กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage

หลวงปู่คำดี ปภาโส : ชีวิตพร้อมสละเพื่อพระธรรม


river_banner

โดย เทียบธุลี


lpKamdee

พระครูญาณทัสสี (หลวงปู่คำดี ปภาโส)
วัดถ้ำผาปู่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
ภาพประกอบจาก "๒๘ พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์" พระธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม

หลวงปู่คำดี ปภาโส เป็นพระสงฆ์ผู้ทุ่มเทชีวิตปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
สมัยที่ยังมีกำลังวังชาดีอยู่นั้น ท่านได้ธุดงค์ตามป่าเขา บำเพ็ญภาวนาอย่างเข้มแข็ง
การธุดงค์นั้นบางครั้งได้ประสบกับสัตว์ร้าย อันน่าหวาดผวายิ่งสำหรับปุถุชนทั่วไป
แต่ท่านกลับเผชิญด้วยความมีสติ ดังเหตุการณ์ ณ เขาตะกุดรัง
ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ - ๒๔๘๐ หลวงปู่คำดีได้จำพรรษาที่วัดป่าช้าดงขวาง
ช่วงออกพรรษาของแต่ละปีท่านมักจะออกไปปฏิบัติภาวนา ที่เขาตะกุดรัง จังหวัดนครราชสีมา

ในฤดูแล้ง ตรงกับเดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ ปีพุทธศักราช ๒๔๗๖
ประมาณ ๓ ทุ่ม หลวงปู่ได้จุดเทียนไขเพื่อเดินจงกรม ทางจงกรมสูงจากพื้นประมาณ ๒ เมตร
ขณะที่เดินอยู่ บรรยากาศก็เงียบสงัดดี ได้ยินเพียงเสียงใบพลวงตกกระทบพื้น
ทันใดนั้นท่านก็ได้ยินเสียงสัตว์ขู่ ในตอนแรก ท่านสงสัยว่าเสียงอะไรแปลกๆ

"ใจมันบอกว่า เสือแต่ก็ยังไม่แน่ใจ จึงเดินกำหนดจิตกลับไปกลับมาที่ทางจงกรมอยู่อย่างนั้น
มันขู่ครั้งที่สอง นี่ชัดเสียแล้ว มันดังชัด
อา...อา...อา...อา!
เสียงหายใจดังโครกคราก โครก คราก ไกลออกไปประมาณ ๑๐ เมตร
ไม่นานนักได้ยินเสียงขู่คำรามอีก มาอยู่ใกล้ๆ ทางจงกรม แหงนหน้าขึ้นดู แล้วขู่ อา...อา...อา...อา
กลัวแสนกลัว ยืนอยู่กับที่เผลอไปพักหนึ่ง จิตมันจึงบอกว่า
กรรม
พอจิตมันแสดงความผุดขึ้นในใจว่า
กรรมก็มีสติดีขึ้น"

เมื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยและครูบาอาจารย์ แล้วก็มีสติปกติ หลวงปู่จึงได้พูดกับเสือตัวนั้น

ถ้าเราเคยทำกรรมทำเวรต่อกัน ถ้าจะขึ้นมากินข้าพเจ้า ก็จงขึ้นมาเถิด
ถ้าเราไม่เคยทำเวรทำกรรมต่อกัน ก็จงหนีเสีย
เรามาอยู่ที่นี่ก็ไม่เคยรบกวนใคร ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ว่าสัตว์ตัวเล็กและสัตว์ตัวใหญ่
เรามาที่นี่เพื่อมาปฏิบัติสมณธรรมเท่านั้น


เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้วท่านก็ไม่มีความกลัวเสือตัวนี้อีกต่อไป กลับมีแต่ความรักและเมตตา

ความกลัวหายหมดเลย ไม่มีความกลัว เกิดความเมตตา รักมัน
ฉวยโคมได้ออกตามหามันทันที ถ้าพบแล้วจะไม่มีความกลัว ไม่ว่าจะเป็นเสือเล็กหรือเสือใหญ่
สามารถจะเข้าลูบหลังและขี่หลังมันได้ คล้ายกับว่าน้องรักหรือลูกรักเสียไปหลายปี (เสีย
= หาย)
ถ้าพบเข้าก็อดใจจะเข้ากอดไว้ไม่ได้ เกิดรักเสือตัวนั้น รักอย่างแรง ขณะนั้นจิตใจไม่นึกกลัวอะไร
ไม่ว่าจะเป็นเสือ งู หรือสัตว์ใหญ่ สัตว์เล็กต่างๆ คิดว่ามันจะไม่กัดแน่ๆ


การผจญสัตว์ร้ายของท่านยังมีอีกคราวอื่นๆ อีก เช่น ในการไปเขาตะกุดรังครั้งที่สอง
ก็พบสัตว์ที่น่ากลัวชนิดหนึ่ง

ครั้งหนึ่งจิตถอนจากนั่งสมาธิ ลืมตาขึ้นลงมาจะเดินจงกรม
พบงูสีดำตัวหนึ่งยาวประมาณ ๒ เมตรเศษ ลำตัวขนาดแขน ขวางอยู่ทางจะลงพอดี
ท่านตะโกนบอกงูว่า
เอ้า! ทำอย่างไรเราจะเดินจงกรม ไป...ไป ทางใดก็ไปเถอะ
รวบเอาสะเก็ดไม้และหินหว่านลงใส่ หว่านลงไป แล้วบอกให้ไป เราจะเดินจงกรม
งูไม่เคลื่อนไหว นิ่งอยู่คล้ายงูตาย ท้ายสุดก็ต้องกระโดดข้ามไป


หลวงปู่พยายามหอบดินใส่เจ้างู เพื่อให้มันหนีไป แต่มันกลับเลื้อยเข้าไปในถ้ำที่ท่านพำนัก
ต่อมาก็ได้ยินเสียงดังคล้ายเสียงเครื่องบินหรือรถไฟ ดังอยู่ข้างๆ ทางจงกรม ซึ่งเป็นป่าละเมาะทึบ
ท่านไม่เคยได้ยินเสียงแบบนี้มาก่อน จึงยืนแล้วตั้งใจฟัง เสียงนั้นดังอยู่ใกล้ๆ
พร้อมทั้งมีเสียงกิ่งไม้แห้งหรือต้นไม้ลำต้นขนาดนิ้วมือหักดังเปาะแปะๆ ไปด้วย

เอ! ครั้งนี้มีทั้งกลัวทั้งหาญ เดินแล้วเลยเข้าไปทำวัตร
ทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้วก็มองหา ทำจิตคงไว้ มองเห็นงูห่างออกไปประมาณ ๕ เมตร


ปรากฏว่าเห็นงูใหญ่สองตัว เลื้อยอยู่ในถ้ำที่พัก เมื่อเห็นว่าไม่มีทางหนีได้ ท่านจึงปฏิบัติภาวนาต่อ
เมื่อจิตถอนออกแล้วจึงเปิดมุ้งขึ้นดู ปรากฏว่างูทั้งคู่ขดตัวเป็นวงสูงขึ้นมาประมาณเข่า
รอบวงกว้าง ๑ เมตร ชูหัวขึ้นมาตรงกลาง งูตัวเล็กกว่าก็ขดเกี่ยวพันกันเป็นกอง
ด้วยขนาดอันใหญ่โตของมันนั้น ท่านเล่าว่า
ถ้าแม้นเป็นอย่างอื่นก็ขึ้นไปนั่งสมาธิได้
แม้ต้องพบอสรพิษขนาดใหญ่ที่ไล่แล้วก็ไม่ยอมไป แต่หลวงปู่ก็มิได้ละความเพียรในการภาวนา

ใต้ร้านที่พักมีช่องโหว่เข้าไปในถ้ำ กว้างประมาณ ๑ ศอก พอจิตถอนออกจากภาวนา
สำรวจดูพบว่าเจ้างูตัวใหญ่เข้ามาอยู่ใต้ร้านที่พัก เอาหัวมุดเข้าในช่องโหว่ถ้ำใต้ร้านที่พัก
นอนนิ่งอยู่ ส่วนหางเลยร้านไปประมาณ ๑ เมตร ร้านยาวเมตรเศษ


เมื่อสำรวจปากช่องโหว่ก็พบว่าที่ท่านเข้าใจว่าเป็นส่วนหัวนั้น แท้จริงแล้วคือลำตัวของงู
ซึ่งมีขนาดประมาณกระติกน้ำร้อนขนาดกลาง งูดังกล่าวนอนนิ่งไม่ขยับตัวอยู่อย่างนั้น
ส่วนท่านก็ดูมันอยู่จนถึงตี ๑ ตี ๒ โดยไม่รู้สึกง่วง

เมื่อเห็นว่ามันไม่ไปแน่ ก็เลยเอามุ้งเหน็บกับเสื่อหวายตลอดแนวให้มั่นคง
ล้มตัวลงนอนโงมโงะ (นอนคุดคู้) ถ้าเหยียดขากลัวมันพันขา คุมสติไว้ โคมก็ติดไว้อย่างนั้น
เมื่อตื่นขึ้นมองดูก็ไม่เห็นไม่รู้ว่าเข้าไปในที่ลึก หรือกลับไปเอง ไม่เห็นอีกเลย


เหตุการณ์ที่ได้ยกมาเล่าถึงนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ท่านได้ประสบ
ตลอดช่วงเวลาของการธุดงค์ไปในป่าดงอันเร้นลึก
หลวงปู่คำดี ปภาโส จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ยอมสละชีวิตเพื่อแลกธรรมะ
แม้ต้องผจญสัตว์ร้ายแต่ก็มิได้หวั่นไหว มุ่งมั่นปฏิบัติภาวนาอย่างเต็มกำลัง
ทุ่มเทความพยายามเพื่อพระสัจธรรมอันประเสริฐ ด้วยความเพียรล้ำเลิศ
สมควรที่เราชาวพุทธจะได้ระลึกถึงและเคารพบูชาในปฏิปทาอันงดงามนี้

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เอกสารประกอบการเขียน

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูญาณทัสสี (หลวงปู่คำดี ปภาโส)
วัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๘.

"๒๘ พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์" พระธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม
ธรรมบรรณาการในงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ) ครบรอบวันมรณภาพปีที่ ๔๘ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๒.

เว็บไซต์

http://www.dharma-gateway.com



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP