จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

สร้างบุญกุศลง่าย ๆ ระหว่างเดินทาง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

037_destination


ท่านผู้อ่านเคยรู้สึกบ้างไหมครับว่าเวลาชีวิตเราในแต่ละวันนั้น
หมดไปกับเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางอย่างมากมายเสียเหลือเกิน
ซึ่งหากรวมหลายวัน หลายเดือน หลายปีแล้ว
ก็จะยิ่งเป็นจำนวนเวลามากมายมหาศาลเลยทีเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่ต้องเดินทางไกลเป็นประจำ
หรือต้องเดินทางในเส้นทางที่การจราจรติดขัดหรือมีปัญหาเป็นประจำ
หากเราสามารถหยิบนำเวลาทั้งหลายที่ใช้ในการเดินทางนั้น
มาใช้เพื่อสร้างบุญกุศลได้ด้วยแล้ว ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์อย่างมากเลยนะครับ

การที่เราจะสามารถทำเช่นนั้นได้ เราจะต้องมีความเข้าใจก่อนว่า
แท้จริงแล้ว การสร้างบุญกุศลนั้นไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัดหรือมูลนิธิเท่านั้น
แต่การสร้างบุญกุศลยังสามารถทำโดยวิธีอื่นได้อีกหลายวิธี
ซึ่งหากเราจะแบ่งวิธีสร้างบุญกุศลออกเป็น ๑๐ วิธี
(หรือที่เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐”) แล้ว
ก็จะสามารถแบ่งวิธีสร้างบุญกุศลได้ออกเป็นวิธีการดังต่อไปนี้

๑. “ทานมัย” คือด้วยการให้ ๒. “สีลมัย” คือด้วยการรักษาศีล
๓. “ภาวนามัย” คือด้วยการเจริญภาวนา ๔. “อปจายนมัย” คือด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
๕. “เวยยาวัจจมัย” คือด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ในกิจการที่ดีที่ชอบ
๖. “ปัตติทานมัย” คือด้วยการเฉลี่ยส่วนความดีให้ผู้อื่น (หรือการอุทิศบุญกุศล)
๗. “ปัตตานุโมทนามัย” คือด้วยความยินดีในความดีของผู้อื่น
(หรือที่ชอบกล่าวกันว่า อนุโมทนา) ๘. “ธัมมัสสวนมัย” คือด้วยการฟังธรรม
๙. “ธัมมเทสนามัย” คือด้วยการสั่งสอนธรรม และ
๑๐. “ทิฏฐุชุกัมม์” ด้วยการทำความเห็นให้ตรงให้ถูกต้อง

จะเห็นได้ว่าการสร้างบุญกุศลนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธีเลยนะครับ
เราลองมาพิจารณากันนะครับว่า เราจะทำอะไรกันได้บ้างในระหว่างเดินทาง
?

สมมุติว่าเราขับรถยนต์จากบ้านไปที่ทำงาน หรือจากที่ทำงานกลับมาที่บ้านนะครับ
หากมีรถยนต์ขอทางเพื่อเข้ามาในเลนเรา และเราได้ให้เขาเข้ามาแล้ว
ก็สามารถระลึกได้ว่าได้ให้ทานเขาแล้วครับ
สมมุติว่ารถยนต์ที่เราให้ทางแก่เขานั้น เป็นรถเมล์หรือรถโดยสารมีผู้โดยสารเยอะ ๆ
ก็เท่ากับว่าเราได้ให้ทานแก่คนจำนวนมากบนรถโดยสารนั้น
หากมีพระภิกษุอยู่บนรถโดยสารนั้นด้วย ก็เท่ากับว่าได้ถวายทานอีกด้วย

หากรถเราโดนเขาเบียดหรือโดนแซงอย่างน่าเกลียดก็ตามที
หากเราไม่โกรธอะไร และมีเมตตาในการให้ทางแก่เขา ก็เท่ากับว่าให้ทานแล้ว
แต่หากเราโกรธและไม่พอใจ แต่สามารถให้อภัยเขาได้ ก็เท่ากับว่าให้อภัยทานด้วย

ในทำนองเดียวกัน หากเจ้าหน้าที่จราจรโบกรถยนต์ดี ช่วยเหลือจราจรได้เยอะ
เราก็สามารถอนุโมทนากับเจ้าหน้าที่จราจรที่โบกรถยนต์ดี ๆ ช่วยเหลือคนอื่นนั้นได้
แต่หากเจ้าหน้าที่จราจรโบกรถยนต์ไม่ดี ไม่ถูกใจ ทำให้ไม่พอใจ
หากเราโกรธและไม่พอใจ แต่สามารถให้อภัยได้ ก็เท่ากับว่าให้อภัยทานเช่นกัน

ในทางกลับกัน หากรถเราเป็นฝ่ายขอทางเอง และคนอื่นให้ทางแก่รถเราแล้ว
ก็เท่ากับว่าคนอื่นให้ทานเรา และเราก็สามารถอนุโมทนากับเขาได้นะครับ
สรุปคือไม่ว่าเราจะให้ทางแก่เขา หรือเขาให้ทางแก่เราก็ตามที
และไม่ว่าเจ้าหน้าที่จราจรจะโบกรถดี หรือโบกรถแย่ก็ตามที
เราก็สร้างบุญกุศลได้ทั้งนั้นเลย เพียงต้องระลึกหรือวางเจตนาไว้ให้เหมาะสมเท่านั้น

ในระหว่างขับรถไปนั้น หากเราขับรถอย่างมีมารยาทดี ปฏิบัติตามกฎเรียบร้อย
ไม่ใช้ไฟหน้าหรือแตรไปตำหนิใคร ก็ถือได้ว่าประพฤติตนอ่อนน้อม ได้บุญกุศลอีกแล้ว
(แต่การใช้ไฟหน้าหรือแตรแจ้งให้คนอื่นระวังเพื่อความปลอดภัยนั้น ต้องใช้นะครับ)

หากเปิดซีดีเทศนาธรรมฟังไปด้วย ก็ได้บุญกุศลในข้อฟังธรรมอีกด้วยเนอะ
หากมีเพื่อนร่วมทางไปด้วย เราคุยธรรมะให้เพื่อนฟัง ก็ได้บุญกุศลอีกแล้ว
หรือหากเปิดซีดีธรรมะให้เพื่อนฟัง และเราฟังด้วย
ก็จะได้บุญกุศลทั้งในข้อฟังธรรม และให้ธรรมทานไปพร้อมกันเลย
ทั้งนี้ หากคุณภาวนาเป็น และได้ภาวนาไปด้วยแล้ว ก็ได้กุศลด้วยการภาวนาได้

ในข้อทำความเห็นให้ตรงนั้น ก็สามารถทำได้เช่นกัน
จะคิดพิจารณาเรื่องธรรมะ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นก็ได้
หรือผ่านไปพบเห็นอุบัติเหตุรุนแรง ก็สามารถคิดได้ว่าชีวิตเราไม่เที่ยง เราไม่ควรประมาท
และควรเร่งสร้างกุศลกรรมและใส่ใจภาวนา เป็นต้น

ในข้อช่วยขวนขวายรับใช้ในกิจการที่ดีที่ชอบนั้น
หากเจ้าหน้าที่จราจรโบกรถเราให้หยุดเพื่อให้รถในทางอื่นได้ไปก่อน
หากเราได้หยุดตามที่เจ้าหน้าที่จราจรโบก โดยไม่ฝืนเร่งไปต่อแล้ว
ก็พอจะอนุโลมได้ว่า เราได้ช่วยเหลือในกิจการที่ชอบนั้นแล้ว
(และยังเป็นการให้ทานแก่รถคันอื่นในทางอื่น ๆ ในเวลาเดียวกันด้วย)

หากสมมุติว่าเราทำอะไรที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้สักอย่างเลยนะครับ
ขอเรียนว่าอย่างน้อยที่สุดในระหว่างที่เราขับรถนั้น
เราก็ไม่ได้ไปฆ่าหรือทำร้ายใคร ไม่ได้ลักขโมยอะไร ไม่ได้ไปประพฤติผิดลูกเมียคนอื่น
ไม่ได้โกหก และก็ไม่ได้ดื่มสุรา ระหว่างนั้น เราจึงอยู่ในระหว่างถือศีล ๕ ครบทุกข้อ
ก็ให้ระลึกว่าเราได้รักษาศีลครบอยู่ในระหว่างนั้น ก็ได้บุญกุศลเช่นกัน

และเมื่อได้ทำบุญในข้อใด ๆ ข้างต้นแล้ว ก็สามารถตั้งใจอุทิศบุญกุศลนั้นได้อีก
ก็จะได้บุญกุศลอีกทอดหนึ่งด้วยนะครับ

หากเราไม่ได้เป็นคนขับขี่รถยนต์ แต่ว่าเราเป็นคนโดยสารรถยนต์ล่ะ
ในหลาย ๆ ข้อข้างต้นนั้น เราก็สามารถทำได้เช่นกันครับ
เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถไปให้ทางคนอื่นได้เองโดยตรง
แต่เราก็สามารถบอกแนะนำให้คนขับหยุดเพื่อให้ทางเขาได้
และเมื่อเวลามีใครให้ทางในถนนแก่คนอื่น เราก็สามารถอนุโมทนาได้ครับ
และเราก็สามารถทำบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ในข้ออื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
และกระทั่งสวดมนต์ ก็ยังสามารถทำได้ด้วย
(โดยควรจะสวดมนต์ในบทที่ท่องได้อยู่แล้วนะครับ
เพราะการอ่านหนังสือบนยานพาหนะย่อมจะทำให้สายตาเสียได้ง่าย)

ดังนี้ ก็จะเห็นได้นะครับว่าในระหว่างเดินทางนั้น
เราสามารถจะสร้างบุญกุศลได้อย่างมากมายหลายอย่างเหลือเกิน
ขอเพียงแค่ว่าเรามีความเข้าใจในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ และนำไปปฏิบัติ
โดยวางใจของเราระลึกอย่างถูกต้องในช่วงเวลาต่าง ๆ

ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะเสียโอกาสดี ๆ ในเวลาชีวิตของเราครับ
ยกตัวอย่างว่า หากมีคนอื่นมาเบียดมาแทรกเข้าเลนเราอย่างน่าเกลียด
แล้วเราก็ไม่พอใจ และโกรธเขาจนจิตเป็นอกุศล และอาจจะด่าเขาเสียอีก
(ด่าเขาไป เขาก็ไม่ได้ยินหรอกครับ ก็ได้ยินกันแต่เฉพาะคนในรถที่มาด้วยกันนั่นแหละ)
แต่หากเราปฏิบัติบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แล้ว เราก็ระลึกได้ว่าเราให้ทานหรืออภัยทานแก่เขา
และเรายังอุทิศบุญกุศลในทานนั้นให้แก่คนอื่นได้อีก แถมในระหว่างนั้น เราก็มีศีลอีกด้วย
และหากระลึกรู้ใจในขณะนั้นได้ (ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม)
ก็ยังได้ฝึกเจริญสติอีกด้วย

อนึ่ง ในอันที่จริงแล้ว ก็ไม่ใช่แค่ระหว่างเดินทางเท่านั้นหรอกนะครับที่สร้างบุญกุศลเหล่านี้ได้
ขอเพียงว่าเราเข้าใจ ปฏิบัติ และระลึกถึงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้เหมาะสมแล้ว
เราสามารถสร้างบุญกุศลได้ตลอดทั้งวันเลยครับ
เดินสวนทางกับคนอื่นเวลาไปทานข้าว หากเราให้ทางเขา ก็คือให้ทาน
คนอื่นให้ทางแก่เรา ซื้อขนมมาฝากเรา ประพฤติตนอ่อนน้อมกับเรา เราก็ร่วมอนุโมทนาได้

เราทำดีและประพฤติพูดจาอ่อนน้อมกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน ก็ได้บุญกุศล
เรานั่งทานข้าวกับเพื่อน ๆ และคุยเรื่องธรรมะขึ้นมา ก็ได้บุญกุศล
หรือเพื่อนเรายกเรื่องธรรมะมาคุยให้เราฟัง เราก็ได้บุญกุศล และอนุโมนากับเขาด้วยก็ได้อีก
ก็จะมีอื่น ๆ อีกมากมายนะครับ ท่านผู้อ่านก็ลองไปพิจารณากันเองต่อนะครับ
แล้วท่านก็จะพบว่าในแต่ละวันนั้น ท่านมีโอกาสในการสร้างบุญกุศลมากมายเลย

บางท่านอาจจะสงสัยว่า ในกรณีนี้เราประพฤติทุกอย่างเหมือนเดิมหรือเหมือนกัน
เพียงแต่ว่าระลึกรู้และวางเจตนาไว้ไม่เหมือนกันแล้ว ก็จะได้บุญกุศลต่างกันหรือ
ผมขอตอบสั้น ๆ นะครับว่า “ต่างกัน” โดยขอยกตัวอย่างในเรื่องการหายใจนะครับ
คนเราที่หายใจเพื่ออยู่รอดไปวัน ๆ นั้น ไม่ได้บุญกุศลในการภาวนาจากการหายใจ
แต่คนที่หายใจในแต่ละวันโดยที่ภาวนาไปด้วยแล้วนั้น ได้บุญกุศลอย่างมากมายครับ
หรือในกรณีที่โกรธไม่พอใจคนอื่น หากโกรธแล้วหลงไปคิดเรื่องอื่น ๆ
จนกระทั่งลืมเรื่องความโกรธนั้นไป ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ได้บุญกุศลอะไร
แต่หากระลึกได้ว่าโกรธ และวางเจตนาว่าให้อภัยทานแก่เขา ก็เกิดบุญกุศลขึ้นมา
และก็ยังอุทิศบุญกุศลนั้นต่อไปได้อีกด้วย

ก็ขอแนะนำให้เก็บเล็กผสมน้อยเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
โดยอย่าประมาทว่าเป็นบุญกุศลเล็กน้อยแล้วจึงไม่ทำนะครับ
เพราะสิ่งเหล่านี้ที่เราทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องนั้น
จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการขัดเกลาจิตใจเราเนือง ๆ ให้อยู่ในกุศลเป็นส่วนใหญ่
และบุญกุศลที่เก็บเล็กผสมน้อยในแต่ละวันนี้ เมื่อรวม ๆ กันแล้ว
ก็จะกลายเป็นกองบุญกุศลมหาศาลในอนาคตครับ
เสมือนสะสมหยดน้ำเล็ก ๆ ไว้ทีละหยดจนรวมกันกระทั่งเป็นแอ่งน้ำหรือเป็นเขื่อนแล้ว
ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายมหาศาล
แต่หากไม่สนใจตรงนี้ และปล่อยหยดน้ำไหลลงทะเลไปเปล่า ๆ แล้ว ก็น่าเสียดายนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP