สารส่องใจ Enlightenment

ผู้ชี้โทษเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย




เวลานี้เป็นเวลาที่เรามาประชุมกัน
เพื่ออบรมจิตให้เข้าถึงความสงบ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น
เพราะฉะนั้น เราต้องมุ่งความสงบเป็นที่ตั้งในตอนต้น
ตอนต่อไปก็พิจารณาตามที่ท่านแสดงไป
พิจารณาให้รู้ให้เห็นตาม ให้เกิดความเข้าใจในธรรมะที่ท่านแสดง
นี่จึงเรียกว่าเป็นการอบรมฝึกฝนจิตที่ยังไม่สงบให้เข้าถึงความสงบ
จิตที่ยังไม่ฉลาดให้เกิดความรู้ความฉลาดขึ้น
ถ้าเราไม่ฝึกอย่างนี้ จิตนี้มันจะไม่ฉลาดเลย แล้วก็จะไม่สงบด้วยตลอดทั้งปีทั้งชาติ
ไม่รู้จักรสชาติแห่งความสงบเลยแหละ ถ้าไม่ฝึกฝนอย่างว่านี้นะ


เมื่อไม่พบกับความสงบ ก็ไม่ได้พบกับความสุขที่แท้จริง
เพราะความสุขที่แท้จริงนั้น มันอยู่ที่ความสงบใจ สงบกาย สงบวาจา
สงบกาย คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
ไม่ดื่มของมึนเมา ของเสพติดให้โทษต่างๆ
สงบวาจา คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด
ไม่พูดยุยงให้คนอื่นแตกสามัคคีกัน ไม่พูดคำหยาบโลนต่างๆ
ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล พูดแต่คำที่เป็นประโยชน์เท่านั้น พูดแต่คำจริง
นี่ได้ชื่อว่ากายมันสงบจากบาป วาจามันสงบจากบาป ถ้าเว้นตามที่แนะนำมานี้


ทางจิตใจ ถ้าปล่อยให้มันเกิดความรักความใคร่ขึ้นอยู่
ความรักความใคร่นี้เป็นอกุศลอย่างกลางสำหรับผู้บำเพ็ญผู้ประพฤติธรรม
แล้วปล่อยให้จิตมันเกิดความเกลียดชังคนโน้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ อะไรอยู่อย่างนี้นะ
นี่มันก็เป็นอกุศลอย่างกลางเหมือนกัน
เรียกว่าเพียงแต่เกลียดชัง แต่ว่าไม่ลงมือประทุษร้ายผู้อื่น
เพียงแต่คิดเกลียดชังอยู่ในใจ ผูกใจเจ็บอยู่ภายใน
แล้วก็ชอบใจในการหลับการนอนเกินขอบเขตเกินประมาณ ไม่เห็นโทษแห่งการหลับการนอน
แล้วปล่อยจิตของตนให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป คิดส่ายไปไม่มีจุดหมายปลายทาง
ปล่อยจิตของตนให้เกิดความสงสัยลังเล ในเรื่องบาปบุญคุณโทษ
ประโยชน์หรือไม่ใช่ประโยชน์ ตลอดถึงมรรคผลนิพพาน
มรรคผลนิพพานมีหรือไม่หนอ สวรรค์มีหรือไม่หนอ นรกมีหรือไม่หนอ
หมู่นี้ ถ้ายังเกิดความสงสัยลังเลอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง
เรียกว่าอกุศลอย่างกลาง แล้วทำให้จิตใจสงบลงไม่ได้
นี่ให้เข้าใจคำว่าความสงบนั้นน่ะ สงบจากความอกุศลอย่างกลาง ดังกล่าวมานี้


ถ้าหากว่าระงับกิเลสเหล่านี้ลงได้ จิตก็สงบได้ รวมลงเป็นหนึ่งได้
ถ้าละกิเลส ๕ อย่างนี้ไม่ได้ จิตก็สงบลงไม่ได้
ต้องเรียนรู้สิ่งที่กวนใจไม่ให้สงบระงับนั่นน่ะ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเรียนรู้นะ
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เมื่อตนภาวนาไป กิเลสชนิดไหนมันเกิดขึ้นครอบงำจิต ก็รู้
เมื่อรู้แล้วก็เพียรละให้มันระงับไปจากจิตใจ จิตใจมันถึงจะสงบลงได้
ไม่เช่นนั้นจิตก็สงบไม่ได้ การทำจิตให้สงบนี่นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก
เพราะเรื่องปัญญานั้น ถ้าหากว่าทำจิตให้สงบแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร
เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว มันก็เกิดขึ้นได้ พอเรานึกคิดอะไร
มันก็แจ่มแจ้งขึ้นมาในเรื่องที่ต้องการอยากจะรู้จะเห็นนั้น
ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะรู้ได้เห็นได้ด้วยปัญญาของตนเอง
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้ไปได้ทุกอย่าง
ผู้มีภูมิกว้างก็รู้มาก ผู้มีภูมิแคบก็รู้ตามได้น้อย
ตามภูมิปัญญาภูมิวาสนาบารมีของตน
แต่ก็สำคัญว่าให้รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์นั่นน่ะ ข้อสำคัญมันอยู่ตรงนั้น



การที่เรารู้จักว่าความคิดอย่างนี้ มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ใจ
เช่นนี้แล้วเราก็ห้ามไม่คิดมันต่อไป นี่สำคัญ
ความคิดอันใดที่มันไม่ก่อให้เกิดทุกข์ใจ
มันก็เพียงแต่ว่าทำใจไม่ให้สงบเท่านั้นเอง แต่ไม่ทุกข์ใจอย่างรุนแรง
แต่ความคิดบางอย่าง เช่น ความคิดรัก ความคิดเกลียดชัง อย่างนี้
อันนี้เป็นความคิดที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจอย่างแรง
เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง อย่าให้ความคิดเหล่านี้มันอุบัติขึ้นเกิดขึ้นในจิตใจ
ต้องมีสติสัมปชัญญะ ระมัดระวังสำรวมจิตใจของตนอยู่เสมอไป
นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ นี้ จึงจะครอบงำจิตไม่ได้
ความสำรวมระวัง ความมีสติสัมปชัญญะ ระมัดระวังจิตใจอยู่เสมอๆ นี่สำคัญ
ยืน เดิน นั่ง นอน ทำการงานอะไรอยู่ ก็มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่ รู้ใจของตนเองอยู่
ประคองใจของตน ให้เป็นปกติอยู่ได้ อันนี้สำคัญมาก ให้พากันเข้าใจ


ถ้าหากว่าเราห้ามจิตไม่ได้ ประคองจิตให้เป็นปกติอยู่ไม่ได้อย่างนี้
ปัญญามันก็ไม่เกิดเลย จิตใจก็ถูกกิเลสมันครอบงำเอา ให้เศร้าหมองขุ่นมัวไป
เมื่อใจเศร้าหมองขุ่นมัวแล้ว กายวาจามันก็พลอยเศร้าหมองขุ่นมัวไปตามกันแหละ
ก็ใจมันเป็นอกุศลแล้ว มันก็มักจะใช้กายทำในสิ่งที่เป็นบาปเป็นอกุศล
ใช้วาจาพูดไปแต่ในเรื่องที่เป็นบาปเป็นอกุศล
คนเราถ้าใจดำหรือว่าใจมัวหมองแล้วล่ะก็ มันชอบจะโกรธคนนั้น เกลียดคนนี้
ใครพูดอะไรไม่ถูกหูหน่อยหนึ่งก็โกรธแล้ว
ชอบแต่จะใช้วาจาทิ่มแทงตอบโต้กันกับผู้อื่นไป
มันก็เกิดบาปอกุศลขึ้นในใจและในวาจาด้วย
เพราะฉะนั้นเรียกว่าการปล่อยใจให้เศร้าหมองขุ่นมัวนี้ไม่เป็นเรื่องดีเลย
ดังนั้นทุกคนอย่าไปทำใจของตนให้เศร้าหมองขุ่นมัว ทำใจให้เบิกบานผ่องใส
โดยสำรวมจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลคุณงามความดีที่ตนได้กระทำบำเพ็ญมา



คนส่วนมากมักจะลืมความดีของตัวเอง
มักจะคิดส่งไปในเรื่องที่ไม่เป็นบุญไม่เป็นกุศลนั่นแหละมากต่อมาก
ส่วนบุญกุศลความดีที่ตนทำมาไม่ค่อยจะนึกถึง
ไม่ค่อยคำนึงหาศีลที่ตนรักษามา หมู่นี้ไม่ค่อยคำนึง
ถ้าหากว่าจิตใจมาจดจ่ออยู่ในเรื่องศีล
พิจารณาเห็นอยู่ว่ากายของตนก็เรียบร้อย วาจาก็เรียบร้อย
ไม่ได้ทำอะไรให้ผิดศีล ไม่ได้พูดอะไรให้ผิดศีลอย่างนี้
เมื่อคิดตาม พิจารณาความประพฤติของตัวเองเรื่อยไปอย่างนี้
มันก็เกิดความปีติเอิบอิ่มขึ้นมาในใจว่ากายวาจานี้มีศีล


เมื่อกายวาจาเป็นศีลแล้ว ใจก็เป็นศีลด้วย
เพราะใจเป็นศีลก่อน กายวาจาจึงค่อยเป็นศีลตามหลัง
ก็ต้องหมั่นคำนึงอย่างนี้ เป็นอารมณ์ผู้ปฏิบัติธรรมน่ะ
เว้นเสียแต่เอาเวลาไปคิดอ่านการงาน
ที่ควรจะทำการงานเกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ
อันนั้นก็จำเป็นต้องเอาเวลานั้นต้องคิดอ่าน
เมื่อหมดจากการคิดอ่านการงานภายนอกแล้วอย่างนี้นะ
เราก็ต้องมาคำนึงถึงความดีของตนเองเสมอๆ ไป
เมื่อมองเห็นว่าตนเองมีคุณงามความดีอยู่ในใจแล้ว
ก็จะปลื้มใจอิ่มใจ ใจจะไม่เศร้าหมองขุ่นมัว ก็อยู่เย็นเป็นสุข สบายใจ
ใครจะสรรเสริญใครจะนินทาอะไรไม่หวั่นไหว
เพราะมองเห็นความดีของตนมีอยู่ในใจแล้ว ใครจะด่าว่าเราไม่ดีก็แล้วไป
แต่เรารู้ตัวอยู่ว่าตนดี ใจของตนดีอยู่ อาการกายและวาจาก็ดีอย่างนี้
ก็ไม่ต้องไปโต้ตอบคนที่เขาไปติเตียนนินทาว่าร้ายต่างๆ
เวรทั้งหลายมันก็ย่อมไม่เกิดขึ้น



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก ธรรมโอวาท หลวงปู่เหรียญ ๗
ที่ระลึกงานทอดกฐินสามัคคี วัดป่าพิชัยวัฒนมงคล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕. จัดพิมพ์โดยชมรมกัลยาณธรรม



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP