สารส่องใจ Enlightenment

สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม (ตอนที่ ๔)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา



สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม (ตอนที่ ๑) (คลิก)
สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม (ตอนที่ ๒) (คลิก)
สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม (ตอนที่ ๓)



๒. หลักแห่งการใช้ความคิด
ในคัมภีร์หมายถึงว่าการพิจารณา มีการพิจารณากายคตาสติเป็นต้น
หรือมีการพิจารณามหาสติปัฏฐาน ๔
แต่ถ้าสมมุติว่าเราไม่มีเวลา
หรือไม่มีภูมิความรู้ที่จะเอาภูมิของมหาสติปัฏฐาน ๔ หรือกายคตาสติมาพิจารณา
เราจะเอาสิ่งอื่นมาพิจารณาบ้างไม่ได้หรือ
เช่น อย่างเราเรียนรู้วิชาทางโลกมา จบมาด้วยวิชาอันใด
แล้วก็น้อมเอาวิชาอันนั้นมาเป็นอารมณ์พิจารณา
เช่นอย่างผู้ที่เรียนจบมาทางวิทยาศาสตร์ นึกถึงวิทยาศาสตร์
ตั้งปัญหาถามตัวเองว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร
แล้วก็หาคำตอบไปเรื่อย ก็สามารถที่จะทำให้จิตสงบเป็นสมาธิได้
เพราะสิ่งที่เราคิดเป็นสิ่งรู้ของจิต เมื่อเราทำสติกำหนดรู้อยู่กับสิ่งที่จิตมันรู้
ก็เป็นการทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก เป็นอุบายแห่งการภาวนาเหมือนกัน
อันนี้เป็นหลักที่ ๒
ไม่ว่าท่านจะคิดอะไร ทำสติสัมปชัญญะให้มันรู้ชัดในสิ่งที่ท่านคิดนั้น
ในเมื่อท่านทำฝึกหัดบ่อยๆ ทำให้มากๆ
พลังของจิตในทางสติสัมปชัญญะจะเพิ่มขึ้นทุกที
ในเมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะเป็นเจตสิกบรรจุอยู่ในจิต
จิตก็สามารถที่จะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้
เป็นสมาธิแบบที่มีวิตก วิจาร มีปีติ สุข เอกัคคตา
ทั้ง ๒ หลักการนี้เราอาจใช้เวลานั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง
หรือนอนกำหนดจิตพิจารณาบ้าง



๓. กำหนดรู้ลงที่จิต
ทำสติรู้ไว้ที่จิต แล้วทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
ไม่ว่าเราจะก้าวไปทางไหน มีสติ เดินเรารู้ นั่งเรารู้ ยืนเรารู้ นอนเรารู้
ดื่ม ทำ พูด คิด เรารู้ ทำสติรู้เพียงอย่างเดียว
การปฏิบัติโดยวิธีนี้ฝึกจนคล่องตัว
พยายามทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อยู่ทุกลมหายใจ
ในเมื่อเราฝึกจนคล่องตัวแล้ว ในชั้นต้นๆ เราอาจตั้งใจกำหนดจิตตามรู้
แต่เมื่อเราฝึกจนคล่องตัวแล้วสติของเราจะทำหน้าที่ของตัวเอง
การปฏิบัติแบบนี้เราอาจไม่ไปนึกว่าก้าวเดินหนอก็ได้
เพราะเมื่อเวลาเราเดิน จิตเราย่อมรู้เพราะจิตเป็นผู้สั่ง
เวลาเรายืน จิตของเราย่อมรู้เพราะจิตเป็นผู้สั่ง
เวลาเรานอน จิตย่อมรู้เพราะจิตของเราเป็นผู้สั่ง
เวลาเรานั่ง จิตเราย่อมรู้เพราะจิตของเราเป็นผู้สั่ง
การรับประทาน ดื่ม ทำ พูด จิตเขาก็ย่อมรู้เพราะเขาเป็นผู้สั่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดที่เกิดขึ้น จิตเขาย่อมรู้เพราะเขาเป็นผู้คิดเสียเอง


วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับแบบนี้
เราทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เพียงแค่นี้
แต่ขอท่านผู้ฟังอย่าได้นึกว่าเป็นของง่าย
การทำสติตามรู้ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
ถ้าใครฝึกได้จะได้สมาธิ ได้พลังทางสมาธิทางสติ
มาสนับสนุนการงานอันเกี่ยวเนื่องด้วยชีวิตประจำวันของเราได้เป็นอย่างดี

และอีกอย่างหนึ่ง ปัญหาขัดข้องในการบำเพ็ญสมาธิจะไม่มี
ในเมื่อเราตั้งใจปฏิบัติตามแบบที่ ๓ นี้
คือทำสติกำหนดตามรู้ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
ทำทุกลมหายใจ ไม่ว่าเราจะก้าวไปทางไหน ทำอะไร คิดอะไร พูดอะไร ทำสติลูกเดียว
ในขณะที่เราทำงานอยู่ในสำนักงาน เราทำสติลูกเดียว
เขียนหนังสือรู้ว่าเขียน อ่านรู้ว่าอ่าน คิดรู้ว่าคิด พูดรู้ว่าพูด
ทำสติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แล้วเราจะสามารถทำสติให้เป็นสมาธิ
ให้เกิดมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา และได้ฌานอย่างที่พระท่านสอนได้เหมือนกัน



ทีนี้ปัญหามีอยู่ว่าสมาธิอย่างแท้จริงจะไปเกิดขึ้นเวลาไหน
โดยวิสัยของผู้ฝึกหัดทำสติตามรู้
การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อยู่ทุกลมหายใจ
เวลาเขานอนลงไป เขาต้องทำสติรู้อยู่กับการนอน
เมื่อมีความคิดเกิดขึ้น เขาจะต้องทำสติรู้กับความคิดที่เกิดขึ้น
เขาจะกำหนดตามรู้ความคิดของเขาไปจนกว่าจะนอนหลับ
ทีนี้พอหลับลงไปแล้วแทนที่จะหลับมืดอย่างธรรมดา
จิตกลับจะสงบนิ่ง ว่าง สว่างโพลงขึ้นมา
ผู้นั้นจะรู้สึกว่าตนเองนอนไม่หลับตลอดคืน
ถ้าหากว่ามีปัญหาอันใดเกี่ยวกับวิชาความรู้และการงาน
จิตเขาจะนำไปพิจารณาค้นคว้าแก้ปัญหานั้นๆ ในขณะนอนหลับ
มีลักษณะเหมือนกับนอนหลับแล้วฝันไป
อันนี้คือผลที่จะพึงเกิดขึ้นจากการทำสมาธิแบบนี้


และการทำสมาธิแบบนี้ เป็นวิธีการฝึกจิตให้มีพลังงาน
เพื่อเราจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตประจำวัน
เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของจิตใจ
เราสามารถจะมีสติปัญญาแก้ไขได้
เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องชีวิตประจำวัน เราจะสามารถแก้ไขได้
เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการงาน เราจะสามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้
อันนี้เป็นวิธีการฝึกสมาธิเพื่อให้มีจิตมั่นคง คือมีสมาธิ มีสติปัญญา
สามารถที่จะรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน



ในวันนี้ได้แสดงธรรมะพอเป็นคติเตือนใจ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา
ส่วนการปฏิบัติจะเกิดผลอย่างไรนั้น
ขอฝากให้ท่านผู้สนใจในการปฏิบัติได้ทดสอบพิจารณาเอาเอง
เมื่อมีปัญหาอันใดเกิดขึ้น
ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้จิตของเรามีความสบาย ความปลอดโปร่ง
และมีสติปัญญาสามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ
หรือมีสติรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับชีวิตประจำวันได้
ก็เป็นอันว่าการภาวนาหรือทำสมาธิของท่านได้ผลเป็นที่พอใจ


ในท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจแห่งการให้ธรรมเป็นทาน
ถ้าหากจะเกิดประโยชน์แด่ท่านผู้ฟังบ้าง
ก็ขออุทิศส่วนกุศลให้แด่วิญญาณของท่านผู้วายชนม์
ขอให้ท่านผู้วายชนม์รู้แล้วจงอนุโมทนา สำเร็จคติตามที่ตนปรารถนา
แม้ท่านเจ้าภาพและพุทธบริษัททั้งหลายจะปรารถนาสิ่งใด
ก็ขอให้สำเร็จตามใจที่ปรารถนาโดยทั่วกันทุกท่าน
โดยระยะดังเทศนามาก็สมควรแก่กาลเวลา เอวังก็มีอยู่ประการฉะนี้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก พระธรรมเทศนา “สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม” ใน หลวงพ่อสอนธรรม
ธรรมเทศนา โดย พระภาวนาพิศาลเถร (พุธ ฐานิโย)
. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์
; ๒๕๓๓.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP