กระปุกออมสิน Money Literacy

จะเลือกกองทุนรวมตราสารตลาดเงินอย่างไรดี?


Money Literacy

Mr.Messenger

เริ่มต้นลงทุนกันแล้ว เปิดบัญชีกองทุนรวมกันแล้ว แต่พอหันไปดูธนาคารอื่นๆ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่อื่น ก็เห็นมีกองทุนรวมให้ซื้อขายกันทั้งนั้น เห็นแค่ชื่อที่ต่างกัน ไม่เห็นรู้เลยว่าความแตกต่างคืออะไร มีอะไรที่ต้องสนใจมากกว่าแค่ชื่อกองทุนหรือเปล่า

ก่อนจะไปต่อ มาทวนกันก่อนว่า กองทุนรวมตราสารตลาดเงิน หรือ Money Market Fund คือ กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐหรือภาคเอกชน ที่มีอายุครบกำหนดไม่เกิน ๑ ปี ลักษณะกองทุนจะสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ โดยนักลงทุนจะได้รับเงินจากค่าขายหน่วยลงทุนภายใน ๑ หรือ ๒ วันทำการถัดไป นับตั้งแต่วันที่ทำรายการ จำได้นะครับ

มาต่อกันที่เรื่องความแตกต่าง แน่นอนครับ แต่ละ บลจ. มีความแตกต่างกันแน่นอน สิ่งที่นักลงทุนต้องดูประกอบการตัดสินใจ ว่าจะเลือกลงทุนกับที่ไหน มีดังนี้ครับ


๑) นโยบายการลงทุน

แม้กองทุนรวมตราสารตลาดเงิน (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า MMF) เหมือนกัน แต่ผู้จัดการกองทุนของแต่ละกอง ก็มีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน คือ การบริหารความเสี่ยงของผลตอบแทนที่จะได้รับครับ บางกองทุนเน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน ก็จะเสี่ยงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐฯ แต่การลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนก็มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ภาครัฐฯ เป็นธรรมดา ปัจจุบันกองทุนรวม MMF ในตลาด มีทั้งที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐฯทั้งหมด ๑๐๐% หรือบางกอง ก็มีการลงทุนทั้ง ๒ แบบ ผสมกันไป เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า ลองดูผลตอบแทนเปรียบเทียบกับความเสี่ยงดูก่อนว่า คุ้มค่าแก่การเสี่ยงหรือไม่


๒) อายุตราสารที่ลงทุนเฉลี่ยในพอร์ตโฟลิโอ

จริงๆ ก็คือหัวข้อนโยบายการลงทุนเหมือนกัน แต่ที่ต้องแยก เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องอธิบายเพิ่มครับ เนื่องจากการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง มีตราสารหนี้หลายช่วงอายุตั้งแต่ ๗ วัน ไปจนถึง ๒๐-๓๐ ปี ก็มี แต่เนื่องจาก MMF กำหนดไว้แต่แรกว่า ห้ามลงทุนในตราสารหนี้ที่อายุเกินกว่า ๑ ปีขึ้นไป ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจะคัดเลือกเฉพาะตราสารหนี้ที่อายุต่ำกว่า ๑ ปีลงมา แต่ก็ยังถือว่ามีให้เลือกเยอะแยะมากมายครับ ยิ่งถือตราสารหนี้อายุยาว ก็จะยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ก็จะแลกมาด้วยความผันผวนของมูลค่าหน่วยลงทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นต้องเลือกกองทุนที่มีอายุตราสารเฉลี่ยในพอร์ตเหมาะสมกับความเสี่ยง ที่เรารับได้เช่นกัน ข้อมูลส่วนนี้ เราสามารถถามได้กับเจ้าหน้าที่บริษัทฯ โดยตรงครับ


๓) ช่องทางการบริการซื้อขายหน่วยลงทุน

ถือว่าสำคัญเหมือนกันครับ เพราะกองทุน MMF นั้นมีสภาพคล่องสูง ต้องสามารถซื้อและขายได้ทุกวันทำการของธนาคาร หากเราเลือกกองทุนที่เราไม่สะดวกจะทำรายการ ก็เท่ากับเราไม่ได้ใช้ข้อได้เปรียบของกองทุนอย่างเต็มที่ ปัจจุบันมีหลาย บลจ. สามารถให้เราทำรายการผ่านทางโทรศัพท์ และ Internet เรียกได้ว่าสะดวกกว่าแต่ก่อนมากมาย


๔) บริการอื่นๆ และการให้ข้อมูลของพนักงาน

บริการที่ดี ข้อมูลที่พร้อม จะทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้กองทุนสร้างผลตอบแทนดีกว่าที่อื่นยังไง แต่ถ้าการให้ข้อมูลของพนักงานหรือของบริษัท ไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา หรือให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ก็มีโอกาสทำให้เราเสียหายได้ในระยะยาว ดังนั้นข้อนี้ ควรให้ความสำคัญมากๆ นะครับ

ปัจจัยในการเลือกกองทุน ๓ ข้อแรกนั้น เปรียบไปก็คือโยนิโสมนสิกา หรือ ความแยบคายในการคิดพิจารณาและปฏิบัติธรรม ไม่มีใครบอกเราได้ว่านโยบาย หรือการลงทุนแบบไหนเหมาะกับเรา นอกจากเราต้องพิจารณาด้วยตัวเอง ตัวผมหรือแม้แต่พนักงานขายก็เป็นเพียงแค่ผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น การตัดสินใจลงทุนก็ขึ้นอยู่กับนักลงทุนเองเกือบทั้งหมด ส่วนข้อที่ ๔ เปรียบเสมือนการเลือกคบกัลยาณมิตร ที่คอยแนะนำให้คำปรึกษาอย่างถูกวิธี ไม่ใช่เดินไปหา ชวนแต่จะให้ลงทุนกองทุนหุ้นที่เสี่ยงมากกว่า หรือตัวเราเองรับความเสี่ยงได้สูง แต่กลับแนะนำกองทุนตราสารหนี้ให้เป็นต้น การปฏิบัติธรรมไม่สามารถขาดสองสิ่งนี้ไปได้ฉันใด การลงทุนก็ขาดไม่ได้ฉันนั้นครับ

สำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้สูง บทความครั้งต่อไป จะพาไปรู้จักกับตราสารทุน หรือ หุ้น กันครับ รู้แล้วว่ารออยู่นาน แต่อดใจรออีกหน่อยนะ


โชคดีในการลงทุนครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP