สารส่องใจ Enlightenment

ฝึกหัดตนเองให้อยู่ในขอบเขต (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕



ฝึกหัดตนเองให้อยู่ในขอบเขต (ตอนที่ ๑)



ศาสนาเป็นของละเอียดเป็นธรรมที่ละเอียดมาก
เพราะฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีในภูมิของสัตว์
ศาสนาท่านวางไว้สำหรับมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นผู้เฉลียวฉลาด
สามารถที่จะไตร่ตรองหรือปฏิบัติตามหลักศาสนา จนปรากฏผลขึ้นมาแก่ตนได้
ไม่เหมือนสัตว์ สัตว์ไม่มีอะไรเป็นข้อบัญญัติกฎเกณฑ์ให้เขาดำเนินตาม
นอกจากฝึกงานให้เขาเท่านั้น
งานก็งานตามประเภทของสัตว์ที่สามารถจะทำได้ ไม่เลยขอบเขตของเขาไป
แต่มนุษย์เรามีความเฉลียวฉลาดจึงสามารถรับศาสนธรรมคำสั่งสอนไว้ได้
ด้วยเหตุนี้เองพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์
จึงต้องมาตรัสรู้และเป็นศาสดาของโลกมนุษย์เรา



แม้จะว่าเป็นศาสดาของโลกทั้งสามก็ตาม
ก่อนอื่นก็ต้องเป็นศาสดาของโลกมนุษย์เรานี้ก่อน
ศาสนาจึงมาสถิตอยู่กับมนุษย์เรา เราเป็นมนุษย์ผู้หนึ่งก็ควรให้มีศาสนา
มีหลักมีเกณฑ์มีเหตุมีผลประจำตน คือมีอรรถมีธรรม
มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับตนเองในทางที่ถูก พยายามปฏิบัติตนในวันหนึ่งๆ



การฝึกตนนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ฝึกก็ยากผลก็ดี
มีความราบรื่นดีงามโดยสม่ำเสมอเพราะการฝึกตนเอง
เช่นเราไม่เคยสนใจกับวัดวาอาวาส ไม่เคยสนใจให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
ไม่เคยฝึกหัดดัดแปลงกายวาจาให้เป็นไปในขอบเขตแห่งอรรถแห่งธรรมเลย
เราก็พยายามไปทุกวันๆ การพยายามอยู่โดยสม่ำเสมอนั้น ก็เป็นการฝึกหัดตนไปในตัว
เช่นเดียวกับเราฝึกหัดอ่านหนังสือเขียนหนังสือ
ความจำก็ชำนาญ ความเขียนก็ชำนาญ ความอ่านก็ชำนาญตามกัน
การฝึกหัดตนในทางศาสนา เพื่อเป็นคนมีสมบัติผู้ดีเป็นประจำภายในจิตในนิสัย
เราต้องอาศัยการฝึกฝนการอบรมอยู่เสมอเช่นเดียวกันนั้น



ทำไมจึงต้องฝึก ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องฝึก
นี่เป็นคำตอบในคำถามว่าทำไมถึงต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกก็ไม่ได้เรื่อง
สัตว์ที่เราเลี้ยงไว้ในบ้าน เราไม่ฝึกเลยปล่อยตามอำเภอใจของสัตว์
ก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ ก็ต้องฝึกให้เขาทำหน้าที่ตามกำลังของเขา
แล้วก็เกิดประโยชน์ เช่น สุนัข เราพยายามฝึกหัดให้เขารักษาบ้าน รักษาสิ่งของ
หรือให้คาบนั้นหยิบนี้มาให้เรา เราพยายามฝึกหลายหนหลายครั้งเขาก็ทำได้
ฝึกหัดให้รักษาบ้านก็ได้ ให้รักษาสิ่งของก็ได้ ให้รักษาเจ้าของก็ได้
เราพยายามฝึกให้ได้ตามขั้นของเขา



เราวันหนึ่งๆ เคยได้นึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆหรือไม่
ถ้าไม่เคยนึกเลยก็เทียบกับว่าสัตว์
เป็นแต่เพียงเลี้ยงดูไว้ในบ้านเท่านั้นด้วยความรักเฉยๆ
หรือด้วยความสงสารเพียงเท่านั้นก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ยิ่งกว่านั้นไป
เราต้องฝึกสัตว์เหล่านั้นให้ได้ประโยชน์ตามควรของเขา
เราก็ได้รับประโยชน์จากเขา
นี่การฝึกเรา ถ้าเราพยายามฝึกวันละเล็กละน้อยไป
ก็เกิดประโยชน์แก่เราจนเกิดความเคยชิน
เช่นมาฝึกหัดภาวนา เราไม่เคยภาวนาเลย คำว่าภาวนานั้นคืออย่างไร
นี่เราก็ต้องศึกษาให้ทราบในเบื้องต้นเสียก่อน



คำว่าไม่เคยฝึกตนเลย คำว่าฝึกตนคือฝึกอย่างไรอีก
ก็เหมือนกันกับเราฝึกงานอื่นๆ นั่นเอง
งานใดๆ ทีแรกเรายังไม่เคยทำ เราต้องไปฝึกเสียก่อน ที่เรียกว่าฝึกงาน
คำว่าฝึกงานท่านทั้งหลายก็เข้าใจได้ดี ฝึกจนเป็นงาน
เมื่อเราฝึกจนเป็นการเป็นงานแล้ว
งานที่เราได้รับการฝึกฝนอบรมมาแล้วย่อมชำนิชำนาญไม่ผิดพลาด



การฝึกตนก็เหมือนกัน พยายามฝึกตนให้อยู่ในขอบเขต
การไปการมา การรับการจ่าย หรือการแสวงหา
เมื่อได้มาแล้วการจับการจ่ายการเก็บรักษา เราจะควรเก็บรักษาอย่างไรบ้าง
จึงจะพอเหมาะพอควรกับฐานะของเราและรายได้ของเรา
จะไม่ขาดเขินไม่บกพร่องในกาลต่อไป
เราก็ต้องพิจารณาแล้วเก็บแล้วจับจ่ายไปเท่าที่เห็นว่าควร
นี่ชื่อว่าเป็นการฝึกเช่นเดียวกัน ฝึกงานจนเป็นงานแล้วได้เงินมา
ทีนี้ได้เงินมาแล้วไม่ฝึกในวิธีเก็บรักษา ไม่ฝึกในวิธีจับจ่ายก็กลายเป็นคนสุรุ่ยสุร่ายไป
เมื่อเราฝึกทั้งงานจนผลงานปรากฏขึ้นมาเป็นตัวเงิน
แล้วเราก็ฝึกวิธีเก็บรักษาอีก ฝึกวิธีจับจ่าย
ควรเก็บรักษาไว้ประมาณเท่าไรในเงินจำนวนนั้นหรือสมบัตินั้นๆ มีจำนวนเท่านั้น
เราจะควรจับจ่ายใช้สอยไปประมาณเท่าไร ควรเก็บไว้เท่าไร



แล้วการจับจ่ายไปนั้นเราควรจับจ่ายด้วยเหตุใดบ้าง
มีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร เราจึงจะจับจ่ายไป หรือจะต้องจับจ่ายไปหมด
เพราะเงินนั้นเป็นสมบัติของเรา เราจะใช้ให้หมดทุกสตางค์ก็ได้
เงินอยู่ในอำนาจของเรา ใต้อำนาจของเรา เราเป็นผู้หามา
แต่ความจนก็คือเรานั่นแหละ
นี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องฝึกให้รู้เรื่องงานด้วย ให้รู้การงานด้วย
ให้รู้ผลของงานที่ได้มาแล้วเก็บรักษา
และจับจ่ายใช้สอยไปมากน้อยเพียงไรด้วยความจำเป็นด้วย



ผู้ที่มีการฝึกตนอยู่เสมอทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและบั้นปลายเช่นนี้
ชื่อว่าเป็นผู้มีความรอบคอบ งานก็เป็น เก็บเงินก็อยู่
จับจ่ายใช้สอยเงินก็เป็นอีก ไม่สุรุ่ยสุร่าย
สมบัติเงินทองมีจำนวนมากน้อยไม่เป็นเครื่องทำลายนิสัยของตนให้เป็นคนมีนิสัยที่เสียไป
งานก็ได้ตนก็ไม่เสียเรียกว่าฝึกเป็นแล้วเป็นอย่างนั้น
จากนั้นอีก เราจะฝึกในส่วนอื่นๆ อันนี้ยกขึ้นมาเป็นเอกเทศ
จะฝึกตนให้เป็นพลเมืองดี ให้เป็นที่เย็นใจแก่ตนและครอบครัว เราจะฝึกอย่างไร
ทั้งสามีและภรรยาจะปฏิบัติต่อกันอย่างไรในครอบครัวนั้นๆ
ที่จะให้เหมาะสม ให้เป็นความร่มเย็น เราก็ต้องฝึก ต่างคนต่างฝึกตามหน้าที่ของตน



เมื่อต่างคนต่างได้รับการฝึกการอบรมจากตัวเอง
ด้วยการลบการเขียนอยู่เสมอ จนมีความชำนิชำนาญแล้วนั้น
ใครอยู่ที่ไหนเขียนก็เป็นถ้อยเป็นคำเป็นตนเป็นตัว อ่านก็ออก
ใช้งานใช้การได้ด้วยกัน ไม่ว่าผู้หญิงไม่ว่าผู้ชายจะไปทำหน้าที่การงานอันใดก็ตาม
ในบ้านนอกบ้าน ประสานงานกับใครก็ตาม
นอกสังคมในสังคม นอกบ้านในบ้าน ที่ใกล้ที่ไกล ที่ลับหูลับตา
ไปที่ไหนก็เป็นคนคงเส้นคงวา ไม่เคลื่อนคลาดไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่เถลไถล ไม่เหลวไหล เพราะเราฝึกงานของเราเป็นแล้ว



ตัวของเรานี้เหมือนโรงงานอันหนึ่งที่เราจะต้องฝึกให้ชำนิชำนาญ
ทั้งการครองชีพ ทั้งการงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความได้ความเสีย
เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบในงานและผลของงานเราไปในตัว
เนื่องจากเราอ่าน เราไตร่ตรอง เราสังเกตตัวเอง เราพยายามแก้ไขตนเองอยู่เสมอ
นี่วิธีฝึกงาน ให้ถือเราว่าเป็นโรงงานโรงหนึ่ง



ทีนี้ฝึกการให้ทาน ก็พยายามให้ทานเสมอ อย่าให้ขาด
คนมีนิสัยในทานเป็นคนกว้างขวาง อัธยาศัยก็กว้างขวางไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว
ตัดความมัธยัสถ์ ความเห็นแก่ตัว ความโลภโลเลได้เป็นลำดับๆ
นี่อำนาจของทานสามารถเข้าถึงจิตใจของประชาชนคนอื่นได้
เพราะใจที่มีทานย่อมเป็นไปด้วยความกว้างขวาง
เป็นไปด้วยความเมตตาเป็นหลักสำคัญ
คนมีทานไปที่ไหนจึงไม่เป็นที่รังเกียจของใครทั้งนั้น
นอกจากนั้นแล้วสละได้จนกระทั่งสิ่งที่หวงแหนภายในจิตใจของตน
สิ่งที่หวงแหนภายในจิตใจนั้น คือเป็นสิ่งลึกลับ
ท่านเรียกว่ากิเลสอาสวะต่างๆ ที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน
อำนาจของทานการเสียสละนี้สละเข้าไปตั้งแต่ขั้นหยาบจนเข้าถึงขั้นละเอียดสูงสุด
สละไปได้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง นี่ก็เพราะอำนาจความเสียสละ
เลยกลายเป็นคนหมดความเห็นแก่ตัว คือความฝึก



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา http://bit.ly/1KQ2TO0


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP