จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ก้อนน้ำตาลและก้อนเกลือ


งดงาม

This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


036

photo by Silawat


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งนะครับ
เธอเล่าให้ผมฟังว่า เธอเพิ่งได้มีโอกาสไป “ทำบุญล้างบาป” มา
ผมจึงอธิบายให้เธอฟังว่า หากจะคุยกันเพื่อสบายใจแล้ว ก็บอกว่าทำบุญล้างบาปก็ได้
แต่หากต้องการความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว พึงเข้าใจว่า “บุญไม่สามารถล้างบาป” ได้
กล่าวคือ กรรมดีที่เป็นกุศลนั้นจะให้ผลแยกต่างหากจากกรรมชั่วที่เป็นอกุศล
และกรรมดีที่เป็นกุศลไม่สามารถไปลบล้างกรรมชั่วที่เป็นอกุศลนั้นได้

เรื่องผลของกรรมนี้ไม่เหมือนกับบวกลบในทางคณิตศาสตร์หรอกนะครับ
ในทางคณิตศาสตร์นั้น บวกหนึ่งมาเจอกับลบหนึ่งแล้ว เท่ากับ “ศูนย์”
แต่ในเรื่องผลของกรรมนั้น กรรมดีมาเจอกับกรรมชั่วแล้ว
ผลลัพธ์ก็เท่ากับ “กรรมดีและกรรมชั่ว” เหมือนเดิม
ไม่ได้กลายเป็นว่ากรรมดีหักลบกับกรรมชั่วแล้วผลลัพธ์จะเหลือ “ศูนย์” แต่อย่างใด

เราลองมาพิจารณาตัวอย่างในชีวิตจริงกันดูก็ได้ครับ
สมมุติว่ามีชายคนหนึ่งถือไม้หน้าสามมาฟาดศีรษะของคุณทีหนึ่ง (โดยไร้เหตุผล)
คุณเจ็บศีรษะมาก และไม่ทราบเหตุผลด้วยว่าเขามาตีคุณทำไม
แต่ในขณะนั้นคุณก็กำลังหิวอยู่ด้วย
ชายคนนั้นฟาดศีรษะคุณแล้ว ก็ไปหาอาหารรสเลิศมาให้คุณทาน
คุณก็ดีใจมากที่ได้ทานอาหารนั้น
ลองถามตัวเองดูนะครับว่า การกินอาหารเพื่อคลายหิวนั้น
จะเป็นการลบล้างลบความเจ็บศีรษะและบาดแผลที่ศีรษะของคุณได้ไหม
จะเห็นได้นะครับว่าสองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน
เรื่องไม่พอใจที่มีคนมาตีศีรษะเรา และเรื่องพอใจที่มีคนนำอาหารมาให้
สองเรื่องนี้แยกจากกัน และความรู้สึกทั้งสองไม่สามารถนำมาหักลบกันได้
ไม่พอใจก็ยังอยู่ในส่วนของไม่พอใจ และพอใจก็ยังอยู่ในส่วนของพอใจ
ไม่ได้มารวมกันและหักลบกันเหลือเป็น “ศูนย์” หรือ “รู้สึกไม่มีอะไร” เลย

บางท่านอาจจะบอกว่า “ตีศีรษะ” กับ “ให้อาหาร” นั้น
เป็นวัตถุคนละอย่างกัน หรือคนละเรื่อง จึงไม่สามารถนำมาหักลบกันได้
เราลองมาพิจารณาตัวอย่างในเรื่องเดียวกันบ้างก็ได้นะครับ
สมมุติว่า คุณออกมานอกบ้านและมีเงินติดตัวมาห้าพันบาทเพื่อจะไปซื้อของให้คุณแม่
มีชายคนหนึ่งแอบมาล้วงกระเป๋าขโมยเงินของคุณไปทั้งหมด
คุณคงรู้สึกไม่พอใจหรือเสียดายที่โดนขโมยเงินทั้งหมดไป
แต่ระหว่างที่คุณยังไม่ทันเดินทางกลับบ้านนั้นเอง
ปรากฏว่าได้พบกับชายอีกคนหนึ่ง เขานำเงินมาให้คุณห้าพันบาทฟรี ๆ
คุณคงรู้สึกพอใจว่าจะได้นำเงินดังกล่าวไปซื้อของให้คุณแม่ต่อไป
ลองถามตัวเองว่า ความดีใจที่ได้รับเงินมาฟรี ๆ นั้น
สามารถไปลบล้างความไม่พอใจตอนแรกที่โดนขโมยเงินได้ไหม
ลองนึกถึงความรู้สึกที่โดนขโมยเงิน และความรู้สึกที่ได้รับเงินมาฟรี ๆ
ความรู้สึกสองอย่างนี้หักล้างกันจนเหลือศูนย์
และเหมือนกับว่า “ไม่เคยเกิดอะไรขึ้นมาก่อน” เลยหรือเปล่า
จะเห็นได้นะครับว่าความรู้สึกทั้งสองอย่างนี้ก็ยังคงแยกกันอยู่
และไม่สามารถหักลบกันจนเป็น “ศูนย์” ไปได้

ฉันใดก็ฉันนั้น กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่เราได้เคยทำไว้ก็เช่นกันนะครับ
กรรมสองส่วนนี้จะไม่สามารถหักกลบลบกันเหลือ “ศูนย์” ได้
และกรรมทั้งสองส่วนนี้ต่างก็รอเวลาที่จะให้ผลของมันเมื่อถึงเวลาอันสมควร

แล้วเราควรจะทำอย่างไรดีในกรณีนี้?
ก็ขอแนะนำว่า เราจึงไม่ควรจะไปทำอกุศลกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น
ไม่ใช่ไปคิดหวังว่า ขอทำอกุศลกรรมเล็กน้อยก่อนนะ
แล้วจะไปสร้างกุศลกรรมใหญ่ ๆ มาหักล้างในภายหลังมาหักกลบลบกัน
เพราะการหักล้างกัน หรือใช้กรรมดีล้างผลของกรรมชั่วนั้นทำไม่ได้หรอกครับ
เราจึงควรสร้างแต่เพียงกุศลกรรมเท่านั้น และหลีกเลี่ยงอกุศลกรรมทั้งปวง

ขอยกตัวอย่างสุดท้ายที่ผมใช้อยู่ในชีวิตจริงของผมเองนะครับ
ขอเปรียบให้ฟังว่า คนเราก็เหมือนตุ่มใบหนึ่ง (ตุ่มสำหรับใส่น้ำทำนองนั้นน่ะครับ)
และเปรียบ “กุศลกรรม” หรือ “กรรมดี” เหมือนกับ “ก้อนน้ำตาล”
เปรียบ “อกุศลกรรม” หรือ “กรรมชั่ว” เหมือนกับ “ก้อนเกลือ”
หากเราทำกรรมดีแล้ว เท่ากับว่าเราเติมก้อนน้ำตาลลงไปในตุ่มก้อนหนึ่ง
หากทำกรรมดีใหญ่ ก็เป็นน้ำตาลก้อนใหญ่ หรือทำกรรมดีเล็ก ก็เป็นน้ำตาลก้อนเล็ก
หากทำกรรมดีหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็นก้อนน้ำตาลหลาย ๆ ก้อน
แต่หากเราทำกรรมชั่วแล้ว ก็เท่ากับว่าเราเติมก้อนเกลือลงไปในตุ่มก้อนหนึ่ง
หากทำกรรมชั่วใหญ่ ก็เป็นเกลือก้อนใหญ่ หรือทำกรรมชั่วเล็ก ก็เป็นเกลือก้อนเล็ก
หากทำกรรมชั่วหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็นก้อนเกลือหลาย ๆ ก้อน

เวลาที่กรรมจะให้ผลนั้น ก็เปรียบเสมือนว่าเราหลับตาแล้วใช้ช้อนตักตวงลงไปในตุ่มนั้น
ตักขึ้นมาเจอก้อนน้ำตาลก็เท่ากับว่ากรรมดีให้ผล
ตักขึ้นมาเจอก้อนเกลือก็เท่ากับว่ากรรมชั่วให้ผล
ตักขึ้นมาเจอก้อนน้ำตาลพร้อมกับก้อนเกลือก็เท่ากับว่ากรรมดีให้ผลพร้อมกับกรรมชั่ว
คนเราก็เสมือนว่าได้เติมน้ำตาลและเกลือลงไปในตุ่มเช่นนี้ตลอดเวลา
และก็ได้ใช้ช้อนตักตวงลงไปในตุ่มตลอดเวลา เพื่อรับผลของกรรม

ขอถามว่าก้อนน้ำตาลที่เติมลงไปในตุ่มนั้น
จะสามารถทำให้ก้อนเกลือที่อยู่ในตุ่มนั้นหายไปได้หรือเปล่า
ก็คงต้องตอบว่า “ไม่สามารถทำให้ก้อนเกลือนั้นหายไปได้”
แต่ก้อนเกลืออยู่อย่างไรก็อยู่ไปอย่างนั้น และก็อยู่ปะปนไปกับก้อนน้ำตาล
เพื่อรอเวลาที่เราจะใช้ช้อนตักตวงไปเจอก้อนเกลือ (หรือก้อนน้ำตาล) นั้น
ซึ่งก็เป็นทำนองเดียวกับกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่รอเวลาให้ผล

สิ่งสำคัญในขณะนี้ที่หลายท่านก็อาจจะคิดหรือรู้สึกตรงกัน
ก็คือว่า “ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ตักตวงไปเจอก้อนเกลือล่ะ
?
ในเมื่อเราหลับตาใช้ช้อนตักลงไปในตุ่มที่มีก้อนเกลืออยู่แล้ว
ช้อนเราคงหลบก้อนเกลือไปไม่ได้แน่ และเราก็มีโอกาสตักก้อนเกลือขึ้นมาได้

คำแนะนำสำหรับคำถามนี้คงมีเพียงสามวิธีการ
วิธีการแรก คือ เราไม่เติมก้อนเกลือลงไปในตุ่มเลยแม้แต่ก้อนเดียวมาตั้งแต่แรก
แต่วิธีการแรกนี้คงทำไม่ได้จริง เพราะเราทุกคนต่างเคยเติมก้อนเกลือกันลงไปแล้ว

ก็มาถึงวิธีการที่สอง ซึ่งแก้ปัญหาไม่ได้เด็ดขาด แต่สามารถช่วยลดความเสี่ยงลงได้
ซึ่งก็คือ หยุดเติมก้อนเกลือเสีย และให้เร่งรีบเติมก้อนน้ำตาลลงไปเยอะ ๆ
เรียกได้ว่า เติมก้อนน้ำตาลลงไปให้ท่วมตุ่มเลย
แม้ว่าก้อนเกลือจะยังมีอยู่แต่เดิมบ้าง แต่โอกาสที่เราจะไปตักเจอก้อนเกลือนั้นมีน้อย
เรียกได้ว่า ทำกุศลกรรมใหม่ให้มาก ๆ
และกุศลกรรมนั้นคอยให้ผลอยู่ตลอดเวลาจนอกุศลกรรมหาช่องเข้ามาให้ผลได้ยาก

แต่วิธีที่ดีที่สุดนั้น คือ วิธีการที่สามซึ่งเหนือว่าสองวิธีการแรกนะครับ
วิธีการที่สาม ก็คือ ฝึกฝนตนเองเพื่อให้เข้าใจความจริงอย่างแจ่มแจ้งว่า
แท้จริงแล้ว ทั้งก้อนน้ำตาลและก้อนเกลือนี้ต่างก็ “เป็นทุกข์ทั้งสิ้น”
(และหากเรายังพอใจที่จะเติมและตักตวงก้อนน้ำตาลอยู่ตราบใด
ตราบนั้น เราก็ยังจะมีโอกาสเติมและตักตวงก้อนเกลืออยู่เช่นกันครับ)
ซึ่งเมื่อเราฝึกฝนตนเองจนเข้าใจความจริงอย่างแจ่มแจ้งแล้ว
เราก็สามารถพาตัวเราเองออกจากระบบเติมเกลือเติมน้ำตาลลงตุ่มนี้ได้
แล้วเราก็จะถึงความสุขอย่างแท้จริง
ที่จะไม่ต้องมาพบก้อนเกลือและก้อนน้ำตาลอีกต่อไปครับ


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP