สารส่องใจ Enlightenment

ถ้าขับรถชนสุนัขตายโดยไม่ได้เจตนา จะถือว่าทำผิดศีลหรือไม่



วิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร




ปุจฉา (๑) - หลังจากที่ผมได้มีโอกาสมากราบนมัสการหลวงปู่ไปแล้ว
ผมมีความตั้งใจที่จะถือปฏิบัติศีลห้าโดยเคร่งครัด
โดยจะไม่ตบยุง ไม่ดักหนู ไม่ตีแมลงวันและไม่ตีแมลงสาบอีก (ใช้วิธีไล่)
แต่มีอีกอย่างหนึ่งที่ผมยังไม่สบายใจหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น
คือผมเองต้องขับรถยนต์แทบทุกวัน
หากบังเอิญผมต้องชนหมาตายเพราะเหตุสุดวิสัย
เช่นนี้จะถือว่าการถือศีลห้าของผมขาดไปหรือไม่อย่างไร
(ผมใช้คำว่า ขาด ไม่ทราบว่าจะถูกต้องหรือไม่) และจะมีบาปแค่ไหน อย่างไร



วิสัชนา (๑)-การที่จะเลิกตบยุงนั้นแปลว่าจะเลิกฆ่าสัตว์ ถูกดีแล้ว ขออนุโมทนาด้วย
การขับรถไปชนหมาด้วยไม่มีเจตนานั้น มิได้ผิดศีลดอกเพราะการฆ่าสัตว์มีองค์ ๕


๑. มีเจตนาเต็มภูมิว่าจะฆ่าสัตว์
๒. รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. พยายามจะฆ่า
๔. ฆ่าให้ตายตามความพยายามด้วย
๕. สัตว์ตายตามความพยายามจริง


อันนี้จึงผิดศีล
เมื่อไม่ผิดศีลก็จริงแต่เวรย่อมสนองกันอีก เว้นไว้แต่เข้าสู่พระนิพพานไป
คือถึงพระอรหันต์แล้วเหมือนพระโมคคัลลาน์ โจรมาฆ่าท่านก็ไม่ถูกท่าน
มันก็ถูกแต่ขันธ์ คือรูปกาย นามกายเท่านั้น
ส่วนจิตใจและธรรมะของท่านเหนือสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว
ก็กลายเป็นอโหสิกรรม กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว



ยกอุทาหรณ์ กางเกงของเราขาดและเราก็ไม่อาลัยในกางเกงด้วย
เราทิ้งแล้วมีผู้เอาไฟมาเผา เราก็ไม่มีอาลัยในกางเกงนั้น เพราะเราทิ้งมันแล้วฉันใด
รูปขันธ์นามขันธ์พระอรหันต์ทิ้งแล้ว ไม่ใช่ตัวข้าของข้า
เหตุนั้นจึงไม่มีพิษมีสง เวรจะตามกันได้แต่ผู้ที่จิตอยู่ในโลกด้วยกัน
เมื่อจิตข้ามโลกกลายเป็นธรรมหมดแล้ว เวรภัยก็ตามไม่ถึงซะ
นี้พระพุทธศาสนาละเอียดสุดยอดอย่างนี้




..............................................................................



ปุจฉา (๒) - ศีลข้อ ๑ ห้ามฆ่าสัตว์ เรามีจิตใจรักสัตว์ทุกชนิดมาก
แต่เหตุสุดวิสัยหลายครั้งที่ทำให้ชีวิตสัตว์เล็กๆ น้อยๆ ต้องตาย
เช่นขับขี่รถไปบนถนนเหยียบสัตว์เล็กๆ ตาย
ทำให้จิตใจกังวลมากเพราะทำผิดศีลข้อนี้แล้ว



วิสัชนา (๒)-ศีลขาดโต้งๆ ในการฆ่าสัตว์เพราะมีเจตนาฆ่าสัตว์...
รู้ว่าสัตว์มีชีวิตพยายามฆ่าสัตว์ตายความประสงค์
อันนี้ศีลขาดจริงเพราะเจตนาเต็มภูมิ
ส่วนไม่เจตนาแต่ทำให้เขาตายก็บาปเหมือนกันแต่ศีลไม่ขาด
ให้เข้าใจว่าศีลทั้ง ๕ ข้อเป็นศีลที่มีเจตนาจะล่วง
ถ้าไม่มีเจตนาจะล่วงแล้วศีลไม่ขาด
แต่เป็นบาปเวรอยู่เหมือนกันเพราะบาปเวรที่ไม่มีเจตนา
เช่น เราขับรถไปไม่เจตนาจะชนเขา แต่มันไปชนซะ
ก็ได้รับโทษตามความเสียหายเป็นเกณฑ์



..............................................................................



ปุจฉา (๓) - ศีลข้อ ๔ ห้ามพูดเท็จ ที่เพื่อนถามว่า “ทานข้าวหรือยัง”
ถ้าตอบว่าทานแล้วทั้งที่ยังไม่ได้ทาน เพราะเกรงใจกลัวเขาจะลำบากด้วย
สรุปแล้วศีลทั้ง ๕ ข้อที่ถือปฏิบัติอยู่ปัจจุบันแต่ผิดศีลหนึ่งข้อสี่ หนักเบาที่กล่าวมาแล้ว
ทำให้วิตกกังวลใจมากเพราะได้ทำผิดศีลเข้าไปแล้ว การปฏิบัติจึงเป็นกังวลอยู่
จึงขอให้หลวงปู่ช่วยวินิจฉัย คือที่ล่วงเกินดังที่กล่าวมานี้ผิดมากน้อยเพียงใด
และจะได้บุญมากน้อยเพียงไร และศีลทั้งห้าจะหมดไปเลยหรือไม่อย่างไร


วิสัชนา (๓)-ศีลทั้ง ๕ ข้อ ขาดข้อใดก็เป็นเรื่องของข้อนั้น ไม่ขาดทั้งหมด
และถ้าหากว่าเราปฏิญาณทีละข้อก็ขาดเป็นข้อๆ ถ้าเราปฏิญาณรวบหมดทั้ง ๕ ข้อ
ถ้าขาดข้อใดก็ต้องขาดหมด แต่โทษนั้นเสมอกัน
สมมติว่าปาราชิก ๔ ถ้าเราล่วงข้อใดข้อหนึ่งก็เป็นอันขาดไปหมด
ถ้าล่วงทั้ง ๔ ข้อ บาปกรรมและเวรก็หนักเพิ่มเข้า



ข้อโกหก ถ้าไม่โกหกมันก็ไม่ได้นั้น
ถ้าจะว่าตามธรรมแล้วก็พูดโดยตรงดีกว่าเพราะเคารพความจริง
ตายต่อความจริงมีเกียรติกว่าตายด้วยความเท็จ
ส่วนจะได้บุญมากหรือน้อยนั้น ถ้ามันด่างพร้อยแล้วมันก็ไม่ได้บุญมาก
คล้ายๆ กับกระจกเงา ถ้ามีฝ้าละอองแล้วก็มองเงาไม่ถนัด เท่านี้คงพอเข้าใจแล้ว



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP