ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ทำอย่างไรจึงจะปฏิบัติตนต่อคนในครอบครัวได้โดยไม่ลำเอียง



ถาม – ดิฉันพบว่าตัวเองสามารถยอมรับการทำผิดหรือหลงผิดอย่างหนักของคุณแม่ได้
แต่กลับเกิดโทสะง่ายมากเมื่อลูกของดิฉันทำผิดเพียงเล็กน้อย
อยากทราบว่าเกิดจากสาเหตุใดคะ


คือหมายความว่า เอาง่ายๆ ก็คือมีการยอมรับที่ไม่เสมอภาคกัน
มีความลำเอียง มีความไม่เท่ากัน
จริงๆ แล้ว ถ้ามองเข้ามาที่ใจ มันก็จะเห็นอยู่แล้วว่าใจของเราไม่เคยอยู่ที่ตรงกลาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีความเกี่ยวข้อง มีความสัมพันธ์กับมนุษย์โลกทั้งหลาย
คือต่อให้เป็นพ่อแม่ ต่อให้เป็นพ่อแม่มีลูกหลายคน
พยายามจะรักลูกให้ได้ทุกคนตามอุดมคติ
จะไม่มีความลำเอียง จะไม่มีความอะไรต่างๆ นานา
แต่เอาเข้าจริงไม่สามารถมีใครทำได้หรอกที่จะรักลูกเท่ากันทุกคน
ความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีได้อย่างใจ ไม่ได้อย่างใจ
มีบางวันน่ารื่นรมย์ มีบางวันไม่น่าชอบใจเท่าไหร่
แล้วก็มีระยะเวลาของการคบหาหรืออยู่ใกล้ชิดกัน จนกระทั่งเกิดข้อสรุปรวม
ว่าตรงนี้ที่เป็นแพ็กเกจ (
package) มาหน้าตาแบบนี้ รูปร่างแบบนี้
ให้ความรู้สึกอย่างไรในใจนะ ความรู้สึกนั้นแหละที่เป็นตัวแบ่งแยก
ว่าเราจะให้คะแนนหรือว่าให้ความเอียงไปข้างไหนไปทางใด


ถ้าหากว่าเราเหมือนกับเห็นคนทำผิดหรือว่าหลงผิด
จากคำพูดที่คุณใช้นะ บอกว่าเราเห็นความหลงผิดของคุณแม่ เรายอมรับได้
แต่กับลูกนี่เล็กๆ น้อยๆ ทนไม่ได้ นั่นก็เพราะว่าความรู้สึก
คือมันไม่ใช่ฐานะว่าต้องเป็นแม่หรือว่าต้องเป็นลูกของเรา
แต่ความรู้สึกที่จะไปติดข้องหรือว่าห่วงใย หรือว่ามีความรู้สึกอะไรขึ้นมาก็ตาม
มันยืนพื้นอยู่บนความรู้สึกที่มันเป็นแพ็กเกจอยู่แล้ว
คือตัดสินใจไว้ก่อนหน้าอยู่แล้ว ว่าจะห่วงหรือไม่ห่วงแค่ไหน
อันนั้นแหละที่เรียกว่าความลำเอียง



ความลำเอียง พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ในใจ
เพียงแต่ว่าเวลาที่เราจะมาปฏิบัติธรรมหรือว่ามาอยู่ในเส้นทางธรรมะ
ยิ่งเราเห็นอาการลำเอียงได้เด่นชัดมากขึ้นเท่าไหร่
อาการตรงนี้มันยิ่งปรากฏโดยความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นเท่านั้น

คือเราจะไม่มองนะว่าเราต้องไปรู้สึกผิดไหม
ทำไมถึงไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรเลยกับความหลงผิดของแม่
มันจะเห็นถึงความลำเอียงหรือว่าความพร้อมที่จะเอียงข้างไปห่วงใครนะครับ



ตรงนี้มันอาจจะไม่ใช่ว่าเราจะไปแก้ไขอย่างไร
แต่ยิ่งเห็นไปยิ่งมีสติเห็นความเป็นเหตุเป็นผลของอารมณ์หนึ่งๆ มากขึ้นเท่าไหร่
จิตของเราจะมีความฉลาดที่จะจัดการกับอารมณ์นั้นๆ มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่นบอกว่ารู้สึกเฉยๆ ที่เห็นแม่หลงผิด
แต่เสร็จแล้วเห็นแล้วเรามีปฏิกิริยาอย่างไร เราพยายามช่วยเหลือแม่อย่างไร
มันก็จะเห็นว่าเราทำกรรมอันสมควรแล้ว
ถ้าแม่หลงผิด ถ้าแม่คิดอะไรไม่ดี แล้วเราไม่ดูดาย
เรามีกรรมอันเป็นบุญคือช่วยให้แม่พ้นจากความหลงผิดได้
อันนี้คือจะทุกข์จะร้อน จะเป็นห่วงจะไม่กังวล อะไรก็แล้วแต่ ไม่สำคัญเลย
สำคัญคือว่าเราได้ทำบุญที่ชื่อว่าเป็นลูกกตัญญู
ได้ตอบแทนท่าน ทำให้ท่านพ้นจากความหลงผิด



ส่วนลูก พอเราโมโหโทโสอะไรขึ้นมา หรือว่าเกิดความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยมากเกินไป
เสร็จแล้วก็ดูว่าหลังจากนั้น เราทำอะไรไปบ้าง
ถ้าเรามีแต่ความเคยชินที่จะดุด่าที่จะทำให้ลูกขวัญเสีย ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกเหินห่าง
นี่ก็คือกรรมของความเป็นแม่ที่จะมีปฏิกิริยากับลูกในทางลบ
แต่ถ้าหากว่าเรามีความฉลาดที่จะจัดการกับความหลงผิดของลูก
แล้วเราจะอารมณ์เสียหรือไม่อารมณ์เสียก็แล้วแต่นะ
แต่ในที่สุดแล้ว เราจะพบว่าตัวเองได้ทำในสิ่งที่สมควรในฐานะแม่

พูดง่ายๆ นะ เราว่าโดยกรรมก็แล้วกัน ว่าเราทำสิ่งที่สมควรในฐานะของลูก
และเราทำในสิ่งที่สมควรในฐานะของแม่หรือเปล่า
อย่าไปมองแค่ว่าใจของเรานี่ ทำไมต้องอารมณ์เสียไม่อารมณ์เสียอะไรแค่นั้น



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP