จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๑ ทางนฤพาน


dlite_27

บนเส้นทางนักเขียน
ผมไม่มีความโดดเด่นแบบนักประพันธ์เท่าใดนัก
เพราะผลงานนวนิยายมีเพียง ๓ เรื่อง
และผมเองก็ไม่ได้พูดถึงงานเหล่านั้นสักกี่ครั้ง
แถมที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มวางจำหน่ายก็น้อย
ถ้าจะอ่านต้องเข้าเว็บ dungtrin.com เพื่ออ่านฟรีกัน

แต่ช่วงหลังเมื่อมีโอกาสพูดคุย
ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารและรายการโทรทัศน์ต่างๆมากขึ้น
ผมก็พบว่าหลายท่านในแวดวงบันเทิง
ได้อ่านทางนฤพานและกรรมพยากรณ์ทั้งสองภาคกัน
และยังพูดถึง หรือเอามาเป็นประเด็นสัมภาษณ์อยู่ไม่ขาด
ผมยังต้องตอบซ้ำๆว่า กำลังขัดเกลานวนิยายทั้งหมด
เพื่อตีพิมพ์ใหม่อีกรอบโดยสำนักพิมพ์ฮาวฟาร์ของผมเอง

คนส่วนใหญ่ถามว่าทำไมต้องขัดเกลาในเมื่อมันดีอยู่แล้ว
อย่างทางนฤพานนั้น คนต้องการกันมาก
แม้แต่สายส่งก็เรียกร้องย้ำๆไม่เลิก
บอกว่าคุณคะ มันดีอยู่แล้วแน่ๆ
ขนาดร้านจากต่างจังหวัดที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย
ยังถามหามาไม่ขาดสาย ขอให้พิมพ์สักทีเถอะ

ผมก็อยากพิมพ์ๆไปเหมือนกันครับ
แต่อีกใจก็ยื้อไว้ และมีเหตุผลสำคัญ
คือผมเห็นมาตลอดว่าฟีดแบ็กเกี่ยวกับทางนฤพานเป็นอย่างไร
บางคนไปบวชหลังอ่านทางนฤพานจบก็มี
บางคนคืนดีกับคู่ครองเพราะบางประโยคในทางนฤพานก็มี
บางคนมาสนใจพุทธศาสนาเพราะรู้สึกว่าชีวิตของตน
ต้องการคำตอบเหมือนตัวละครในทางนฤพานก็มี

สิ่งที่ผมจดจำกลับไม่ใช่ฟีดแบ็กด้านบวกเหล่านั้น
แต่เป็นที่หลายคนบ่นว่าอ่านยาก ไม่เข้าใจ หนักไป
หรือต้องวางตั้งแต่ยังไม่ทันผ่านบทแรก อะไรทำนองนี้มากกว่า
ถ้าทางนฤพานจะกลับมาพิมพ์เป็นเล่มหนาๆอีกครั้ง
ผมก็อยากแน่ใจว่าฟีดแบ็กที่เป็นลบเหล่านี้จะหมดไปหรือน้อยลง

แม้นวนิยายจะถูกมองว่าเป็นสื่อบันเทิง
แล้วผมก็เขียนด้วยความรู้สึกพื้นฐานว่าอยากเขียนอะไรสนุกๆ
ทว่าตั้งแต่เริ่มต้นมา ผมก็เขียนอย่างมีจุดมุ่งหมาย
คือท้ายที่สุดอยากให้มันมีค่า
ไม่ใช่จบแล้วก็จบเลย ทิ้งไว้แต่อารมณ์เหลวไหลในใจคนอ่าน

แรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเชิงสนับสนุนศาสนานั้น
ผมเคยบอกหลายครั้งว่าได้แบบอย่างจากครูบาอาจารย์
ที่เขียนนำทางไว้ เช่น ท่านอาจารย์แสง จันทร์งาม
ซึ่งใช้นามปากกาว่า "ธรรมโฆษ" ที่เขียนเรื่อง "ลีลาวดี"
ก็มีส่วนสำคัญในช่วงเริ่มสนใจพุทธศาสนา
ได้รับความรู้ความเข้าใจ ควบคู่ไปกับความบันเทิง

แต่ยิ่งไปกว่านั้น ผมยังเคยเห็นวาทะเด็ดของฝรั่ง
ที่บอกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายอย่างในปัจจุบัน
เกิดขึ้นจากความคิดฝันของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในอดีต
ผมเคยเข้าใจและได้หลักในการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์
จากข้อสรุปสั้นๆของเฟรด โพห์ล (Fred Pohl) ว่า
นิยายวิทยาศาสตร์ดีๆไม่ควรช่วยให้แค่ฝันว่าวันหนึ่งเราจะมีรถใช้
แต่ทำให้นึกออกด้วยว่าการจราจรที่ติดขัด
อันเกิดจากการร่วมกันใช้รถมันเป็นอย่างไร
(A good science fiction story should be able to predict
not the automobile but the traffic jam.)

ข้อสรุปที่กระชับและกินใจของเฟรด โพห์ลทำให้ผมได้คิดมากมาย
นิยายวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจและกลายเป็นแรงบันดาลใจอันทรงพลัง
ส่วนใหญ่ก็ใช้ไอเดียแนวๆเดียวกัน
แต่ที่ต่างกันคือมุมมองอันก่อให้เกิดความเข้าใจล่วงหน้าอย่างกระจ่าง
ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ในโลกนี้
ถ้าวันหนึ่งเทคโนโลยีช่วยให้พวกเรามีชีวิตเป็นอมตะ
ถ้าวันหนึ่งเทคโนโลยีช่วยให้พวกเราหายตัวได้
ถ้าวันหนึ่งเทคโนโลยีช่วยให้พวกเราเดินทางข้ามมิติในพริบตา
สิ่งที่รออยู่คือความผาสุกหรือวี่แวววุ่นวายอลหม่านกันแน่?

ความจริงก็คือถ้ามีอะไรเช่นเทคโนโลยีหายตัวเดินทางข้ามมิติได้
มันไม่ใช่แค่ความวุ่นวายหรอกครับ
มนุษยชาติและมนุษย์ต่างดาวอีกมากมายมีหวังสูญพันธุ์เลยทีเดียว
อาจจะภายในหนึ่งปีหรือสิบปีหลังเทคโนโลยีนี้กำเนิดขึ้น
มันจะไม่ใช่อะไรแค่ที่คุณเห็นในเรื่องสตาร์เทร็ค
เอาเทคโนโลยีนี้เดินทางขึ้นยานและลงจากยานเท่านั้น
แต่มันจะถูกเอาไปสนองทุกรูปแบบตัณหาของคน
อยากฆ่าใครก็แวบไปฆ่า อยากขโมยอะไรก็แวบไปขโมย
อยากข่มขืนใครก็แวบไปข่มขืน นี่แหละคืออะไรที่จะเกิดขึ้นจริง
แล้วก็เป็นสิ่งที่นักประพันธ์นิยายวิทยาศาสตร์ขี้เกียจเอามาตีแผ่

เมื่อได้มุมมองว่าคุณค่าของนิยายวิทยาศาสตร์
คือการวาดภาพให้คนอ่านเห็นอย่างกระจ่าง
ว่า "อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า..."
ผมก็มองย้อนมาถามตัวเองว่าคุณค่าของนิยายธรรมะล่ะ คืออะไร?
วันนี้ผมคิดว่าได้คำตอบชัดครับ
นิยายธรรมะที่ดี ไม่ใช่การวาดภาพความดีที่แตะต้องไม่ได้
แต่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างโลกดีๆขึ้นมาจริงๆ
ซึ่งที่จะเป็นเช่นนั้นได้ นิยายดังกล่าวต้องสนุก อ่านง่าย
สนองความต้องการของคนอ่านเป็นอันดับแรก
จากนั้นจึงค่อยแทรกแรงบันดาลใจทางศาสนาเข้าไป
ไม่ใช่เอาแรงบันดาลใจทางศาสนามาเป็นตัวตั้ง
เหมือนอย่างหนังสือธรรมะธรรมดา

ทางนฤพานเวอร์ชั่นเดิมยังถูกมองจากหลายคน
ว่าเป็น "ธรรมะแบบเก่า" อยู่ดี
แม้ว่าจะมีอะไรที่ร่วมสมัยเจืออยู่บ้างก็ตาม
อธิบายมาทั้งหมดก็เพื่อความเข้าใจ
ว่าผมกำลังพยายามทำอะไรกับทางนฤพาน
ยิ่งรู้ว่าอยู่ในความสนใจไม่สร่างซา
ผมยิ่งอยากให้ออกมาแล้ว "เวิร์ก" ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ถ้าเป็นอย่างที่คาดหวัง
ทางนฤพานจะเป็นการสื่อสารธรรมะแบบใหม่
เพื่อให้การค้นพบเมื่อเกือบสามพันปีของพระพุทธเจ้า
ยังคงทันสมัยไปจนชั่วนิรันดร์

หลังจากพยายามแบบล้มๆลุกๆหลายรอบ
ก็คิดว่าเร็วๆนี้น่าจะมีสัญญาณความสำเร็จที่ดีตามความตั้งใจได้ครับ

ดังตฤณ
มีนาคม ๕๓

 

 

สุดยอดแห่งการต่อสู้
คือการต่อสู้กับความ โลภ โกรธ หลง ในใจเราเอง
คอลัมน์สารส่องใจ ฉบับนี้
อ่านธรรมะจาก พระอาจารย์อัครเดช ถิรจิตฺโตแห่งวัดบุญญาวาส
ในตอน "ต่อสู้กับกิเลส" ค่ะ (-/\-)


คอลัมน์ กว่าจะถึงฝั่งธรรมฉบับนี้
เป็นเรื่องราวของ หลวงปู่จวน กุลเชฏฺฺโฐ (-/\-) ค่ะ
ครูบาอาจารย์ท่านมีวิธีรับมืออย่างไร
เมื่อต้องเผชิญภัยจากมาตุคาม (ผู้หญิง)
ติดตามได้ในตอน "ไม่ขอคืนสู่ชีวิตที่สละแล้ว" ค่ะ


คุณผู้อ่านที่กำลังเบื่อหน่ายท้อแท้กับ สารพันปัญหาในที่ทำงาน
ขอแนะนำคอลัมน์ ดังตฤณวิสัชนาค่ะ
ทราบหรือไม่คะว่า ณ ขณะที่จิตเกิดความท้อแท้อยู่นี้
เราสามารถเปลี่ยนวิกฤต ให้เป็นโอกาสในการเจริญสติได้ ^_^
ส่วนจะมีเทคนิคอย่างไรนั้น อ่านคำแนะนำจาก คุณดังตฤณ
ในตอน "วิธีการเจริญสติในขณะที่ท้อแท้เพราะงาน" ค่ะ


หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่ารักหนึ่ง ก็ทุกข์หนึ่ง
ยิ่งมีรักมากเท่าไหร่ ก็ต้องทุกข์เพราะรักมากขึ้นเท่านั้น
แล้วถ้าเป็น รักซ้อนล่ะคะ? จะทุกข์มากแค่ไหน?
คอลัมน์ โหรา (ไม่) คาใจฉบับนี้
มาเอาใจช่วยลูกค้า "คุณ Aims Astro"
ให้หาทางออกกับปัญหาความรักให้ได้
ในตอน "ทุกข์หนักเพราะรักซ้อน" ค่ะ

 

 

ข่าวสารและกิจกรรมที่น่าสนใจ

วันศุกร์ที่ ๑๒ มีนาคมนี้ เวลา ๑๐.๓๐ ๑๑.๐๐ น.
พบกับคุณดังตฤณได้ในรายการ ธรรมเสน่ห์ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวีค่ะ
ใครที่ต้องการทราบเคล็ดลับเอาชนะความโกรธและวิธีสร้างเสน่ห์ทางใจ
ติดตามชมกันให้ได้นะคะ ^_^

เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงเว็บไซต์เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นไป
Dlitemag ขอเชิญชวนคุณผู้อ่าน ร่วมแสดงความคิดเห็น
ในหัวข้อ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านเว็บไซต์
ผู้สนใจ สามารถร่วมตอบแบบสอบถามตามลิงค์ด้านล่างนะคะ
ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ
https://spreadsheets.google.com/viewform?formkey=dFNzcXE0MkxVdExtUTM4OXE1aGp2M3c6MA

หมายเหตุ :
ผู้วิจัย คุณกุลชลี เฮงเจริญรุ่งเรือง
นักศึกษาปริญญาโท สาขาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
โครงการ MSMIS คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP