กระปุกออมสิน Money Literacy

ประหยัดภาษี ต้องนี่เลยกองทุนรวม LTF และ RMF


Mr.Messenger

สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger


การสร้างวินัยในการออม และการลงทุน บางครั้งก็ต้องใช้ความพยายาม และความอดทน ในการเปลี่ยนพฤติกรรมเดิมๆ หรือเปลี่ยนทัศนคติต่อการลงทุนของตัวเราเอง แต่ก็แน่นอนครับ ในโลกนี้ มีทั้งเรื่องง่ายและเรื่องยากสำหรับเรา แต่สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเรา และผู้อื่น ต่อให้ยาก ก็ควรค่าแก่ความพยายาม และความอดทน เห็นด้วยกับผมไหม?

เรามักจะมีข้ออ้างในการเก็บเงินไม่ได้อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือนยังน้อย, ขอใช้ชีวิตสนุกๆก่อน, ไม่มีเวลาดูแล, มีภาระ, ลงทุนแล้วมันเสี่ยงสูงไป ฯลฯ สุดแท้แต่จะหามาได้ ครั้นพอได้เงินมาลงทุนซักก้อน กำไรนิดๆหน่อยๆ ก็ขายทำกำไรออกมา ไม่ได้ลงทุนยาวอย่างที่ตั้งใจไว้ เผลอแป๊บเดียวผ่านไป อ้าว! ๒ ปีมาแล้ว ยังไม่มีเงินเก็บซักก้อนเลย

ทางกระทรวงการคลัง คงพอจะทราบปัญหานี้อยู่บ้าง จึงเกิดกองทุน LTF และ RMF ขึ้นเพื่อตอบโจทย์การลงทุนระยะยาวขึ้นมา เริ่มจาก LTF ก่อน ชื่อเต็มของกองทุนนี้คือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund) นโยบายคือ ลงทุนในหุ้นซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๕ ในรอบปีบัญชี ผู้ที่ลงทุนในกองทุน LTF สามารถนำเงินลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี อยากลงทุนปีไหน ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้แค่ปีนั้น แต่มีเงื่อนไขคือจะต้องถือจนครบ ๕ ปีปฏิทิน ห้ามไถ่ถอนก่อนกำหนด หากผิดเงื่อนไข ก็จะโดนสรรพากรเรียกภาษีคืน กองทุนอีกกองทุนหนึ่งชื่อว่า กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) นโยบายการลงทุนคือ ลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ/หรือตราสารหนี้ประเภทต่างๆ แล้วแต่นโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน ผู้ลงทุนสามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนระหว่างกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกับกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ที่เป็นกองทุน RMF ด้วยกันได้ แต่ข้อแตกต่างของ LTF กับ RMF ก็คือ ผู้ลงทุนที่ลงทุนใน RMF จะต้องมีการลงทุนต่อเนื่องทุกปี อย่างน้อยร้อยละ ๓ ของรายได้ต่อปี และต้องถือไปจนอายุ ๕๕ ปี บริบูรณ์ นักลงทุนที่เริ่มต้นลงทุนตอนอายุ ๕๑ ปี เป็นต้นไป จำเป็นต้องถือหน่วยลงทุนให้ครบ ๕ ปี (แทนเงื่อนไข อายุ ๕๕ ปี บริบูรณ์ ) ลองดูตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของกองทุน LTF และ RMF อย่างละเอียดอีกทีครับ


money036_1

จะเห็นว่า เงื่อนไขของการลงทุนผ่านกองทุนทั้งสองแบบ สนับสนุนให้นักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาว ไม่ใช่แค่ ๓ เดือน ๖ เดือน หรือ ๑ ปี แต่อย่างต่ำก็ ๕ ปี ลองคิดดูว่า ถ้าเราลงทุนในกองทุนปกติทั่วไปที่ไม่ใช่ LTF หรือ RMF หรือกระทั่งหุ้นรายตัวในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรแป๊บเดียว เราก็ห้ามใจไม่อยู่ ขายทำกำไรไปก่อน พอผ่านไป ๓-๔ ปี กลับมาดูอีกที ราคาหน่วยลงทุนวิ่งขึ้นไปบนยอดดอย แล้วเราก็บ่นกับตัวเองว่า รู้งี้ ไม่ขายซะก็ดี

ในชีวิตคนเรา มีโอกาสทำความดีเล็กๆน้อยๆอยู่ทั้งชีวิต แต่บางคนกลับมองข้ามไป เพราะเห็นเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่เมื่อเราหันมองย้อนอดีตกลับไป เราก็มานั่งเสียใจว่ายังมีหลายสิ่งที่เราไม่ได้ทำ รู้งี้ ตอนนั้นทำไปเสียก็ดีการปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกัน อย่ารอให้ถึงเวลาที่เราคิดว่าเหมาะสม เริ่มเสียตั้งแต่ตอนที่ยังมีลมหายใจตอนนี้ เพราะถึงจะทำได้แค่เล็กน้อย แต่นั่นก็สร้างวินัยและเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเราได้แน่นอน

ย้อนกลับมาที่กองทุน LTF และ RMF หลายคนสงสัยว่า แล้วสามารถนำเงินลงทุนดังกล่าวไปหักลดหย่อนภาษีได้อย่างไร ลองดูตารางด้านล่างนี้ครับ

สมมติว่า นาย ก. มีเงินได้พึงประเมินตลอดปีภาษี ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่งงานแล้ว ภรรยาไม่มีรายได้และมีบุตร ๑ คน โดยลงทุนใน LTF และ/หรือ RMF เต็มตามสิทธิ์ (๑๕% ของเงินได้ปีนี้) บริษัทที่ นาย ก. ทำงาน ไม่มีเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ภาษีที่ประหยัดได้จากการลงทุนเป็นดังนี้


money036_2

จะเห็นว่า หากไม่ได้มีการลงทุนใน LTF หรือ RMF เลย นาย ก. จะต้องเสียภาษีทั้งหมด ๒๔๘,๙๐๐ บาท แต่ถ้ามีการลงทุนใน LTF และ RMF ทั้งสองกองทุน จะสามารถประหยัดภาษีได้ ๑๒๖,๓๐๐ บาท ซึ่งเมื่อเทียบเป็นผลตอบแทนจากยอดเงินลงทุนทั้งหมด ๕๐๐,๐๐๐ บาท ก็ได้ถึง ๒๕.๒๖% ทีเดียว และนี่ยังไม่รวมโอกาสที่จะรับผลตอบแทนจากการเพิ่มค่าของหน่วยลงทุนเมื่อราคาเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกนะครับ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน LTF และ RMF จะลดความน่าสนใจลง หากผู้ลงทุนเสียภาษีในฐานที่ต่ำลงมา จากกรณีตัวอย่างที่นาย ก. สามารถประหยัดภาษีได้เยอะก็เพราะ นาย ก. มีฐานภาษีที่สูง เนื่องจากรายได้เกิน ๑ ล้านบาท จึงมีฐานภาษีคิดอยู่ที่ ๓๐% ดังนั้นก่อนการลงทุน นักลงทุนควรคำนวณรายได้พึงประเมิน และสำรวจฐานภาษีก่อนว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือเปล่านะครับ ใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมของกองทุน และโปรแกรมคำนวณภาษี และยอดเงินที่สามารถลงทุนในกองทุนทั้งสองแบบ ลองศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimutualfund.com/AIMC/index.jsp

โชคดีในการลงทุนครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP