เติมธรรมในทำนอง Lite Melody

Ebony and Ivory


melody_banner

โดย aston27

Ebony and Ivory live together in perfect harmony
Side by side on my piano keyboard, Oh lord, why don't we
We all know that people are the same where ever you go
There is good and bad in everyone
Learn to live, we learn to give each other
What we need to survive, together alive

ไม้มะเกลือกับงาช้างวางเคียงคู่
แล้วเราอยู่เคียงข้างบ้างได้ไหม
คนเราย่อมมีความต่างห่างกันไป
เพียงเปิดใจให้ที่ว่างระหว่างกัน

เราทั้งหลายย่อมมี ทั้งดีแย่
หากลองแผ่ใจดูจะรู้เห็น
เรียนเพื่อรู้ความต่างอย่างที่เป็น
โลกร่มเย็นทั่วหล้าพาสุขเอย

นี่คือเพลงสุดฮิตของปี ๑๙๘๒ (พ.ศ. ๒๕๒๕) จากฝีมือการเขียน เรียบเรียงและขับขานโดยเซอร์พอล แม็คคาร์ทนีย์ (Paul McCartney) ร่วมกับอัจฉริยะตาพิการที่ชื่อ สตีวี่ วันเดอร์ (Stevie Wonder)

พอล เขียนเพลงเรียบๆง่ายๆที่มีเนื้อร้องไม่กี่ประโยค เปรียบเปรยถึงความแตกต่างระหว่างสีผิว ความคิด ลัทธิความเชื่อของมนุษย์ กับความแตกต่างแบบสุดขั้วของสีคีย์บอร์ด ที่มีสีขาวยืนพื้น แซมด้วยสีดำเป็นระยะๆ นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่พอล เชิญชวนสตีวี่ วันเดอร์ สุดยอดศิลปินผิวดำฝั่งอเมริกามาร่วมงานกันในเพลงนี้ เพราะพอล เป็นตัวแทนของคีย์สีขาว สตีวี่เป็นตัวแทนของคีย์สีดำบนเปียโน

พอลบอกผ่านเพลงนี้ว่า แม้แต่สีดำของไม้มะเกลือ ซึ่งว่ากันว่ามีสีดำที่สนิท ชนิดวัยรุ่นสมัยนี้ต้องเรียกว่า ดำตัวแม่ยังอยู่ร่วมกับสีขาวงาช้างเคียงข้างกัน กลายเป็นคีย์เปียโน ที่บรรเลงเพลงไพเราะขับกล่อมผู้คนให้มีความสุขได้ แล้วทำไมพวกเราที่มีความแตกต่างกัน จะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกไม่ได้

ต้องเข้าใจภูมิหลังของช่วงปี ๑๙๘๒ นะครับ หลายท่านคงพอจำได้ว่า มันเป็นยุคที่แอฟริกาใต้ ยังมีปัญหาการเหยียดผิว มีความรุนแรงระหว่างผู้ปกครองผิวขาว กับประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนพื้นเมือง เป็นยุคที่ยังมีปัญหาเรื่องสงครามเย็น การหวาดระแวงกันระหว่างโลกเสรีนิยม ที่มีลุงแซมอเมริกาเป็นหัวหอก กับประเทศสังคมนิยม ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองอยู่ อย่างรัสเซียหรือยุโรปตะวันออก

ปีนั้น ยังมีกำแพงเบอร์ลินขวางกั้นแบ่งแยกเบอร์ลินและเยอรมันเป็นสองซีก คือเยอรมันตะวันตกกับตะวันออก เกาะอังกฤษมีขบวนการก่อการร้ายไอ อาร์ เอ ที่คอยวางระเบิด ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนชาวไอร์ริชนับถือศาสนาคริสต์ต่างนิกายกัน ไม่ต้องพูดถึงสงครามมาราธอนของยิว กับอาหรับ ที่ยังคงยืดเยื้อเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงนั้น พอล แมคคาร์ทนีย์ เขียนเพลงเกี่ยวกับสันติภาพไว้หลายเพลงครับ ไม่ว่าจะเป็นเพลงนี้ หรือเพลงอย่าง Pipe Of Peace ที่ชวนผู้คนให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ เรียกว่าพอเหมาะพอดีกับที่โลกต้องการ

อาจจะด้วยทำนอง และการเรียบเรียงที่ไพเราะ เสียงร้องที่ได้อารมณ์ ชื่อเสียงของนักร้องทั้งคู่ หรือเนื้อหาที่โดนใจประชาชนสมัยนั้น เพลงนี้เลยสามารถครองอันดับหนึ่งในชาร์ทเพลงหลายประเทศ รวมทั้งพี่เบิ้มอย่างอเมริกา และอังกฤษ เฉพาะในอเมริกาก็ปาเข้าไปเจ็ดสัปดาห์ติดต่อกัน นับเป็นเพลงที่ครองอันดับหนึ่งได้ยาวนานที่สุดของเซอร์พอล นับจาก The Beatles ยุบวงไป และเป็นอันดับสอง รองจากเพลง Hey Jude สมัยที่เขายังเป็นเดอะ บีทเทิลส์อยู่

เช่นกัน สำหรับสตีวี่ วันเดอร์ ถึงแม้เขาจะมีเพลงอันดับหนึ่งมามากมายหลายเพลง แต่นับได้ว่า Ebony and Ivory เป็นงานขึ้นหิ้งที่ติดอันดับหนึ่งนานที่สุดในชีวิตการทำงานของเขา

พวกเราคงไม่ยิ่งใหญ่พอจะบอกใครๆในโลกให้เลิกรังเกียจเดียดฉันท์หรืออย่ามีความเห็นต่าง ระหว่างสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา กระทั่งจุดยืนหรือรสนิยมทางการเมือง เพราะผมคงไม่ยิ่งใหญ่อย่างที่สตีวี่ วันเดอร์ พอล แม็คาร์ทนีย์ กระทั่ง โบโน่ เป็น ถ้าสามคนนั้นยังทำไม่ได้ แล้วพิทยากรจะเป็นใครล่ะ

เฉกเช่นกัน เราคงหวังไม่ได้ว่า ทุกคนในประเทศนี้จะต้องรักกัน คิดเหมือนกัน ชอบอาหารรสเดียวกัน ชอบดูหนังเรื่องเดียวกัน รักน้องร้องคนเดียวกัน เชียร์พรรคเดียวกัน สนับสนุนแนวทางการเมืองเหมือนๆกัน

หวังไว้ได้แค่ว่า จะเป็นสีเหลือง สีแดง ม่วง น้ำเงิน เขียว ขาว จะเป็นสาวเนื้อนุ่มหรือหนุ่มกระทง ก็อย่าเฮโลกันไปปิดถนน ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน กินอาหารดีดนตรีเพราะในสถานที่ไม่เหมาะไม่ควร โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของส่วนรวม

หรือมองในระดับจุลภาคลงมาอีกหน่อย เราคงหวังไม่ได้ว่าสามี ภรรยา ญาติ พี่น้อง เพื่อนบ้าน จะต้องคิดเหมือน ชอบเหมือน ทำเหมือนกันในทุกอย่างทุกเรื่อง แต่น่าจะพอหวังได้ว่า เราเองนั่นแหละ จะยอมรับความแตกต่างทางความคิด ความชอบ นิสัยใจคอ พอที่จะอยู่ร่วมชายคาหรือร่วมซอย ร่วมหมู่บ้านกันได้ โดยไม่อึดอัดขัดข้องและลำบากเกินไปนัก

ผู้รู้ท่านบอกว่า เปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนคนอื่นนั้นยาก แต่เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนมุมมองของเรา ที่มีต่อโลก นั้นง่ายกว่า

ผมไม่ได้หวังมากไปใช่ไหมครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP