบายข่มขู่ตักเตือนด้วยอุบายแยบคาย
จิตย่อมจำนนต่อเหตุผล ระวังรักษาสติไว้อย่าให้หลงลืม
ฝึกหัดให้เกิดความรู้ความฉลาดเกิดขึ้นในจิตในใจของตน
จิตของเรา ถ้ามันเกียจคร้านขึ้นมา มันจะให้เรานอนท่าเดียว
ถ้ามันเกิดอย่างนี้ขึ้นมา เราต้องหาอุบายมาข่มขู่ ตักเตือน
อุบายใดที่ยกขึ้นมาชี้แจงแล้วจิตยอมเชื่อฟัง
นั่นแหละคืออุบายที่ควรแก่จิตในลักษณะนั้นและในขณะนั้นๆ
ถ้าเราไม่ข่มขู่ชี้โทษโดยอุบายที่ชอบ ใครเขาจะมาตักเตือนเรา
บางครั้งจิตถ้ามันเกียจคร้านขึ้นมา มันจะวางเฉยในอารมณ์ทั้งหมด
ในลักษณะเช่นนี้แหละ เราต้องหาอุบายมาทำให้จิตตื่นให้ได้
เช่น ไหว้พระสวดมนต์ หรือยกธรรมบทใดบทหนึ่งขึ้นมาพิจารณา

ให้ตั้งอยู่ในความหมั่นความเพียร ในคุณงามความดีของตน
พยายามเพ่งดูในจิตในใจของเรานี้แหละ ถ้าไม่อาศัยความขยันหมั่นเพียรไม่ได้
จิตเรานี้มันมักจะไหลไปสู่อารมณ์ต่าง ๆ เป็นอดีตอนาคตไป
เราต้องหาอุบายมาชี้แจงให้ตั้งอยู่ในปัจจุบันธรรม

จิตยิ่งเกียจคร้าน ยิ่งต้องพยายามตักเตือนโดยอุบายมากขึ้นให้ทัดเทียมกัน

ถ้าเราไม่หมั่นหาอุบายมาอบรมจิตแล้ว ส่วนมากจิตมักจะเกิดความเฉื่อยชา วางเฉย
ดังนั้น อุบายจึงเป็นของสำคัญ ยกขึ้นสู่การพิจารณาชี้แจง
ให้จิตอาจหาญ ร่าเริง เห็นแจ้งในจิตในใจของเรา
ถ้าจิตยิ่งเกิดเกียจคร้านเท่าไร เราก็ต้องเพิ่มความพยายามตักเตือนโดยอุบายให้มากขึ้น
ให้เท่าเทียมกันจนเกิดความขยันขันแข็ง เบิกบานผ่องใส

ให้ตั้งอกตั้งใจตั้งสัจจะ ตรงต่อคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ให้เกิดความอุตสาหะวิริยะ ความพากความเพียรในภาวนาในคุณความดี
ให้ตั้งอยู่ในสิกขาวินัย ในความหมั่นความเพียร ให้ตั้งความสัจความเพียรไว้
อย่าเป็นคนเกียจคร้าน พระพุทธเจ้าสั่งสอนเอาให้ตั้งอยู่ในมรรคในผล
ให้พยายามรักษาจิตรักษาใจของเรา
อาศัยความองอาจกล้าหาญ ในความพากความเพียรของเรา
อย่าอ่อนแอท้อแท้ เราต้องสู้กับทุกสิ่งทุกอย่าง
ถ้าองอาจกล้าหาญจึงจะผ่านอุปสรรคไปได้

ให้รักษาตา รักษาหู รักษาจมูก รักษากาย รักษาใจของตน ในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน


 

sathu2 sathu2 sathu2

 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก จิตตภาวนา มรดกล้ำค่าทางพระพุทธศาสนา

รวบรวมโดย มูลนิธิหลวงปู่มั่น พิมพ์ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๓



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP