ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ควรดูกายหรือดูจิต



ถาม : ไม่แน่ใจว่าจริตของตัวเองเหมาะที่จะดูกายหรือดูจิตค่ะ
บางครั้งเหมือนรู้กาย แต่บางครั้งเหมือนรู้จิต ก็เลยสับสนว่าเราควรจะดูกายหรือดูจิต


ดีเลยนะ คือถ้าเมื่อไหร่รู้สึกว่าพร้อมจะรู้กาย ให้รู้กายไปเลย อย่าไปสนใจจิต

ถาม : อะไรมันเด่นขึ้นมา ให้รู้อันนั้นใช่ไหมคะ

ถูกต้อง นั่นแหละคือหลักการปฏิบัติที่ตรงตามพระพุทธเจ้าบอกเลย
พระพุทธเจ้าท่านบอกในสติปัฏฐาน ๔ นะ คือให้รู้
สมมุติว่าท่านให้รู้กายเสร็จแล้ว ท่านจะบอกจุดเชื่อมต่อว่าอย่างอื่นยังมีอีก
ให้รู้ภาวะทางใจไป พอภาวะทางใจถูกรู้แล้ว อย่างอื่นยังมีอีก ละเอียดลงไปอีกนะ
ตอนแรกๆ ท่านให้รู้สุขเวทนา ทุกขเวทนา
หรือความอึดอัด ความสบายทางกายทางใจ แล้วท่านให้รู้ละเอียดลงไป
ภาวะอย่างนี้มีความสงบทางจิตไหม มีความฟุ้งซ่านทางจิตไหม
จิตมีราคะไหม จิตมีโทสะไหม จิตมีโมหะไหม
แล้วละเอียดลงไปตามลำดับจนกระทั่งเห็นกายใจ โดยความเป็นสภาวะ
มันจะรู้สึกเหมือนกับว่าทั้งกายทั้งใจ มันเห็นขึ้นมาชั่วขณะเดียวเลยนะ
ว่า เออ มันไม่ใช่ตัวตน แล้วจะเห็นยังไงต่อ

ท่านก็ให้แยกออกไปต่อว่า ทั้งกายทั้งใจ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นขณะๆ นะ
แยกให้เห็นเลย แม้แต่ขณะที่เรานึกคิดอะไรขึ้นมานี่
มันมีส่วนของความจำได้หมายรู้ มันมีส่วนของเจตนาดีชั่ว
มันมีส่วนของความรู้สึกทางใจ ที่ว่าสบายหรือไม่สบาย
มันเกิดขึ้นเป็นขณะๆ ตรงนี้ เรียกว่าเราเข้าถึงการเห็นขันธ์ ๕ แล้ว
เห็นกายใจโดยความเป็น ขันธ์ ๕
การเห็นนี่นะ คือถ้าหากว่าเราตั้งไว้ในใจเลยว่ามีอะไรให้เห็น
เราพร้อมกำลังจะเห็นอะไร แล้วรู้ตามนั้น ยอมรับตามนั้น ตามที่มันกำลังปรากฏอยู่
นั่นแหละเรียกว่ามีสติเห็นจริง
แต่ถ้ามันยังไม่เกิดอะไร แล้วเราไปพยายามนึก
หรือแม้กระทั่งจะตั้งกฎเกณฑ์ว่าควรจะเห็นกายหรือเห็นใจ
ไอ้แบบนี้ เขาเรียกว่าไม่ใช่สติแล้ว เรียกว่าเป็นความอยากส่วนตัวนะ

การที่จะมีสติจริงๆ ก็คือการที่อะไรมันปรากฏให้ดู เราก็ดูไป
แล้วดูโดยความเป็นของไม่เที่ยง เปรียบเทียบไปเรื่อยๆ
อันไหนมากอันไหนน้อย อย่างภาวะทางกาย ถ้าเรานั่งๆ อยู่นะ
เรารู้สึกว่านี่เรากำลังนั่งอยู่ นี่อัตตามันเข้าไปครอบงำ ครอบงำจิต
คือกายนี่เป็นเครื่องล่อ แล้วก็หลอกให้เราไปหลง
ว่าไอ้นี่ แบบนี้นะ คือท่าทางของเรา คือท่านั่งของเรา เรากำลังนั่งอยู่
ทีนี้พอเราพิจารณาไป เอ๊ ไอ้ที่นั่งๆ อยู่นี่ เดี๋ยวมันก็อยากขยับนะ
แล้วถามว่าใครเป็นคนอยากขยับ ร่างกายมันเป็นคนอยากขยับนะ
ธรรมชาติของกาย เดี๋ยวกล้ามเนื้อมันก็ต้องบีบ ต้องเกร็ง ต้องการที่จะคลายออก
ลักษณะแบบนี้มันไม่ใช่ใจอยาก มันกายอยาก กายเรียกร้องการเคลื่อนไหว
พอมันเห็นแบบนี้ เห็นจริง เอ่อ เดี๋ยวร่างกายมันต้องเปลี่ยน มันต้องเปลี่ยนของมันเอง
ตรงนี้มันเริ่มเห็นแล้วว่ากายไม่ใช่เรา กายไม่เที่ยง
แล้วก็เข้ามานะ ความอึดอัด ความสบาย ความสงบ ความฟุ้งซ่าน
ความนึกความคิดอะไรต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง
ถามตัวเองเข้าไป มันไม่มีอะไรที่เราสั่งให้เกิดสักอย่าง มันเกิดเองหายเอง
ตรงนี้แหละที่เราเริ่มเห็นแล้วว่ากายใจ มันเป็นแค่สภาวะ
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขานะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP