สารส่องใจ Enlightenment

เมื่อจิตไม่ดี ชีวิตก็เสียเปล่า (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย




พึงพากันตั้งใจ ตั้งสติสำรวมใจของตนให้แน่วแน่
เนื่องจากเวลานี้เป็นเวลาที่มารวมกันอยู่ที่ศาลาการเปรียญ
ก็เพื่อที่จะฝึกกาย ฝึกจิตนี้ให้สงบระงับ
กายก็นั่งนิ่งๆ ไม่ไหวติง ไม่ให้ง่วงเหงาหาวนอน เมื่อกายนิ่งได้ ก็ทำจิตให้นิ่งต่อไป
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ แปลว่า
“สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี”
บรรดาความสุขในโลกนี้ เช่น ผลไม้สุกมันก็มีรสหวานดี
แต่มันก็หวานชั่วระยะปลายลิ้นเท่านั้นแหละ
เมื่อผ่านลงไปสู่กระเพาะแล้ว ความหวานนี่มันก็หายไป
ความสุขอันเกิดจากการกินอาหารอิ่มหนำสำราญ
การได้นอนหลับสนิท สบายดี การมีเงินใช้สอยไม่ขัดสน
มีเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ครบตามกระบวนการของโลกสมัยปัจจุบัน
หมู่นี้ก็เป็นความสุขชั่วคราวทั้งนั้น
บุคคลมาติดอยู่ในความสุขเหล่านี้แหละ จึงพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้
สุขเหล่านี้เป็นเหยื่อล่อให้ติดอยู่ในทุกข์


ดังนั้นผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายให้พึงเข้าใจกัน
เหตุดังนั้นการฝึกการอบรมกัน จึงต้องฝึกให้ตื่นดึก ลุกเช้า
ต้องทำข้อวัตรปฏิบัติตรงตามเวลา
หมู่นี้มันก็ล้วนแต่ฝึกให้คนเรานั้นมีจิตใจตั้งมั่นต่อความดี
มีสติสัมปชัญญะเตือนใจของตนให้ตื่นตัวอยู่เสมอว่า
ความตายนั้น มันไม่มีกำหนดหมายเลย บทมันจะตายปุ๊บปั๊บ มันเอาไปเลยก็มี
ชีวิตนี้มันฝากไว้กับความตาย ไม่ใช่เป็นของเราอะไรจริงจัง
ดวงจิตนี้มาอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้นเอง
ชั่วระยะบุญกรรมที่อุปถัมภ์บำรุงอยู่เท่านั้น
เมื่อหมดบุญหมดกรรมอันนี้ลงไปแล้ว รูปร่างอันนี้ก็ตั้งอยู่ไม่ได้เลย



ดังนั้นผู้มีปัญญาทั้งหลาย ท่านจึงไม่นิ่งนอนใจ จึงรีบเร่งทำความเพียร
ละกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในสังสารวัฏนี้ ไม่รู้จักจบจักสิ้น
จึงเพียรละความโลภด้วยการให้ การบริจาคทาน
เพียรละความโกรธด้วยการเจริญเมตตากรุณาเสมอๆ
จนกระทั่งว่าจิตใจมองเห็นสัตว์ทั้งหลาย
ว่าเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน
ไม่ควรที่จะไปเบียดเบียนมันหรือเขา เจริญเมตตา
ให้มองเห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นอย่างว่านั้นแหละ
แล้วมันก็จะได้งดเว้นจากการเบียดเบียน สมาทานมั่นในศีลได้อย่างมั่นคง
ถ้าไม่มีเมตตาธรรม กรุณาธรรมนี้แล้ว ศีลก็รักษาให้บริสุทธิ์ไม่ได้
ไม่มีคุณธรรมสนับสนุนแล้วอย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้เลย ศีลจะบริสุทธิ์ไม่ได้



เพราะฉะนั้นเราเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าทรงแนะอุบายแนวทาง
กำจัดกิเลสฝ่ายอธรรมออกจากจิตใจอย่างนี้แล้ว
เราจะปล่อยให้วันเวลาล่วงไปเสียเปล่านั้น มันก็ไม่สมควรเลย
เพราะว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริงๆ
อย่างความโกรธนี้ เมื่อมันโกรธขึ้นมาแล้ว
มันก็จะแสดงกิริยา กาย วาจา อันชั่วหยาบออกไป
มันก็เป็นบาปเป็นกรรมเป็นเวรติดตัวแล้วนั้นแล
แต่คนเรามันไม่รู้หรอกว่ากรรมเวรอันนั้นมันติดตัวไป
เหตุดังนั้นมันถึงไม่ยอมปฏิบัติตามคำสอน มันจะไม่ห้ามจิตใจตัวเอง
เวลามันอยากโกรธขึ้นมา มันก็ปล่อยให้โกรธซะเต็มที่
เป็นเช่นนี้แล้วมันจะไม่ให้กรรมเวรติดตามไปสนองให้เป็นทุกข์อย่างไรได้เล่า
ก็ตัวเองนั่น ไปสร้างกรรมสร้างเวรขึ้นให้แก่ตัวเอง



ดังนั้นจึงควรพินิจพิจารณาให้เห็นคุณานุภาพแห่งข้อปฏิบัติเหล่านี้ด้วยตนเอง
ให้เห็นอานุภาพแห่งการภาวนา
ว่าการภาวนานี้ มันทำใจให้สงบระงับจากกิเลสเหล่านั้นแหละ ไม่ใช่อย่างอื่นใด
เราก็พยายามทำใจสงบ ก็เพื่อไม่ให้มันปรุงแต่งกิเลส
คือ ความโลภ ความโกรธ ให้เกิดขึ้นในใจนี้เอง
พยายามใช้ปัญญาสอนใจนี้ให้เห็นโทษแห่งความโลภ ความโกรธเหล่านี้
เห็นโทษแห่งความหลง ความเข้าใจผิดต่างๆ นี้ มันทำให้คนเราเดินทางผิด
เพราะว่า กาย วาจา นี้ มันมีใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน
ถ้าใจเห็นผิดแล้ว มันก็ใช้กาย ใช้วาจา ทำผิด พูดผิดจากทำนองคลองธรรมไป อันนี้แหละ



เช่นบางคนก็เห็นว่า การฆ่าสัตว์นี้ไม่เป็นบาปหรอก
แต่ว่าฆ่าสัตว์ที่เป็นอาหารนะ สัตว์อันใดที่ไม่เป็นอาหารอย่าไปฆ่ามัน
เพราะว่าชีวิตของมนุษย์เรา มันอยู่ด้วยกับเนื้อสัตว์
ถ้าไม่ได้รับประทานเนื้อสัตว์แล้ว มันจะอยู่ไม่ได้
ของมึนเมาต่างๆ มีสุราเมรัยหมู่นี้ก็เป็นของประดับโลก
ถ้าไม่มีน้ำพวกนี้ คนเราก็หงอยเหงาเศร้าใจ หาความสุขสบายไม่ได้
เมื่อมีน้ำพวกนี้หล่อเลี้ยงเข้าไปแล้ว มีความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจดี
หรือว่าได้ไปเล่นชู้กับเมียของคนอื่นหรือผัวคนอื่น หมู่นี้เห็นว่ามันเป็นเรื่องสนุกสนานดี
อันหมู่นี้ล้วนแต่เป็นความเข้าใจผิดทั้งนั้นเลย
ถ้าบุคคลเข้าใจถูกต้องแล้ว จะไม่ทำเด็ดขาดเลย



เช่นอย่างข้อที่หนึ่งนั้น สัตว์ทั้งหลายมันขันอาสาเป็นอาหารของมนุษย์หรือไม่
มันประกาศเมื่อไร มันไม่มีใครจะตอบได้เลยตอนนี้ มันว่ากันเฉยๆ
สัตว์ทั้งหลายย่อมกลัวตายรักชีวิตของตนเหมือนกันหมดทุกชนิดเลย
ใครๆ ก็ไม่อยากให้ใครมาทำร้ายตน มาเบียดเบียนตน
แม้ตัวของตัวเองก็ลองคิดดู ก็รักชีวิตของตัวเอง ไม่อยากให้ใครมาเบียดเบียนเลย
อย่าว่าแต่ตบตีเลย แม้แต่ด่าว่าด้วยวาจาก็เจ็บใจเต็มทีอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น ผู้ใดไปเบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่น
จึงชื่อว่าเป็นผู้เอาเปรียบบุคคลอื่นและสัตว์อื่น
เห็นว่าตนมีอำนาจเหนือเขาก็ทำได้ทำเอา
เมื่อทีเขามาทำตน ตนก็ไม่ปรารถนาให้เขาทำ หาทางต่อสู้
หมู่นี้มันควรคิดควรพิจารณาให้รู้ให้เห็น
การต่อสู้การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน มันก็เป็นกรรมเป็นเวร
ตามสนองกันไปชาติแล้วชาติเล่า



ดังเราจะเห็นได้ในปัจจุบันนี้แหละ ทำไมคนถึงฆ่ากันนักหนา
ไม่ใช่ว่ามันฆ่ากันโดยไม่มีเหตุปัจจัย
มันมีเหตุในหนหลัง มาสมทบกับเหตุในปัจจุบันด้วย
เหตุในปัจจุบัน ต่างคนต่างไม่มีศีล ไม่สำรวมกาย วาจา
พูดกระทบกระทั่งกันเข้า แสดงกิริยาหยาบคายต่อกันและกัน
ประกอบกับกรรมเก่าที่ได้ทำมาแต่ก่อนนู้น เคยได้เบียดเบียนกันมา
ก็เลยหนุนส่งให้มีความโกรธ ความพยาบาทขึ้นอย่างรุนแรง
อย่างกับได้ลงมือประหัตประหารกัน ใครดีก็อยู่ ใครไม่ดีก็ตายไป
บางทีมันก็ลอบกัดเอาโดยเจ้าตัวไม่รู้เลย
อันหมู่นี้มันไม่ใช่ว่าอาศัยแต่เหตุปัจจุบันนะ อาศัยเหตุในอดีตที่ล่วงแล้วมา
แต่ก่อนผู้ที่ถูกเขาฆ่าตาย ผู้นั้นก็คงไปฆ่าเขามาแต่ก่อนนะ
กรรมนั้นก็ติดสอยห้อยตามมา มาถึงในชาตินี้
มันถึงเวลาให้ผลเวลาใด ก็ดลบันดาลให้คนอื่นมาฆ่าตัวเองตายเสีย



ก็เป็นอยู่อย่างนี้แหละ บุคคลผู้ไม่มีศีล ไม่สำรวมในศีลแล้ว
มันก็มีแต่การเบียดเบียนซึ่งกันและกันอยู่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า อัพยาปัชฌัง สุขัง โลเก ปาณะ ภูเตสุ สัญญะโม
“ความสำรวมในสัตว์คือความไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันเป็นสุขในโลก”
สุขา วิราคะตา โลเก กามานัง สะมะติกะโม
“ความสิ้นไปแห่งราคะ คือ ความล่วงกามเสียได้ เป็นสุขในโลก”
นี่พูดถึงสุขที่พระบรมศาสดาทรงตรัสไว้ ให้พิจารณาดู


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก ธรรมโอวาท หลวงปู่เหรียญ ๖ ที่ระลึกงานทอดกฐินสามัคคี วัดป่าพิชัยวัฒนมงคล
อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔. จัดพิมพ์โดยชมรมกัลยาณธรรม



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP