สารส่องใจ Enlightenment

พิจารณารูปกายตามเป็นจริง



วิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร



ปุจฉา - หลวงปู่คะ ช่วยอธิบายธาตุทั้ง ๔ ด้วยนะคะ แยกแต่ละอย่างด้วยค่ะ
กราบขอบพระคุณยิ่งค่ะ และขอหลวงปู่ช่วยแผ่เมตตาให้ด้วย


วิสัชนา - ธาตุทั้ง ๔ นั้น ธาตุอันใดมีลักษณะแค่นแข็ง ธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุ
ปฐวีธาตุนั้นที่เป็นภายใน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
(อาหารเก่า คืออุจาระที่เหลืออยู่ในท้อง
อาหารใหม่ คืออาหารที่ยังไม่ทันย่อยจะนับว่าเป็นอุจจาระไม่ได้)
เหล่านี้แหละเรียกว่าธาตุดิน
อ้า...ลืมไปบ้าง ธาตุดินนั้นเพิ่มกะโหลกศีรษะและมันสมองเข้าไปอีก จัดในธาตุดินอีก
สมองนั้นท่านเทียบว่าเหมือนนุ่นคลุกกะทิ


ธาตุอันใดมีลักษณะเอิบอาบ คือซึมซาบไปในดินได้
เรียกว่าอาโปธาตุ คือธาตุน้ำ
อาโปธาตุนั้นที่เป็นภายใน คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ
มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร
เหล่านี้แหละเป็นธาตุน้ำ


ธาตุอันใดมีลักษณะร้อน ธาตุนั้นเป็นเตโชธาตุ คือธาตุไฟ
เตโชธาตุนั้นที่เป็นภายในคือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม
ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย เหล่านี้แหละเรียกว่าธาตุไฟ


ธาตุอันใดมีลักษณะพัดไปมา ธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุ คือธาตุลม
วาโยธาตุนั้นที่เป็นภายใน คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน
(ลมหาวลมเรอ ลมไอ ลมจาม ลมอ้วก เป็นต้น)
ลมพัดลงเบื้องต่ำ (คือผายลม ลมถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ดันลง)
ลมในท้องนอกไส้ ลมในลำไส้อันเป็นช่องว่าง
ลมพัดตามตัวตามเส้นเอ็น ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
นี้แหละเรียกว่าธาตุลม


ให้พิจารณาว่า กายนี้เต็มไปด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ประชุมกันเป็นรูป เรียกว่า "กาย" ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เป็นสักว่าธาตุ หรือรูปธาตุก็ว่า หรือรูปธรรมก็ว่า หรือรูปขันธ์ก็ว่า หรือรูปโลกก็ว่า
สิ่งเหล่านี้อยู่ใต้อำนาจอนิจจังทั้งนั้น
และก็อยู่ใต้อำนาจทุกขังในตัวด้วย เพราะจะได้แตกสลายออกจากกัน
และก็เป็นอนัตตาอยู่ในตัวด้วยเพราะไม่ยืนยันว่าเป็นของใคร
แต่พวกเรามายืนยันว่าเป็นของคนนั้นคนนี้ตามสมมติ แต่ก็จริงตามสมมติ
แต่ตามปรมัตถ์นั้นไม่ใช่ของใครเสียแล้ว
เพราะดินได้แตกลงเป็นดินตามเดิม คือมหาภูตธาตุ
น้ำก็จะได้แตกลงไปเป็นน้ำ เพราะเป็นของเหลว
ธาตุอบอุ่นหรือร้อนหรือสามารถไหม้เรียกว่าธาตุไฟ
ก็จะแตกไปรวมอยู่ที่ธาตุไฟนั่นเอง
แม้ลมก็จะแตกไปเป็นลมอยู่ตามเดิมนั่นเอง
นี่เรียกว่าพิจารณารูปกายตามเป็นจริง


ตามธรรมเนียมของหลวงปู่
แต่ละวันละคืนก็ต้องพลิกแผ่เมตตาอยู่ไม่ให้เว้นแต่ละคืนอยู่แล้ว
นี้หมายความว่าแบ่งเวลาออกจากกรรมฐานอื่น


เมตตาก็ดี พุทธานุสติก็ดี อสุภะกรรมฐานซึ่งเป็นของบูดราในสกลกายก็ดี
มรณะระลึกถึงความตายอันจะมาถึงตนและปวงชาวโลกก็ดี
กรรมฐาน ๔ อย่างนี้ พระองค์เรียกว่า “อารักขกรรมฐาน”
และสอนให้เจริญเป็นนิจ บ่อยๆ


ท้ายนี้ ด้วยเดชพระพุทธศาสนาอันทรงพระคุณค่าไม่มีประมาณ
และก็ทรงมีอยู่ทุกกาลด้วย ไม่ขึ้นอยู่กับผู้เชื่อและไม่เชื่อ
เมื่อเป็นดังนี้ พวกเราทั้งหลายทุกถ้วนหน้าทั่วทั้งสรรพไตรโลกา
อย่าได้มาเกิด แก่ เจ็บ ตายในสรรพโลกทั้งปวงอีกเลย


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP