สารส่องใจ Enlightenment

ผู้ชี้โทษเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย




ผู้ชี้โทษเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ (ตอนที่ ๑) (คลิก)



แต่คนเรานี้ถ้าไม่รู้จักตรวจตรา ดูความประพฤติของตัวเอง
ดูความคิดความเห็นภายในจิตใจตัวเองบ่อยๆ แล้ว
นั่นเขาเรียกว่าลืมตัว ตนทำชั่วพูดชั่วอยู่ ไม่รู้ตัวก็มี ตนคิดผิดอยู่ ไม่รู้ตัวก็มี
ครั้นเผื่อว่าคนอื่นที่เป็นนักปราชญ์รู้ความประพฤติของตน
เห็นความประพฤติของตน ไม่เข้าร่องเข้ารอยในทางศีลธรรม
เขาว่ากล่าวตักเตือน เกิดไม่พอใจ โกรธเอาหาว่าเขาดูถูกดูหมิ่นตน
ที่แท้ตนทำดีพูดดีอยู่คิดดีอยู่


อันนี้เขาเรียกว่า ทิฏฐุปาทาน ถือมั่นในความเห็นผิดของตนเอง ใช้ไม่ได้
ใครเขาตำหนิติเตียนมา ธรรมดาผู้เป็นนักปราชญ์นั้น เพิ่นไม่โกรธใครหรอก
ย้อนพิจารณาตัวเองว่า เอ๊ะ เราทำไม่ดีอย่างไร เขาจึงนินทาจึงติเตียนเอา
ก็ต้องรีบตรวจดูอาการกาย วาจา ใจของตัวเอง ถ้าหากว่าตนทำผิดพูดผิดจริง ก็รู้นะ
เมื่อสำรวจตรวจดู นึกทบทวนดูแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
มันก็รู้ได้ เมื่อรู้ว่า เอ๊ะ ตนเองมันมีผิดจริงก็ยอมนะ ยอมให้เพื่อนติเตียนเอา
คล้ายๆ กับว่าเขาสั่งสอนให้ตนรู้ตัว ให้ตนรู้ความผิดของตนเอง
นั่นแหละตนก็จะได้สำรวมระวัง ไม่ทำผิดพูดผิดอย่างนั้นต่อไป


พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าการที่คนเขามองเห็นความผิดของตน
แล้วเขาตักเตือนเขาบอกกล่าวนั้น
ให้ถือว่าเหมือนอย่างบุคคลบอกขุมทรัพย์อันประเสริฐให้แก่ตน ให้ถืออย่างนั้น
ในตำราพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
เพราะว่าตนจะได้ละความผิดอันนั้น ออกจากกายวาจาใจ
แล้วจะได้ดำเนินในทางที่ถูกต้องจะได้เป็นคนดี มีความสุขความเจริญต่อไป
ถ้าไปมัวถือแต่ทิฏฐิมานะอยู่ ไม่ยอมฟังคำวิจารณ์ของคนอื่นบ้าง
อย่างนี้นะผู้นั้นจะละความผิดของตัวเองไม่ได้ตลอดไปเลย
ท่านเรียกว่าทิฏฐุปาทาน ถือมั่นในความคิดเห็นของตนเองฝ่ายเดียว
ไม่ฟังความคิดความเห็นของคนอื่น


แต่ถ้าหากว่าเราทำถูก พูดถูก คิดถูกอยู่
เทียบกับธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามันตรงกันอยู่
แต่เขาตำหนิติเตียนเอาอย่างนี้
มันก็มีเหตุอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเขาเข้าใจผิดในเราไป
อย่างที่สองก็เป็นด้วยกรรมวิบากที่ตนทำมาแต่ก่อน มันตามมาให้ผล
มีอยู่ อยู่ดีๆ มีคนใส่โทษ มีคนไม่พอใจ รังเกียจเอารังแกเอา อะไรพวกนี้น่ะ
ใครไม่รู้จักเหตุปัจจัยแห่งชีวิตของตนเองตามความเป็นจริงดังกล่าวมานี้นะ
ก็เป็นเหตุให้ได้สร้างกรรมสร้างเวรใส่ตัวเองเรื่อยไป ให้พึงพากันเข้าใจ


ถ้ารู้ว่าความประพฤติของตนเป็นปกติดีอยู่
ตรงตามศีลตามธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ ยังมีคนใส่โทษ ติเตียนอย่างนี้
ก็ให้นึกว่าเป็นกรรมวิบากแต่หนหลังที่ตนได้ทำมา มันติดตามมาสนองเอาแล้ว
ก็อดทนอดกลั้นให้กรรมวิบากนั้นให้มันสนองไปเสีย
เมื่อมันหมดเขตหมดอำนาจของมันแล้วมันก็ระงับไปเอง
แล้วเมื่อกรรมเวรอันนั้นระงับไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดีเป็นปกติไป
คนที่เคยเกลียดชังก็เลยกลายมาเป็นมิตรเป็นเพื่อน มาแสดงความนับถือก็มี
นั่นแหละ คนที่ไม่เกลียดชังมาแต่ก่อนก็ยิ่งนับถือยิ่งๆ ขึ้นไป
ในเมื่อบาปกรรมเวรมันระงับไป
บุญกุศลความดีที่ตนทำมานั้นน่ะ มันมาอำนวยผลให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันดีไปหมด
นี่มันต้องรู้อย่างนี้จึงจะสามารถรักษาจิตใจให้เป็นปกติไปได้
เมื่อรู้อย่างนี้นะมันก็ไม่ต้องมีความทุกข์ใจอยู่เรื่อยไป


ดังนั้นแหละ พระบรมศาสดาจึงได้ทรงสั่งสอน
ให้พุทธบริษัทเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม
อย่าไปเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกว่ามาดลบันดาล
ให้ตนเป็นสุขเป็นทุกข์เดือดร้อนอะไรต่ออะไรอย่างนั้นน่ะ ไม่ถูก ไม่เป็นความจริง
แท้ที่จริงแล้วตนจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เพราะการกระทำของตัวเองโดยตรง
บางทีก็เกิดจากการกระทำไม่ดีของตนแต่ในอดีตหนหลังนู่น จนเป็นทุกข์ในปัจจุบันนี้
บางทีมันก็เกิดจากการกระทำความไม่ดีของตัวเองในปัจจุบันนี้
ตนเองทำไม่ดี พูดไม่ดี ผลมันก็อาจจะตามสนองเอาในปัจจุบันนี้ก็มี มันเป็นอย่างนั้น
เราต้องเรียนรู้เรื่องกรรมวิบากนี้ให้มากๆ ทีเดียว
ไม่เช่นนั้นแล้วเดือดร้อนแน่นอน คนเราน่ะ


พระพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงตรัสรู้ในยามที่สองหรือตอนเที่ยงคืน
รู้แจ้งในความเป็นไปของสัตว์โลกทั้งหลาย
จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ขึ้นอยู่กับการกระทำของแต่ละบุคคลโดยตรงเลย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใด
พระองค์รู้แจ้งด้วยพระปัญญาอันยิ่งอย่างนี้
ดังนั้นให้พึงพากันพิจารณาตามให้เห็นตามนี้
จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม


เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว เมื่อกรรมตามสนองมา ตนก็อดทนได้ กรรมของเราน้อ อย่างนี้นะ
ถ้าใครเขาเกลียดชังเขาด่าว่าก็ด่าไป กรรมของเรา เราจะต้องอดทนเอา
เราทำเอามาเอง แล้วเราจะไปโยนให้ผู้อื่นไม่ได้
แต่ถ้าไม่ใช่กรรมในอดีต
ความประพฤติไม่ดีของตนทางกาย ทางวาจา อย่างใดอย่างหนึ่ง
เพิ่นว่าเอา นี่รู้ตัวแล้ว เราก็สำรวมกาย วาจานั้นให้ดีงาม
ไม่ทำชั่วพูดชั่วอย่างนั้นต่อไปอีกแล้ว เรื่องต่างๆ มันก็ดีไป มันก็ระงับไป


แต่ถ้าคนอื่นเขาว่ากล่าวเอาอย่างนี้ ตนก็ไปโกรธให้เพิ่นเขาไปเสีย
ตอบโต้กันไป เพื่อปกปิดความผิดของตัวเองไว้
เช่นนี้เวรมันก็ไม่ระงับแล้ว ต่อกันไปอีก ก็สร้างเวรใหม่สืบต่อไปไม่รู้จบรู้สิ้น
นี่ความประพฤติทางกาย วาจาของคนเรานี่น่ะ
มันมีใจเป็นประธาน มีใจเป็นผู้บงการ ถ้าใจดีมันก็บงการให้ทำดีพูดดีไป
ถ้าใจไม่ดีมันก็บงการให้ทำไม่ดี พูดไม่ดีพูดนอกศีลนอกธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไป
ก็มันเป็นอย่างนี้แหละ วิถีชีวิตของคนเรานะ มันมีใจนี่เป็นใหญ่เป็นประธาน


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก ธรรมโอวาท หลวงปู่เหรียญ ๗
ที่ระลึกงานทอดกฐินสามัคคี วัดป่าพิชัยวัฒนมงคล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕. จัดพิมพ์โดยชมรมกัลยาณธรรม



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP