สารส่องใจ Enlightenment

เมื่อจิตไม่ดี ชีวิตก็เสียเปล่า (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย




เมื่อจิตไม่ดี ชีวิตก็เสียเปล่า (ตอนที่ ๑) (คลิก)



พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่า บุคคลผู้ใด ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่นนั้น
ผู้นั้นย่อมเป็นสุขสบายมาก แม้ยังจะไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ต่อไป
มันก็ไม่มีกรรมชั่วเวรชั่วติดตามสนองให้เป็นทุกข์ต่อไป
เกิดชาติใดก็มีอายุยืนยาวนานไป จนตลอดถึงอายุขัยจึงค่อยตาย
เพราะไม่มีกรรมชั่วมาตัดรอนชีวิตในระหว่างทาง
แต่บุคคลผู้พากเพียรพยายามละความกำหนัดยินดี ให้เบาบางออกไปจากจิตใจได้เท่าไร
ความไม่พัวพันในกามคุณ หรือว่ากิเลสกรรม ได้แก่เรื่องผัวๆ เมียๆ นั่นแหละ
กามคุณทั้ง ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ หมู่นี้
ได้เอากายออกห่าง เอาใจออกห่าง เอาวาจาออกห่างได้ ผู้นั้นเป็นสุขในโลก



พระศาสดาทรงตรัสไว้นะ และเป็นความจริง
จะไม่จริงอย่างไรล่ะ บุคคลผู้ละราคะความกำหนัดยินดีได้
โทสะก็ไม่เกิด โมหะความหลงก็ไม่เกิด
เพราะความกำหนัดยินดี ทำให้คนเราหลงมัวเมาไปในทางที่ผิดศีลผิดธรรม
ทำให้เกิดการแย่งชิงกัน โกรธกัน ประหัตประหารกัน
หมู่นี้มันก็ล้วนแต่เกิดจากราคะความกำหนัดยินดีนี้ทั้งนั้นเลย
เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ครองเรือนแล้วควรบรรเทาลง
ถึงละไม่ขาดหมด ก็ให้มันบรรเทาเบาบางลง
อย่าให้ประพฤติผิดศีลข้อที่ ๓ ก็แล้วกัน
ก็ยังนับว่าเป็นความดีความชอบของผู้ครองเรือน
แต่สำหรับผู้เป็นนักบวชแล้ว
ต้องเว้นทั้งทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจโดยประการทั้งปวง
กายก็ไม่แสดงมารยาสาไถยในเชิงรักเชิงใคร่
การพูดจาปราศรัยอะไร ก็ไม่แสดงบทมารยาสาไถยออกไปต่อเพศตรงข้าม
ภายในจิตใจก็สำรวมระวังอย่าให้ความกำหนัดครอบงำจิตใจได้
โดยมาพิจารณาเห็นร่างกายทุกกระเบียดนิ้ว ล้วนแต่เป็นของไม่มีอะไรสวยงาม
อาศัยหนังหุ้มห่ออยู่เท่านั้นเอง สิ่งโสโครกจึงไม่ปรากฏออกมา



ถ้าสมมติว่าลอกหนังนี้ออกลองดูซิ น่าดูหรือ
รูปร่างอันนี้ ไม่มีอะไรน่าดูสักอย่างเดียวเลย
มันพอน่าดูอยู่ได้นี่เพราะว่าอาศัยหนังหุ้มอยู่เท่านั้นเอง
และก็มีเลือดวิ่งพล่านตามเนื้อตามหนังอันนี้
ทำให้เกิดผิวพรรณเปล่งปลั่งขึ้นมา เห็นเข้าแล้วก็ชอบใจ
ที่แท้สีของเลือดต่างหาก เลือดมันวิ่งไปตามร่างกายนี้นะ ทำให้มีน้ำมีนวลขึ้นมา
แต่ที่จริงนั้นธาตุน้ำนั้นแหละ ก็คือเลือด
เลือดแดงก็มี เลือดสีเหลืองก็มี เลือดขาวก็มี มันซึมซาบอยู่ในร่างกายทุกส่วนนี้
ถ้าหากว่าผู้ใดเป็นโรคเลือดจางเข้าไปแล้ว
ผิวพรรณก็ซูบซีดไม่เปล่งปลั่งเลย กำลังวังชานั้นก็ลดน้อยถอยลงไป
คนผู้นั้นไม่น่าดู ไม่น่าปรารถนาอย่างนี้แหละ ลองพิจารณาดู



ถ้าผู้ใดมาเพ่งพิจารณาร่างกายสังขารนี้ ให้เห็นตามสภาพความจริงอย่างว่ามานี้
ถ้าเป็นนักบวชก็คลายความกำหนัดยินดีออกไปเรื่อยๆ ไม่ต้องการ ไม่ปรารถนามัน
ผู้ใดเห็นร่างกายสังขารตามความเป็นจริงอยู่เสมอๆ
ผู้นั้นย่อมประพฤติพรหมจรรย์ไปได้ตลอดรอดฝั่ง
ถึงแม้ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร
แต่ความรู้สึกในใจนั้นไม่ปรารถนาเรื่องกลิ่นรสเครื่องสัมผัสเลย
เพราะมองเห็นแล้วว่า ไม่มีชิ้นส่วนตรงไหนสวยงาม หรือว่าเที่ยง ยั่งยืน ไม่มีเลย
เป็นนักบวชต้องบำรุงความรู้ความเห็นดังกล่าวมานี้ ให้เกิดขึ้นมีในใจอยู่เสมอๆ ไป
อย่าไปเห็นตามความนิยมสมมติของชาวโลก
ชาวโลกผู้ที่หมกมุ่นอยู่ด้วยราคะตัณหา มันก็ต้องเป็นไปอย่างนั้นแหละ
ว่ารูปนั้นสวยงามดี รูปนี้ขี้เหร่ เสียงนั้นไพเราะดี เสียงนี้ไม่ไพเราะ อะไรทำนองนี้
มันก็เลือกคัดจัดสรรกันไปอย่างนั้นแล ตามความนิยมสมมติของโลก
แต่แล้วทั้งรูปสวยและรูปไม่สวย เมื่อพูดถึงความจริงแล้ว ก็มีสภาวะอันเดียวกัน
คือมันเกิดขึ้นมาแล้วก็แปรปรวน แตกดับสลายลง เหมือนกันหมดเลย
ไม่มีรูปใดที่จะสวยสดงดงามตลอดเวลา ที่จะเที่ยง ยั่งยืนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเลย



ถ้าเป็นนักบวชแล้ว จำเป็นต้องพิจารณาให้เข้าถึงความจริงอยู่อย่างนี้เสมอไป
อย่าพิจารณาให้เห็นว่าเป็นความสวยความงามอย่างนั้น
มันเป็นการยั่วให้เกิดราคะตัณหา มันไม่เหมาะสมกับเพศสมณะ
มันเป็นคฤหัสถ์ มันจึงเหมาะสมแบบนั้น
เมื่อกำหนัดยินดีมา ก็แสวงหามันไป ไม่มีวินัยห้าม
แต่สำหรับนักบวชนี่มีวินัยห้ามเลย แม้แต่คิดในใจก็ปรับอาบัติได้
เช่นไปคิดสรรเสริญรูปร่างของเพศตรงข้าม
ว่าตั้งแต่บั้นเอวขึ้นไปว่าตรงนั้นสวย ตรงนี้งาม อะไรต่ออะไรขึ้นมา
เกิดความกำหนัดยินดีขึ้น ปรับอาบัติอยู่ในใจ ตั้งแต่บั้นเอวลงไปปรับอาบัติทุกกฎ
มันเป็นอย่างนั้น อย่าไปเข้าใจว่าอาบัติทางใจไม่มีอยู่



เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ เราต้องเข้าใจความเป็นนักบวชของตน
ผู้เป็นคฤหัสถ์ก็เหมือนกันนะ สำนึกว่าเราเป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า
เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า
เราต้องปฏิบัติตามวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด
เราจึงจะพ้นจากนรกอบายภูมิ นี่ก็ต้องสอนตนเข้าไปอย่างนี้แหละ
เป็นคฤหัสถ์ก็ดี ไม่ใช่ว่าเป็นคฤหัสถ์ก็แล้วจะทำอะไรก็ทำได้ ไม่เหมือนนักบวช
ไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องเลือกทำ 
เพราะว่าของในโลกอันนี้ ลองสังเกตดู มีทั้งของดี มีทั้งของเลว
ไม่ใช่ว่าดีทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเลวทั้งหมด ปนเปกันอยู่ทั้งสองอย่าง
ฉันใดก็ฉันนั้น อย่างนั้นแล ความประพฤติของคนเรา มันมีใจเป็นประธาน
คราวใดใจเป็นอกุศล มันก็แสดงออกทางกายทางวาจา
ไปในทางเบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่น
นี่เรียกว่าจิตเป็นอกุศลนำ เป็นอย่างนั้น
คราวใดจิตเป็นกุศล เปี่ยมไปด้วยเมตตา
มันก็แสดงออกซึ่งความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่บุคคลอื่นและสัตว์อื่น
ไม่เบียดเบียนกัน มันเป็นอย่างนี้



ชีวิตของคนเรานี่นะ ไม่ว่าพูดถึงดวงจิตโดยตรง มันมีทั้งดีมีทั้งชั่วอยู่ในดวงจิตอันนี้
ดังนั้น พระศาสดาจึงได้ทรงสอนให้ภาวนาคัดเลือกอารมณ์ของจิตนี้
อันใดที่เป็นความคิดความเห็นที่เป็นไปทางบาปอกุศลแล้ว
กำหนดละทิ้งไปเลย ไม่คิดไม่ปรุงแต่งมันต่อไป
หรือว่าความคิดอันใด มันเป็นไปเพื่อความรัก ความใคร่
ความโกรธ ความพยาบาทต่างๆ หมู่นี้นะ เป็นความคิดที่เป็นอกุศล
เราต้องพยายามกำหนดใจละเรื่อยไป แล้วก็ไม่สร้างมันขึ้นมาต่อไปอีก
ความคิดอันใดซึ่งประกอบไปด้วยเมตตากรุณา
คิดช่วยเหลือเกื้อกูลตนเองด้วย ผู้อื่นด้วยให้พ้นจากทุกข์จากภัยในสงสาร
ไม่คิดล้างผลาญ เบียดเบียนใคร อย่างนี้เป็นความคิดที่เป็นกุศล


และคิดอีกอย่างหนึ่งเป็นความดำริที่ว่า
ทำไฉนหนอ เราจึงจะพ้นอำนาจแห่งกามตัณหาอันนี้ไปได้
ทำไฉนหนอ เราจึงจะพ้นจากรูปตัณหาต่างๆ หมู่นี้ ดำริเข้าไป
เพราะรูปกายอันนี้ มันเป็นของไม่เที่ยง
ถ้าจิตยังผูกพันมันอยู่ตราบใดแล้ว มันก็เป็นทุกข์อยู่อย่างนี้แหละ
อย่างปัจจุบันนี้เองนะ เรามาอาศัยอยู่ในของไม่เที่ยง
มันก็เป็นทุกข์ทนทรมานอยู่อย่างนี้แหละ
ต้องได้เลี้ยงต้องได้ปรนเปรอมัน
ถึงจะเลี้ยงหรือปรนเปรอมันเท่าไหร่มันก็ยังไม่เที่ยงอยู่นั่นแหละ
มันยังแปรปรวนไปอยู่ ดังนั้นมันถึงได้เป็นทุกข์



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก ธรรมโอวาท หลวงปู่เหรียญ ๖ ที่ระลึกงานทอดกฐินสามัคคี วัดป่าพิชัยวัฒนมงคล
อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔. จัดพิมพ์โดยชมรมกัลยาณธรรม


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP