สารส่องใจ Enlightenment

การเจริญอานาปานสติ (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
แสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๒




การเจริญอานาปานสติ(ตอนที่ ๑)(คลิก)



ทุกข์อันนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป
ทุกข์อันอื่นมันจะเกิดขึ้นใหม่ต่อไปอีก มันเปลี่ยนแปลงยักย้ายไปมาเรื่อยๆ
เช่น ทุกข์ในอิริยาบทต่างๆ การอยู่ การกิน การทำมาหาเลี้ยงชีพ
มีกินแล้วก็สบายไปได้ระยะหนึ่ง ประเดี๋ยวก็หิวโหยมาอีก
รู้จักรสชาติเอร็ดอร่อย รสชาตินั้นซึมซาบทั่วสรรพางค์กาย
มีความสบายเบิกบานไปพักหนึ่ง ประเดี๋ยวก็ต้องไปถ่ายทุกข์
เขาเรียกว่า ถ่ายทุกข์ เพราะถ้าไม่ถ่ายมันเป็นทุกข์จริงๆ ทุกข์มากยิ่งกว่าเก่า
กำลังถ่ายอยู่นั้นมันเหม็นแสนเหม็นก็จำเป็นต้องทน กว่าจะเสร็จธุรกิจจึงจะไปได้
เวลากินล้วนแล้วแต่ของดิบของดีๆมีราคามาก
เรียกร้องพวกเพื่อนมารับประทานด้วยกัน ด้วยความหรรษาร่าเริง
เวลาถ่ายเงียบฉี่ไม่มีใครเห็นด้วย



จึงว่ามีสุขแล้วก็เป็นทุกข์ เป็น อนิจจัง ของไม่เที่ยง
เพราะเป็นของไม่เที่ยงนั่นแหละมันจึงเป็นทุกข์
การเป็นทุกข์มันเป็นของใครเล่าคราวนี้?
สุขก็ไม่ใช่ของใคร มันเกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าว แล้วมันก็หายไป
เดี๋ยวทุกข์อื่นเกิดขึ้นมาอีกแล้วมันก็หายไป
มันไม่ใช่ของใครทั้งหมด มันเป็นของประจำกายอยู่อย่างนั้น
จึงว่าเป็น อนัตตา
อนัตตา
เป็นของมีอยู่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้แหละ แต่เป็นของไม่มีสาระ



อานาปานสติ นั้น เมื่ออธิบายแล้วจะเห็นว่ามันลงที่กายคตาสตินั่นเอง
กายคตาสติ ก็รวมลง มรณสติ เลยเป็นอันเดียวกัน
ถ้าไม่มีกายจะพิจารณาลมหายใจได้อย่างไร แล้วพิจารณากายได้อย่างไร
เมื่อจะพิจารณาอันใดอันหนึ่งแล้ว มันเกี่ยวเนื่องถึงกันไปหมดทั้ง ๓ อย่าง
ผู้ที่หลงทางกัมมัฏฐานเลยจับอะไรก็ไม่ถูก



มีเรื่องน่าขบขันอยู่เรื่องหนึ่ง มีพระมหาองค์หนึ่ง
ทางเจ้าคณะเขาสั่งไปให้เที่ยวอบรมสั่งสอนศีลธรรมตามหมู่บ้านต่างๆ
ที่เรียกว่าพระธรรมทูตนั่นเอง
เมื่อไปถึงหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งเขาปฏิบัติพระนักปฏิบัติอยู่แล้ว
พอค่ำมาเขาก็ตีกลองให้คนมาฟังเทศน์
เมื่อเขามารวมกันแล้ว พระมหาองค์นั้นก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์
เทศน์ไปแกก็ติเตียนพระนักปฏิบัติไป
หมายถึงพระกรรมฐานรูปที่ชาวบ้านเขาปฏิบัติท่านอยู่นั่นเอง
หัวเราะเฮฮาเย้ยหยันไปในตัว
อันแสดงถึงเรื่องชาวบ้านปฏิบัติตามพระเหล่านั้นเห็นเป็นหลงงมงาย



มีผู้หญิงคนหนึ่งวัยกลางคนนั่งอยู่ในที่ปะชุมนั้นด้วย
แกแสนที่จะอดกลั้นต่อไปได้ สงสัยว่าทำไมพระจึงมาใส่โทษกันในที่ประชุมเช่นนี้
พระรูปที่ท่านพูดถึงนั้นก็ไม่ได้ทำผิดพระธรรมวินัยอะไร
แล้วท่านก็ไม่ได้อยู่ในที่นั้นอีกด้วย
แกจึงย้อนถามทั้งๆ ที่พระมหาองค์นั้นยังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์นั้นเอง
ว่า "ดิฉันขอถามท่านมหาหน่อย ท่านมหามิใช่กรรมฐานหรอกหรือ?"
ท่านมหาตอบอย่างไม่มีอายว่า "อาตมามิใช่พระกรรมฐาน"
หญิงคนนั้นจึงย้อนถามอีกว่า "เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ของท่านมหามีไหม"
ท่านตอบเสียงอ่อยๆ ว่า "มี"
หญิงคนนั้นจึงบอกว่า "นั่นแหละพระกรรมฐานที่ท่านใส่โทษอยู่ประเดี๋ยวนี้
อุปัชฌาย์ของท่านมหาสอนแล้ว แต่เมื่อบวชครั้งแรกโน้นมิใช่หรือ?"
ท่านมหาลงจากธรรมาสน์แล้วเปิดหนีแต่เช้ามืด ทีหลังมาได้ข่าวว่าสึกแล้ว
มิน่าล่ะถึงเป็นพระมหาแล้วยังต้องให้ผู้หญิงบอกสอนกรรมฐาน
สึกเสียก็ดี อยู่ไปก็เลอะเทอะ ทำพระศาสนาให้เสื่อมเปล่าๆ



ใครจะพิจารณาอานาปานสติหรืออะไรก็แล้วแต่อุปนิสัย
ขอให้จิตรวมลงเป็นหนึ่งได้แล้วก็เป็นอันดีด้วยกันทั้งนั้น
ถ้าจิตไม่รวมจะใช้วิธีอะไรก็ไม่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น
กรรมฐานที่ท่านว่าไว้มากมาย หรือธรรมทั้งหลายที่ท่านเทศนากว้างขวางนั้น
ก็เพื่อสำรวมจิตนี้เท่านั้นเอง


เทศนามาก็สมควรแก่กาลเวลา เอวํ ฯ





นั่งสมาธิ

หลวงปู่อบรมนำก่อน



นั่งสมาธิภาวนากันเถิด ฟังมากๆ เรียนมากๆ ทำให้เกิดสัญญา
สัญญา
คือความจำของเก่าที่ล่วงเลยมาแล้ว
เราทำสมาธิเพราะต้องการลบล้างสัญญา
แท้จริงสัญญามันก็ดีอยู่เหมือนกัน เอาไว้เล่าเอาไว้เทศนาให้คนอื่นฟัง
ถ้าไม่มีสัญญาก็ไม่ทราบว่าจะไปฟังอะไรกับใคร
พุทธศาสนาก็เลยเสื่อมสูญไปหมด
แต่สัญญามิใช่ของเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายในใจของตน
สัญญานี้อยู่ไปนานๆ หนักเข้ามันชักจะดื้อด้าน
ไม่ยอมเชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า



พระองค์ทรงสอนให้ภาวนาอานาปานสติ
ซึ่งเป็นอุบายให้ลบล้างสัญญาได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน
คือใช้คำว่าอานาปานสติๆ อย่างนี้เรื่อยไป
พิจารณาลมหายใจออก หายใจเข้า เป็นอารมณ์
ให้จิตแน่วแน่อยู่เฉพาะที่ลมนั้นเท่านั้น

เมื่อพิจารณารวมอยู่ในที่เดียวแล้ว คราวนี้ให้วางลมอันนั้นเสีย
จิตก็จะว่างอยู่เฉยๆ ไม่มีอะไรปรากฏอยู่ในที่นั้น จะเหลืออยู่แต่ผู้รู้เท่านั้น
เมื่อตามเข้าไปดูผู้รู้จริงๆ แล้ว ผู้รู้อันนั้นก็จะหายไปเป็นสภาวธรรม
สิ่งทั้งปวงหมดที่มีอยู่ในโลกนี้
ที่โลกเขาสมมุติว่าสัตว์ บุคคล ว่าสิ่งของนั่นนี่ต่างๆ นั้น
ก็หายไปหมด จะยังเหลือแต่สภาวธรรมเท่านั้น
อันนี้แหละเป็นสิ่งที่ปรารถนาของผู้ภาวนาอานาปานสติ



แล้วมันมีประโยชน์อะไร เมื่อมันหมดเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
แม้แต่ความรู้ความสุขนั้นก็ไม่ปรากฏ?
มันมีประโยชน์เหลือที่จะคณนาดังอธิบายมาแล้วข้างต้น
ภาวนาอานาปานสติก็เพื่อลบล้างสัญญาอดีตและสังขารในอนาคต
เพราะสิ่งที่ล่วงลับไปแล้วและสิ่งที่ยังมาไม่ถึงเหล่านี้เป็นเหตุนำทุกข์มาให้
สัญญาไปยึดเอามาเป็นทุกข์
คนเราเกิดมาเห็นแต่สิ่งแวดล้อมต่างๆ นานา สิ่งที่ว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยไม่เคยเห็น
เลยไปถือเอาแต่สิ่งเหล่านั้นและว่าเป็นความสุขที่แท้จริง
แท้จริงสิ่งที่เป็นวัตถุ รูปนามเกิดขึ้นมาแล้ว
สิ่งนั้นย่อมมีความกระทบกระเทือนเป็นธรรมดา
เครื่องกระทบกระเทือนเป็นเหตุนำมาซึ่งโทษทุกข์
เพราะกระทบต้องมีทั้งดีและชั่ว นี้เป็นพื้นฐานของทุกข์ทั้งปวง
ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายรู้จักแล้วซึ่งสิ่งนั้น จึงพยายามละสิ่งที่มีอยู่นี้ให้สิ้นไป
และพยายามไม่ให้สิ่งที่ยังไม่มีเกิดขึ้นอีกต่อไป



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจากพระธรรมเทศนา “อานาปานสติ”
ใน
“พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๐ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์
ฉบับพิมพ์เมื่อสิงหาคม ๒๕๕๒.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP