สารส่องใจ Enlightenment

ฝึกหัดตนเองให้อยู่ในขอบเขต (ตอนที่ ๓)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕




ฝึกหัดตนเองให้อยู่ในขอบเขต (ตอนที่ ๑)
ฝึกหัดตนเองให้อยู่ในขอบเขต (ตอนที่ ๒)



ให้พยายามรักษาศีล คำว่ารักษาศีลไม่จำเป็นจะต้องวิ่งไปหาพระ
แล้วอาราธนาเรื่องศีลเรื่องธรรมขึ้นอย่างนั้น
อย่าง มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห.. อันนั้นเป็นพิธีการอันหนึ่ง
แต่หลักของศีลของธรรมอันแท้จริงนั้นมีอยู่กับทุกคน
ใครรักษาอยู่ที่ไหนก็เป็นศีลเป็นธรรมขึ้นที่นั่น ไม่ได้เลือกกาลสถานที่
เช่นเรารักษากายของเรา
ที่จะเป็นความกระทบกระเทือนแก่ผู้อื่นในทางความเสียหาย เรารักษาเสีย
วาจาของเราพูดออกไปแล้วไร้สาระและเกิดโทษแก่ผู้อื่น
เราก็พยายามรักษาไว้อย่าให้ระบายออกมาของไม่ดี



เก็บรักษาไว้ภายในก็ดี เช่นอย่างของไม่ดีทั้งหลายที่เราเดินผ่านไป
เราเห็นแล้วปัดกวาดไปเสีย หรือไม่งั้นเราหลีกเว้นไปเสีย
เราอย่าไปเหยียบย่ำไปตำหนิมัน
เช่นอย่างมูลแห้งมูลสดที่เราเดินผ่านไปตามถนนหนทาง
เราเห็นแล้วเราก็ไปตำหนิว่ามันไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์
เราเดินหลีกหนีไปเสียมันก็ไม่มีอะไร ก็ผ่านไปได้
เรื่องความไม่ดีทั้งหลายเราก็พยายามหลีกเร้นไปเสีย
พยายามสร้างแต่ความดีไว้ภายในกาย วาจา ใจของตน
ก็เป็นคนมีสิริมงคลอุดมคติประจำตนเสมอ ท่านว่าศีลเป็นอย่างนั้น



ศีลท่านยกไว้เป็นข้อๆ ปาณาฯ อทินนาฯ กาเมฯ มุสาฯ สุราฯ ๕ ข้อ
เวลาเราพิจารณาดูศีลจริงๆ ค้นหาศีลจริงๆ นั้นจะไม่อยู่ที่ไหนนอกจากตัวของเรา
เพราะผู้ทำความเสียหายก็คือตัวของเราเอง
กายของเรา วาจาของเรา ใจของเราเป็นผู้ก่อความเสียหายขึ้นมา
การรักษาเรารักษาที่เราก็เป็นศีลขึ้นมาเป็นธรรมขึ้นมา
ปาณาฯ การฆ่า การทำลายหรือการเบียดเบียนอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นของดีทั้งนั้น
เขามาฆ่าเราก็ไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา เขามาเบียดเบียนเรา เราต้องเจ็บใจ
อันนี้เราไปทำลายเขา ไปฆ่าเขา ไปเบียดเบียนเขา
เขาก็ต้องเสียหายและเจ็บใจไม่พึงปรารถนาด้วยกัน



ศีลนี้เป็นเครื่องปกครองตนและปกครองจิตใจซึ่งกันและกัน
ไม่ให้เกิดความร้าวรานขึ้นมา ไม่ให้เกิดความบอบช้ำ ไม่ให้เกิดความช้ำใจ
ไม่ให้เกิดความอาฆาตบาดหมางซึ่งกันและกัน
เพราะเหตุแห่งศีลข้อนี้เป็นตัวทำให้กำเริบแห่งจิตใจสัตว์และบุคคลทั้งหลาย
อทินนาฯ การฉก การลักไม่ใช่ของดี
เป็นลัทธิของสัตว์ ไม่ใช่ลัทธิของมนุษย์ผู้รู้บุญูรู้บาป
เราพยายามรักษาสมบัติของเราฉันใด
เรารักสมบัติของเราฉันใด พยายามรักษาฉันใด
เขาก็รักของเขา รักษาของเขาฉันนั้น
สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าเท่ากัน นี่ก็คือการรักษาน้ำใจกัน
เมื่อต่างคนต่างรักษาของตน ต่างเห็นว่าของท่านของเรามีคุณภาพ
มีคุณสมบัติเสมอกัน ต่างรักต่างสงวนด้วยกันแล้ว
ไม่แตะต้องทำลายของกันและกัน โลกก็เป็นสุข โลกก็เย็น



ศีลทั้ง ๕ ข้อนี้เป็นเครื่องปกครองโลกให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขต่อกัน
ถ้าได้ขาดอันนี้ไปเสีย ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ขาดก็ตาม
เขาเรียกคนนั้นเป็นคนชั่ว ไม่ใช่เป็นคนดี
ถึงแม้ไม่ฆ่าคนก็ตาม ไปฆ่าสัตว์ สัตว์ก็ต้องเห็นว่าเรานี้เป็นคนชั่ว
เห็นว่าเรานี้เป็นยักษ์ตัวหนึ่งเหมือนกัน ไม่ต้องว่าคนหนึ่งหรอกเป็นยักษ์ตัวหนึ่งดีๆ
ศีลเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องพยายามรักษาให้มีอยู่ในตัวของเรา
โดยไม่ต้องไปรักษาไปสมาทานกับพระก็ได้
การสมาทานกับพระนั้น เราถือท่านเป็นองคพยานของเรา
ว่าเราได้รับปากรับคำเป็นสัตยาบันสัญญากับท่านแล้ว แล้วว่าตามท่าน
เมื่อผิดพลาดลงไปนี้เป็นความเสียหายมากเราก็ละอายแก่ใจของเรา เราไม่กล้าทำ
นี่หมายความอย่างนั้นต่างหาก
ความเป็นศีลนั้นเป็นอยู่ที่ความละเว้น ไม่ได้เป็นอยู่ที่การสมาทานเฉยๆ แล้วไม่ทำตาม
เพราะฉะนั้นศีลจึงมีอยู่กับการสำรวมระวัง
การไม่ทำกาย วาจา ให้กำเริบในสิ่งที่ไม่ควร เรียกว่าศีล



วันนี้เทศน์ที่วัดสุทธาวาสก็อธิบายไปถึงข้อที่ ๓ เกี่ยวโยงกับเรื่องความสามัคคี
เพราะศีล ๓ ข้อนี้เป็นการทำลายความสามัคคี
ความกลมกลืนของจิตใจ ความสนิทของใจให้แตกร้าว ไม่เป็นของดี
แยกอธิบายเพียงเท่านั้น ก็เลยแยกเตลิดเปิดเปิงไปถึงไหนก็ไม่ทราบ
ยังไม่ถึงข้อมุสาฯ สุราฯ ไปเลย เพราะอธิบายตามเหตุผล



นี่อธิบายถึงการฝึกอบรมตน พยายามหัดอ่าน หัดเขียนตัวเอง ให้หัดอย่างนี้
ตัวของเราทุกคนเมื่อได้รับการฝึกตนเตือนตน
และพยายามแก้ไขดัดแปลงตามสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่ควรจะต้องดัดแปลงแก้ไข
เราพยายามดำเนินตามนั้น จิตใจของเราก็ชินต่อการระมัดระวังแล้วไม่ทำ
กาย วาจาก็ไม่คะนอง ย่อมเป็นไปด้วยความสม่ำเสมอ
นี่ก็เกิดขึ้นจากการรักษา การอบรม



แล้วพยายามฝึกหัดภาวนา คำว่าภาวนานั้นมีหลายประเภท
ภาวนาให้จิตใจสงบด้วยบทบริกรรมภาวนาเช่น พุทโธ เป็นต้น
หรือกำหนดอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก ให้มีความรู้สึกอยู่กับลม
อย่างนี้ก็เรียกว่าภาวนา คือเอาลมเป็นอารมณ์ของใจ
ทำความรู้สึกไว้กับลมที่ผ่านเข้าออก
เราจะตั้งลมที่ตรงไหน ที่ลมสัมผัสมากกว่าเพื่อนในบรรดาที่ผ่านของลม
เช่นดั้งจมูกเป็นต้น เราก็ทำความรู้สึกไว้กับลมโดยความมีสติ
นี่ก็เรียกว่าภาวนาเพื่อความสงบของใจ



ภาวนาอีกประเภทหนึ่งได้แก่ ปัญญา คิดอ่านไตร่ตรอง
ไม่ว่าเรื่องจะสัมผัสมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจดีชั่วประการใด
พิจารณาเหตุผลใคร่ครวญในสิ่งเหล่านั้น
จนได้รับประโยชน์ขึ้นมาจากสิ่งที่เข้ามาสัมผัสทั้งหลาย นั้นก็เรียกว่าภาวนา
แล้วแต่จริตนิสัยของท่านผู้ใดที่จะชอบในการฝึกฝนอบรม
เพื่อผลประโยชน์แก่ตน การทำเหล่านี้ทำเพื่อเราทั้งนั้น
ไม่ได้ทำเพื่อพระพุทธเจ้า ไม่ได้ทำเพื่อพระธรรม ไม่ได้ทำเพื่อพระสงฆ์องค์ใด
เพราะผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำทั้งหมดนั้น
เราเป็นผู้ก่อเหตุแห่งความดีทั้งหลาย ผลจะพึงเป็นของเราโดยเฉพาะ
ไม่มีท่านผู้ใดจะมาแบ่งสันปันส่วนจากเรา
จึงควรพยายามทำกิจที่ควรทำอันจะเกิดผลเกิดประโยชน์แก่ตนทั้งปัจจุบันและอนาคต
ไม่ให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์



ท่านว่า กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ หลักธรรมท่านว่าอย่างนั้น
การเกิดเป็นมนุษย์นี้เกิดได้ยาก
จะเกิดมาเป็นมนุษย์แต่ละครั้งนี้รู้สึกว่ายากท่านว่าอย่างนั้น
ความเกิดเป็นมนุษย์ก็ยากประเภทหนึ่ง ยากชนิดหนึ่ง
แต่ความฝึกหัดให้ความเป็นมนุษย์ของเรานี้สมบูรณ์แบบ
มันก็เป็นของยากอีกประเภทที่สอง
เพียงความเป็นมนุษย์เฉยๆ นั้นก็ไม่ยากนัก
ยากที่เราจะฝึกมนุษย์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว
ให้เป็นผู้เป็นคนสมบูรณ์แบบแห่งความเป็นมนุษย์ เรียกว่ามนุษยธรรม
ฝังจิตฝังใจ ฝังอรรถฝังธรรมลงในจิตใจ ให้ใจนั้นได้รับเหตุรับผลดีชั่ว
รู้จักวิธีหลบหลีกในสิ่งที่เป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่น
นั้นละเป็นสิ่งสำคัญ เราพยายามฝึกหัดตนของเราอย่างนั้น



เฉพาะอย่างยิ่งการฝึกหัดภาวนา ควรจะให้มีภายในจิตใจ
คนที่มีหลักจิตตภาวนาย่อมเป็นคนผู้มีเหตุมีผลใคร่ครวญอยู่เสมอ
ทำอะไรก็ไม่ค่อยผิดพลาด ไม่ค่อยโกรธง่าย ไม่ค่อยฉุนเฉียวง่ายๆ ไม่ค่อยวู่วาม
ทำอะไรมีเหตุมีผลเป็นความสม่ำเสมอ เพราะหลักภาวนาได้แก่หลักปัญญา
ไตร่ตรองหาเหตุผลดีชั่วแล้วดำเนินตามที่เห็นควร
วันนี้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายก็เห็นจะเหนื่อยกันมาก
เพราะสมบุกสมบันในงานมาเสียนาน สองวันสามวันซ้อนๆ
จึงแสดงธรรมย่อๆ เพียงเท่านี้แล้วก็หยุด เอวัง



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา http://bit.ly/1KQ2TO0


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP