กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage

หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ : สละโลกแสวงธรรม


river_banner

โดย เทียบธุลี

 

lpPromh

หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ภาพประกอบจาก
๒๘ พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์" พระธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม

หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ท่านเป็นผู้มีความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ดังคำยกย่องของท่านพระอาจารย์มั่น
เป็นผู้มีความพากเพียรสูงยิ่ง มีความตั้งใจแน่วแน่ ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดที่สุด
เป็นตัวอย่างที่ดีแก่พระภิกษุทั้งหลาย ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง


หลวงปู่พรหมในสมัยเป็นฆราวาส ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน แห่งหมู่ที่ ๑ บ้านดงเย็น
ได้ปกครองลูกบ้านด้วยความยุติธรรม จึงเป็นผู้ที่ได้รับการนับถือเป็นอย่างมาก
พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินทั้งวัวควายและไร่นา
ตลอดจนได้รับการเรียกขานว่า
นายฮ้อยพรหม มีเกียรติสูงมากในสังคม
(
นายฮ้อย คือผู้ที่เป็นหัวหน้าในการนำโคกระบือจากภาคอีสานไปขายยังภาคกลาง
ต้องเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็ง สามารถปกป้องชีวิตคนในขบวนเดินทาง
และจัดการดูแลวัวควายจำนวนหลายร้อยตัวได้)

แม้ว่าจะมีชีวิตทางโลกที่ควรมีความสุขเพียงใด แต่ท่านกลับพบว่าไม่ใช่เช่นนั้น
เฝ้าสงสัยตลอดมาว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ทำอย่างไรจะได้พบ
เมื่อได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์สาร (ท่านเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น
และเป็นพระอาจารย์คนแรกของหลวงปู่พรหม
) ซึ่งวิสัชนาว่า

ถ้าอยากประสบความสุขที่ปรารถนาอยู่นั้น
ต้องละอารมณ์คือรักใคร่พอใจในกามคุณ ๕
คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส
อันเป็นเหยื่อล่อให้ติดอยู่ในกองทุกข์ เสียให้หมดสิ้นไปจากใจ
ความสุขที่ปรารถนาอยู่นั้นก็จะฉายแสงออกมาให้ปรากฏเห็น
ตามสมควรแก่ความเพียร ที่ได้ทุ่มเทลงไปในทางที่ถูกที่ชอบ"

อุบาสกพรหมซาบซึ้งในรสพระธรรมยิ่งนักและตัดสินใจออกบวชในที่สุด
เมื่อคิดดังนั้นแล้ว จึงได้ทำการมอบทรัพย์ทั้งหมดแก่คนทั่วไป
เว้นแต่อุปกรณ์จับปลาล่าสัตว์ ที่ท่านนำไปทำลาย
ใช้เวลาในการแจกทรัพย์สินทั้งหมดรวม ๓ วัน ๓ คืน
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านตั้งใจพากเพียรอย่างไม่ย่อท้อ
หลังจากได้รับการสั่งสอนจากพระอาจารย์สาร จนเพียงพอต่อการปฏิบัติแล้ว
ก็กราบลาเพื่อออกธุดงค์ โดยนำหลานชายชื่อบุญธาตุ
ซึ่งอายุน้อยและยังไม่ได้เข้าโรงเรียนไปด้วย

ท่านจาริกจากเขตจังหวัดอุบลราชธานี ไปยังเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว
การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบาก กว่าจะพบหมู่บ้าน แล้วจึงจะได้พักผ่อน
ท่านดูแลจนหลานชายหลับไปแล้ว จึงบำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อเอาชนะกิเลส
พอรุ่งเช้าก็ออกเดินทางต่อไป วันแล้ววันเล่าที่ต้องบุกป่าฝ่าดง
ปีนภูเขาลูกแล้วลูกเล่า เต็มไปด้วยความยากลำบากและแร้นแค้น
บางวันไม่พบหมู่บ้านที่จะบิณฑบาตได้ ก็ไม่มีอาหารสำหรับท่านและหลานชาย
เด็กน้อยบุญธาตุร้องไห้ด้วยความหิว ได้แต่อาศัยน้ำประทังชีวิตไปเท่านั้น
ท่านเล่าถึงการธุดงค์ในสมัยแรกๆ ว่า

ปฏิบัติธรรมเพื่อเอาความดีนั้น จะต้องอดทน มีความพยายามอย่างสูงสุด
จึงจะได้มาซึ่งคุณงามความดี การเดินป่าหาธรรมะ ต้องต่อสู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นมา
บางวันก็ต้องหอบหิ้วสัมภาระทั้งหมดนี้ เช่น บาตร กลด กาน้ำ
และยังต้องอุ้มหลานชายไปด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้เดินทางได้เร็ว ทำอยู่อย่างนี้ตลอดวัน"

แม้ต้องเผชิญความยากลำบากเพียงไหนก็ไม่ย่อท้อ จนเดินทางถึงยังเมืองหลวงพระบาง
ขณะที่พักอยู่ที่นี่ ท่านอาพาธหนักด้วยโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร
ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลและด้วยยาของหมอพระ แต่อาการไม่ดีขึ้น
ในที่สุดท่านตัดสินใจว่าจะไม่ฉันยาขนานใดๆ อีก

ต่อไปนี้เราจะไม่รักษาด้วยยาอีก จะไม่ฉันยาขนานใดๆ อีกต่อไป
ถ้าจะเกิดล้มตายลงไปก็ถือเป็นกรรมเก่าของเรา
แต่ถ้าหากเรายังพอจะมีบุญอยู่บ้าง ก็คงจะหายไปเป็นปกติได้


หลังจากนั้นท่านได้เจริญสมาธิ ฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง พิจารณาธาตุขันธ์
แล้วเพ่งเพียรรักษาด้วยอารมณ์จิตใจที่เป็นสมาธิ
ด้วยคุณธรรมและบุญบารมีของท่าน ในที่สุดอาการอาพาธก็ค่อยๆ หาย
ได้เดินทางกลับประเทศไทย นำหลานชายกลับไปสู่พ่อแม่ของเขา
และออกธุดงค์ต่อไปเพื่อตามหาจนได้พบกับพระอาจารย์ใหญ่มั่น
และรับโอวาทในการปฏิบัติ ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย

หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ เป็นพระสงฆ์สาวกผู้ประเสริฐ
ดำเนินตามพระธรรมคำสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้ว่าจะพร้อมด้วยสถานะทางสังคมและทรัพย์ศฤงคาร แต่ก็สละเสียสิ้น
แล้วออกบวชเพื่อความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง
นับเป็นผู้ไม่ประมาท เป็นแบบอย่างของผู้สละชีวิตเพื่อโมกขธรรม
ดังพระธรรมเทศนา ที่ท่านได้สั่งสอนไว้เป็นคติเตือนใจแก่สาธุชนทั้งปวง

คนเราเกิดมาทุกรูปทุกนาม รูปสังขารเป็นของไม่เที่ยง
เกิดขึ้นแล้วล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
ไม่ว่าพระราชา มหากษัตริย์ พระยานาหมื่น คนมั่งมี เศรษฐี และยาจก
ล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
มีทางพอจะหลุดพ้นทุกข์ได้ คือทำความเพียร เจริญภาวนา
อย่าสิมัวเมาในรูปสังขารของตน มัจจุราชมันบ่ไว้หน้าผู้ใด
ก่อนจะดับไป ควรจะสร้างความดีเอาไว้


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เอกสารประกอบการเขียน

บูรพาจารย์ จัดดำเนินงานและพิมพ์โดยมูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ฉบับพิมพ์ ปี ๒๕๔๕
ตามรอยพระอาจารย์พรหม จิรปุญโญ พระอรหันต์แห่งบ้านดงเย็น" พิมพ์เมื่อ เมษายน ๒๕๔๙.
๒๘ พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์" พระธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม
ธรรมบรรณาการในงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ ( ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ) ครบรอบวันมรณภาพปีที่ ๔๘ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๒.

เว็บไซด์

www.dhammajak.net
www.sarakadee.com/web/modules.php?name=News&file=article&sid=315



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP