ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

สำรวจความพร้อมในการบรรลุมรรคผล



ถาม - ทำอย่างไรจึงจะภาวนาได้ก้าวหน้าไปกว่านี้ เพราะทุกวันนี้มันไม่เจริญขึ้นไปกว่านี้เลยครับ


เราเจริญสติหรือว่าเราภาวนาปฏิบัติธรรมก็เพื่อมรรคผลนิพพาน
ความเข้าใจเกี่ยวกับมรรคผลนิพพานต้องถูกต้องด้วยนะครับ
คือใจความสรุป การได้มรรคผลนิพพานก็คือทิ้งอุปาทาน
ทิ้งความรู้สึกว่ากายนี้ใจนี้เป็นของเรา เป็นตัวเรา

ถ้าภาวนาไปแล้วยิ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อะไรดีขึ้นสักที
ตรงนั้นต้องย้อนกลับไปปรับความเข้าใจกันใหม่นะครับ

ว่าเราภาวนาไปเพื่อเห็น เพื่อทิ้ง เพื่อที่จะไม่ต้องติดกับอุปาทานว่ากายนี้ใจนี้เป็นเรา เป็นของเรา
แม้แต่ความคืบหน้าคืบหลังอะไรก็แล้วแต่นะ มันไม่ใช่เรื่องของเรานะ
มันไม่ใช่เรื่องของตัวตน มันเป็นเรื่องของกาย มันเป็นเรื่องของจิต
ทีนี้ว่าถึงหลักการนะครับ ที่จะปรับปรุง ที่จะพัฒนา
พระพุทธเจ้าก็ให้หลักการสำรวจเพื่อพัฒนาความพร้อมไปสู่การบรรลุมรรคผล

เริ่มต้นกันเลย สำรวจตัวเองก่อนว่าสติดีแค่ไหน
ถ้าหากว่าคุณมีสติอยู่เรื่อยๆ เป็นอัตโนมัติ อันนั้นดีนะครับ
แต่ถ้าหากว่านานๆ ที สติถึงจะเกิด หรือว่าต้องบังคับให้มันเกิด อย่างนั้นก็ถือว่าสติยังอ่อนอยู่นะครับ
ก็ต้องมาสำรวจกันว่าทำอย่างไรสติถึงจะดีขึ้น
มันทุกอย่างเลยนะ ทั้งทางกายทางใจ ทั้งในเรื่องการรับผิดชอบการทำงาน
ทั้งในเรื่องของการที่เรามามีความใส่ใจสังเกตภาวะความเป็นไปของกายและใจในปัจจุบัน

ถ้าหากว่าเราสังเกตตัวเองว่าสติ มันดีแล้วหรือใช้ได้แล้วนะครับ

ก็สำรวจต่อไปด้วยว่าสตินั้นมันเป็นสติไปเพื่อการเห็นแบบทื่อๆ
หรือว่าเห็นสภาวะทางกายใจนี่กำลังปรากฏอยู่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ถ้าหากว่าสติของคุณไปเป็นไปเพื่อการเห็นว่ากายนี้ ใจนี้ ภาวะนี้ ที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
ตั้งแต่ลมหายใจ ความรู้สึกอึดอัด ความรู้สึกสบาย ไปกระทั่งสภาวะของจิต มันฟุ้งซ่านอยู่หรือสงบอยู่
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าปรากฏต่อสติของคุณโดยความเป็นของไม่เที่ยง
คุณไม่ได้ใส่ใจอะไรไปมากกว่าจะเห็นความแปรปรวน
ไม่ใช่สาระ ไม่ใช่แก่นสาร ไม่ใช่ตัวตนของมัน อันนั้นถือว่าใช้ได้
แต่ถ้าหากว่าสติของคุณรู้เข้ามาในกายใจ แล้วมีความรู้ทื่อๆ อยู่เฉยๆ
ไม่ได้เห็นอะไรไปมากไปกว่าจดจ้อง เข้าไปที่ตรงใดตรงหนึ่ง ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของกายของใจ
อันนั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นการพิจารณาธรรม ยังไม่เข้าหลักข้อสองว่าด้วยธัมมวิจยะ

หลักข้อสามนะครับ คือสำรวจดูว่าคุณมีความเพียรแค่ไหน มีวิริยะอุตสาหะแค่ไหน
ถ้าหากว่าหนึ่งวันมีความเพียรแค่ครั้งเดียวหรือสองครั้ง อันนั้นยังใช้ไม่ได้
แต่ถ้าหากความเพียรของคุณหมายถึงการที่เรามีความรู้สึกตัวขึ้นมาเมื่อไหร่ มีนึกได้ขึ้นมาเมื่อไหร่
ว่า เออนี่ ตอนนี้มีสติอยู่หรือเปล่า หรือว่ากำลังเหม่อ หรือกำลังฟุ้งซ่านนะ นึกได้บ่อยๆ
การนึกได้บ่อยๆ การมีความพอใจที่จะนึกได้บ่อยๆ นะ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ทอดธุระ ไม่ทอดหุ่ย
อันนั้นถือว่าเรื่องของวิริยะใช้ได้นะครับ ข้อสามผ่าน

ถ้าหากว่าผ่านไปแล้ว ข้อสี่ดูด้วยว่าความเพียรของคุณเป็นไปเพื่อความอึดอัดหรือความอิ่มใจ
ข้อสี่นี่ก็เรียกว่ามีปีตินะครับ

ถ้าหากว่าความเพียรของคุณนำไปสู่การอิ่มใจ
การรู้สึกดี การรู้สึกเหมือนกับมีแรงบันดาลใจ มีปีติ อันนั้นถือว่าใช้ได้

แต่ถ้าหากว่าความเพียรของคุณนำไปสู่ความรู้สึกห่อเหี่ยว ความรู้สึกแห้งแล้ง
อันนั้นก็ต้องสำรวจกันใหม่ ว่าความเพียรของคุณน่ะเป็นสติที่ถูกต้องหรือเปล่า
มีความเข้าใจที่ถูกต้องหรือเปล่า มีการพิจารณาเข้าไปในธรรมหรือเปล่า หรือว่าสักแต่เห็นทื่อๆ นะครับ

เอาละถ้าสมมุติว่าข้อสี่ผ่านนะครับ มีปีติ มีความอิ่มใจ

ก็ต้องดูด้วยว่ากายใจของคุณมีความสงบระงับหรือเปล่า
ถ้าหากว่ากายใจของคุณมีความสงบระงับ
อันนั้นก็จะมีความพร้อมที่จะยกขึ้นสู่ความเป็นสมาธิ คือมีความตั้งมั่น

ถ้าหากว่ามีความตั้งมั่นแล้ว คุณจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่าใจนี่ถอยออกมาเป็นผู้ดูอยู่เฉยๆ
เป็นต่างหากจากภาวะของกาย เป็นต่างหากจากภาวะของความรู้สึกอึดอัดหรือสบาย
เป็นต่างหากจาก แม้สภาพจิตใจที่กำลังสงบหรือฟุ้งซ่านอยู่นะครับ
กระทั่งเกิดความรู้สึกนึกคิดอะไรขึ้นมาก็เห็น เหมือนกับเป็นของแยกต่างหาก อันนั้นคือลักษณะของสมาธิ
มันมีความตั้งมั่นมากพอที่จะเห็นภาวะต่างๆ ทางกายใจ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
โดยไม่มีความหวั่นไหว ไม่ไขว้เขวไปทางอื่น ไม่มีฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปอย่างอื่น

ขั้นต่อมานะ ขั้นสุดท้าย อันดับที่เจ็ด ก็คือว่าสำรวจตัวเองว่ามีความวางเฉยมากพอไหม
ถ้าหากว่ารู้อะไรไปแล้ว รู้สึกว่า เอ๊ย นี่ตัวเรายังไม่ดี นั่นยังไม่ใช่วางเฉยแน่นอนนะครับ
ก็สำรวจแล้วก็สังเกตว่ามันจะมีใจวางเฉยมากกว่าเดิมได้อย่างไร
เจ็ดข้ออันนี้เรียกว่ารวมกันนะครับ
หลักการที่พระพุทธเจ้าให้สำรวจความพร้อมในการบรรลุมรรคผล ๗ ประการ

หรือว่าที่เรียกโพชฌงค์ ๗ นะครับ ก็มีดังที่กล่าวมา



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP