สารส่องใจ Enlightenment

การเจริญอานาปานสติ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
แสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๒




ได้แสดงถึงเรื่องกายคตาสติ เมื่อวันพระที่แล้ว
วันนี้จะแสดงเรื่องอานาปานสติ สืบต่อไป
ที่จริง อานาปานสติก็ดี มรณสติก็ดี มันก็เป็นกายคตาสตินั่นเอง
คือเกี่ยวเนื่องถึงร่างกาย แต่ท่านอธิบายแยกออกไป
พวกเราพากันหลงต่างหาก จึงได้ว่าหลงของเก่า รวบรวมเอาคำสอนของท่านไม่ได้
เอาเถิด ถึงอย่างไรก็ดีเมื่อแสดงอนุสสติ ๑๐ แล้ว
ก็จะแสดงโดยลำดับไปเพื่อมิให้ขาดตอนกัน



อานาปานสติเป็นอนุสสติที่ ๙ ที่ท่านได้แสดงไว้ในตำราว่า
ให้พิจารณาหายใจเข้านับหนึ่ง หายใจออกนับเป็นสอง
อยู่อย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าจิตจะรวมสงบลงได้
เรียกว่า อานาปานสติ
ถ้าจิตยังไม่สงบลงก็ให้พิจารณาอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป
เมื่อจิตสงบสู่ภวังค์แล้ว จะวางคำบริกรรมที่ว่า
ลมหายใจเข้า หนึ่ง ลมหายใจออก นับเป็นสองนั้นเสีย
จะคงเหลือแต่ความสงบสุขนั้นอย่างเดียว
แท้ที่จริงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เป็นแต่เพียงคำบริกรรมเพื่อให้จิตรวมเข้ามาเป็นหนึ่งเท่านั้น
เปรียบเหมือนกับเหยื่อล่อปลาให้มากินเบ็ดเท่านั้นเอง
เมื่อปลากินเบ็ดแล้ว เหยื่อนั้นเขาไม่ต้องการอีก เขาต้องการเอาปลาต่างหาก
อันนี้ก็ฉันนั้น เราต้องการให้จิตสงบนิ่งต่างหาก
เมื่อจิตสงบไม่แส่ส่ายแล้วก็ไม่ต้องบริกรรมต่อไป



เป็นที่น่าสังเกตว่าบางคนภาวนาอานาปานสติ จนจิตมันอยากจะสงบนิ่งอยู่แล้ว
แต่อาจารย์สอนไม่ให้วางคำบริกรรม
เมื่อจิตรวมลงไปสู่ภวังค์ ลืมคำบริกรรมหมด
อาจารย์กลับบอกว่าผิดใช้ไม่ได้ นับเป็นความเข้าใจผิดของอาจารย์ต่างหาก
การภาวนาต้องการให้จิตรวมเป็นหนึ่ง เมื่อรวมเป็นหนึ่งแล้ว
สิ่งอื่นๆ ที่เป็นอารมณ์ของจิตมันก็วางหมด อย่าไปว่าแต่คำบริกรรมเลย
ที่สุดแม้แต่ลมหายใจก็ไม่ปรากฏที่นั่น และตัวของเราเองก็ไม่ปรากฏ
นี่คือจิตเป็นสมาธิ อย่างนี้จึงชื่อว่าภาวนาเป็นไปได้



คำที่ใช้สำหรับบริกรรมมีมาก เข่น อสุภ ๑๐ กสิณ ๑๐ เป็นต้น
แต่ในที่นี้จะแสดงอนุสสติ ๑๐ เท่านั้น
เพราะคำบริกรรมเป็นแต่เพียงเครื่องที่นำจิตหรือผูกจิตไว้ไม่ให้ส่งส่าย
เมื่อจิตรวมลงเข้ามาเป็นสมาธิแล้ว ก็วางอารมณ์อื่นหมด
ถึงเราไม่วางก็จำเป็นต้องวางเองตามครรลองของจิต
เมื่อถึงตรงนั้นแล้วตั้งสติมากำหนด เอาแต่จิตคือผู้รู้ อย่างเดียว
เช่นนี้แหละเรียกว่า สมาธิ
จึงน่าเสียดายที่ไม่ได้ตามสมาธิลงไปว่าใครเป็นผู้รู้ว่าสมาธิ คือ ความสงบ
หรือ ใครสงบอยู่ ณ ที่ใด ใครเป็นผู้พูดว่าสงบ และผู้ว่านั้นอยู่ที่ไหน
ใครเป็นผู้ว่าไม่มีอะไร ไม่มีอะไรทำไมจึงมีผู้พูดอยู่
ตรงนี้แหละจะเห็นของจริงของแท้ในการที่เรามาหัดภาวนาสมาธิ



บางคนยังเอาแสงสว่าง หรือรูปภาพอะไรต่างๆ
เป็นต้นว่า รูปพระพุทธรูป หรือรูปกสิณต่างๆ มาเป็นอารมณ์
จิตปล่อยวางไม่ได้ จะอยู่ในอิริยาบถไหนก็ปรากฏอยู่อย่างนั้น ไม่ลืม
นั่นเป็นมโนภาพ จิตเพ่งอย่างนั้นเมื่อจิตรวมลงไปก็เกิดภาพเช่นนั้น
จิตถึงไม่พ้นจากภาพนั้น
ถ้าหากกำหนดเอาผู้เห็นภาพนั้นคือจิต แล้วปล่อยวางภาพนั้นเสีย
ก็จะเห็นจิตของตน แล้วสมาธิก็จะสูงขึ้นกว่าเก่า



มีเรื่องท่านเล่าไว้ว่าพระรูปหนึ่งไปนั่งภาวนาทำสมาธิอยู่ริมสระแห่งหนึ่ง
เห็นนกยางโฉบกินปลา เลยเอามาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานว่า
นกยางกินปลา นกยางกินปลาๆ อยู่ดังนี้
จนจิตรวมเป็นสมาธิ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ดังนั้นจึงว่าการหัดสมาธินี้
ไม่จำเป็นจะต้องให้เอาคำบริกรรมแต่ในขอบเขตที่ท่านว่าไว้ ๔๐ อย่างเท่านั้น
จะเอาอะไรๆ ก็ได้ ขอแต่อย่าให้ออกนอกไปจากกายของตัวเรา ก็ใช้ได้เหมือนกัน



กายของเรานี้มีธรรมอยู่พร้อมเบ็ดเสร็จทุกอย่าง
จะพิจารณาให้เห็นอสุภก็ได้ ให้เป็นกรรมฐานอะไรๆ ได้หมด
และเป็นที่ตั้งทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย
จะพิจารณาให้เห็นโทษเห็นทุกข์ เห็นเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ก็ได้
อย่าไปทิ้งกายอันนี้ก็แล้วกัน จะทิ้งไม่ได้
เพราะเราเกิดขึ้นมาได้ตัวตนมาแล้วจะไปทิ้งให้ใคร จะทิ้งไว้ที่ไหน
ไปฝากใครไว้ จะขายให้ใคร ถึงขายตัวของเราไปมันก็อยู่ที่นี่แหละ
จะฝากคนอื่นไว้ก็ยังเป็นตัวตนของเราอย่างเดิมนี่แหละ
ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อตัวของเราเองอยู่ทุกประการ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นที่สุดที่จะต้องยกกายนี้ขึ้นมาพิจารณา
ผู้ต้องการเห็นทุกข์โทษในวัฏสงสาร ต้องยกกายนี้ขึ้นมาพิจารณาเพราะเป็นของมีอยู่
กรรมฐานทั้งปวงหมดล้วนมีอยู่ในกายนี้ทั้งนั้น
เลือกยกเอามาพิจารณา ไม่ใช่ไปเอาของไม่มีมาพิจารณา



พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจธรรม ก็ทรงรู้ของมีอยู่ทั้งนั้น
ถ้าเป็นของไม่มี ไม่จริง พระพุทธองค์ก็จะไม่ได้ตรัสรู้
มันเป็นอยู่อย่างไร ก็ให้รู้ตามเป็นจริงของมันอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าทรงสอนตรงนี้ ทรงสอนให้เห็นจริงทั้งด้วยตาและด้วยใจ
เช่น ตัวของเรานี้เกิดขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์
ใครๆ ก็เห็นว่าเป็นทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ใครก็เห็นเป็นทุกข์ทั้งนั้น
ถามใครใครก็รู้ เจ้าของเราก็รู้ ใจก็รู้ ตาก็เห็น นั้นเรียกว่าของจริง
ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ ชาติ ชรา มรณะ เป็นทุกข์ทั้งนั้น



เมื่อเห็นเป็นโทษเป็นทุกข์เราจะไปทิ้งให้ใคร
ทิ้งก็ไม่ได้ จึงเอามาพิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ
นั่นเป็นของจริงของพระอริยเจ้า เรากลับไปเบื่อหน่าย ไปรังเกียจเสีย
เห็นทุกข์แล้วเลยอยากทิ้งไปเสีย อันนั้นผิด
หรือเกิดทุกข์โทมนัสคับแค้นในใจ นั้นก็ผิดเหมือนกัน
ธรรมทั้งหลายมันอยู่ตรงนี้เอง จึงพิจารณาให้เห็นทุกข์ รู้จักทุกข์



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจากพระธรรมเทศนา “อานาปานสติ”
ใน
“พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๐ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์
ฉบับพิมพ์เมื่อสิงหาคม ๒๕๕๒.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP