สารส่องใจ Enlightenment

ผู้ชี้โทษเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ (ตอนที่ ๓)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย




ผู้ชี้โทษเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ (ตอนที่ ๑) (คลิก)
ผู้ชี้โทษเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ (ตอนที่ ๒) (คลิก)



ฉะนั้นผู้ประพฤติธรรมในพุทธศาสนานั้น
อย่ามองไปทางอื่นว่ามาทำให้ตนเป็นสุขเป็นทุกข์
มองดูใจตัวเองนี้ ใจตัวเองนี่แหละทำให้ตนเป็นทุกข์เป็นสุข
ถ้าตนปรับปรุงใจของตนให้ดีแล้วอย่างนี้
ถึงแม้จะมีกรรมเวรหนหลังตามมาสนองมันก็ไม่เป็นทุกข์เท่าไร
เพราะตนรู้นี่ รู้ว่ากรรมเวรที่ตนทำมาแล้ว
จะไปโยนให้ใครรับสนองแทนไม่ได้ ตนเองต้องรับสนองเอง
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วมันก็ไม่ทุกข์ใจ อดกลั้นทนทานให้กรรมเวรนั้นมันสนองไปเสีย
เมื่อมันหมดเขตของมันแล้ว มันก็ระงับไปเอง
ถ้ายังไม่หมดเขตของมัน มันก็สนองไป
เราก็อดทนไป สู้กับผลแห่งกรรมแห่งเวรอันนั้นไป
ทำอย่างไรได้ เพราะตนได้ทำมันมาแล้ว
แล้วก็อธิษฐานใจว่าต่อนี้ไป เราจะไม่ทำชั่วไม่พูดชั่วกับใครต่อไปเลย
จะทำแต่ความดี จะพูดแต่สิ่งที่ดีสิ่งที่ไม่ดีเรื่องที่ไม่ดีนั้น จะไม่เอามาพูดเลย
เรื่องที่ไปกระทบกระทั่งคนอื่นให้เป็นทุกข์เดือดร้อนพวกนี้ เราจะไม่ทำไม่พูด
อธิษฐานใจเสมอๆ ไป ในขณะที่กรรมมันสนองอยู่นั้นน่ะ



ทำเช่นนี้ เมื่อกรรมเวรอันนั้นมันหมดไปแล้ว มันก็มีแต่ความดีเท่านั้นน่ะเกิดขึ้น
เมื่อตนได้ทำความดีไว้ในปางก่อนมา
ความดีมันก็โผล่ขึ้นมาให้ผล ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ดีไปหมด
ประกอบกับตนกระทำความดี พูดดีในปัจจุบันนี้เข้าไปอย่างนี้นะ
มันก็เลยมีแต่ดีทั้งนั้นล่ะ
บัดนี้น่ะพอหายไป ในชีวิตของปุถุชนคนที่ยังหนาไปด้วยกิเลสตัณหา
มันลุ่มๆ ดอนๆ อย่างนี้ก็เพราะความประพฤตินั่นแหละมันไม่สม่ำเสมอ
อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ตัวของตัวเองอย่าว่าแต่คนอื่นเลย ความประพฤติของตนเองมันก็ยังมีลุ่มๆ ดอนๆ อยู่
แล้วทีนี้จะไม่ให้กรรมที่ตนทำนั้น มันตามสนองทั้งสองอย่างยังไงเล่า
บางคราวก็ทำชั่วพูดชั่วไป บางคราวก็ทำดีพูดดีไป อย่างนี้นะ
คราวใดทำชั่วพูดชั่ว มันก็เกิดเป็นกรรมชั่วขึ้นมา
คราวใดทำดีพูดดีก็เกิดเป็นกรรมดีขึ้นมา
แต่กรรมดีกรรมชั่วที่เป็นลหุกรรมเป็นกรรมเบานั่นน่ะ
ถ้าผู้ใดระลึกได้ รู้ตัวว่าตนทำชั่วพูดชั่วผิดศีลผิดธรรม
แล้วอธิษฐานใจละเว้นมันไป สำรวมระวังต่อไป ไม่ทำชั่วไม่พูดชั่วอย่างนั้น
ต่อไปอย่างนี้ กรรมเวรอันนั้นมันอาจเป็นอโหสิกรรมไป
มันจะไม่ตามสนอง เพราะเรารู้ตัว แล้วเราอธิษฐานใจเว้นมันแล้ว



ที่กรรมมันตามสนองคนอยู่นี้ ก็เพราะคนทำมันแล้ว
มันไม่รู้ตัวว่าตนทำไม่ดี พูดไม่ดี ไม่เห็นโทษแห่งการกระทำนั้นเช่นนั้น
กรรมนั้นมันก็ไม่หนีออกจากกายใจของคนเรา ติดสอยห้อยตามไปอยู่อย่างนั้น
เมื่อมันได้โอกาสเวลาไหน มันก็ให้ผลเวลานั้น นี่ต้องให้เข้าใจ
ถ้าไม่เป็นอย่างว่านี้ พระศาสดาคงไม่ทรงสอน
ให้พุทธบริษัทละสิ่งที่เป็นบาปอกุศล แล้วทำในสิ่งที่ดีที่เป็นบุญกุศลใช้คืนแทน
ละบาปกรรมไม่ไปต่อเรื่องต่อราวไม่ดีอีก เมื่อประสบเรื่องราวอะไรก็อดทนเอา
อย่างนี้วิบากกรรมก็ไม่หนัก อย่างนี้บุคคลจึงสามารถละบาปอกุศลได้
พระองค์เห็นแจ้งด้วยพระปัญญาแล้ว
ดังนั้น พระองค์จึงได้ทรงแนะนำสั่งสอนพุทธบริษัทให้เพียรละกรรมชั่วที่เป็นลหุกรรมเสีย



ส่วนครุกรรม กรรมหนักนั้นน่ะ
ใครทำลงไปแล้วนั้นจะเพียรพยายามละอย่างไร มันก็ไม่ได้เลย
ละอย่างไรมันก็ไม่ระงับไป มันต้องตามให้ผลจนได้
เช่น ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์
ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป ทำสงฆ์ให้แตกจากกัน
กรรม ๕ อย่างอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นครุกรรม เป็นกรรมอันหนัก
ถ้าใครไปพลั้งเผลอ กระทำลงไป อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเช่นนี้
แม้จะทำความดีอย่างไรๆ ตลอดชีวิต ก็แก้ไม่ตก
ให้ผลจนได้นำไปสู่อเวจีมหานรกอย่างเดียว ไม่ไปที่อื่น



เราจึงต้องรู้ขั้นตอนแห่งกรรมไว้อย่างนี้
ถ้าเป็นลหุกรรมกรรมเบา ผู้ใดระลึกได้ว่าตนทำผิดจริง ยอมสารภาพผิด
ไม่ยอมสารภาพผิดต่อคนอื่น ก็ยอมสารภาพผิดต่อตัวเอง
หรือว่าต่อหน้าพระพุทธรูปก็ตาม
กราบแล้วอธิษฐานในใจว่าข้าพเจ้าได้ทำผิดอย่างนั้นๆ จริง
ต่อนี้ไปข้าพเจ้าจะสำรวมระวัง จะไม่ทำผิดไม่พูดผิดอย่างนั้นต่อไปอีก
ด้วยอำนาจแห่งความสัตย์ความจริงอันนี้
ขอให้ความชั่วเหล่านั้นจงระงับดับไปจากจิตใจของข้าพเจ้านี้



นี่ผู้ใดถ้าหากว่ารู้ตัวแล้วอธิษฐานใจอย่างนี้บ่อยๆ เข้า
กรรมชั่วนั้นไม่มีเหลืออยู่ในใจเลย มันจะระงับไป
นี่วิธีละกรรมอันชั่วที่เป็นลหุกรรม
แม้ครุกรรม กรรมหนักก็เหมือนกันแหละ ถ้าผู้ใดได้ทำมาแล้วอย่างนี้
ก็หมั่นอธิษฐานใจเสมอ ต่อนี้ไปข้าพเจ้าจะไม่ทำอีกแล้ว
เช่นนี้นี่ เมื่อได้เสวยผลแห่งกรรมหนักอันนั้นไปแล้ว พ้นจากกรรมหนักนั้นไปแล้ว
ต่อไปผู้นั้นก็จะไม่ทำกรรมหนักอย่างนั้นต่อไปอีก
เพราะว่าเข็ดหลาบแล้ว รู้ตัวแล้ว อธิษฐานใจมั่นลงไปแล้ว
ถ้าผู้ใดระลึกไม่ได้อย่างว่านี้ มันอาจทำอีกต่อไปก็ได้
เมื่อพ้นจากกรรมชั่วอันนั้นไปแล้วนะ นี่มันเป็นอย่างนี้ ให้พากันเข้าใจ



ในการที่สัตว์โลกทั้งหลายจะวนเวียนเกิดแก่เจ็บตายอยู่ในวัฏสงสาร
อันนี้ก็เพราะระลึกถึงกรรมชั่วที่ตัวทำไม่ได้นี้เองแหละ ไม่อธิษฐานใจละเว้นเลย
บางคนมีจริตนิสัยอย่างไร ติดจริตนิสัยอันไม่ดีอย่างไร
ติดตัวมายังไงก็ไม่เห็นโทษแห่งนิสัยอันไม่ดีอันนั้น ไม่อธิษฐานใจละเว้น
ไม่พยายามดัดจริตนิสัยของตนให้ดี ปล่อยตนให้เป็นไปตามนิสัยอันชั่วต่างๆ หมู่นั้น
ผู้เป็นเช่นนั้นก็มักจะทำชั่วใส่ตัวเองบ่อยๆ เลย ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์ได้
จะต้องท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตายเสวยสุขเสวยทุกข์
เสวยทุกข์นั่นน่ะมากกว่าเสวยสุข อยู่ในวัฏฏะอันนี้



เพราะฉะนั้นทุกคนให้พึงพากันเข้าใจ
ในเรื่องการละบาปบำเพ็ญบุญ ดังที่บรรยายให้ฟังมานี้
ก็โดยอาศัยการทำจิตให้สงบนี้แหละ เป็นการละอกุศลไปในตัวเลย ให้เข้าใจอย่างนั้น
โดยสรุปใจความแล้วนะ เพ่งกรรมฐานเข้าไป
เช่นผู้เป็นโทสะจริตมักโกรธง่ายอย่างนี้ ก็ต้องเพ่งเมตตาธรรมให้มากๆ เข้าไป
เจริญเมตตาธรรม กรุณาธรรมให้มากๆ
มันก็จะบรรเทาเบาบางลง ความโกรธ ความพยาบาทต่างๆ หมู่นั้นนะ
ผู้ใดเป็นราคะจริตเช่นนี้ ก็ให้หมั่นเจริญอสุภกรรมฐานบ่อยๆ เข้าไป
เพราะมันรักสวยรักงาม แต่สิ่งที่ว่าสวยว่างามนั้น เป็นเพียงแค่สมมติ ไม่เป็นความจริง
อย่างรูปร่างกายอย่างนี้ มันงามแต่ผิวหนังข้างนอกเท่านั้นเอง
ถ้าลอกหนังนี่ออกไปแล้ว ไม่มีอะไรสวยงามสักหน่อยเดียว
อย่างนี้นะ เราเพ่งอสุภะเข้าไปอย่างนี้ ความรักสวยรักงามอันนั้น
มันก็จะบรรเทาเบาบางไป จิตใจก็สงบระงับลงได้



นี่อุบายวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอน
เพื่อละกิเลสต่างๆ เหล่านี้นะ มันมีอยู่ แต่คนไม่ปฏิบัติตามเท่านั้นเอง
ผู้ใดปฏิบัติตามก็ย่อมได้ความสุขความเจริญ ตามกำลังความสามารถของตน
ดังแสดงมา ขอจบลงเพียงเท่านี้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก ธรรมโอวาท หลวงปู่เหรียญ ๗
ที่ระลึกงานทอดกฐินสามัคคี วัดป่าพิชัยวัฒนมงคล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕. จัดพิมพ์โดยชมรมกัลยาณธรรม



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP