ก่อนเกิดเป็นดังตฤณ Dungtrin's Secret

ฝึกแผ่เมตตา


secret

โดย ดังตฤณ

       หลังจากพบว่าจิตที่ตั้งมั่นเท่านั้น ทำให้มั่นใจได้ว่ากำลังเห็นอะไรอยู่จริงๆ ผมก็เพียรแบบมวยวัด พยายามเข้าให้ถึงสมาธิตั้งมั่นท่าเดียว หลงๆลืมๆหลักการเจริญสติระหว่างวันไป กล่าวคือเมื่อนึกถึงการปฏิบัติธรรมภาวนา ผมจะนึกถึงการนั่งหลับตาเพื่อเอาความสงบ อยากได้ปีติสุขอันเป็นรสวิเวกประหลาดของอุปจารสมาธิ อยากเห็นลมหายใจแจ่มชัดดุจน้ำตกกลางอากาศว่างซ้ำแล้วซ้ำอีก

       นี่เป็นธรรมดาของนักเจริญสติส่วนใหญ่ พอเข้าถึงภาวะอะไรดีๆ ก็พยายามก๊อปปี้ พยายามลอกเลียนของดีๆนั้น ด้วยความอยากให้มันเกิดซ้ำอีกทุกครั้งดังใจ ผลคือล้มเหลว เพราะไม่ได้สร้างเหตุที่ถูกต้อง แค่ตั้งต้นด้วยความอยาก ก็ผิดทางที่จะรู้ตามจริงแล้ว เปลี่ยนมาอยู่บนเส้นทางของการบังคับให้อะไรๆเกิดขึ้นตามใจอยากแล้ว

       ผมต้องใช้เวลาพอควร กว่าจะเข้าใจว่าการพยายามนึกถึงภาวะดีๆในอุปจารสมาธิ ไม่ได้เป็นปัจจัยช่วยให้เข้าถึงอุปจารสมาธิได้เลย เพราะจิตมีแต่อาการกระโจนทะยาน อยากได้อยากดี ไม่มีความวางเฉยอันเป็นเหตุปัจจัยพื้นฐานของความสงบเอาเลย

       และผมต้องใช้เวลาฝึกระยะหนึ่ง กว่าจะเท่าทันความอยาก ผมพบด้วยตัวเองว่าแค่เรายอมรับตามจริงว่ากำลังอยาก เหมือนใจเหนอะหนะด้วยยางเหนียว ภาวะฟุ้งซ่านอันเป็นอุปสรรคขวางทางตั้งแต่ต้นก็เบาบางลงได้

       แต่แม้พบความจริงดังกล่าว ผมก็ลืมอยู่ดี เมื่อใดลงนั่งหลับตา เมื่อนั้นจะโหยหารสสุขในอุปจารสมาธิเป็นอันดับแรกเสมอ แล้วก็ใจฝ่อเสมอเมื่อเข้าถึงภาวะแสนสุขนั้นไม่สำเร็จ อย่างดีก็แค่สุขนิดๆหน่อยๆ สว่างนวลวูบๆวาบๆพอเป็นกระสายให้ชุ่มชื่นบ้างเท่านั้น

       เมื่อสำคัญผิดคิดว่าสมาธิควรก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆวันต่อวัน แล้วในความเป็นจริงมันไม่ใช่ ผมก็ชักท้อ รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่เอาไหน ไม่น่าภูมิใจ

       แต่วันดีคืนดี ก็เกิดปรากฏการณ์ทางจิตเป็นกำลังใจขึ้นมาอีก คือมีอยู่วันหนึ่งผมอ่านเรื่องการแผ่จิตเป็นเมตตาตามที่พระพุทธเจ้าสอน จับใจความได้ว่าให้ตั้งต้นด้วยการคิดไม่เบียดเบียน เห็นความพยาบาทเหมือนโรคทางใจ ถ้าหายได้จะดีกว่าเป็นไหนๆ กำลังวังชาก็กลับมา ธุระปะปังก็ทำต่อได้ จึงไม่ควรหวงโรคทางใจไว้ด้วยประการทั้งปวง จากนั้นเมื่อกระแสเมตตาบังเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดทิศแผ่ไปไม่มีประมาณในเบื้องหน้า เบื้องซ้าย เบื้องขวา เบื้องหลัง เบื้องบน เบื้องล่าง

       ผมลองแผ่จิตมั่วๆ ตอนนั้นไม่แน่ใจนักว่าใช่หรือเปล่า แค่นึกสบายๆไปข้างหน้า พอสบายด้านหน้าได้ก็นึกถึงความสบายด้านข้างต่อ แต่ก็ไม่ปรากฏผลชัดเจนนัก เพราะสบายได้เดี๋ยวเดียวก็เปลี่ยนเป็นฟุ้งซ่าน จับอะไรไม่ติด ไม่ทราบจะตั้งจิตไว้อย่างไรแน่

       สงสัยจะเป็นบุญครับ พอนึกอยากฝึกแผ่เมตตา ก็ได้เครื่องช่วยฝึกในวันนั้นเลย ผมมีเรื่องขัดเคืองกับเพื่อนในหมู่บ้านเดียวกันนิดหน่อย ประมาณว่าขี่จักรยานผ่านบ้าน แวะทักแล้วเพื่อนพูดทิ่มแทงให้เสียความรู้สึก เกิดความเจ็บใจ และเก็บมาคิดขุ่นเคืองยืดเยื้อ

       ผมกลับมานอนเปลญวนริมระเบียงบ้านคุณพ่อ มองดูทะเลกว้างในช่วงเย็น ตาทอดไกลแต่ไม่เห็นอะไร เพราะใจยังขมวดมุ่น คุกรุ่นอยู่กับคำพูดของเพื่อนไม่เลิก

       ชั่วขณะหนึ่ง ผมนึกถึงพระพุทธพจน์ขึ้นมาได้ ที่ท่านว่าความพยาบาทเหมือนโรคทางใจ ตราบใดยังไม่หายไป ตราบนั้นเราก็เหมือนคนป่วย ไร้เรี่ยวแรง ทำอะไรตามปกติไม่ได้ ชั่วขณะนั้นผมตระหนักว่าได้อาการป่วยของจริงมาอยู่กับตัวแล้ว ขนาดตามองทะเลยังไม่เห็นทะเล เพราะใจเห็นแต่ใบหน้าที่น่าต่อยของเพื่อน โอกาสดีอย่างนี้จึงไม่ควรทิ้งขว้างให้เสียเปล่า ลองใช้วิชาของพระพุทธเจ้ารักษาตัวเองหน่อยจะเป็นไร

       ผมปิดตาลง พิจารณาเพื่อให้ยอมรับตามจริงถึงภาวะทางใจในชั่วขณะนั้น เห็นความมืดนำมาก่อน ตามด้วยความยุ่งเหยิงทางความคิดในหัว และสรุปตบท้ายที่ความรู้สึกเสียดแน่นร้อนรน กระวนกระวายอยู่ในอก

       จากนั้นจึงถามตัวเองว่านี่ใช่ไหม ที่เรียกโรคทางใจ?

       จิตตอบรับว่าใช่ และเมื่อคิดว่าจะให้อภัย ก็คล้ายปวดแปลบแสบทรวง เหมือนเกิดพลังยื้อยุดฉุดดึงมหาศาลไม่ให้ยอม ช่วงวัยรุ่นผมเป็นพวกเจ็บแค้นแรง อยู่ๆจะให้ถอนความพยาบาทนั้น ออกจะเหลือวิสัย

       แต่ความอยากฝึกแผ่เมตตาก็เหนี่ยวนำให้พยายามต่อ แล้วผมก็พบความจริงที่น่าตื่นใจ ตัวความโกรธ หรือกระแสความพยาบาทที่ห่อหุ้มคลุมจิตอยู่นั้น เป็นพลังอัดอย่างหนึ่ง ตราบใดยังพิจารณามัน ตราบนั้นก็เท่ากับเราอาศัยกระแสพลังแรงๆของมัน  มาช่วยพยุงจิตให้อยู่ในอาการจดจ่อ ไม่ซัดส่ายไปไหน

       ผมดูภาวะอารมณ์พยาบาทพร้อมทั้งพิจารณาตามพระพุทธเจ้าสอนอยู่ประมาณ ๑๐ นาที ตามธรรมชาติของจิตนี่นะครับ เมื่อจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ซัดส่ายไปไหนสักพักหนึ่ง ก็เกิดธรรมดาผนึกกระแส รวมศูนย์เข้ามา ใจเริ่มตั้งนิ่งเป็นสมาธิแบบขุ่นๆ แต่ความคิดก็ยังทำงานต่อ คือเห็นอารมณ์พยาบาทเป็นเหมือนโรค ไม่ใช่ของน่าหวงเอาไว้

       ถัดจากนั้นนานเท่าไรประมาณไม่ถูก ได้เกิดภวังค์สั้นๆขึ้นคล้ายวูบหลับเล็กๆ แล้วจิตก็ตื่นในอีกภาวะหนึ่ง โดยที่ผมไม่ได้สั่ง และไม่อาจควบคุม ดวงจิตคล้ายหลุดจากที่คุมขังคับแคบ แผ่กระแสออกสู่ความว่างอันเยือกเย็นไร้ขอบเขต ทรงปีติสุขล้ำลึก

       ทราบด้วยสัญชาตญาณทางจิตว่านั่นคืออาการรวมดวงระดับอุปจารสมาธิ และเป็นสมาธิที่ตั้งต้นขึ้นมาจากการพิจารณาเห็นความพยาบาทเป็นโรค ควรรักษาด้วยการปลดปล่อยมันออกจากใจ เมื่อใจยอมคายความพยาบาท พลังความพยาบาทก็ปฏิรูปมาเป็นพลังขั้วตรงข้าม ผนึกจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในความเมตตาไปแทน

       จากที่ฝึกแผ่เมตตานำร่องแบบไม่เป็นโล้เป็นพายไว้ก่อน พอรวมดวงลง จิตก็เริ่มทำงานเองอย่างรู้แนว คือแผ่กระแสความรู้สึกเยือกเย็น ผายอาณาเขตความปลอดภัยอันกว้างขวางออกไปเบื้องหน้า ผมรู้สึกเหมือนเห็นทะเลไพศาลเบื้องหน้ารางๆ ไม่เห็นสีสัน แต่ก็มีความคงที่กว่าการใช้ตาเนื้อทอดตามองตามปกติมากนัก

       ใจคล้ายยิ้มได้กว้างกว่าปากตอนกำลังฉีกยิ้มกว้างสุดๆหลายร้อยเท่า และยินดียิ่งกับการอยากส่งยิ้มไม่มีประมาณนั้นให้กับโลก ประจักษ์ว่าอย่างนี้เองคือเวิ้งทะเลแห่งความสุขอันสร้างขึ้นด้วยใจ กว้างขวางและแผ่ไปได้ไม่แพ้อ่าวไทยตรงหน้าเลย

       เมื่อเห็นว่าจิตยังผนึกแน่วไม่โคลงเคลง ผมก็ทดลองนึกถึงทิศซ้ายขวาพร้อมกัน ปรากฏว่ากระแสจิตแปรจากทิศเบื้องหน้ามาเป็นทิศซ้ายขวาได้ดังใจ คล้ายศูนย์กลางอันว่างเปล่าของจิตเป็นไฟฉายมหัศจรรย์ สามารถกำหนดให้ฉายกว้างไปเบื้องหน้าก็ได้ หรือเปลี่ยนแนวมาเป็นยิงลำใหญ่ออกทางด้านข้างทั้งซ้ายขวาพร้อมกันก็ได้

       เมื่อกำลังจิตเริ่มถดถอย อาการผนึกดวงเริ่มแผ่วลง ผมพยายามรวบรวมกำลังใหม่ ซึ่งแรกๆก็ทำได้ แต่พอแผ่วสองสามหนก็หมดแรง รวมจิตไม่ติด ต้องถอนจากสมาธิด้วยความอาลัยอาวรณ์ในที่สุด

       จากประสบการณ์ครั้งนั้นเอง ผมจึงได้ความรู้ว่าในการแผ่เมตตานั้น จิตต้องรวมดวงเสียก่อน จึงจะสามารถเล่นกับทิศทางได้ ตลอดจนเล่นกับการกำหนดขอบเขตความกว้างยาวได้ มิฉะนั้นจะเป็นเพียงอาการคิดๆนึกๆถึงทิศแห่งเมตตา หรืออย่างดีก็ได้แค่การยิงกระแสเมตตาแบบอ่อนๆวูบวาบคล้ายอุปาทานเท่านั้น ห่างชั้นกันมากกับการพบความเยือกเย็นโอฬารอันซ่านหวานขึ้นมาจากภาวะสมาธิ

       ภาวะที่จิตรวมกระแสเป็นดวงนวล คืออะไรที่อธิบายให้เข้าใจไม่ได้ด้วยคำพูด ปกติคนที่ไม่ฝึกสมาธิจะคุ้นอยู่กับประสบการณ์ทางจิตแบบซัดส่าย กระโดดไปฟุ้งซ่านเรื่องโน้นทีเรื่องนี้ที ไม่ค่อยมีกำลังที่จะตั้งมั่นแม้ทำงานแบบโลกๆตามภาระหน้าที่ด้วยซ้ำ นี่เองที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าภาวะของสมาธิเป็นเรื่องอจินไตย คิดคะเนหรือจินตนาการเอาไม่ถูก ต้องเข้าถึงด้วยตนเองจึงจะรู้

       และแม้ใครเข้าถึงสมาธิแล้ว ก็ใช่ว่าจะมีกำลังสม่ำเสมอ ทำได้ทุกวันตามต้องการนะครับ มันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในแต่ละวัน แต่อย่างน้อยผมก็เริ่มสังเกตเหตุปัจจัยแห่งสมาธิได้ เช่น

       ๑)    ใจต้องปลอดโปร่งและเริ่มต้นด้วยความไม่คาดหวัง

       ๒)    กายต้องเริ่มต้นด้วยความผ่อนพักสบายทั่วพร้อม

       ๓)    จิตต้องไม่เร่งร้อน รู้สึกถึงสิ่งที่ระลึกอยู่ตามจริง เช่น ลมหายใจถึงเวลาเข้าก็รู้ ไม่ใช่ยังไม่ถึงเวลาเข้าก็จะไปเร่งให้มันเข้า

       ๔)    จิตต้องมีความยินดีกับลมหายใจหรือเป้าหมายที่ใช้กำหนดสมาธิ มากกว่าความฟุ้งซ่านอันเป็นคลื่นแทรกคอยเบี่ยงเบนความสนใจ

       ๕)    ตัวเราต้องไม่พยายามระงับความฟุ้งซ่าน แต่แค่ดู แค่รู้ แค่เท่าทัน ว่าความฟุ้งซ่านคือคลื่นรบกวน ถ้าเห็นมัน แต่ไม่เข้าไปทำอะไรทั้งทางห้ามและทางส่งเสริม มันก็จะแผ่วและผ่านไปเอง

       ถ้าอยากได้ความคืบหน้าทางสมาธิ ให้คำนึงและสังเกตเกี่ยวกับปัจจัยเหล่านี้ไว้มากๆในเบื้องต้น แล้วจะพบว่าความสำเร็จต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจที่ถูกทางเสมอครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP