สารส่องใจ Enlightenment

สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา



สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม (ตอนที่ ๑) (คลิก)



การทำสมาธิไม่เฉพาะจะมีในหลักพระพุทธศาสนาเท่านั้น
ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติเกิดขึ้นในโลก
พวกฤๅษีชีไพรเขาทำสมาธิกันมาอย่างโชกโชน
แม้แต่พระพุทธเจ้าของเราเมื่อเสด็จออกทรงผนวช
ทีแรกก็ยังได้ไปศึกษาและเรียนสมาธิในสำนักของอุทกดาบส อาฬารดาบส
จนกระทั่งเรียนจบหลักสูตรของท่านทั้งสอง
แล้วทำสมาธิได้อย่างดีวิเศษดียิ่งกว่าอาจารย์เสียอีก
จนกระทั่งอาจารย์เกิดความเชื่อมั่นในสมรรถภาพของพระพุทธองค์
แล้วอาราธนาท่านให้อยู่เป็นอาจารย์สอนในสำนักนั้นต่อไป


โดยวิสัยของผู้ที่บำเพ็ญบารมีเพื่อความสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
ย่อมมีพระสติปัญญา พระปรีชาเฉลียวฉลาดเฉียบแหลม
พระองค์จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ในเมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิ
ตั้งแต่ฌานชั้นที่ ๑ จนถึงฌานชั้นที่ ๘ เรียกว่าได้สมาบัติ ๘
ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิในฌานในสมาบัติ
ความรู้สึกภายในจิตก็ไม่มีกิเลสและอารมณ์
เพราะพวกพราหมณ์ทั้งหลาย พวกฤๅษีทั้งหลายในสมัยนั้น สติปัญญาของเขายังอ่อน
เมื่อเขาทำสมาธิจนสำเร็จฌานสมาบัติ เขาจึงถือว่าเขาสำเร็จพระนิพพานแล้ว



แต่วิสัยของพุทธภูมิไม่เป็นเช่นนั้น
โดยที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงพิจารณาว่า
เมื่อเราทำจิตให้สงบละเอียดจนรู้สึกว่าไม่มีกิเลสและอารมณ์
ก็ดูเหมือนว่าไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มีแต่ความสบายอย่างเดียว
แต่เมื่อจิตถอนออกมาจากฌานมาสัมผัสรู้ว่ามีกาย
ความยินดียินร้ายในอารมณ์ที่ได้พบเห็น
ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังมีอยู่เช่นเคย
พระองค์ได้สันนิษฐานว่าพระองค์ยังไม่สำเร็จพระพุทธเจ้า
จำเป็นเราจะต้องแสวงหาวิธีการที่จะบำเพ็ญตนให้ได้ตรัสรู้ต่อไปอีก
ศาสดาจารย์ผู้สอนสมาธิภาวนาในสมัยนั้นที่มีภูมิความรู้อย่างสูงสุด
ก็คืออาฬารดาบสและอุทกดาบส
ในเมื่อพระองค์พิจารณาและมองหาอาจารย์
ที่จะเป็นผู้พร่ำสอนพระองค์ต่อไป ไม่มีเหลืออีกแล้ว
ดังนั้นพระองค์จึงตั้งปณิธานแน่วแน่
ว่าจะทรงแสวงหาหนทางตรัสรู้โดยลำพังพระองค์เอง
เมื่อพระองค์ทรงแสวงหาการตรัสรู้โดยลำพังพระองค์เอง ซึ่งไม่มีใครชี้แนะแนวทาง
แต่อาศัยการทดสอบจิตและอารมณ์ของตนเองโดยลำพังพระองค์เอง
พระองค์ก็ได้รู้แนวทางที่จะปฏิบัติเพื่อให้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



หลักการที่พระองค์ทรงยึดเป็นหลักปฏิบัติ
ก็คือว่าทำ
“จิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก”
พระองค์ทำลมอานาปานสติให้เป็นสิ่งรู้ของจิต
แล้วเอาสติไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ ทำให้พระองค์รู้ธรรมะของจริงปรากฏขึ้นว่า
“สิ่งที่มีร่างกายและชีวิตนี้ ความเป็นอยู่อยู่ที่ลมหายใจ
ถ้าลมหายใจอันนี้ เข้าไปแล้วไม่ออกมาต้องตาย
เมื่อออกไปแล้วไม่กลับเข้ามาอีกก็ต้องตาย”

พระองค์จึงทรงทำพระสติรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
ทำให้พระองค์ต้องรู้ความหยาบความละเอียดของลมหายใจ
และรู้ความเปลี่ยนแปลงของลมหายใจ
ในขณะใดที่พระองค์ไม่ได้ดูลมหายใจ
พระองค์ก็กำหนดดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตของพระองค์
สิ่งใดเกิดขึ้นพระองค์ก็รู้ รู้ด้วยวิธีการทำสติกำหนดจิต
กำหนดคอยรู้ คอยจ้องดูอารมณ์ที่เกิดดับกับจิต


ในเมื่อสติสัมปชัญญะของพระองค์มีความเข้มแข็งขึ้น
สามารถที่จะประคับประคองจิตใจ
ให้มีความรู้ซึ้งเห็นจริงในความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์
ในสภาวะที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เมื่อรู้ว่าอารมณ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
อารมณ์อันใดที่จิตของพระองค์ยังยึดถืออยู่ เมื่ออารมณ์สิ่งนั้นเกิดขึ้น
ก็มายุแหย่ให้จิตของพระองค์เกิดความยินดีเกิดความยินร้าย
ความทุกข์ก็ปรากฏขึ้นภายในจิต ทุกข์ที่ปรากฏขึ้นภายในจิตของพระองค์
พระองค์ก็กำหนดว่านี่คือทุกข์อริยสัจ เป็นทุกข์จริงๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้


ในเมื่อรู้ว่าเป็นทุกข์จริงๆ พระองค์ก็สาวหาสาเหตุทุกข์ที่มันเกิดมาจากเหตุอะไร
ทุกข์อันนี้มันเกิดมาจากตัณหา
ตัณหาเกิดมาจากไหน เกิดมาจากความยินดีและความยินร้าย

ความยินดีเป็นกามตัณหา ความยินร้ายเป็นวิภวตัณหา
ความยึดมั่นถือมั่นในความยินดียินร้ายทั้ง ๒ อย่างเป็นภวตัณหา
ในเมื่อจิตมีภวตัณหา มันก็ย่อมมีความทุกข์เกิดขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้พระองค์รู้ซึ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔
ที่เราเคยได้ยินได้ฟังและมีปัญหาถามกันว่า
ที่ว่าพระองค์ตรัสรู้เองโดยชอบนั้น คือตรัสรู้ธรรมอะไร
เราก็จะได้คำตอบว่า คือตรัสรู้ในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
อันนี้เป็นภูมิธรรมที่พระองค์ค้นคว้าพบและตรัสรู้เองโดยชอบ


เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว เผยแผ่พระธรรมประกาศธรรม
ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว ยังประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้ฟัง
ซึ่งมีภิกษุเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ
เป็นผู้รับฟังธรรมแล้วปฏิบัติตาม
ได้สำเร็จมรรคผลตามเยี่ยงอย่างพระพุทธองค์ ไปเป็นสักขีพยานแห่งการตรัสรู้
ว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้แล้วเป็นนิยยานิกธรรม
สามารถนำผู้ปฏิบัติให้บรรลุถึงความพ้นทุกข์ได้ จึงเป็นที่พอใจในการตรัสรู้
เป็นอันว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เองโดยชอบ


ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้เองโดยชอบ
เราจะประมวลแยกประเภทออกแล้วได้ ๒ ประการดังที่กล่าวมาแล้ว
คือเป็นสภาวธรรม ได้แก่ กายกับใจ
และสิ่งสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เราประสบอยู่เป็นชีวิตประจำวัน
และกฎคือระเบียบที่กล่อมเกลาสภาวธรรมคือกายกับใจของเราให้มีสภาพดียิ่งขึ้น



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก พระธรรมเทศนา “สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม” ใน หลวงพ่อสอนธรรม
ธรรมเทศนา โดย พระภาวนาพิศาลเถร (พุธ ฐานิโย)
. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์
; ๒๕๓๓.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP