กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต : ระงับทุกขเวทนาด้วยธรรมโอสถ


river_banner

โดย เทียบธุลี


luangpoomun

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

รูปภาพประกอบโดย http://www.luangpumun.org/pic/undertree.html


ความเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของทุกคน
โรคบางโรคอาศัยยาแผนปัจจุบันหรือยาสมุนไพร
ก็สามารถบรรเทาอาการหรือช่วยให้หายขาดได้
แต่โรคบางโรคแม้จะพยายามสักเท่าใด
ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาเลย
จึงมีบางท่านใช้ "ธรรมโอสถ" ในการเยียวยาตนเอง ให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัยมาได้
ดังเช่นเรื่องราวของ "ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น"
ผู้เป็นบูรพาจารย์ของพระสงฆ์ในสายวิปัสสนากรรมฐานหลายๆ รูปในประเทศไทย

ดังที่ได้ทราบกันดีในหมู่ผู้สนใจศึกษาประวัติของครูบาอาจารย์
ว่าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นผู้ที่ปฏิบัติธุดงควัตรอย่างเคร่งครัด
ในสมัยที่ออกปฏิบัติเบื้องนั้น
ครั้งหนึ่งหลังจากได้กราบนมัสการท่านพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
และได้รับวิธีพิจารณาปัญญาเพิ่มเติมแล้ว
ท่านพระอาจารย์มั่นได้ออกจาริกไปทางเขาใหญ่ จังหวัดนครนายก จนถึงถ้ำสาริกา
ซึ่งท่านได้ขอให้ชาวบ้านในหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากถ้ำนั้น ให้ไปส่งเพราะท่านไม่รู้ทาง
ชาวบ้านได้เตือนด้วยความห่วงใย ว่าที่ถ้ำนี้มีผีหลวงที่ดุร้ายมาก
ไม่ว่าพระหรือคนที่ไปอยู่จะต้องมีอันเป็นไปเสียทุกราย
มีพระมามรณภาพที่ถ้ำนี้แล้ว ๔ รูป ในระยะเวลาไม่ห่างกันเลย
แต่พระอาจารย์มั่นท่านกลับเห็นว่าจะเครื่องเตือนสติให้ได้อย่างดี
ด้วยว่าท่านมีจิตใจที่กล้าหาญ พร้อมเผชิญต่อเหตุการณ์ต่างๆ อยู่ทุกขณะจิต
ในที่สุดชาวบ้านก็ต้องยอมไปส่งท่านที่ถ้ำสาริกา

ในช่วง ๒-๓ คืนแรกที่พำนักในถ้ำแห่งนี้
ท่านได้รับความสงบดี เพราะเป็นสถานที่ที่เงียบสงัดมาก
ในคืนถัดจากนั้น โรคเจ็บท้องซึ่งท่านเคยเป็นก็กลับกำเริบ
ไม่ว่าจะฉันอะไรเข้าไปก็ไม่ย่อย จนถึงขนาดถ่ายออกมาเป็นเลือด
แม้จะพยายามรักษาด้วยยาสมุนไพร ก็ไม่ทำให้อาการดีขึ้น
แต่กลับทวีความรุนแรงของโรคมากกว่าเดิม
ทำให้กำลังกายของท่านอ่อนแอลงและกำลังใจก็ลดลงบ้างเช่นกัน
ในที่สุดท่านก็เลิกฉันยาเพราะพิจารณาแล้วว่าไม่ได้ช่วยให้หายจากโรคเลย
และตัดสินใจใช้ ธรรมโอสถเพียงอย่างเดียวในการรักษาโรค
จะไม่ฉันยาใดๆ จนกว่าโรคนี้จะหายด้วยธรรมโอสถ
หรือไม่ก็คือจนกว่าจะตายในถ้ำแห่งนี้

ท่านได้พิจารณาว่าตนเองได้ปฏิบัติมามากพอสมควรแล้ว
ไม่ควรจะขี้ขลาดอ่อนแอในทุกขเวทนาเพียงเท่านี้
เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเวลาที่ขันธ์จะแตกดับ
ความทุกข์ที่จะถาโถมเข้ามาทั้งทางร่างกายและจิตใจมากกว่านี้
ถ้าเพียงแค่นี้ท่านยังสู้ไม่ไหว แล้วจะสู้ในเวลาที่ธาตุขันธ์จะแตกดับได้อย่างไร

ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ไว้
ในหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ดังความว่า

“...พอท่านทำความเข้าใจกับตนเองอย่างแน่ใจและมั่นใจแล้ว
ก็หยุดจากการฉันยาในเวลานั้นทันที และเริ่มทำสมาธิภาวนา
เพื่อเป็นโอสถบำบัดบรรเทาจิตใจและธาตุขันธ์ต่อไปอย่างหนักแน่น
ทอดความอาลัยเสียดายในชีวิตธาตุขันธ์ ปล่อยให้เป็นไปตามคติธรรมดา
ทำหน้าที่ห้ำหั่นจิตดวงไม่เคยตาย แต่มีความตายประจำนิสัย
ลงไปอย่างเต็มกำลังสติปัญญาศรัทธาความเพียรที่เคยอบรมมา
โดยมิได้สนใจคำนึงต่อโรคที่กำลังกำเริบอยู่ภายใน
ว่าจะหายหรือจะตายไปขณะใดในเวลานั้น หยั่งสติปัญญาลงในทุกขเวทนา
แยกแยะส่วนต่างๆ ของธาตุขันธ์ออกพิจารณาด้วยปัญญาไม่ลดละ
คือ ยกทั้งส่วนรูปกาย ทั้งส่วนเวทนา คือ ทุกข์ภายใน
ทั้งส่วนสัญญาที่หมายกายส่วนต่างๆ ว่าเป็นทุกข์
ทั้งส่วนสังขารตัวปรุงแต่งว่าส่วนนี้เป็นทุกข์ส่วนนั้นเป็นทุกข์ ขึ้นสู่เป้าหมายแห่งการพิจารณา
ของสติปัญญาผู้ดำเนินงานทำการขุดค้นคลี่คลายอย่างไม่หยุดยั้ง
แต่เวลาพลบค่ำถึงเที่ยงคืน คือ ๒๔.๐๐ นาฬิกา จึงลงเอยกันได้
จิตมีกำลังขึ้นมาอย่างประจักษ์ สามารถคลี่คลายธาตุขันธ์
จนรู้แจ้งตลอดทั่วถึงทุกขเวทนาที่กำลังกำเริบขึ้นอย่างเต็มที่จากโรคในท้อง
โรคก็ระงับดับลงอย่างสนิท จิตรวมลงถึงที่ในขณะนั้น
ขณะนั้นโรคก็ดับ ทุกข์ก็ดับ ความฟุ้งซ่านในใจก็ดับ..."


ด้วยความห้าวหาญในธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตโต
ทำให้ชนะต่อโรคทางกายได้ด้วยธรรมโอสถ
ท่านได้พำนักในถ้ำสาริกา เป็นเวลาถึง ๑ ปี
ก่อนที่จะต้องเดินทางกลับไปยังภาคอีสาน
เพื่อแนะนำสั่งสอนพระเณรและฆราวาสต่อไป
ท่ามกลางความอาลัยของมนุษย์และเทวดา
ที่ได้ทำบุญและฟังธรรมจากท่าน ณ ถ้ำสาลิกาแห่งนี้


-------------------------------------------------------------------------


เอกสารประกอบการเขียน

ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ฉบับพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๐
"ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร สังเขปประวัติ คติธรรม คำสอน"
รวบรวมโดย www.schoolofdhamma.com และทีมงาน ฉบับพิมพ์เมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

 



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP