กระปุกออมสิน Money Literacy

กองทุนหุ้นแต่ละกอง แตกต่างกันหรือไม่ และเลือกอย่างไรดี


Money    Literacy

Mr.Messenger

กองทุนหุ้น หรือ กองทุนตราสารทุน (Equity Fund) มีให้เราเลือกในตลาดมากมาย (ในที่นี้ ผมหมายถึง เฉพาะกองทุนหุ้นที่ลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้นก่อนนะครับ) หากมองแค่ผิวเผิน ก็ดูเหมือนว่า แต่ละกองทุนไม่แตกต่างกัน จะเลือกลงทุนกับกองทุนไหน ก็คงมีค่าเท่ากัน และให้ผลตอบแทนที่ไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อดูผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนหุ้นไทยไปซัก ๓ ถึง ๕ ปีขึ้นไป จะพบว่า กองทุนหุ้นไทยที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุด กับกองทุนหุ้นไทยที่ทำผลตอบแทนได้ต่ำสุด ให้ผลตอบแทนที่ต่างกันมากกว่าร้อยละ ๒๐ ทีเดียว ดังนั้นการคัดเลือกกองทุนรวมซึ่งจะเป็นพาหนะนำเราไปสู่เป้าหมายทางการเงินนั้น เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ครับ

ขอออกตัวก่อนว่า กองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนสูง ไม่ได้หมายความว่า เป็นกองทุนที่ดีกว่ากองทุนอื่นโดยเปรียบเทียบเสมอไปนะครับ หากติดตามอ่านบทความของผมมาในฉบับก่อนหน้า จะสังเกตเห็นว่า ผลตอบแทนที่สูง มาจากความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้น กองทุนหุ้นที่ผลตอบแทนต่ำ อาจเหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ แต่ท้ายที่สุด กองทุนเหล่านั้นก็ทำให้นักลงทุนบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ เช่นเดียวกัน สติปัฏฐาน มีทาง ๔ สาย ให้เราเดิน และทั้ง ๔ สาย ต่างก็พาให้เราเข้าไปรู้เห็นตามความเป็นจริงตามไตรลักษณ์ ดังนั้น ทางของการลงทุน ก็ไม่ได้จำกัดแค่เพียงทางเดียวนะครับ อย่าเถียงกันเพียงเพราะเราถนัดต่างกันเลย

ก่อนจะเลือกกองทุนหุ้นเป็นเราต้องรู้จักก่อนว่า กองทุนหุ้น แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
๑. เน้นการบริหารแบบเชิงรุก (Active Management Portfolio) หมายถึง กองทุนหุ้นที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยมีเป้าหมายเพื่อสามารถเอาชนะดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ให้ได้ โดยดัชนีอ้างอิงนี้ก็คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือที่เรารู้จักกันว่า SET Index นั้นเอง
๒. เน้นการบริหารแบบเชิงรับ (Passive Management Portfolio) หมายถึง กองทุนหุ้นที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยมีความเชื่อว่า ไม่มีใครสามารถเอาชนะดัชนีอ้างอิงได้ตลอดไป ดังนั้น ผลตอบแทนของกองทุนประเภทนี้จะใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงไปตลอดอายุการลงทุน
เรียกได้ว่า แบ่งออกเป็น ๒ แนวคิด ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงนะครับ ณ ปัจจุบัน ในแวดวงการลงทุน ก็ยังเถียงกันไม่จบว่าสุดท้ายแล้วกองทุนทั้ง ๒ ประเภท กองทุนไหนดีกว่ากองทุนไหน แต่ผมจะขยายความให้ว่า นักลงทุนประเภทไหนเหมาะกับการลงทุนแบบใด

กองทุนประเภท Active Management Portfolio (ขอเรียกสั้นๆว่า Active Fund) จะมีผู้จัดการกองทุนคอยคัดเลือกและซื้อหุ้นที่คิดว่าดีในมุมมองของผู้จัดการกองทุนเอง และขายหุ้น เมื่อราคาเริ่มสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน หรือคิดว่าแนวโน้มธุรกิจเปลี่ยนไป ข้อดีของกองทุนประเภท Active Fund ก็คือ นักลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิง (และอาจน้อยกว่า หากผู้จัดการกองทุนคัดเลือกหุ้นผิดตัว) สิ่งที่ต้องแลกมากับการมีผู้จัดการกองทุนมาดูแลกองทุนให้ก็คือ กองทุนประเภท Active Fund จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการ หรือ Management Fee ที่สูง เพื่อเป็นการจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้จัดการกองทุนที่คอยบริหารกองทุนให้เราไงครับ

กองทุนประเภท Passive Management Portfolio (เรียกสั้นๆว่า Index Fund) เป็นกองทุนที่ไม่มีผู้จัดการกองทุนดูแลหรือคัดเลือกหุ้นครับ กองทุน Index Fund จะลงทุนตามสัดส่วนการลงทุนของดัชนีอ้างอิง เพื่อให้ผลการดำเนินงานใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด ดังนั้นหาก SET Index วิ่งขึ้น ๑% ก็หมายถึง Index Fund ควรจะขึ้นใกล้เคียงกับ ๑% ด้วยเช่นเดียวกัน ข้อดีของกองทุนประเภทนี้ก็คือ ค่าธรรมเนียมการจัดการต่ำกว่า Active Fund เพราะไม่ต้องมีผู้จัดการกองทุนมาคอยคัดเลือก หรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน


คำถามคือ ในอดีตที่ผ่านมา Active Fund ดีกว่า Index Fund หรือเปล่า?
คำตอบคือ ดีกว่าในแง่ของผลตอบแทนระยะยาวครับ แต่จะมีสภาพตลาดบางช่วง ที่ Index Fund ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า สาเหตุที่ Active Fund ทำผลการดำเนินงานได้ดีกว่า เป็นเพราะ ปัจจุบันจำนวนหุ้นในดัชนีอ้างอิงของไทย หรือ SET Index จำนวนสูงกว่า ๕๐๐ ตัว ในจำนวนนี้ย่อมประกอบไปด้วยบริษัทที่หลากหลาย แตกต่างกัน และอยู่ในวงจรเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ตามแต่ความเสี่ยงเฉพาะของตัวบริษัท หรืออุตสาหกรรมนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นบริษัทที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ก็อาจได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในประเทศ หรือปัญหาการเมือง มากกว่าธุรกิจอื่น หรือธุรกิจธนาคาร ได้รับผลประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น ดังนั้น Active Fund ที่สามารถคัดเลือกหุ้นได้ถูกตัว ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ถ้ามีกรอบนโยบายการคัดเลือกหุ้นที่ดี หรือมีผู้จัดการกองทุนที่เก่ง


แล้วสภาพตลาดแบบไหนที่ Index Fund ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า?
ในช่วงจังหวะที่ตลาดหุ้นเป็นช่วงขาขึ้น เศรษฐกิจดีจริงๆ ซึ่งปกติจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆไม่เกิน ๖ เดือน กองทุนประเภท Index Fund จะมีโอกาสชนะกองทุน Active Fund สาเหตุก็เพราะเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีจริง หมายถึง บริษัทส่วนใหญ่ก็ต้องผลการดำเนินงานดีด้วย เมื่อบริษัทส่วนใหญ่ผลการดำเนินงานดี การคัดเลือกหุ้นจึงแทบไม่มีผลในระยะสั้น เพราะหุ้นเกือบทุกตัวในตลาดวิ่งขึ้นกันหมด แต่สภาพตลาดแบบนี้ มีให้เราเห็นบ่อยๆหรือครับ?

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจสรุปได้ว่า ส่วนตัวแล้วผมเลือกกองทุนประเภท Active Fund เพราะผมเชื่อว่า ผู้จัดการกองทุนถือเป็นมูลค่าเพิ่มให้แก่กองทุน และสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างกองทุนหุ้นธรรมดา กับกองทุนหุ้นที่ไม่ธรรมดาได้อย่างชัดเจน แต่ก็มีนักลงทุนอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกลงทุนในกองทุน Index Fund เพราะค่าธรรมเนียมต่ำกว่า และการขึ้นลงของราคากองทุนก็แปรผันตรงกับดัชนีอ้างอิง ตรวจสอบได้ง่ายกว่า

เราไม่มานั่งเถียงกันว่า กองทุนไหนดีกว่ากองทุนไหนนะครับ สำรวจที่ใจเราว่า นโยบายการลงทุนแบบใดที่เหมาะกับเรา สุดท้ายก็บรรลุเป้าหมายทางการเงินด้วยกัน ใครเหมาะกับการดูกาย ก็ทำ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใครเหมาะกับการดูจิต ก็ทำ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สุดท้ายเป้าหมายก็เป้าหมายเดียวกันคือ รู้แจ้งตามความเป็นจริง

เขียนมาตั้งนาน ได้แค่นโยบายการลงทุน คราวหน้ามาดูปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP