เข้าครัว Lite Cuisine

โกโก้ กับ ขนมปังปอนด์


Cuisine

พิมพการัง

 

coco

 

ปรกติแล้วโรงครัวถือเป็นเขตของฝ่ายหญิง

ฝ่ายชายจะเข้ามาก็ต่อเมื่อมีธุระจริงๆ
เช่นมาช่วยยกถุงข้าวสารหรือเปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นต้น
อย่างมากก็มานั่งจิบน้ำปานะแค่ชานด้านนอก

แต่กฎข้อนี้ก็ได้รับการยกเว้นเสมอสำหรับผ้าขาวปังปอนด์
เพราะจะเห็นเขานั่งห้อยขาจิบโกโก้ร้อนอย่างสบายใจบนเก้าอี้ตัวโปรดเป็นประจำ

ถ้ามีใครถามผ้าขาวปังปอนด์ว่าอายุเท่าไรแล้วคะ เขาจะตอบเสียงดังฟังชัดว่า ฉี่ขวบ
แล้วยกนิ้วเล็กๆ ขึ้นมาสี่นิ้วเพื่อประกอบคำอธิบาย เผื่อใครฟังไม่เข้าใจ

ก่อนจะบวชเป็นผ้าขาว ปังปอนด์ก็เป็นเด็กน้อยที่มาทำบุญกับครอบครัว
แต่พอมาถึงวัดก็ร้องไห้คร่ำครวญว่าจะบวช อยากอยู่วัด ไม่อยากกลับบ้าน
พระอาจารย์อำนวยบอกว่าให้ไปกราบขออนุญาตกับหลวงปู่เอาเอง

เวลานั้นหลวงปู่กำลังพักผ่อนอยู่ในกุฏิ
ตาหนูวิ่งตึงๆ ไต่บันไดไปทุบประตูห้องแล้วตะโกนว่า หลวงปู่อยู่หนาย ปังปอนด์จาบวช” 
หลวงปู่เปิดประตูออกมามองแล้วอนุญาตว่า เอ้า อยากบวชก็บวชเล้ย

การบวชเป็นผ้าขาวคือการปลงผม ใส่ชุดขาว แล้วสมาทานศีลแปด ไม่มีพิธีกรรมอะไรมากมาย
เย็นนั้นปังปอนด์น้อยปลงผม พระอาจารย์อำนวยตัดเย็บชุดขาวให้
ภาพเด็กน้อยในชุดผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาช่างน่ารักน่าปีตินัก แค่นี้ก็ทำให้พ่อแม่น้ำตาซึมได้แล้ว

ช่วงนั้นเป็นช่วงปิดเทอม ผู้ปกครองหลายบ้านพาลูกชายลูกสาวมามาบวชที่วัดป่าหลายสิบคน
สถิติสูงสุดคือเณรสามร้อยกว่าองค์ ผ้าขาวหลายสิบคน แม่ขาวอีกเกือบร้อย
ไหนจะผู้ปกครองที่ตามมาอยู่วัดเพื่อดูแลลูกอีก
ช่วงที่มีเด็กมาเยอะๆ ต้องใช้วิธีว่าใครมาถึงก่อนก็ปลงผม อาบน้ำแต่งชุดขาวไว้
รอช่วงขึ้นศาลาหนึ่งทุ่มที่ทุกคนมาสวดมนต์ทำวัตรเย็น
ใครที่จะบวชค่อยลุกไปสมาทานศีลแปด
และกล่าวคำปวารณาขอบวชพร้อมกัน

จนพี่ๆ ลุงๆ ป้าๆ เขาลุกไปสมาทานศีลกันหมดแล้ว บางรายมาช้าต้องขอสมาทานรอบสองก็ยังมี
พระอาจารย์ถามซ้ำว่ามีใครที่ยังไม่ได้สมาทานอีก ว่าที่ผ้าขาวปังปอนด์นั่งเงียบ
เอ แต่พระอาจารย์จำได้นี่นาว่าปังปอนด์ยังไม่ได้สมาทาน
จึงถามแบบเจาะจงว่าเจ้าปังปอนด์ล่ะมาขอศีลหรือยัง
สายตาทุกคู่หันไปจ้องพ่อหนูฉี่ขวบที่นั่งเฉยอยู่ ปากเล็กๆ ตอบด้วยประโยคคำถามว่า
จี๋น คืออายาย

พระอาจารย์อำนวยร้องโอ๊ย ในขณะที่ทั้งศาลาหัวเราะกันเกรียว
ท่านเรียกเจ้าตัวมานั่งใกล้ๆ เพื่อแปลศีลเป็นภาษาที่ฟังง่ายๆ แล้วถามย้ำทีละข้อว่าทำได้ไหม
ทำได้ก็บวชได้ ทำไม่ได้ก็มานอนวัดเฉยๆ ไม่ต้องบวช
หนูน้อยรับคำด้วยน้ำเสียงขึงขังทุกข้อว่า ทำได้ๆ

แต่ศีลสำหรับปังปอนด์มีพิเศษกว่าคนอื่นหนึ่งข้อ
ศีลข้อเก้าที่ต้องรักษาคือห้ามร้องไห้งอแงนะ

หลวงปู่อธิบายว่าก้าวแรกขอแค่ให้เด็กๆ ไม่กลัววัด
ให้เขามีโอกาสสัมผัสความร่มเย็นของศาสนา ได้รู้จักความสุขสงบในใจตั้งแต่ยังเล็ก
ก่อนที่เกมคอมพิวเตอร์กับการ์ตูนจะจองพื้นที่ในใจเขาไปหมด
เรื่องศีลบางครั้งก็ด่างบ้าง ขาดบ้างไม่ว่ากัน
เณรน้อยบางองค์เดี๋ยวก็ศีลขาดวิ่งมาสารภาพแล้วต่อศีลใหม่ก็มี

ที่น่าแปลกใจคือเด็กๆ ที่เคยอยู่วัด มักจะร่ำร้องอยากมาอยู่วัดอีก
หลายคนเป็นเจ้าประจำทุกปิดเทอม ใกล้เปิดเทอมค่อยสึก ปิดเทอมก็กลับมาอยู่วัดใหม่
บางครอบครัวพาลูกมานอนวัดช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์
บางครอบครัวตกเย็นก็พาลูกมานั่งทำการบ้านที่วัด ค่ำๆ ก็ขึ้นศาลา
สวดมนต์เดินจงกรมพร้อมกัน แล้วค่อยกลับไปนอนที่บ้าน

หลวงปู่ชอบเรียกให้เด็กๆ มานั่งสมาธิแถวหน้า
เสร็จแล้วถ้ามีวิตามินซีท่านก็จะแจกให้เด็กๆ เป็นรางวัล

ครั้งหนึ่งวิตามินซีของท่านหมด จึงแจกเม็ดอมสมุนไพรแทน
น้องแม็ควัยสามขวบรับมาก็อ้ำไปเต็มที่ ได้รสเข้าก็หน้าเหยเก
ปากย่นยู่ปล่อยเม็ดดำๆ ร่วงจากปากทันที
หลวงปู่ร้องว่า เอ้า เอ้า กินไม่ได้ก็ถุยทิ้งไป
แล้วเลื่อนกระโถนกับส่งกระดาษให้เช็ดปากที่เปื้อนน้ำลาย

เด็กๆ อยู่วัด มักจะมีอะไรขำๆ ให้ได้หัวเราะกันสนุก
พร้อมกับความชื่นใจและปลื้มปีติในธรรมทายาทรุ่นจิ๋ว
แสงธรรมที่มีแสงเทียนแท่งน้อยมาคอยสืบสานต่อ
คงยังส่องแสงเปล่งประกายไปอีกแสนนาน

ปรกติแล้วศิษย์วัดป่าใฝ่หาความเงียบสงบ
หลวงปู่ขอให้ลูกศิษย์กลุ่มภาวนาอดทนและเมตตาเด็กๆ ด้วย
เสียงอาจจะดังไปนิด (แต่บางทีก็หนวกหูมาก)
วัดอาจจะดูวุ่นวายไปหน่อย (และบ่อยๆ ก็วุ่นวายมาก)
แต่ก็เห็นได้ชัดเฉพาะช่วงปิดเทอม ช่วงเปิดเทอมก็ยังคงสัปปายะมากอยู่

ยังดีที่สองปีมานี้ได้เนื้อที่วัดมาเพิ่ม
ผู้ใหญ่ที่ต้องการภาวนาก็จะเลี่ยงไปเดินจงกรมคนละฟากกับเด็กๆ

เด็กหนึ่งคนมาอยู่วัด ผู้ปกครองทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็มักจะตามมาอยู่วัดด้วย
จนกลายเป็นชื่อโครงการหนึ่งบวกหนึ่งได้สาม ของหลวงปู่สาครนี่เองล่ะค่ะ

เหมือนกับครอบครัวของปังปอนด์แทนที่จะมาวัดเพื่อทำทานอย่างเดียว
ก็เริ่มต้องมานอนเป็นชาววัดบ้าง สายๆ คุณพ่อออกจากวัดไปทำงาน
ผ้าขาวปังปอนด์ก็ฟังนิทานชาดก เรียนการกราบพระ เดินจงกรม
นั่งสมาธิบ้าง ช่วยเช็ดศาลาบ้างตามกิจกรรมที่พระอาจารย์จัดให้
ตกเย็นคุณพ่อจึงกลับมาอยู่วัดเป็นเพื่อน

ด้วยความที่เป็นผ้าขาวตัวจิ๋ว ป้าๆ ทั้งหลายจึงเอ็นดูเป็นพิเศษ
ผ้าขาวถือศีลแปดแต่ไม่ต้องกลัวอด
เดี๋ยวเดียวก็ต้องมีใครกระซิบถามว่าหิวไหม เอาโกโก้ไหม
ถ้าเขาหิวจะเดินมานั่งปุ๊กบนที่นั่งประจำเอง

โกโก้ร้อนที่ชงดื่มเป็นน้ำปานะได้ ต้องเป็นโกโก้แท้ล้วนๆ
ไม่ผสมครีม ไม่ผสมนม ดังนั้นที่เป็นซองๆ ผสมมาแล้วเสร็จใช้ไม่ได้นะคะ
ฝากดูฉลากตรงที่เป็นภาษาอังกฤษถ้ามีคำว่า butter หรือ cream นี่ไม่ได้ค่ะ

โกโก้ผงพร้อมชงตามร้านค้าทั่วไปมีหลายยี่ห้อ
แต่ขอแบ่งปันจากประสบการณ์ว่ายี่ห้อที่รสชาติดีที่สุด คือยี่ห้อที่ขึ้นต้นด้วยตัว V
ซึ่งราคาก็สูงพอควรเช่นกันค่ะ แต่ถ้าไม่ติดขัดนัก จะถวายวัด ถวายพระ
หรือชงให้เณรน้อย ผ้าขาวน้อยทั้งทีก็ถวายของที่ดีที่สุดให้เถิดค่ะ
ท่านไหนเคยถือศีลแปดมาแล้วก็จะเข้าใจได้จริงๆ นะคะ


IMG_0783
รูปภาพประกอบจาก
www.yumtumbum.com

 

เคล็ดลับการชงโกโก้ให้อร่อย

คือชงด้วยน้ำเดือดจัด ที่สำคัญคืออย่าหวงโกโก้
ใส่มากหน่อยแล้วค่อยกลบความขมด้วยน้ำตาลทราย
จะได้รสชาติเข้มข้น หอม และอิ่มสบายท้องกว่าด้วยนะคะ

สัดส่วนที่เคยชงแล้วได้ผลดีคือ น้ำร้อนจัดหนึ่งถ้วยกาแฟเล็กๆ
ใช้โกโก้ผงหนึ่งช้อนแกงพูนๆ กับน้ำตาลทรายสองช้อนค่ะ
ดูง่ายๆ ว่าใช้โกโก้เท่าไรก็ใส่น้ำตาลทรายเพิ่มไปอีกหนึ่งเท่าตัว
ถ้าไม่ชอบหวานจะลดลงมาเป็นอัตราส่วนหนึ่งต่อเท่าครึ่งก็ได้
แค่นี้ก็เดินจงกรมตัวเบาสบายหายหิว เด็กเล็ก เณรน้อยก็หลับได้สบายแล้วล่ะค่ะ

ผ้าขาวน้อยปังปอนด์บวชได้เกือบสัปดาห์ก็สึก
ประสบการณ์บวชช่วงสั้นๆ ที่สร้างกุศลผลบุญให้กับตัวเอง
ได้เห็นสีหน้าปลื้มปีติคลอน้ำตาของคุณพ่อคุณแม่
ได้มาแต้มรอยยิ้มกับเสียงหัวเราะให้ป้าๆ ลุงๆ ชาววัด

ขออนุโมทนาด้วยนะคะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP