สารส่องใจ Enlightenment

สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา



บัดนี้จะได้แสดงพระธรรมเทศนา
พรรณนาศาสนธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อประดับสติปัญญา แด่ท่านเจ้าภาพและพุทธศาสนิกชน
ซึ่งในวันนี้ท่านทั้งหลายได้พร้อมใจกันมาประกอบการกุศลบำเพ็ญศพของท่านผู้วายชนม์
ซึ่งท่านผู้วายชนม์ตั้งอยู่ในฐานะผู้เป็นบิดา
ผู้ที่เป็นบิดาย่อมเป็นบุพการีชนผู้ซึ่งทำอุปการะก่อน
ซึ่งบิดาเป็นผู้ทำอุปการะก่อนอย่างไร
ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำมากล่าว
และท่านผู้ซึ่งสำนึกบุญคุณของผู้มีพระคุณ
ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีก็ไม่จำเป็นจะต้องนำมากล่าว
เพราะว่าธรรมะทั้งหลายซึ่งเป็นหลักสูตรและวิชาการ เราได้ยินได้ฟังกันมามาก


และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านทั้งหลายเป็นผู้อยู่ในเมืองใหญ่ๆ
เช่น พระนคร เป็นแหล่งการศึกษาทั้งสายโลกและสายธรรม
เมื่อเป็นเช่นนั้นเรื่องวิชาความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิชาการต่างๆ
ท่านทั้งหลายย่อมมีความรู้ความเข้าใจชัดเจนเป็นอย่างดี
และจะบอกกล่าวเพียงแค่ว่า
ธรรมะที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก
กล่าวกันว่าถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
ธรรมะทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
ถ้าเราจะตั้งใจเรียนให้มันจบ จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็ไม่สามารถจะเรียนจบได้
เรารู้กันเพียงเล็กๆ น้อยๆ ตามความสามารถที่เราจะเรียนรู้กัน
ธรรมะทั้งนั้นทั้งนี้ในเมื่อประมวลลงโดยหลักการย่อๆ
ก็มีอยู่เพียง ๒ อย่าง


๑) ธรรมะอันเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องรู้ของจิต
๒) ธรรมะอันเป็นกฎหรือระเบียบ
เพื่อปรับปรุงกาย วาจา และใจของเราให้มีสภาพดียิ่งขึ้น



ธรรมะอันเป็นสภาวธรรมนั้น หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้
นับตั้งแต่พื้นแผ่นดิน ฟ้า อากาศ สิ่งที่มีชีวิตจิตใจ และไม่มีชีวิตจิตใจ
ถ้ามองเข้ามาใกล้ๆ ตัวเรา ธรรมะอันเป็นสภาวธรรม ก็คือกายกับใจของเราเอง
รวมทั้งสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่เรามีความเกี่ยวข้องอยู่
เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทรัพย์สมบัติทั้งหลายบรรดามี
สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสภาวธรรม
คือเป็นอารมณ์ เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ



ส่วนธรรมะที่เป็นคำสอนหรือเป็นกฏระเบียบที่จะมากล่อมเกลาสภาวธรรม
คือ กายกับใจ ให้มีสภาพดียิ่งขึ้น
มีหลักใหญ่ๆ ที่จะประมวลมากล่าวอยู่ใน ๓ หลัก คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
เรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา เราก็ได้ยินได้ฟังกันมามากแล้ว
จึงไม่จำเป็นต้องนำมาอธิบาย
เราเคยได้ยินคำสอนของพระพุทธเจ้าในข้อที่ว่า
“พระองค์สอนให้เราละความชั่ว ประพฤติความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด”
ทีนี้พื้นฐานที่เราจะยึดเป็นหลักละความชั่วนั้นคืออะไร
พื้นฐานที่เราจะละความชั่ว เอาด้วยความตั้งใจ คือตั้งใจที่จะละ


สำหรับคฤหัสถ์ชาวบ้านทั้งหลาย ถ้าใครจะตั้งใจละความชั่ว
ให้ยึดหลักศีล ๕ ประการเป็นหลักปฏิบัติ
เว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน การข่มเหง การรังแก การคิดอิจฉาริษยา
อันนี้คือหลักของศีล ๕ และเป็นหลักแห่งการละความชั่ว
ตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละความชั่ว
ถ้าใครตั้งใจละความชั่วตามหลักของศีล ๕ ประการนี้ได้โดยเด็ดขาด
ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นการละความชั่วตามพุทธพจน์ที่ทรงสอน
จำเป็นอย่างไรที่เราจึงต้องละความชั่วทั้ง ๕ ประการ
เพราะความชั่วทั้ง ๕ ประการ นอกจากจะเป็นการละความชั่วแล้ว
ยังเป็นการปรับพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์
มนุษย์ที่มีความสมบูรณ์โดยคุณธรรม จะต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์สะอาด



ในเมื่อพูดมาถึงตรงนี้ ท่านผู้ฟังอาจมีความหนักใจ
เวลาที่เราอยู่ในสังคม บางสิ่งบางอย่างเราจะต้องจำเป็นละเมิดกฎของศีล ๕ ประการ
พระท่านมาสอนให้เราถือศีล ๕ รักษาศีล ๕
และให้ละความชั่วตามกฎของศีล ๕ ย่อมเป็นการหนักใจ
ในปัญหาข้อนี้ ถ้าหากว่าใครไม่สามารถที่จะละความชั่วตามกฎของศีล ๕
กว้างขวางไปจนกระทั่งถึงสัตว์เดรัจฉานด้วย
ขอให้เราตั้งปณิธานเอาไว้เพียงแค่ว่า
“ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ฉันจะไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน
ไม่ข่มเหง ไม่รังแก และไม่คิดอิจฉาบังเบียด” เอากันเพียงแค่นี้
ศีล ๕ ก็เป็นหลักธรรมประกันความปลอดภัยของสังคม ทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข
แต่ถ้าใครจะมีความมุ่งหมายที่จะประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จมรรคผลนิพพาน
เราจะต้องทำศีล ๕ ให้บริสุทธิ์สะอาด
แม้ในวงการของสัตว์เดรัจฉานสิ่งที่มีชีวิตมีร่างกายทั้งปวง
เราจะไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแก
โดยที่สุดแม้แต่ไข่มดดำ มดแดง เรางดเว้นโดยเด็ดขาด
อันนี้เป็นศีล ๕ ในระดับของผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพาน
อันนี้คือการทำ คือการละความชั่วตามพุทธพจน์
ตามความหมายที่กล่าวในเบื้องต้น


ทีนี้เพื่อให้ความดีหรือเจตนาที่จะละความชั่วให้มีหลักฐานมั่นคงลงไป
พระองค์จึงสอนให้เราบำเพ็ญสมาธิ
จำเป็นด้วยหรือที่เราต้องบำเพ็ญสมาธิหรือฝึกสมาธิ
ถ้าใครมีความข้องใจ สงสัยว่าจำเป็นด้วยหรือที่เราต้องทำสมาธิ
คำตอบก็คือว่าเราได้ทำสมาธิมาแล้ว ทำสมาธิมาแล้ว
โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจว่าเราจะฝึกสมาธิ
ท่านผู้ฟังลองคิดดูซิว่า ถ้าหากท่านไม่มีสมาธิ เรียนจบปริญญามาได้อย่างไร
เมื่อไม่มีสมาธิทำงานใหญ่โตสำเร็จได้อย่างไร
ไม่มีสมาธิปกครองคนเป็นจำนวนพัน จำนวนหมื่น จำนวนแสน จำนวนล้านได้อย่างไร
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่อาศัยพลังของสมาธิทั้งนั้น



เพื่อจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ท่านมองเห็นได้ชัดเจน
ในขณะใดที่ท่านใช้ความคิดหนัก
ท่านมีจิตใจจดจ่ออยู่กับความคิดหรือในสิ่งที่ท่านคิด
เมื่อท่านคิดด้วยความตั้งใจอย่างจริงจัง
ในบางครั้งเผลอๆ จิตของท่านมีอาการเคลิ้มลงไป
แล้วสิ่งที่ท่านคิดนั้นผุดขึ้นมาเป็นคำตอบตามที่ท่านต้องการ
เคยมีบ้างไหม ถ้าหากว่าใครเคยมีบ้างแล้ว
ได้ชื่อว่าผู้นั้นเคยใช้สมาธิให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันมาแล้ว
อันนี้คือเหตุผลที่เราทุกคนจะต้องทำสมาธิ


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก พระธรรมเทศนา “สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม” ใน หลวงพ่อสอนธรรม
ธรรมเทศนา โดย พระภาวนาพิศาลเถร (พุธ ฐานิโย)
. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์
; ๒๕๓๓.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP