กระปุกออมสิน Money Literacy

แนวโน้มธุรกิจดี แค่นี้ก็เลือกลงทุนหุ้นได้แล้ว?


Money   Literacy

Mr.Messenger

money_1-re_21
รูปภาพประกอบโดย เซมเบ้


(ต่อจากฉบับที่ ๒๐)

แค่ผลประกอบการบริษัทดี แนวโน้มธุรกิจสดใส เราก็สามารถลงทุนในหุ้นตัวนั้นได้เลยทันทีหรือไม่? หรือถามอีกอย่างหนึ่งคือ ด้วยข้อมูลแค่นี้ สามารถตัดสินใจลงทุนได้แล้วหรือ? สิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนทั้งหน้าใหม่ และหน้าเก่าเถียงกันมาตั้งแต่ตลาดหุ้นไทยก่อตั้งเมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว และไม่ใช่แค่ตลาดหุ้นไทยเท่านั้นครับ นักลงทุนทั่วโลก ก็มีแนวคิดที่ขัดแย้งกันมาโดยตลอด ดังนั้น ผมขออธิบายในความคิดเห็นส่วนตัว จะถูกหรือผิด ขอให้พิจารณาด้วยตัวเองกันอีกทีครับ

หากราคาหุ้น ขึ้นอยู่กับผลประกอบการที่ยอดเยี่ยม และแนวโน้มของธุรกิจที่ดี แล้วเหตุใด แม้แต่หุ้นตัวที่เราคิดว่าดีที่สุดในตลาดถึงยังแกว่งขึ้นๆลงๆ ให้เราสงสัย แทนที่จะวิ่งขึ้นเป็นเส้นตรงไปเลย ถ้าตอบแบบกวนๆก็คือ ราคาหุ้น อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ มันเลยแสดงความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ให้เราเห็นตลอดเวลา (ฮาๆ) และเอาเข้าจริงแล้ว ราคาหุ้น ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่มีตัวตน (อนัตตา) ด้วยเช่นเดียวกัน (เริ่มไม่ฮา... เริ่มงงแทนใช่ไหมครับ ^^)

ขออธิบายความไม่มีตัวตนของราคาหุ้นนะครับ ราคาหุ้นที่อยู่ในตลาดนั้น เป็นราคาพอใจล่าสุดที่นักลงทุนผู้ทำการซื้อหรือขาย ณ ตอนนั้นยอมรับได้ ต้องย้ำว่า เป็นราคาพอใจล่าสุดที่นักลงทุนผู้ทำการซื้อหรือขาย ณ ตอนนั้นยอมรับได้ เพราะในตอนนั้น ผู้ที่ยังไม่มีหุ้นและไม่พอใจราคาหุ้นเพราะแพงเกินไป ก็จะยังไม่ตัดสินใจลงทุน ส่วนผู้ที่มีหุ้นแล้ว และไม่พอใจราคาหุ้นเพราะถูกเกินไป ก็จะไม่ตัดสินใจขายหุ้นเช่นเดียวกัน สาเหตุนี้ จะเห็นว่า ราคาหุ้น ถูกกำหนดด้วยความพอใจของนักลงทุน คราวนี้เราลองมาสังเกตที่ใจเราเองดูนะครับ ว่าเราเคยพอใจอะไรนานๆไหม กินข้าวอิ่ม พอใจได้ ๔ หรือ ๕ ชั่วโมงก็กลับมาไม่พอใจใหม่อีกที เพราะความหิวกลับมา หรือ ตอนเริ่มทำงาน เราก็คิดไปว่า ถ้าได้เงินเดือนสูงขึ้นเท่านั้นเท่านี้ ก็น่าจะดี พอมาสำรวจเงินเดือนตอนนี้ หลายๆคนได้เท่ากับที่เคยคาดหวังไว้ แต่สังเกตุไหมครับ... เรายังรู้สึกว่าไม่พออยู่เลย แล้วเราก็มีเหตุผลต่างๆนาๆมาอ้างอิงว่า เพราะอะไรถึงยังไม่พอ

ความพอใจนั้นเป็นสิ่งที่แต่ละคนสร้างขึ้นมา ระดับของมันจึงแตกต่างกัน เมื่อกลับมามองที่ราคาหุ้น จึงไม่แปลกที่นักลงทุนในตลาดจะคาดหวังแตกต่างกันไป สุดท้าย ราคาหุ้นก็เลยแสดงความไม่เที่ยงให้เราดู ด้วยการเหวี่ยงขึ้นๆลงๆ แกว่งไปแกว่งมาให้เราเห็นว่า ลงทุนในหุ้นนี้เสี่ยงจริงๆ

แล้วมีปัจจัยอื่นอีกไหมที่กระทบกับราคาหุ้น นอกจากความคาดหวังของนักลงทุนที่ไม่เหมือนกัน?
มีครับ เราแบ่งปัจจัยที่กระทบกับราคาหุ้นออกเป็น ๒ ปัจจัยหลักคือ

· ปัจจัยภายใน ที่มีผลกระทบกับเฉพาะราคาหุ้นของบริษัทนั้นๆ เช่น ผู้บริหารลาออก หรือ ต้องปิดปรับปรุงโรงงาน เป็นต้น

· ปัจจัยภายนอก ที่กระทบกับบริษัทอื่นๆด้วย เช่น ปัจจัยการเมือง หรือ นโยบายของภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

บางครั้งปัจจัยอื่นๆนี้ ก็มีผลระยะสั้นกับราคาหุ้น แต่บางครั้งก็มีผลระยะยาว ซึ่งวิเคราะห์ได้ไม่ยากเกินความสามารถครับ หากเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลในระยะสั้น ราคาหุ้น ก็จะตกลงไปในช่วงเวลาไม่นานมาก ต่อเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ราคาหุ้นก็จะกลับขึ้นมาสร้างจุดสมดุลของความพอใจใหม่

คุยไปคุยมา จริงๆแล้วแค่แนวโน้มธุรกิจดี ปัจจัยพื้นฐานเยี่ยม แค่นี้นักลงทุนก็เลือกลงทุนหุ้นได้แล้วครับ ในระยะยาว ข่าวร้ายต่างๆมักจะผ่านไป บริษัทที่ดีจริงจะสามารถเผชิญ และแก้ปัญหา เพื่อผ่านมันไปได้ครับ พอคิดได้อย่างนี้ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investor จึงมีแนวคิดในการลงทุนที่ผมชอบมาก นั้นก็คือ จงซื้อ เมื่อผู้อื่นกำลังกลัว (ข่าวร้าย) และจงขายเมื่อผู้อื่นโลภ (ข่าวดี)ท่องไว้เลยนะครับ สุดท้ายแล้วการลงทุนในหุ้น ไม่ได้ยากอะไรเลย เป็นหนทางในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินในธนาคาร แถมยังเป็นเครื่องมือในการดูจิตดูใจตัวเองได้ดีด้วย เพราะตลาดหุ้น มักจะทำให้เราสุขเกินปกติ และทุกข์เกินปกติ อยู่บ่อยๆ ... ความเกินปกติ ทำให้เราเห็นจิตใจตัวเองได้ชัดกว่าปกตินะครับ

สุดท้าย สิ่งที่ผมอยากเตือน ไม่ใช่เรื่องวิธีการลงทุน แต่เป็นเรื่องความต่อเนื่องในการลงทุน นักลงทุนจำนวนมากประสบปัญหา ขาดความต่อเนื่องในการลงทุน หรือใช้วิธีลงทุนครั้งเดียวด้วยเงินก้อนเดียว แล้วทิ้งยาวไปเลย เพราะลืมไปว่า อะไรในโลกก็ไม่แน่นอน หากเกิดปัญหาวิกฤต (Crisis) ขึ้น ไม่ว่าจะระดับประเทศ หรือระดับโลก ก็อาจมีผลทำให้ราคาหุ้นตกลงได้อย่างรุนแรง เพราะฉะนั้น นักลงทุนต้องมีความต่อเนื่องในการลงทุน และติดตามข่าวสารไปตลอด เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์ ได้บอกกับเราว่า จะขาดความต่อเนื่องไม่ได้ มีลมหายใจที่ไหน มีการปฏิบัติที่นั้น การลงทุนก็เช่นเดียวกันครับ และอย่าลืมลงทุนไป ก็ปฏิบัติธรรมไป ได้เช่นเดียวกัน



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP