กระปุกออมสิน Money Literacy

กองทุนหุ้นแต่ละกอง แตกต่างกันหรือไม่ และเลือกอย่างไรดี (ต่อ)


Money     Literacy

Mr.Messenger

ฉบับก่อน ผมแยกประเภทของกองทุนหุ้นให้ดูเป็น ๒ ลักษณะใหญ่ๆ คงทำให้พอเห็นภาพที่ดีขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ คราวนี้ นอกจากนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันแล้ว อะไรที่แตกต่างกันอีก มาอ่านต่อในฉบับนี้กันเลย

ในกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Active Fund ก็ยังมีความแตกต่างกันเอง ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ผู้จัดการกองทุนหรือ Fund Manager ในความเห็นส่วนตัวของผม ผู้จัดการกองทุน มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะกำหนดทิศทางการลงทุนของกองทุน และสร้างผลตอบแทนแข่งขันกันเองเพื่อดึงดูด และทำให้นักลงทุนมาสนใจลงทุนกับกองทุนภายใต้การบริหารของตัวเอง ดังนั้น การตรวจสอบนโยบายการลงทุนของผู้จัดการลงทุน ว่าลงทุนในหุ้นประเภทไหน เสี่ยงสูงแค่ไหน หรือเน้นหุ้นพื้นฐานดี จ่ายปันผลต่อเนื่อง ถือเป็นหนึ่งขั้นตอนในการแยกความแตกต่างของกองทุนหุ้น ซึ่งท้ายที่สุด กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนรวมแต่ละกอง จะสะท้อนออกมาเป็นผลตอบแทนที่เราสามารถเปรียบเทียบได้ว่า กองทุนไหนบริหารดีไม่ดี หรือเหมาะกับเราหรือไม่อย่างไร ลองดูตารางผลตอบแทนกองทุนด้านล่างนี้นะครับ

money25

 

 

ข้อมูลผลตอบแทนกองทุนในตารางข้างบน สามารถตรวจสอบได้จาก Website ชื่อ www.morningstarthailand.com ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับกองทุนที่มีชื่อเสียงมากในเอเชีย โดยช่องตาราง YTD Return % หมายถึง Year-to-date Return หรือ ผลตอบแทนกองทุนนับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่เราเรียกข้อมูล (ตารางข้างต้นใช้ข้อมูลถึงวันที่ ๒๘ เม.ย. ๒๕๕๓ ที่ผ่านมาครับ) นับเวลาตั้งแต่วันที่ ๓ ม.ค. ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหุ้นไทยเปิดทำการเป็นวันแรกของปี นับรวมได้ ๔ เดือนพอดีๆ

จะสังเกตเห็นว่า กองทุนทั้ง ๒๐ กองทุน ลงทุนในหุ้นไทยเหมือนกัน แต่ผลตอบแทนต่างกัน ทั้งๆที่กองทุนทั้ง ๒๐ กอง เป็น Active Fund เหมือนกันหมด สาเหตุเป็นเพราะผู้จัดการกองทุนคัดเลือกหุ้นที่เข้าไปลงทุนแตกต่างกัน ใครทำผลการดำเนินงานได้ดีกว่า ก็แปลว่าบริหารเก่งกว่า (ณ ช่วงเวลานั้น) แต่ไม่ใช่ว่า เห็นกองทุนไหนผลการดำเนินงานสูงลิบลิ่วแล้วก็วิ่งเข้าใส่ทันที อย่าลืมคำเตือน ผลการดำเนินงานในอดีต ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคตเพราะฉะนั้น ความสม่ำเสมอของผลตอบแทนกองทุน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกกองทุนเพื่อลงทุน

มีให้เห็นหลายครั้งที่บางกองทุนทำผลการดำเนินงานดีแค่บางช่วงเวลา นักลงทุนที่เลือกลงทุนโดยไม่คำนึงถึงความสม่ำเสมอของผลตอบแทน ผลที่ตามมาคือ เมื่อเวลาผ่านไป เทียบกับกองทุนของแห่งอื่นแล้ว กลับได้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ ซึ่งไม่ต่างกับการเร่งความเพียรในการปฏิบัติธรรม หรือปฏิบัติด้วยความรีบเร่ง แล้วอยากได้ผลลัพธ์ในระยะเวลาอันสั้น ผลลัพธ์ก็จะไม่ได้ธรรมะกลับไป เนื่องจากปฏิบัติอยู่บนกิเลสที่ตัวมองไม่เห็น

ขอย้อนกลับไปที่ตารางผลตอบแทนกองทุนหุ้นด้านบนอีกทีนะครับ สาเหตุที่คนบางส่วนเลือกที่จะมาลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะลงทุนในหุ้นโดยตรง หรือผ่านกองทุนรวมอีกที ก็เพราะผลตอบแทนที่แสดงให้ดูข้างบน ปัจจุบันเงินฝากประจำธนาคาร (Fixed Deposit) ๑ ปี ให้ดอกเบี้ยไม่ถึงร้อยละ ๑.๕ ในยามที่ดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ ใครที่เคยฝากเงินแล้วได้ดอกเบี้ยเกินร้อยละ ๔ หรือสูงกว่านั้น ก็จะเริ่มทำใจไม่ได้ สุดท้ายก็จะพยายามหาแหล่งเงินออมผ่านทางช่องทางอื่นมากขึ้น รวมถึงตลาดหุ้น สำหรับใครที่ลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปี เมื่อเห็นผลตอบแทน ก็ไม่ผิดหวังเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝาก แต่กระนั้นก็ตาม จะเห็นว่าบางกองทุนก็ทำผลการดำเนินงานขาดทุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เราตระหนักตลอดเวลาว่า คาดหวังผลตอบแทนที่สูง ความเสี่ยงก็ย่อมตามมาเสมอ

อ่านมาถึงตรงนี้ ขอย้ำอีกทีครับว่า เรามาถึงการเลือกกองทุนหุ้นตรงนี้ได้ ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการวางแผนการเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ ในยามฉุกเฉิน หรือบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ ผมไม่ได้สนับสนุนให้หันมาลงทุนในหุ้นเพราะผลตอบแทนสูงกว่า โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ จนขาดสติ เป็นหนี้เป็นสินเพราะขาดทุนหุ้นกันไป... ทุกๆก้าวในชีวิตประจำวันต้องประกอบด้วยสติเสมอ ระหว่างทางที่อยู่บนเส้นทางของการลงทุน กิเลสจะเกิดขึ้นมาตลอดครับ (ผมขอยืนยัน) เห็นกองทุนโน้นผลตอบแทนดีกว่าที่เราลงทุน เห็นเพื่อนลงทุนในหุ้นแล้วได้กำไรเยอะกว่าเรา ฯลฯ สิ่งที่เราทำได้คือ ตามรู้กิเลสที่เกิดขึ้น แล้วพิจารณาหรือนึกย้อนกลับมาที่เป้าหมายทางการเงิน และขั้นตอนของการวางแผนลงทุนที่ผ่านมาของเรา จากนั้นถามตัวเองว่า เราวางแผนอย่างรอบคอบแล้วหรือยัง? เรากำลังดำเนินชีวิตโดยประมาทอยู่หรือเปล่า


โชคดีในการลงทุนครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP