สารส่องใจ Enlightenment

ศีลธรรมสำหรับครอบครัว (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
เทศน์อบรมฆราวาส ณ กรมทหาร ร. พัน. ๓ อุดรธานี
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙




ศีลธรรมสำหรับครอบครัว (ตอนที่ ๑) (คลิก)



เพราะฉะนั้น จึงควรมีศีลธรรมเป็นเครื่องดำเนินเป็นเครื่องปกครอง
อยู่ด้วยกันจะเป็นความร่มเย็นผาสุก
ระหว่างสามีภรรยาก็ให้มีความจงรักภักดีต่อกัน
อย่าหาเศษหาเลยเหมือนจำพวกเดือนเก้าเดือนสิบ
ซึ่งมิใช่วิสัยของมนุษย์ผู้รู้ผิดรู้ถูกรู้ดีรู้ชั่วจะนำมาใช้
จะมาทำลายศักดิ์ศรีดีงามของมนุษย์ อย่างน้อยก็ลดคุณค่าลงไป
มากกว่านั้นก็ทำมนุษย์ให้เหลวแหลกแหวกแนว หาคุณค่าสาระติดตัวไม่ได้
การคล้อยตามอารมณ์เครื่องเสริมไฟด้วยวิธีหาเศษหาเลย
เข้าโรงบาร์โรงบ้าโรงน้ำชากาแฟ โรงอาบอบนวดที่ขับกล่อมบำรุงบำเรอ
เหล่านี้เป็นการทำลายศีลธรรมอันดีงามของมนุษย์ให้เสื่อมเสียไปโดยลำดับ
เพราะเป็นลัทธิของสัตว์ที่หาขอบเขตเหตุผลดีชั่วไม่ได้
นอกจากความเพลิดเพลินและกัดฉีกกัน
อันเป็นความล่มจมฉิบหายแก่กันและกันโดยถ่ายเดียว มนุษย์จึงไม่ควรนำมาใช้


เฉพาะอย่างยิ่งผู้มีครอบครัวแล้วไม่ควรอย่างยิ่ง
เพราะผิดวิสัยของผู้มีขอบเขตเป็นฝั่งเป็นฝาแล้ว
ตามหลักสากลของมนุษย์มีศีลธรรมยอมรับกัน
การประพฤติตัวเช่นนั้น เป็นการทำลายจิตใจของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอย่างมาก
ถึงขั้นอาจกล่าวได้ว่า ไม่มียาขนานใดจะระงับดับความเสียใจเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติได้
ฉะนั้น สามีภรรยาที่เห็นคุณค่าของกันและกันจึงไม่ควรทำอย่างยิ่ง
ที่คู่รักกลายเป็นคู่แค้น สามีภรรยาคู่ฝากเป็นฝากตายกันกลายเป็นศัตรูคู่เวรกัน
ก็เพราะความประพฤติผิด อัปปิจฉตาธรรม นั่นแล
การขาดธรรมข้อนี้จึงเป็นการขาดหลักประกันอันสำคัญในครอบครัว


ฉะนั้น คำว่าอปฺปิจฺฉตา ความมักน้อยจึงไม่ใช่เป็นธรรมเล็กน้อย
แต่เป็นธรรมยึดเหนี่ยวจิตใจของกันและกัน
ให้มีความแน่นหนามั่นคงได้เป็นอย่างดีตลอดไป
อัปปิจฉตาธรรม นี้ทำครอบครัวผัวเมียให้มีความจงรักภักดีต่อกัน
ให้มีความอบอุ่นต่อกันไม่มีวันจืดจาง
ทรัพย์สมบัติได้มามากน้อยย่อมไหลลงจุดเดียว ไม่รั่วไหลแตกซึมเข้าสู่ปากแร้งปากกา
การจับจ่าย จะจ่ายไปกี่บาทกี่สตางค์เป็นประโยชน์แก่ครอบครัวทุกบาททุกสตางค์
ไม่รั่วไหลไปด้วยความมักมากโลเลในอารมณ์เป็นเครื่องทำลาย สมบัติได้มาก็เย็น
จ่ายไปก็มีเหตุผลและเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวผัวเมียลูกเล็กเด็กแดงทุกบาททุกสตางค์
สมกับทรัพย์สมบัติที่มีคุณค่าน่าปลื้มใจแก่เจ้าของ


ดังนั้น ท่านจึงสอนให้มีการอบรมจิตใจเข้าสู่ธรรม
จิตใจเป็นสิ่งสำคัญ หลักใจคือหลักทรัพย์ ถ้าหลักใจไม่มีแล้ว หลักทรัพย์ก็ไม่มี
สมบัติรั่วทั้งวันทั้งคืนเพราะใจพาให้รั่วเก็บอะไรไม่อยู่
หม้อน้ำยังดีใช้ประโยชน์ได้เต็มคุณภาพของมัน
เพียงร้าวไปบ้างเท่านั้นคุณภาพก็ไม่สมบูรณ์
ยิ่งหม้อน้ำแตกไปด้วยแล้วใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย
นี่ก็เหมือนกัน คู่ครองนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก
และเป็นหลักทรัพย์หลักครอบครัวที่อบอุ่น ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า
เมื่อต่างฝ่ายมีความประพฤติดีและซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน
จึงกรุณานำหลักธรรมเหล่านี้ไปปฏิบัติต่อตัวเองและครอบครัว ตลอดหน้าที่การงาน
ให้เป็นไปเพื่อความราบรื่นชื่นใจตลอดไป
อย่าพากันห่างเหินศีลธรรมเครื่องคุ้มครองรักษาตน
ให้เป็นคนดีมีความสงบสุขในครอบครัว


ลำพังของกิเลสราคะตัณหานั้นไม่มีขอบเขตเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น
ท่านกล่าวไว้แล้วว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที
แม่น้ำเสมอด้วยความอยากความหิวโหยตลอดเวลาไม่มี
แม่น้ำมหาสมุทร ทะเล จะกว้างและลึกขนาดไหน ก็ยังมีฝั่งมีฝามีเกาะมีดอน
แต่ราคะตัณหาคือความอยากความทะเยอทะยานนี้
ไม่มีขอบมีเขตไม่มีเกาะมีดอน ไม่มีฝั่งมีฝา
ไม่มีเครื่องกั้นตัวเองให้อยู่ในความพอดีงามตาเย็นใจ
แต่ไหลอยู่ทั้งวันทั้งคืนล้นฝั่งภายในหัวใจตลอดเวลา
ถ้าไม่มีศีลธรรมเป็นทำนบกั้นให้อยู่ในความพอดีแล้ว
โลกนี้จะเดือดร้อนที่สุดด้วยอำนาจแห่งตัณหาตาเป็นไฟลากจูงไป


ถ้าปล่อยให้เจ้าราคะตัณหานี่ออกเพ่นพ่าน
ก็ยิ่งจะร้ายกว่าสัตว์จำพวกเดือนเก้าเสียอีก
จะฆ่ากันพินาศฉิบหายด้วยฤทธิ์แห่งราคะตัณหานี่แล
นอกนั้นยังแสดงเป็นความโง่ให้สัตว์เขาหัวเราะเข้าอีก
เพราะฉะนั้น เพื่อกันไม่ให้สัตว์เขาหัวเราะมนุษย์เรา สมกับภูมิแห่งความเป็นมนุษย์
จึงต้องมีศีลธรรมเป็นคู่เคียงเครื่องรักษา
ให้มีขอบเขตอันดีงามในการประพฤติปฏิบัติชอบต่อตนเองและครอบครัว


คำว่า ศีลธรรม คือความดีงาม คือธรรมชาติที่โลกร้องเรียกหาเรื่อยมา
คือธรรมชาติที่ให้ความอบอุ่นแก่โลก คือโอชาอันเลิศของใจ
คือขอบเขตเหตุผลค้ำประกันความถูกต้อง
คือความตายใจของสัตว์โลกทั่วไปไม่มีใครตำหนิ
คือธรรมชาติที่พ้นจากการตำหนิติเตียน เรียกว่าศีลธรรม
ธรรมฝ่ายเหตุ เช่น เราได้เงินมาห้าบาท เราจะจ่ายไปสักกี่บาท
มีเหตุมีผลในการจ่าย ไม่จ่ายด้วยความสุรุ่ยสุร่าย
นับตั้งแต่หนึ่งบาทขึ้นไปถึงหมื่นถึงแสนถึงล้าน
เจ้าของสมบัติเป็นผู้มีเหตุมีผลในการจับจ่ายในการเก็บรักษาแล้ว
ทรัพย์สมบัตินั้นจะเป็นประโยชน์ตามจำนวนและคุณภาพของสมบัตินั้นๆ
สมกับทรัพย์สมบัติมีคุณค่าสำหรับสนองความต้องการของเจ้าของให้มีความสุข


แต่ถ้าเจ้าของเป็นคนใจรั่ว หลักใจไม่มี
หลักทรัพย์ก็ล้มละลายเหมือนหม้อน้ำรั่ว สมบัติมีเท่าไรฉิบหายป่นปี้ไปหมด
การจ่ายไปในทางที่ดีมีประโยชน์ไม่เรียกฉิบหาย
นี่หมายถึงการจ่ายไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ต่างหาก
มิหนำยังให้เกิดโทษแก่ผู้จ่ายอีกด้วย
ทรัพย์สมบัติจึงกลายเป็นยาพิษ และเครื่องประหัตประหารเจ้าของที่โง่
ให้ล่มจมไปอย่างน่าทุเรศ ไม่สามารถยังทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่ตนได้
ทั้งนี้เพราะความขาดศีลธรรมค้ำประกันตนและสมบัตินั่นแล
จึงทำให้ล้มเหลวไปได้ทั้งตนและสมบัติเงินทองของพึงใจทั้งหลาย


ความมีศีลธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ครอบครัวหนึ่งๆ ถ้ามีศีลธรรมเป็นเครื่องปกครองรักษา ครอบครัวนั้นจะอบอุ่น
พูดกันก็รู้เรื่อง ไม่ดันทุรัง ยอมฟังเหตุฟังผลจากกันและกัน
เพื่อความราบรื่นดีงามในการครองชีพและความเป็นอยู่ด้านต่างๆ
เพียงศีลห้าเท่านั้นก็มีความร่มเย็นแล้ว
สำหรับฆราวาสที่มีครอบครัวผัวเมียถ้ารักษาได้
เพราะศีลห้าเปรียบเหมือนเสื้อกันหนาว เปรียบเหมือนร่มกันฝน
เปรียบเหมือนตู้เซฟสำหรับเก็บทรัพย์คือดวงใจของครอบครัวผัวเมีย
ไม่ให้บุบสลายพังทลายเพราะราคะตัณหาความไม่มีฝั่งทำลาย


ปาณาฯ สัตว์มีชีวิตไม่ว่าเขาว่าเรา คุณค่าแห่งชีวิตมีเสมอกัน
สัตว์ตัวหนึ่งๆ คุณค่าแห่งชีวิตมีเสมอกับมนุษย์เรา
หากถูกทำลายให้ขาดจากชีวิตไปเสีย
สัตว์ก็เป็นสัตว์ไปไม่ได้ มนุษย์ก็เป็นมนุษย์ไปไม่ได้
เรียกว่าขาดความสืบต่อแห่งความเป็นสัตว์เป็นมนุษย์ลงในขณะนั้นด้วยกัน
เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้ทำลายชีวิตซึ่งกันและกัน
อันเป็นการทำลายคุณค่าแห่งการเป็นคนเป็นสัตว์ให้ขาดสะบั้นลงในขณะนั้น
คำว่าความล้มความตายเป็นภัยที่กระเทือนใจคนใจสัตว์มากกว่าภัยใดๆ
ท่านจึงสอนไม่ให้แตะต้องทำลายชีวิตของกันและกัน


อทินนาทาน คือ การฉก ลักขโมยสมบัติของผู้อื่นที่เขาไม่ได้ให้
เรียกว่าการทำลายสมบัติและจิตใจของกันและกัน เป็นบาปมาก จึงเป็นสิ่งไม่ควรทำ
คำว่าสมบัติแม้เข็มเล่มเดียวก็เรียกว่าสมบัติ
ซึ่งมีคุณค่าทั้งสมบัติและจิตใจ ของใครใครก็รักสงวน เมื่อถูกขโมยเจ้าของต้องเสียใจ
เพราะใจเป็นสำคัญกว่าสมบัติ ผิดกับการให้ด้วยเจตนาอยู่มาก
ความเสียดายกับความเคียดแค้นบวกกันเข้าสามารถฆ่ากันได้ แม้เพียงเข็มเล่มเดียว
เรื่องกรรมสิทธิ์ของแต่ละคนเป็นเรื่องใหญ่โตมาก
ท่านจึงห้ามไม่ให้ทำเพราะเป็นการทำลายจิตใจกันซึ่งเป็นเรื่องใหญ่
การขโมยกับการให้ด้วยเจตนานั้นต่างกันมาก
การให้ด้วยเจตนาให้เท่าไรก็ได้ อย่าว่าแต่เข็มเล่มเดียวเลย
ให้สมบัติเงินทองเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านหรือเป็นล้านๆ
ก็ให้ได้ด้วยความพอใจ ผู้ให้ก็ดีใจยิ้มแย้มแจ่มใส ผู้รับก็รับด้วยความยินดีสุดหัวใจ
เป็นมงคลทั้งสองฝ่ายดังที่โลกเคยสงเคราะห์ช่วยเหลือกันมา


ธรรมะให้ความเสมอภาคทุกหัวใจ
ถือว่าหัวใจแต่ละดวงมีคุณค่าแก่สัตว์โลกแต่ละราย
ท่านจึงสอนไม่ให้ทำลายจิตใจกัน ด้วยการฆ่าบ้าง ด้วยการขโมยปล้นจี้ต่างๆ บ้าง
ด้วยการล่วงประเวณีสามีภรรยาลูกหลานของกันและกันบ้าง
เพราะเป็นสมบัติที่เจ้าของยึดครองคือใจซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โตมาก
การทำสมบัติและจิตใจของกันและกันให้กำเริบไม่ใช่เป็นของดี
นั่นเป็นสิ่งที่จะรุนแรงมากยิ่งกว่าสิ่งใด
ที่ฆ่ากันตายอยู่ทุกแห่งหนก็เพราะความเคียดแค้นเป็นพลังหนุนให้ทำ
ท่านจึงสอนให้รักษาสมบัติและน้ำใจกันด้วยศีลด้วยธรรม
คือต่างไม่แสดงอาการที่ผิดศีลธรรมให้เป็นการกระทบกระเทือนจิตใจของกันและกัน
เช่น การฆ่าเขา ก็คือการทำความกระเทือนร่างกายจิตใจ
ยังส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงผู้อื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้เกิดความเคียดแค้น
และผูกอาฆาตบาดหมางซึ่งกันและกัน คนนี้ตายไป คนนั้นยังอยู่
และจองล้างจองผลาญกันไปตั้งกัปตั้งกัลป์หาเวลาสิ้นสุดยุติไม่ได้


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา https://bit.ly/3O1UBbm


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP