กระปุกออมสิน Money Literacy

เลือกลงทุนผ่านกองทุนรวม ให้มืออาชีพบริหารแทนเรา


Money    Literacy

Mr.Messenger

 

money22


เมื่อนับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดให้บริการเมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ ข้อมูลทางสถิติได้ยืนยันกับเราแล้วว่า การลงทุนในตราสารทุน (หรือหุ้น) ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคารถึง ๓ เท่า และยังมากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ประมาณ ๑.๕ เท่า เห็นอย่างนี้แล้ว หากอยากเร่งให้ตัวเราเองมีอิสรภาพทางการเงินเร็วขึ้น ก็ต้องเริ่มลงทุนในหุ้นแล้วครับ แต่ถ้าไม่มีเวลาศึกษาข้อมูล จะทำอย่างไร?

บทความนี้ เป็นครั้งที่ ๓ ที่ผมเขียนเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นนะครับ ได้รับคำถามมาจากเพื่อนๆและพี่ๆบางคนว่า แนวคิดในการลงทุนกับบริษัทที่ดี มีแนวโน้มธุรกิจสดใสและแข็งแกร่ง เป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ยากสำหรับมนุษย์เงินเดือนก็คือ การสละเวลาส่วนหนึ่งมานั่งวิเคราะห์ มานั่งเฟ้นหาหุ้นตัวนั้น บางคนถึงกับเปรียบเปรยว่า ยากพอๆกับงมเข็มในมหาสมุทรปัจจุบันหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีมากกว่า ๕๐๐ ตัว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นตัวไหนเหมาะกับเรา? เคยได้อ่านหนังสือธรรมะเล่มหนึ่ง ครูบาอาจารย์เคยสอนกับลูกศิษย์ของท่านว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ น่าจะสามารถใช้ได้กับสถานการณ์นี้เช่นกัน ลองนึกถึงวันแรกที่เราเริ่มขี่จักรยานสิครับ ล้มลุกคลุกคลานในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นก็ขี่ได้คล่องเป็นแล้วเป็นเลยไม่มีลืมแน่นอน กลับมาที่เรื่องการลงทุน เมื่อเราเริ่มศึกษาข้อมูลทีละนิดทีละหน่อย หุ้นที่ดูว่าเลือกยาก ก็จะไม่ยากอย่างที่คิด ไปๆมาๆ แค่นั่งดูงบการเงิน หรือเดินผ่านสินค้าบางอย่างในห้างสรรพสินค้า เราก็ได้หุ้นที่เราสนใจมาแล้ว

แต่ส่วนตัว ผมก็ยอมรับครับว่า การลงทุนเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายสำหรับทุกคน การปฏิบัติธรรมมีทางเดินหลายสายฉันใด การลงทุนก็มีทางเดินหลายสายฉันนั้น เราไม่โจมตีวิธีของใครที่ไม่เหมือนกับเรา เพราะเรารู้ว่า สุดท้ายแล้ว เป้าหมายของการลงทุนของเราคือ ความมั่นคง และอิสรภาพทางการเงินในอนาคตเช่นเดียวกัน เพียงแต่ทางเลือกของแต่ละคนแตกต่างกัน

สำหรับนักลงทุนที่ไม่ถนัดในการคัดเลือกหุ้น (ในที่นี้จะขอพูดถึงเฉพาะหุ้นไทยอย่างเดียวนะครับ) และมีเงินลงทุนจำกัด กองทุนรวมจึงถือเป็นทางเลือกอีกทางเพื่อเดินสู่เป้าหมายเดียวกันของเรา ข้อดีของการลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนรวมก็คือ ผู้จัดการกองทุนจะทำหน้าที่คัดเลือกหุ้นที่น่าสนใจตาม นโยบาย และกรอบการลงทุนที่กองทุนกำหนดไว้

ผู้จัดการกองทุน จะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ทั้งในแง่ของความรู้ และจริยธรรม มีใบประกอบวิชาชีพ (เหมือนหมอเลยครับ) เพื่อให้นักลงทุนสบายใจได้ว่า ลงทุนกับผู้ที่มีความชำนาญและรู้จริงในงานที่เขาทำ แต่ก็เหมือนหมอนะครับ บางคนเก่งแต่รักษาคนไข้บางคนไม่หาย แต่บางคนไม่มีชื่อเสียง แต่กลับสามารถรักษาคนไข้ที่ไปหาหมอมาแล้วเป็นสิบแต่ไม่หาย ให้หายได้ ผู้จัดการกองทุนก็มีทั้งที่ถูกจริต และไม่ถูกจริตกับนักลงทุน เราจึงต้องเลือกกองทุนให้เหมาะกับเราด้วยเช่นกัน

วิธีการเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุนแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่ผู้จัดการกองทุนจะคัดเลือกหุ้นมาไว้ในการบริหารประมาณ ๑๐-๔๐ ตัว ต่อหนึ่งกองทุน หากเราลงทุนหุ้นโดยผ่านตลาดหลักทรัพย์โดยตรง อาจจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป ในการลงทุนในหุ้นจำนวนมากขนาดนี้ แต่สำหรับกองทุนแล้ว บริษัทหลักทรัพย์จัดการหลายแห่ง เปิดโอกาสให้นักลงทุนเริ่มต้นลงทุนด้วยจำนวนเงินเพียงแค่ ๒,๐๐๐ บาท ๑๐,๐๐๐ บาท ก็มี แทนที่จะต้องไปนั่งเลือกหุ้นเอง ก็ได้เป็นเจ้าของหุ้นบริษัทดีๆ โดยใช้เงินลงทุนไม่มากอย่างที่คิด เห็นไหมครับ ว่ากองทุนรวมนั้นน่าสนใจทีเดียว

ข้อดีอีกข้อสำหรับการลงทุนผ่านกองทุนรวมก็คือ กระจายความเสี่ยง (Diversify) ยังจำกันได้นะครับ ว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ยิ่งลงทุนในหุ้น ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าการลงทุนในตราสารหนี้

กองทุนรวม สามารถช่วยกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของหุ้นรายตัวที่เราไปลงทุน ยกตัวอย่างเช่น โรงงานของบริษัทไฟไหม้ คนงานประท้วง ผู้บริหารลาออก ฯลฯ ซึ่งเหตุการณ์บางอย่าง เราไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้า แม้จะวิเคราะห์มาอย่างดีแล้วก็ตาม การลงทุนในหุ้นเพียงตัวเดียว ก็เท่ากับเราแบกรับความเสี่ยงไว้มากกว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวม หากลงทุนในบริษัทหลายบริษัท แล้วมีเหตุการณ์ไม่ดีกระทบกับราคาหุ้นของบริษัทใดเพียงบริษัทเดียว ผลตอบแทนโดยรวมของกองทุนรวมจะลดลงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น เนื่องจาก มีราคาของหุ้นตัวอื่นที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) คอยหนุนไม่ให้ผลตอบแทนลดลงมาก

ข้อสังเกตก็คือ ความเสี่ยงจากการลงทุน ไม่มีวันหมดไป ตราบใดที่เรายังลงทุน (และถึงแม้ไม่ลงทุน เราก็มีความเสี่ยงอยู่ดี) ดังนั้นเราทำได้แค่เพียง บริหารความเสี่ยงด้วยกระจายความเสี่ยงออกไป ไม่สามารถลดความเสี่ยงลงได้ทั้งหมด เรามีหน้าที่แค่รู้ว่า ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง และมีวิธีบริหารกับความเสี่ยงนั้นอย่างไร นักลงทุนไม่สามารถวิ่งเข้าเอาน้ำไปดับไฟเวลาโรงงานเกิดไฟไหม้ หรือไม่สามารถเข้าไปไกล่เกลี่ยให้คนงานเลิกประท้วงได้ หากเราเป็นแค่นักลงทุนรายย่อยคนหนึ่ง กิเลสที่เกิดขึ้นในใจ เราไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดขึ้นได้ กิเลสเกิดขึ้นแล้ว เราก็ไม่สามารถทำให้มันหายไปได้ ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน นักปฏิบัติจะไม่แทรกแซงกิเลส หน้าที่ต่อกิเลสคือ รู้เพียงเท่านั้น นักลงทุนก็มีหน้าที่แค่รู้ว่าความเสี่ยงมีอะไร และเลือกที่จะบริหารด้วยการกระจายความเสี่ยงนั้นอย่างไรเช่นเดียวกัน

สุดท้าย กองทุนหุ้นไทยของบริษัทหลักทรัพย์จัดการในตลาด มีลักษณะการลงทุนทั้งที่เหมือนกันและแตกต่าง ผลตอบแทนดีไม่ดีก็สลับกันไปมา ความเสี่ยงสูงหรือต่ำไม่เหมือนกัน ดูแล้ว ก็น่าจะเป็นเรื่องยากในการเลือกกองทุนรวม ฟังแล้วก็เหนื่อย แต่หากไม่มีเวลาศึกษาวิเคราะห์หุ้นรายตัวจริงๆ ความง่ายของการคัดเลือกกองทุนรวมที่เราสนใจลงทุนนั้น ง่ายกว่าการไปเลือกว่าจะลงทุนในหุ้นตัวไหน แน่นอน อันนี้ผมยืนยัน!

ฉบับหน้าจะพาไปเลือกกองทุนหุ้น พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

โชคดีในการลงทุนครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP