จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๔๓ เจ้ากรรมนายเวร เทวดาประจำตัว มีจริงไหม?



343 talk



หลักที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ คือ
สิ่งใดเราไม่รู้ไม่เห็น
แต่เขาลือๆกันว่ามี ลือๆกันว่าเป็น
ก็อย่าเพิ่งคัดค้าน อย่าเพิ่งสนับสนุน
แต่ให้ไล่เลียงอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า
ถ้ามี มีได้ด้วยเหตุใด
ถ้าไม่มี ไม่มีได้อย่างไร
ถ้าอยากเชื่อ ควรปฏิบัติแบบใด
ถ้าไม่อยากเชื่อ ควรมีท่าทีประมาณไหน


ยกตัวอย่างเช่น
‘เจ้ากรรมนายเวร’ ตามความเชื่อไทยๆ
คือวิญญาณที่คอยตามล้างตามผลาญ
พยายามเอาคืนเราแบบข้ามภพข้ามชาติ
เราควรสันนิษฐานว่าถ้ามีเช่นนั้นจริง
ก็ต้องเคยร่วมบาป
หรือทำให้เขาอาฆาตแค้นอย่างแรง
และถ้าสมมุติว่าเป็นแค้นฝังหุ่นสุดขีด
ชนิดเคยแล่เนื้อเอาเกลือทาเขาไว้
อย่างนี้ถ้าแค่สวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้
หรือเอาเงินหมื่นสองหมื่นไปทำพิธีตามผีบอก
แล้วขอว่า อโหสิให้กันเถอะนะ ที่แล้วก็แล้วกันไป
เขาคงไม่ปลื้มพอ
ไม่นึกอยากปล่อยเราเป็นอิสระแน่


ทางที่ดี วิถีพุทธ คือ
ให้เจริญเมตตา
ด้วยการนึกถึงบุญที่เราเคยทำจริงไว้ก่อน
หรือบุญ ณ บัดนี้ที่เราไม่ปรารถนาการเบียดเบียน
นึกจนรู้สึกถึงสุขที่แผ่ออกจากใจ
ไม่ต้องเบียดเบียนกัน


ระหว่างเรา กับเจ้ากรรมนายเวร
เราสุขอยู่ในความไม่เบียดเบียนอย่างไร
ก็ขอให้เขาเป็นสุขอยู่ในความไม่เบียดเบียนอย่างนั้น
ที่สำคัญคือต้องทำบ่อย ทำไปเรื่อยๆ
ไม่ใช่ทำเดี๋ยวเดียว ครั้งเดียว
จึงพอจะมีอิทธิพลทางใจ
ให้เขาคล้อยตามในทางดีได้


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


แต่ถ้าเป็นเทวดาประจำตัว
ตามความเชื่อของหลายๆประเทศ
คือเทวดาที่มีหน้าที่อารักขามนุษย์
ภาพในใจคือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์
ที่คอยตามเราเป็นเงาตามตัว
ไปช่วยปัดเป่าเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี
หรือไม่ก็ที่คอยดลใจให้เราได้คิด ได้สติ
ถ้ามีอะไรเช่นนั้นจริง
ก็ควรตั้งความเชื่อไว้ว่า
เราต้องมีบุญญาธิการสูงมาก
ขนาดเทวดาซึ่งเป็นภพภูมิ
สำหรับเสวยสุขเหนือมนุษย์จากบุญเก่า
ยังต้องมาสะกดรอยตามเราต้อยๆ ช่วยทำโน่นทำนี่ให้
หรืออย่างน้อยเราก็ต้องมีบุญคุณกับท่าน
จนทำให้ท่านนึกอยากตอบแทน
ยอมสละเวลาอันเป็นทิพยสภาพ
มาเฝ้าภพเฝ้าภูมิหยาบๆของเราได้
ต่อให้ไม่กราบไหว้บูชา
ท่านก็ยังอยากช่วยเราอยู่ดี


ทางที่ดี วิถีพุทธ คือ
ให้ระลึกถึงบุญที่เพิ่งทำเสร็จ
ยังปลื้มใจไม่หาย
แล้วน้อมนึกว่า ขอให้ท่านอนุโมทนากับบุญนี้เถิด
ทำประจำจนเป็นการผูกไมตรีแบบยั่งยืน


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ส่วนใครที่ไม่รู้สึกว่าสัมผัส
ไม่ปลื้มพอจะเชื่อ
เรื่องเจ้ากรรมนายเวร หรือเทวดาประจำตัว
ก็พึงระลึกถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสชี้ไว้ นั่นคือ
กรรมเก่า คือ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนี้
กรรมใหม่ คือ
เจตนาดีชั่วที่ตัดสินใจคิด พูด ทำแล้ว


พูดง่ายๆ เจ้ากรรมนายเวรของแท้
ก็คือร่างกายนี้ จิตสำนึกแบบมนุษย์นี้
มันตามรังควานเราด้วยความเป็นรังโรค
ตลอดจนว้าวุ่นคิดนึกว่าจะทำอะไรตามใจอยากบ้าง


ส่วนเทวดาประจำตัวของจริง
ก็คือจิตใต้สำนึกที่คอยบอกทาง
เป็นสัญญาณนำร่องอันเกิดจากบุญเก่า
ดลจิตให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกที่ชอบ
ที่เป็นไปในทางอยู่รอดปลอดภัย


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ภูตผีปีศาจและเทวดานอกตัวนั้น
แม้มีอิทธิพลมืดครอบงำใจให้หลงผิด
หรือมีอิทธิพลสว่างเปิดใจให้รับธรรม
ก็เป็นแค่แรงเสริมของเดิมที่มีอยู่แล้วในเรา
ไม่ใช่อยู่ๆมาสะกดจิตกันได้ตลอดเวลาให้ทำนั่นทำนี่


เมื่อตั้งความเชื่อและมุมมองไว้ตรงทางพุทธ
คุณจะรู้สึกถึงความสว่างทางเหตุผล
มีความเป็นตัวของตัวเองแบบผู้รู้ผู้ตื่น
ไม่ใช่รู้สึกคับแคบอยู่กับอารมณ์มืดบอด
ไม่ใช่ใครพูดเรื่องพรรค์นี้อย่างไร
ก็เชื่อตามเขาไปอย่างนั้น
ไม่เหลือเหตุผลของตนเองติดตัวอยู่เลย!


ดังตฤณ
กันยายน ๖๕







review


วิธีปฏิบัติอานาปานสติที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
และจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีคำบริกรรม
ติดตามได้จากพระธรรมเทศนา
โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
เรื่อง "การเจริญอานาปานสติ (ตอนที่ ๑)" ในคอลัมน์"สารส่องใจ"(-/\-)


หากการพยายามเจริญสติในระหว่างวัน
ทำให้รู้สึกไม่เป็นธรรมชาติในการใช้ชีวิต
ทำอย่างไรให้สามารถมีสติรู้สึกตัวพร้อมกับใช้ชีวิตทางโลกไปด้วยได้
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรจึงจะเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ดี"


หากลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นเป็นคนชอบเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร ไม่ชอบเข้าสังคม
จะเป็นปัญหาระยะยาวที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคตหรือไม่
ติดตามจากกรณีศึกษา ในคอลัมน์"โหรา (ไม่) คาใจ"
ตอน"โลก (ส่วนตัว) ของลูก"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP