สารส่องใจ Enlightenment

ฝึกหัดตนเองให้อยู่ในขอบเขต (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕




ท่านจะกำหนดตามระยะของท่าน ตามภูมิจิตของท่าน
ดูจิตในขั้นเริ่มแรก คอยฟังคำเทศน์นั่นละ เป็นคำบริกรรมเหมือนกับคำบริกรรม
คือจิตรับทราบอยู่กับขณะที่ฟังเทศน์เป็นระยะๆ ได้
มันก็สงบลงเอง คือไม่ได้ส่งออกไปข้างนอก
เช่นส่งมาหาผู้เทศน์อย่างนี้ ทำความรู้สึกไว้กับใจของเราโดยเฉพาะเท่านั้น
เรื่องธรรมก็เข้าไปสัมผัสที่ใจ เมื่อรับทราบจากความสัมผัสของธรรมอยู่เสมอๆ ก็สงบได้
จิตที่มีภูมิสมาธิอยู่แล้วก็กำหนด ทีนี้จิตมันก็หยุด แล้วกระแสแห่งธรรมก็ผ่านเข้าไปๆ
จิตก็คล้อยตามธรรมมันก็สงบลงไปอีก



ขั้นที่ ๓ คือจิตที่อยู่ในขั้นปัญญา
พอท่านแสดงธรรมขั้นนี้จิตไม่อยู่ แต่ไม่ได้ไปที่อื่น
หากไปตามระยะ ตามจังหวะของธรรมที่ท่านแสดงลึกตื้นหยาบละเอียด
จิตจะขยับตามไปเรื่อยๆ นี้จิตกับทางปัญญาเป็นอย่างนั้น
ยิ่งปัญญาสูงละเอียดเท่าไร ธรรมะสูงเท่าไรก็วิ่งตามกันได้อย่างคล่องแคล่ว



ทั้ง ๓-๔ ขั้นของจิตนี้ กับธรรมที่ท่านแสดงนั้นเหมาะสมกันเป็นระยะๆ
และเป็นความเพลินไปในการฟังเช่นเดียวกัน
แต่เพลินตามขั้นของตน ของธรรมเท่านั้น
เพราะฉะนั้นผู้ฟังธรรมจึงสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ตามความสูงต่ำของตน
เช่นผู้ต่ำก็ค่อยขยับขึ้นไป ผู้สูงพอผ่านก็ผ่านไปได้
ดังที่ท่านพูดว่าท่านบรรลุธรรมในขณะฟังเทศน์เป็นอย่างนั้น



นี่เรากำลังเริ่มฝึกหัด ก็พยายามเริ่มอ่านเริ่มเขียน อ่านตัวเอง เขียนตัวเอง
วันหนึ่งๆ เราอยู่กับหน้าที่การงาน
งานของเราที่ทำนั้นมีทั้งงานภายในคือความคิดอ่านต่างๆ
ทั้งวาจาที่จะต้องพูดออกไปเกี่ยวกับความคิดที่ระบายออกมา
ทั้งกายที่เราจะพึงกระทำตามจิตที่บงการออกมา เราอ่านเราตรองไปตาม
อันไหนที่ไม่ดี เช่นเดียวกับเราเขียนหนังสือ เขียนตัวไหนไม่ดี
เขียนแล้วลบใหม่ เขียนใหม่แล้วลบ เขียนแล้วอ่านดู อ่านแล้วลบ
เขียนจนชำนิชำนาญ อ่านจนชำนิชำนาญ จนเกิดความเข้าใจ
ความเข้าใจก็ชิน การเขียนก็ชิน การอ่านก็ชิน
เมื่อชินแล้วย่อมไม่ผิดพลาด การเขียนก็ไม่ผิดการอ่านก็ไม่ผิด เพราะความจำชำนาญ



นี่การพยายามฝึกหัดอ่านตัวเองเขียนตัวเอง
แก้ไขดัดแปลงตนเองในหน้าที่การงาน ก็ย่อมเป็นเช่นนั้น
เพราะคำว่างานนี้ เฉพาะอย่างยิ่งงานของฆราวาสนั้นกว้างขวางมากยิ่งกว่างานของพระ
งานที่กว้างขวางอาจจะเป็นงานที่
ผู้ไม่ใคร่ครวญในงานของตนนั้นจะมีผิดพลาดมากอยู่ไม่น้อย
คำว่าผิดพลาดนั้นไม่ว่าอะไรไม่ใช่เป็นของดี
อย่างเราเดินไปเฉยๆ นี้เราเหยียบผิดพลาดไปเลยทำให้ลื่นแล้วหกล้มไปได้
การผิดพลาดในการงานของเราก็เหมือนกัน
จึงต้องได้สำเหนียกศึกษาในหน้าที่การงานของตน



งานฆราวาสมีหลายประเภท
งานจริงก็มี งานที่ปลอมเข้าไปแฝงๆ อยู่ในงานจริงก็มี
คำว่าปลอมนั้นก็ไม่ใช่ของดีเหมือนกัน
เช่นธนบัตรปลอมนี้แม้จะเหมือนธนบัตรจริงทุกอย่าง ก็คือธนบัตรปลอมอยู่นั้นแล
งานของเราก็เหมือนกัน งานหนึ่งๆ เราทำจริงทำจัง
แต่มันแอบๆ แฝงๆ ไปด้วยความเสียหาย
เสียหายแก่ตนด้วย เสียหายแก่คนอื่นด้วยก็ไม่ดี
ตนเข้าใจว่าเป็นรายได้ แต่เป็นความเสียหายแก่คนอื่น
เป็นความเสียหายแก่โลกอย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นงานที่ควรจะทำ



งานบางอย่างเป็นความสนุกสนานรื่นเริงสำหรับตน
แต่เป็นงานที่ทำความเสียหายแก่ตนอย่างลึกลับ
และเป็นงานที่เสียหายแก่ครอบครัว และหน้าที่การงานอื่นๆ ก็มี
งานเช่นนี้คืองานอะไรเราก็พอจะทราบได้
เช่นการดื่มสุราเมรัยจนเลยขอบเขต
เป็นเหตุให้เสียทั้งจิตใจและสติปัญญาทรัพย์สมบัติ
การพนันอย่างนี้เหมือนกัน เราเพลินเวลาเราทำลงไปเราเพลินในการทำ
แต่ความเพลินนั้นไม่ทราบว่าความฉิบหายจะเกิดขึ้นตามมาเมื่อไร
คำว่างานก็กรุณาพิจารณาตามนั้น



ที่นี่ย่นเข้ามาอีก งานฝึกหัดเรานี่ละเป็นสิ่งสำคัญมาก
ปกติเรามักไม่มีแบบฉบับเป็นเครื่องดำเนินของตนเอง
คือตามธรรมดาของพลเมืองดีทั่วๆ ไป
โดยมากต้องมีแบบฉบับเป็นเครื่องดำเนิน มีกฎมีกติกาอยู่ภายในใจ
แม้จะไม่ได้เขียนเอาไว้ตามกระดาษหรือตามหนังสืออะไรก็ตาม
แต่มีกฎมีกติกามีสัญญาเครื่องวัดเครื่องตวงตัวเองให้ทราบ เป็นการเตือนตนอยู่เสมอ
คนเรานั้นชอบเตือน คนอื่นไม่เตือนตัวเองก็ต้องเตือนตัวเอง
คนอื่นไม่บังคับ ตนเองก็ต้องบังคับตนเองเสมอ
จึงจะเป็นไปในขอบเขต ไม่เช่นนั้นก็จะเลยขอบเขตไปเรื่อยๆ
จนกลายเป็นคนไม่มีขอบเขต ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ไปได้



เฉพาะอย่างยิ่งการพยายามฝึกหัดตนเองให้อยู่ในขอบเขต นี่สำคัญมาก
วันหนึ่งๆ เราควรอ่านตัวเองเสมอ ว่าวันนี้ได้มีความผิดพลาดไปในทางใดบ้าง
มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ตัวของเราอย่างไรบ้าง
หรือมีความเจ็บช้ำจิตใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง เฉพาะอย่างยิ่งคือครอบครัวหรือไม่
หรือคนอื่นใดบ้างที่การกระทำของเรานี้เป็นการกระทบกระเทือนแก่บุคคลเหล่านั้น
เราต้องคิดเสมอ แม้คนอื่นไม่ทราบไม่เห็นก็ตาม
แต่การกระทำนั้นเป็นการกระเทือนตนเองหรือไม่
การกระเทือนตนเองก็คือความเสียหายสำหรับตน นี่เราก็ควรคิด
ที่ท่านเรียกว่าหัดคิด หัดอ่าน อ่านตัวเอง คิดตัวเอง
และแก้ไขตัวเองไปโดยลำดับ



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา http://bit.ly/1KQ2TO0


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP